วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
Home > AEC > Indochina Vision > “มะนียม กรุ๊ป” เมื่อตัดสินใจก้าวขึ้นเวทีระดับภูมิภาค

“มะนียม กรุ๊ป” เมื่อตัดสินใจก้าวขึ้นเวทีระดับภูมิภาค

ต่อไปชื่อ “มะนียม” จะยิ่งสะดุดหูคนฟังที่กำลังสนใจตลาดรถยนต์ในลาวมากขึ้นในฐานะบริษัทที่เป็นเจ้าของโชว์รูม Chevrolet ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในเวียงจันทน์

จากเจ้าของมินิมาร์ทเล็กๆ ที่ใจรักเรื่องรถยนต์ เริ่มก้าวเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ด้วยการซื้อรถเก่า มาจอดหน้ามินิมาร์ทเพื่อขายต่อ ครั้งละคันสองคันเมื่อ 17 ปีก่อน

2 ปีมานี้ มะนียม ออโต กรุ๊ปได้เข้ามาสู่ช่วงของการก้าวกระโดดครั้งใหญ่

ประมาณมูลค่าเม็ดเงินที่สุกสะหมอน สีหะเทพ ประธานบริษัทมะนียม ออโต กรุ๊ปได้ควักกระเป๋าลงทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) และยังมีโครงการต่อเนื่องที่ยังต้องใช้เงินลงทุนอีกจำนวนมาก

มะนียม ออโต กรุ๊ป เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี 2000 (พ.ศ.2543) ประกอบธุรกิจเป็นผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ โดยสั่งรถจากแหล่งผลิตทั่วโลกเข้ามาจำหน่ายใน สปป.ลาว

(รายละเอียดอ่าน “ธุรกิจที่เริ่มต้นจากมินิมาร์ท” ประกอบ)

ด้วยสภาพตลาดรถยนต์ในลาวที่เริ่ม ขยายตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2005 (พ.ศ.2548) ส่งผลให้กิจการของมะนียมขยายตัวสูงขึ้นตามสภาพตลาด

ก่อนปี 2010 (พ.ศ.2553) ชื่อมะนียม ออโต้ กรุ๊ปได้รับการยอมรับว่าเป็น 1 ใน 2 บริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระรายใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว อีกบริษัทหนึ่งคือบริษัท ลาว อินเตอร์ ออโต้ในเครือสีเมือง กรุ๊ป

(อ่าน “ตลาดเกิดใหม่ ธุรกิจรถยนต์” เรื่องจากปกนิตยสาร ผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2554 หรือใน www.goto manager.com ประกอบ)

ในปี 2010 มะนียมได้วางโครงการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนบทบาทของมะนียม จากที่เคยเป็นเพียงผู้นำเข้าอิสระให้ก้าวขึ้นไปสู่แถวหน้าของธุรกิจยานยนต์ของ สปป.ลาว

การขยายตัวของมะนียมที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2010 มีอยู่ 3 โครงการใหญ่ๆ คือ

1-การได้เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่อง จักรหนักอย่างเป็นทางการในลาวให้กับ Hyundai Heavy Industries จากเกาหลี

2-การได้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุกหนักอย่างเป็นทางการในลาวให้กับ Tata Daewoo Commercial Vehicle จากเกาหลีอีกเช่นกัน

3-การได้เป็น Exclusive Distributor ทำหน้าที่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ Chevrolet แต่เพียงผู้เดียวในลาวให้กับ General Motors (GM)

Chevrolet ถือเป็นแบรนด์รถยนต์อเมริกันแบรนด์ที่ 2 ต่อจาก Ford ที่ได้เข้า ไปในลาวก่อนหน้านี้แล้วประมาณ 8 ปีก่อน

“เฉพาะมูลค่าสิน ทรัพย์ตามโครงการก่อสร้างโชว์รูม Chevrolet บนถนน T2 ของเราก็ตกประมาณ 80 ล้านดอลลาร์แล้ว” ภูวเรศ กองวัฒนาสุภา Group Managing Director ของมะนียม ออโต กรุ๊ปให้ตัวเลข เพื่อยืนยันกับผู้จัดการ 360 ํ

มะนียมเริ่มเสนอตัวไปทาง Hyundai Heavy Industries กับ Tata Daewoo Commercial Vehicle ที่เกาหลีใต้เมื่อต้นปี 2010 และได้รับอนุมัติให้เป็นตัวแทนจำหน่ายของทั้ง 2 บริษัทในปีเดียวกัน

กลางปี 2010 มะนียมได้ยื่นเสนอตัวมาที่ GM ประเทศไทย เพื่อขอเป็นตัว แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการให้กับรถยนต์ Chevrolet และได้รับอนุมัติให้เป็น Ex-clusive Distributor เมื่อต้นปีที่แล้ว (2011) โดยมะนียมได้จัดตั้งบริษัทใหม่ใช้ชื่อว่าเชฟโรเล็ต ลาว เพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ

เชฟโรเล็ต ลาวได้สร้างปรากฏการณ์ ใหม่ให้กับตลาดรถยนต์ Chevrolet ในภูมิภาคนี้ด้วยการก่อสร้างอาคารสำนักงาน และโชว์รูมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับรถยนต์ Chevrolet ในนครหลวงเวียงจันทน์

“ที่ต้องทำใหญ่ขนาดนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เพราะเรามาช้ากว่าใครเพื่อน ในตลาดรถยนต์ลาว เพราะฉะนั้นการมาที่นี่ จะต้องยิ่งใหญ่ แล้วต้องอิมแพ็คกับตลาด แล้วเวลาคนเขาเห็นเรามานี่ คือเราทำจริงๆ จังๆ ไม่ใช่มาปุ๊บก็ขายทิ้งขายขว้าง แล้วอยู่ในระดับกลางๆ เราไม่เอาแบบนั้น”ภูวเรศให้เหตุผล

สำนักงานและโชว์รูมของเชฟโรเร็ต ลาว ตั้งอยู่บนถนน T2 ซึ่งเป็นถนนที่ถูกคาด หมายว่าจะเป็นถนนเศรษฐกิจสายสำคัญของนครหลวงเวียงจันทน์ในอนาคต เฉพาะ อาคารสำนักงานและโชว์รูมมีพื้นที่ใช้สอย ประมาณ 6,000 ตารางเมตร บนพื้นที่ดินขนาดกว้างประมาณ 5,000 ตารางเมตร

คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและ จะมีการจัดงานเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ที่จะถึงนี้

เป็นการเปิดทั้งตัวแบรนด์ Chev-rolet โชว์รูมและตัวบริษัทไปในเวลาเดียวกัน

“เราวางรูปแบบของงานเปิดตัวไว้ ตั้งใจให้เป็น talk of the town ของคนที่นี่ เลยทีเดียว”

หลังจากมีการเปิดตัวอย่างเป็นทาง การให้กับรถยนต์ Chevrolet และบริษัทเชฟโรเล็ต ลาวแล้ว มะนียมยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่รออยู่อีก 2 โครงการ

นั่นคือการก่อสร้างโชว์รูมให้กับรถบรรทุก Tata Daewoo ที่บริเวณสี่แยกสีลำดวน และการก่อสร้างศูนย์บริการหลังการขายให้กับเครื่องจักรหนักและรถบรรทุก ทั้งของ Hyundai และ Tata Daewoo บนเนื้อที่ประมาณเกือบ 3 เฮกตาร์ (ประมาณ 18 ไร่) บริเวณกิโลเมตรที่ 10 ถนนสายเวียงจันทน์-ท่าเดื่อ (ทางไปสะพาน มิตรภาพไทย-ลาว)

ทั้ง 2 โครงการคาดว่าต้องใช้เงินอีกหลายสิบล้านดอลลาร์

โครงการสร้างศูนย์บริการหลังการขายให้กับธุรกิจเครื่องจักรหนัก และรถบรรทุกที่กิโลเมตรที่ 10 นั้น สุกสะหมอนในฐานะประธานบริษัทถึงกับนำที่ดินซึ่งเคย เป็นบ้านพักอาศัยของตนเองมาเป็นสถานที่ ก่อสร้าง เมื่อสร้างเสร็จมีการวางแผนว่าจะเชิญประธานบริษัท Hyundai Heavy Industries และบริษัท Tata Daewoo Commercial Vehicle ให้เดินทางจาก เกาหลีใต้มาร่วมพิธีเปิดที่นครหลวงเวียงจันทน์ด้วย

ส่วนโชว์รูมเครื่องจักรหนักของ Hyunda ดำเนินการในนามบริษัทมะนียม เฮฟวี่ อิควิปเม้นท์ ปัจจุบันตั้งอยู่บนถนน T2 เช่นกัน แต่อยู่ห่างจากโครงการก่อสร้าง สำนักงานและโชว์รูมของ Chevrolet ขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร

จากโครงการต่างๆ ของมะนียม ที่เกิดขึ้นตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และจะเกิดขึ้นในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้านั้น ทำให้มะนียมจำเป็นต้องจัดตั้งโครงสร้างองค์กรใหม่

จากเดิมก่อนปี 2010 ที่มะนียมเคยดำรงบทบาทเป็นเพียงบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระมาจำหน่ายใน สปป.ลาว ซึ่งดำเนินการทุกอย่างโดยบริษัทมะนียม ออโต กรุ๊ป และมีบริษัทลูก 2 บริษัท คือบริษัทมะนียม ออโต ซาวน์ บริษัทผู้จำหน่าย และติดตั้งเครื่องเสียงรถยนต์ และบริษัทมะนียม วีฮิคัล เรนทัล บริษัทให้เช่ารถยนต์

ทุกวันนี้โครงสร้างองค์กรของมะนียมแบ่งออกเป็น 4 สายหลัก

สายแรก ได้แก่ สาย Automotive ซึ่งมีบริษัทมะนียม ออโต เซลส์ เป็นผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมกับบริษัทเชฟโรเร็ต ลาว ที่เป็น Exclusive Distributor และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อย่างเป็นทางการในลาวให้กับ Chevrolet

สายที่ 2 คือสาย Heavy Equip-ment ซึ่งจะมีบริษัทมะนียม เฮฟวี่ อิควิป- เม้นท์ และบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อรับผิดชอบสินค้ารถบรรทุกของ Tata Daewoo โดยเฉพาะ

สายที่ 3 คือสาย Infrastructure เป็นสายธุรกิจที่คาดว่าจะขยายต่อไปในอนาคต

และสายที่ 4 เป็น Market Service ที่มีบริษัทมะนียม ออโต ซาวน์ และบริษัทมะนียม วีฮิคัล เรนทัล

นอกจากการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่แล้วสิ่งสำคัญที่มะนียมจะต้องเร่งทำอย่างเข้มข้นก็คือการจัดระบบการบริหารภายใน โดยเฉพาะการสร้างคน และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้

จำนวนบุคลากรของมะนียมก่อนการขยายตัวเมื่อปี 2010 มีประมาณ 40 คน ตามแผนที่ได้วางไว้ หากการก่อสร้างโครงการต่างๆ เสร็จสิ้นลง จำนวนบุคลากร ของมะนียมต้องเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 150 คน

รวมถึงการสร้างแบรนด์ “มะนียม กรุ๊ป” ให้เป็นที่รู้จัก ไม่เฉพาะกับตลาดใน สปป.ลาวเท่านั้นแต่เป็นที่รู้จักในระดับสากล

“เราหวังว่าในอนาคตอันใกล้ ชื่อมะนียม จะเป็น 1 ในองค์กรของลาวที่เด็ก นักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบอยากจะเข้ามาร่วมงานด้วยในอันดับต้นๆ” ภูวเรศตั้งความหวัง