วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ททท. ชูเมืองรองแคมเปญใหม่ หวังสร้างรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก

ททท. ชูเมืองรองแคมเปญใหม่ หวังสร้างรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก

ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีรายได้จากหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมการส่งออก การลงทุนจากภาคเอกชน และที่สำคัญคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ดูเหมือนจะเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย ในหลายยุคหลายสมัย เมื่อประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เกื้อหนุนต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

จึงไม่น่าแปลกใจที่รายได้จากการท่องเที่ยวไทยคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อศักราชที่ผ่านมา ประเทศไทยมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวไทยมากกว่า 35 ล้านคน จากตัวเลขดังกล่าวทำให้ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมกว่า 2.754 ล้านล้านบาท รายได้รวมขยายตัวขึ้นถึง 9.47 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากภาพรวมที่ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ได้อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวของชาวต่างชาติในปี 2560 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนทั้งสิ้น 35,381,210 คน จำนวนดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีการขยายตัว 8.77 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคือ 1,824,042.35 ล้านบาท

ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศปี 2560 มีจำนวน 152 ล้านคน-ครั้ง เป็นตัวเลขที่ขยายตัวถึง 4.39 เปอร์เซ็นต์จากปีที่ผ่านมา และรายได้จากการท่องเที่ยวของคนไทยเองประมาณ 930,000 ล้านบาท

แม้ว่าตัวเลขทั้งในด้านของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ จะเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นปรากฏการณ์ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศ รวมไปถึงรายได้ที่มีการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด จะทำให้หลายฝ่ายมองว่าผลที่เกิดขึ้นเป็นที่น่าพอใจ

กระนั้นสิ่งที่ต้องขบคิดเมื่อพิจารณาจากสถิติการท่องเที่ยวคือ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงมีจุดมุ่งหมายไปเฉพาะเมืองหรือจังหวัดใหญ่ๆ เท่านั้น นั่นทำให้รายได้ที่เกิดขึ้นมีการกระจุกตัวอยู่แต่จังหวัดที่มีความโดดเด่นเรื่องแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น

แน่นอนว่าผลสรุปรายได้ที่เกิดขึ้นคงไม่สามารถสนองกับนโยบายและความต้องการของรัฐบาลต่อเรื่องที่ต้องการให้มีการกระจายรายได้เข้าถึงชุมชน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับฐานรากได้

เพราะแม้ว่าในแต่ละปีประเทศไทยจะหารายได้จากการท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมากแล้ว หากแต่การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวที่มีหมุดหมายเฉพาะในเมืองใหญ่ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไข เช่น เมื่อเปรียบเทียบจังหวัดเชียงใหม่กับ จังหวัดลำปาง ที่มีระยะทางห่างกันเพียง 1 ชั่วโมง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังเลือกที่จะเดินทางเข้าเชียงใหม่ปีหนึ่งราว 10 ล้านคนต่อปี ในขณะที่จังหวัดลำปางมีเพียงไม่กี่แสนคน

กระทั่งวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หลังจากมีการปรับคณะรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งล่าสุด ที่มาพร้อมด้วยแนวนโยบายที่น่าจะตอบโจทย์สำคัญเรื่องการกระจายรายได้สู่ชุมชน ด้วยการชูเมืองรองให้เป็นแคมเปญใหม่ของการท่องเที่ยวไทยในปี 2561

ประเด็นของการยกเมืองรองขึ้นมาเป็นแคมเปญใหม่ของการท่องเที่ยวไทยในปีนี้ น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ตามที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีคาดหวังไว้ได้

ความคิดและนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬาคนใหม่ ดูจะเป็นที่ถูกอกถูกใจฝ่ายบริหารด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่น้อย เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวใน 55 จังหวัดที่เป็นเมืองรอง โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

มาตรการดังกล่าว ทำให้ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ออกมาคาดการณ์ว่า ในปี 2561 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทย 36 ล้านถึง 37 ล้านคน และสร้างรายได้กว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งความคาดหวังดังกล่าวน่าจะมีความเป็นไปได้ เมื่อดูจากตัวเลขรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวของปีที่ผ่านมา

ขณะที่เมืองรองยังกลายเป็นกุญแจสำคัญที่จะกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่น ด้วยแคมเปญ “Amazing Thailand Go Local: เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต” และหวังว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าสู่เมืองรองและชุมชนไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน พร้อมรายได้ที่จะลงสู่เศรษฐกิจฐานรากกว่า 350,000 ล้านบาท

ซึ่งเมืองรองทั้ง 55 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย พิจิตร แพร่ ชัยนาท น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ปราจีนบุรี อ่างทอง กำแพงเพชร สิงห์บุรี นครนายก สระแก้ว ตาก อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย เลย มุกดาหาร บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ สกลนคร นครพนม อุตรดิตถ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อุทัยธานี บึงกาฬ กาฬสินธ์ ยโสธร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ ตราด จันทบุรี ระนอง นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล ชุมพร นราธิวาส ยะลา และปัตตานี

นอกเหนือไปจากเป้าหมายเรื่องรายได้รวมในปี 2561 ที่ตั้งไว้ว่าจะสูงกว่า 3 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นเป้าหมายรายได้จากตลาดต่างประเทศ 2.1 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ ยังตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยติดอันดับรายได้การท่องเที่ยวสูงสุด 1 ใน 7 ของโลก

รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้ว่าการ ททท. ดูจะแบกความคาดหวังในเรื่องผลสำเร็จของแคมเปญนี้อยู่ไม่น้อย เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้น ยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มีต่อเศรษฐกิจระดับฐานราก นี่ทำให้ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเตรียมเสนอขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล 3.26 พันล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นงบ 3 ส่วน โดยส่วนแรกใช้งบ 2,750 ล้านบาท เพื่อใช้ในแคมเปญเมืองรอง 55 จังหวัด สำหรับการปรับปรุงด้านปัจจัยพื้นฐาน ด้านสินค้าการท่องเที่ยว การเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่น ในด้านการตลาดการประชาสัมพันธ์ ส่วนที่สอง คือ ใช้สำหรับแคมเปญ “เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต” งบประมาณ 410 ล้านบาท เป้าหมายหลักคือกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายรวม 1 หมื่นล้านบาทในเมืองรอง 55 จังหวัด และส่วนที่ 3 สำหรับโครงการ Tourism Big Data ด้วยงบประมาณ 100 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาระบบไอทีในการจัดเก็บข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้านการตลาดในอนาคต

แผนการดำเนินงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพร้อมสนองตอบ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์และคาดหวังถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย กระทั่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังออกมาคาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2561 จะมีจำนวน 37.64-37.99 ล้านคน เติบโต 6.5-7.5 เปอร์เซ็นต์ จากที่คาดว่าจะขยายตัว 8.7 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2560 ขณะที่การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย กอปรกับการทำการตลาดการท่องเที่ยวใหม่ๆ จะช่วยเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวในสาขาต่างๆ เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2561 น่าจะสร้างรายได้สู่ภาคการท่องเที่ยวเป็นมูลค่าประมาณ 1.97-2.01 ล้านล้านบาท เติบโต 8.8-10.4 เปอร์เซ็นต์ จากที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 11.7 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2560

จังหวะก้าวต่อจากนี้ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้แม่ทัพคนใหม่ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยดูจะมีเรื่องที่ท้าทายอยู่ไม่น้อย เมื่อสร้างสถิติตัวเลขนักท่องเที่ยวและรายได้ในปีที่ผ่านมาสูงขึ้น นั่นอาจจะทำให้บรรทัดฐานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต้องสูงขึ้นตามไปด้วย

ในระยะเวลาตลอด 1 ปีนับจากนี้ คงต้องจับตาดูกันว่าฟันเฟืองสำคัญอย่างการท่องเที่ยวจะดำเนินไปในทิศทางใด การโปรโมต และการตลาดที่หนักหน่วง จะยังคงมีประสิทธิภาพและสร้างประสิทธิผลได้อย่างที่ต้องการหรือไม่ต้องรอคำตอบ

ใส่ความเห็น