วันพฤหัสบดี, กันยายน 12, 2024
Home > On Globalization > พจนานุกรม แบรนด์เนม

พจนานุกรม แบรนด์เนม

 
ท่านผู้อ่านเคยนึกถึงเวลาเดินเข้าร้านหนังสือแล้วพบว่ามีมุมหนึ่งของร้านจัดวางพจนานุกรม หรือ dictionary ที่พร้อมจะแปลความหมายของคำจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่ง หรือแม้กระทั่งขยายความของคำจากภาษาเดียวกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไหมคะ
 
ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องแปลกเลยนะคะ เพราะทุกคนย่อมต้องมีโอกาสพบกับข้อติดขัดในการใช้และสื่อสารทางภาษากันทั้งนั้นจริงไหม
 
ไม่นับรวมแนวความคิดที่ว่าหนังสือที่มีความน่าสนใจ เพราะเกี่ยวเนื่องกับความเป็นมาและเป็นไปของทัศนคติ ความคิด ความเชื่อของมนุษยชาติ ที่ประกอบส่วนขึ้นด้วย มหาคัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์อัลกุรอาน และพระไตรปิฎก หรือแม้กระทั่งหลักธรรมคำสอนและมหาตำนานแห่งปวงเทพในศาสนาใดๆ แล้ว ก็เห็นจะมีพจนานุกรมนี่แหละที่เป็นหนังสือที่นอกจากจะบรรจุคำศัพท์ที่ใช้สื่อสารในสังคมมนุษย์แล้ว พจนานุกรมที่มีการรวบรวมคำศัพท์อย่างกว้างขวาง ยังถือเป็นแหล่งที่อุดมด้วยความรู้ไม่รู้จบอีกด้วย
 
แต่ถ้าหากว่า เมื่อท่านผู้อ่านพบว่า พจนานุกรมที่วางตระหง่านอยู่เบื้องหน้ากลายเป็นพจนานุกรมว่าด้วยแบรนด์สินค้าชื่อดังต่างๆ ที่มาพร้อมกับคำอธิบายว่าด้วยประวัติความเป็นมา และจุดกำเนิดของสินค้าแต่ละชนิดด้วยล่ะคะ ผู้เขียนคิดว่าพจนานุกรมเล่มนี้น่าจะเป็นงานที่น่าสนใจที่สุดชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว
 
อย่าเพิ่งคิดว่าสิ่งที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้เป็นไปไม่ได้ หรือจะมีใครหน้าไหนคิดนึกทำเรื่องที่ดูจะไม่เป็นเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้ เพราะในความเป็นจริงสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น และไม่ได้เกิดขึ้นจากความคิดของเด็กๆ ที่คิดสนุกอยากมีหนังสือที่มีชื่อตัวเองติดอยู่บนปกตามสมัยนิยมซะที่ไหน 
 
หากเป็นงานที่รวบรวมขึ้นโดยนักวิจัยด้านภาษาศาสตร์ที่เพิ่มน้ำหนักความจริงจังให้พจนานุกรมที่ดูไม่น่าจะเป็นเรื่องนี้ เป็นเรื่องขึ้นมาจริงๆ ไม่ใช่ในฐานะนามานุกรมแบบแบรนด์ไดเร็คทอรี่ (brand directory) ทั่วไปที่อาจพบเห็นได้ไม่ยาก แต่เป็น Dictionary of Brand Names จริงๆ
 
Masayoshi Yamada ศาสตราจารย์กิตติคุณในวัย 74 ปี จากมหาวิทยาลัยชิมาเนะในเมืองมัตสึเอะ คือนักวิจัยด้านภาษาศาสตร์ที่รวบรวมแบรนด์สินค้าชื่อดังกว่า 6,500 รายการมาบรรจุไว้ในพจนานุกรมว่าด้วยแบรนด์สินค้าฉบับภาษาอังกฤษ-ญี่ปุ่น ฉบับนี้
 
จะว่าไปนี่ก็คงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เพราะความคิดของ Yamada ที่จะรวบรวมแบรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์ในรูปของพจนานุกรมเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขาเดินทางไปเป็นนักวิจัยอยู่ในมหาวิทยาลัยแคนซัส ประเทศอเมริกาในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ซึ่งก็ต้องเรียกว่าเป็นความคิดที่มีมา 30-40 ปีแล้ว
 
แรงจูงใจของเขาเกิดขึ้นจากการอ่านหนังสือ Breakfast at Tiffany’s ฉบับภาษาญี่ปุ่นระหว่างที่เขาอยู่ในอเมริกานั่น ซึ่งพบว่ามีการแปลชื่อ Tums ที่ในความเป็นจริงเป็นยี่ห้อของยาลดกรดในกระเพาะชื่อดัง ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปเป็นแบรนด์ของบุหรี่เสียได้ เขาก็เลยใช้เวลาระหว่างการเลือกซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตของอเมริกา สะสมชื่อผลิตภัณฑ์และแบรนด์สินค้าต่างๆ ก่อนที่จะกลับมาเก็บข้อมูลในญี่ปุ่นเพิ่มเติมอีก
 
ก่อนที่เขาจะปรึกษากับมวลมิตรถึงความเป็นไปได้ในการจัดพิมพ์พจนานุกรมฉบับรวมเล่มชื่อสินค้านี้ขึ้นมา ซึ่งก็เป็นไปได้และเป็นไปแล้ว เพราะมีสำนักพิมพ์ตอบตกลงและรับจัดพิมพ์งานของ Yamada ฉบับเวอร์ชั่นแรกตั้งแต่เมื่อปี 1990 อีกทั้งยังกลายเป็นที่นิยมถึงขนาดมีการแปลเป็นภาษาจีนอีกด้วย
 
ความคิดที่จะรวบรวมและจัดพิมพ์พจนานุกรมชื่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ในครั้งใหม่จึงเกิดขึ้น แต่ด้วยการเติบโตขึ้นของโลกทุนนิยมที่ทำให้มีแบรนด์สินค้าเกิดใหม่ขึ้นอีกมากมาย ขณะที่แบรนด์สินค้าเก่าๆ บางรายก็ล้มหายไปท่ามกลางกระแสธารแห่งทุน ทำให้ Yamada ต้องลงแรงปรับปรุงรายชื่อของแบรนด์สินค้าครั้งใหญ่ โดยมี Yoshifumi Tanaka ซึ่งก็เป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัยชิมาเนะ เป็นผู้ช่วยอีกแรงหนึ่ง
 
จริงอยู่ที่ในโลกของการสื่อสารสมัยใหม่ ที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางที่เปิดกว้างให้ข้อมูลข่าวสารพร้อมจะไหลรินท่วมทะลักเข้าสู่การรับรู้ อาจทำให้งานของ Yamada ในห้วงเวลาปัจจุบันดูจะสะดวกกว่าเมื่อครั้งที่เขาต้องเดินสำรวจและรวบรวมรายชื่อสินค้าจนออกมาเป็นพจนานุกรมเล่มแรกได้ 
 
แต่ก็เชื่อว่าทั้ง Yamada และ Tanaka ผู้ช่วยของเขาคงต้องเผชิญกับความท้าทายและปวดหัวไม่น้อยกับการเลือกใช้ข้อมูลสำหรับการพิมพ์พจนานุกรมแบรนด์เนมครั้งใหม่ในชื่อ English-Japanese Dictionary of Brand Names (Eiwa Burandomei Jiten) ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้
 
ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือจะมีแบรนด์สินค้าจากเมืองไทยสักกี่รายชื่อที่ได้รับการคัดสรรให้เป็นส่วนหนึ่งของสินค้าแบรนด์ดังที่ได้รับการบันทึกเป็นฐานข้อมูลอยู่ในพจนานุกรมเล่มนี้บ้างหรือไม่ค่ะ