วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > ต่าง “สื่อ” เป้าหมายเดียว บนสนามทีวีดิจิตอล

ต่าง “สื่อ” เป้าหมายเดียว บนสนามทีวีดิจิตอล

 
“พฤติกรรมคนดู อย่างเก่งก็ดูเพียงแค่ 5-6 ช่องเท่านั้น ฉะนั้นคาดว่าทีวีดิจิตอลของเราก็คงจะเหลือไม่เกิน 5 ช่องเท่านั้นที่ครองตลาดส่วนใหญ่ และในจำนวนนี้ก็น่าจะมีเจ้าตลาดที่มีฐานคนดูเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว 2 ช่อง ส่งผลให้รายใหม่ๆ ที่เข้ามาต้องแย่งแข่งขันกันอย่างหนักเพื่อเป็น 1 ใน 5 ราย” มีเดียเอเยนซี่และผู้ประกอบการโทรทัศน์รายหลายเห็นตรงกัน  
 
จากมุมมองดังกล่าว ทำให้ “ผู้เล่น” หน้าใหม่ในธุรกิจเจ้าของช่องทีวีดิจิตอลจึงตั้งเป้าปักธงการบริหารช่องของตัวเองเพื่อมุ่งสู่ตำแหน่ง “ท็อป 5” ของทีวีดิจิตอล ซึ่งผู้บริหารหนุ่มแห่งช่อง 32 HD หรือ “ไทยรัฐทีวี” ของค่ายหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยอย่าง “ไทยรัฐ” ก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นหน้าใหม่ที่ตั้งเป้าเช่นนั้น 
 
ด้วยอายุที่ยาวนานกว่า 64 ปี ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บวกกับ “อิทธิพล” ที่มีต่อคนในวงการต่างๆ โดยเฉพาะวงการบันเทิงและสังคมไฮโซ ทำให้ในงานเปิดตัว “ไทยรัฐทีวี” มีดาราและเซเลบจากทั่วฟ้าเมืองไทยมารวมกันอย่างคับคั่ง 
 
“เราเห็นตัวอย่างจากเมืองนอกว่า ธุรกิจสิ่งพิมพ์อยู่ในช่วงขาลง เป็นธุรกิจ Sunset ก็เลยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อนำพาธุรกิจของกลุ่มไทยรัฐไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งเรามองว่า ฟรีทีวีเป็นสื่อที่มีอิทธิพลและเข้าถึงผู้ชมได้ดีที่สุด” 
 
วัชร วัชรพล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 HD และเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 3 ของ นสพ. ไทยรัฐ เล่าย้อนถึงวัตถุประสงค์ของการประมูลทีวีดิจิตอล
 
“การทำทีวีไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เราพยายามหา “แก่น (essence)” ของ “แบรนด์ไทยรัฐ” ว่าคืออะไร เราศึกษาและทำสำรวจมาจนได้รู้ว่า พอทุกคนได้ยินชื่อไทยรัฐก็ต้องนึกถึงคำว่าข่าว โดย “แก่น” ของเราคือการเล่าข่าวที่เป็นการเอาเรื่องยากมาย่อยแล้วอธิบายให้ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ซึ่งเราจะนำตรงนี้มาพัฒนาให้เหมาะกับช่องทางทีวี” 
 
ในช่วงแรก ผังรายการจะมีสัดส่วนรายการข่าวกับวาไรตี้อยู่ที่ 50:50 ซึ่ง “ไทยรัฐทีวี” จะเป็นผู้ผลิตรายการข่าวและสารคดีข่าวเอง โดยใช้จุดแข็งคือ บุคลากรด้านข่าวที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนานจำนวนมาก และคลังคอนเทนต์จำนวนมหาศาล เป็นตัวขับเคลื่อน ภายใต้ปรัชญา “คิดต่างอย่างเข้าใจ”  
 
สำหรับรายการที่เป็นไฮไลต์ของช่องไทยรัฐทีวีคือ “ไทยรัฐ นิวส์ โชว์” ซึ่งเป็นรายการข่าวภาคค่ำในช่วงไพรม์ไทม์ และกลุ่มรายการ “Super Program” ซึ่งเป็นวาไรตี้บันเทิง โดยบริษัทจ้างผู้ผลิตรายการแถวหน้าของเมืองไทย อาทิ โพลีพลัส, กันตนา, เจเอสแอล, ลักษณ์ 666 ฯลฯ มาร่วมผลิตให้ 
 
ในปีแรกไทยรัฐตั้งงบประมาณสำหรับผลิตรายการไว้ที่ 1,000 ล้านบาท และคาดว่าจะคุ้มทุนภายใน 7 ปี โดยตั้งเป้ารายได้ปีแรกไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายสูงสุดคือ การนำพาช่องไทยรัฐขึ้นสู่ตำแหน่ง “ท็อป 5” ภายใน 3 ปี 
 
ด้าน “โมโน กรุ๊ป” หรือ บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและให้บริการด้านมีเดีย แพลตฟอร์ม (media platform) และ “คอนเทนต์” ทั้งข้อมูลข่าวสาร, เทคโนโลยีสารสนเทศ และความบันเทิง ผ่านทางสื่อมัลติมีเดียต่างๆ อาทิ อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ นิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงสื่อทีวี ทั้งเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และล่าสุดคือ ดิจิตอลทีวี เนื่องจากมองว่าจะเป็นแหล่งที่สร้างรายได้กว่า 50% ให้กับบริษัทได้ในอนาคต
 
โมโนฯ เป็นเจ้าของช่อง MONO 29 (ระบบ SD) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Motion Nonstop Channel” โดยชูจุดขายคือ “คอนเทนต์” ที่เป็นภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์นานาชาติ ซึ่งทางช่องได้เตรียมภาพยนตร์กว่า 1,500 เรื่อง เพื่อฉายในช่อง MONO 29 โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทได้ซื้อลิขสิทธิ์หนังจำนวนมากจากค่ายต่างๆ เช่น โซนีพิคเจอร์, พาราเม้าท์, วอร์นเนอร์, ดีเอ็นเอ 2002(DNA), เอ็มพิคเจอร์ส, ยูไนเต็ด โฮม และพระนครฟิล์ม เป็นต้น  
 
นอกจากนี้ยังมีรายการประเภทต่างๆ อาทิ ละคร เกมโชว์ และวาไรตี้ ต่างๆ ซึ่งมีทั้งที่ผลิตเองและจ้างผู้ผลิตที่คร่ำหวอดวงการ Content Provider ของเมืองไทย 
 
สำหรับผังรายการช่วงแรกจะแบ่งสัดส่วนรายการออกเป็น ข่าวสารและสาระ 25%, สารประโยชน์บันเทิง 14%, บันเทิง 56%, เด็กและเยาวชน 5% โดยเน้นเจาะกลุ่ม Gen X, Y และ Z ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ด้วยกลยุทธ์ “The Real Social TV” คือผู้ชมสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ดำเนินรายการได้อย่างทันทีทันใด และยังสามารถโชว์ภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ บนหน้าจอทีวีได้
 
ทั้งนี้ โมโนฯ ถือเป็น “ผู้เล่นหน้าใหม่” สำหรับทีวีดิจิตอล แต่ “เก๋า” ในวงการสื่ออีกรายที่ประกาศว่ากระโดดขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 5 ของแถวหน้าทีวีดิจิตอลไทย พร้อมด้วยรายได้ของกลุ่มปีละกว่า 5 พันล้านบาท ในอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งยังเชื่อมั่นว่าบริษัทน่าจะสร้างกำไรจากทีวีดิจิตอลได้หลังจากปีที่ 3 เป็นต้นไป 
 
นี่เป็นเพียง 2 ตัวอย่างของ “ผู้เล่นหน้าใหม่” ในเวทีทีวีดิจิตอลที่มีความมุ่งมั่นและเต็มไปด้วยความหวัง ส่วนความหวังจะเป็นจริงหรือไม่ ไม่เกิน 3 ปีคงจะได้รู้กัน!!
 
Relate Story