วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > มองลอดเลนส์ตลาดแว่นไทย แข่งขันสูงเพื่อ 1 หมื่นล้าน

มองลอดเลนส์ตลาดแว่นไทย แข่งขันสูงเพื่อ 1 หมื่นล้าน

 

ตลาดแว่นตาในประเทศไทยมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงในปัจจุบัน จากผู้ประกอบการแบรนด์ต่างๆ อาทิ เช่น ท็อปเจริญ  บิวตี้ฟูล หอแว่น ฯลฯ ในขณะที่ตลาดแว่นตาเป็นตลาดที่เติบโตต่อเนื่องมีมูลค่าตลาดประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท มีการเติบโตเฉลี่ย 8-10% ปี  
 
แม้ปีนี้ภาวะเศรษฐกิจจะซบเซา ทำให้ตลาดแว่นตาเติบโตเพียง 5% ก็ตาม แต่เหล่าบรรดาร้านแว่นแบรนด์ต่างๆ อัดแคมเปญและกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ครองความเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดแว่นตาของกลุ่มท็อปเจริญ ที่ปูพรมด้วยจำนวนสาขากว่า 1 พันสาขาทั่วประเทศ ในขณะที่เคที ออฟติคก็มีการรุกตลาดแว่นตา โดยมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มอีก 20 สาขา
 
จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดแว่นตาไทยประกอบกับพฤติกรรมของลูกค้าในปัจจุบัน ไปทางเดียวกับเทรนด์โลกที่ต้องการแว่นสายตาที่มีดีไซน์เป็นแฟชั่นมากขึ้น เป็นเหตุผลที่ตลาดแว่นตาไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี
 
ล่าสุด หอแว่นเปิดตัวแบรนด์ POLICE แบรนด์ดังจากอิตาลี การันตีด้วยรูปแบบดีไซน์ คุณภาพและความเก่าแของแบรนด์ที่มีมากว่า 30 ปี จนเป็นที่ยอมรับของชาวยุโรปและอเมริกา จากแว่นคุณภาพที่ผลิตในประเทศอิตาลีทั้งหมด และมีความโดดเด่นด้านดีไซน์ เบา กรอบแว่นเข้ากับรูปหน้าคนเอเชีย พร้อมกับทุ่มงบการตลาด 15 ล้านบาท โดยหอแว่นเชื่อมั่นว่า แบรนด์นี้จะโดนใจตลาด พร้อมกระตุ้นยอดขายได้อย่างงดงาม 
 
“ในปีนี้เศรษฐกิจไม่ดี เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ปัญหาบ้านหลังแรก รถคันแรก ชนชั้นกลางกำลังซื้อหายไป แต่เชื่อว่าปีหน้ารัฐบาลมีการลงทุนมากมาย เศรษฐกิจจะดีขึ้น และมีเงินหมุนเวียนมากขึ้น” ภาคี ประจักษ์ธรรม  กรรมการผู้จัดการ บริษัท หอแว่น กรุ๊ป จำกัด  กล่าว
 
หอแว่นครองตลาดแว่นตาอันดับ 2 ของไทย ด้วยมาร์เก็ตแชร์10-15% ของมูลค่าตลาดรวม โดยมีกลุ่มเป้าหมายทุกเซกเมนต์ และในปัจจุบันได้นำเข้าแว่นตากว่า 30 แบรนด์  ด้วยจำนวนสาขาในไทย 130 แห่ง โดยแบ่งเป็นสัดส่วนในกรุงเทพฯ 70%  ต่างจังหวัด 30% ทั้งนี้ในไทยจะขยายสาขาปีละ 5 แห่ง โดยการเปิดร้านจะยึดทำเลในศูนย์การค้าชั้นนำ เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เป็นหลัก โดยในปีนี้จะเปิดสาขาที่เซ็นทรัลบางใหญ่  เซ็นทรัลศาลายา  เซ็นทรัลระยอง และเซ็นทรัลเชียงใหม่ โดยใช้เงินทุนสาขาละประมาณ  4-6  ล้านบาท  ยกเว้นเซ็นทรัลหาดใหญ่ที่ไม่มีสาขา
 
ในขณะเดียวกันจะไม่มุ่งเน้นร้านสแตนด์อะโลน ซึ่งตอนนี้มีอยู่แค่เฉพาะแถวสีลม และวังบูรพา เท่านั้น
 
“การเปิดร้านต้องใช้เวลา 3-5 ปี จึงจะถึงจุดคุ้มทุน ถ้าผู้ขายมากกว่าผู้บริโภคจึงยังไม่เป็นโอกาสดีต่อการขยายสาขา” ภาคีกล่าว
            
ส่วนตลาดต่างประเทศ หอแว่นบุกไปเปิดสาขาที่สิงคโปร์ และมาเลเซียเมื่อ 8 ปีที่แล้ว และประสบผลสำเร็จอย่างดี  โดยเป็นบริษัทแว่นตาแห่งเดียวที่ขยายไป และเติบโตได้ดี ซึ่งในปัจจุบันมีสาขาอยู่ 22 แห่ง คือ ที่สิงคโปร์ 12 แห่ง และมาเลเซีย10 แห่ง มีสัดส่วนรายได้เมื่อเทียบกับไทย 40:60  หรือประมาณ 500  ล้านบาท   
 
“ยอดรายได้ในสิงคโปร์ในปีนี้ลดลงจากเป้าที่ตั้งไว้ จาก 10 เปอร์เซ็นต์เหลือ 8-9 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสิงคโปร์อิงกับเศรษฐกิจยุโรป และอเมริกา ในขณะที่รายได้ในมาเลเซียเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ คือ 12 เปอร์เซ็นต์  ทั้งนี้การเพิ่มสาขาในมาเลเซียค่อนข้างยากเนื่องจากประชากรน้อย” ภาคีกล่าว 
   
ในขณะการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 นั้น หอแว่นเตรียมขยายสาขารับ AEC พร้อมชูนโยบาย ร้านแว่นตาที่มีคุณภาพ professional ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมตั้งเป้าโตเพิ่ม 10-12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากที่ประสบผลสำเร็จในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียแล้ว ประเทศอื่นๆ อาทิ  ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา ก็กำลังพิจารณากฎหมายธุรกิจการค้าปลีกของประเทศดังกล่าว
 
พฤติกรรมการซื้อแว่นตานั้น ภาคีบอกว่า “ปกติคนเราจะเปลี่ยนแว่นทุก 2 ปี และจะเปลี่ยนเลนส์ทุกปี ในขณะที่ราคาเฉลี่ยประมาณ 5,000–7,000 บาทจะขายดีที่สุด โดยสัดส่วนแว่นสายตาขายดีที่สุด 70% แว่นกันแดด 10% และคอนแทคเลนส์ 20%”
              
“ธุรกิจแว่นตาเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันดุเดือดทั้งด้านราคาและแคมเปญต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย ขณะที่หอแว่นเน้นเรื่องคุณภาพเป็นตัวนำ การเลือกแว่นตาขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของคน ในขณะที่กลุ่มลูกค้าหลักของเรา คือ กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ต้องการร้านที่มีความเชี่ยวชาญ เขาเชื่อถือเรา ประสิทธิภาพของเรา ในขณะที่ธุรกิจแว่นตาจะมีแคมเปญแข่งขันกันมากมาย แต่ปัจจัยข้อเท็จจริงก็คือ ความน่าเชื่อถือจะดึงดูดลูกค้าได้ ในขณะที่แคมเปญต่างๆ เป็นเพียงสีสันของตลาดแว่นตาเท่านั้น” ภาคีกล่าวปิดท้าย
 
ขณะที่ผู้ประกอบการอีกรายอย่าง เคที ออฟติค ก็ไม่ได้นิ่งเฉย หากแต่กำลังรุกตลาด โดยมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่ม อีก 20 แห่ง ซึ่งปัจจุบัน เคที ออฟติค  มีสาขากว่า 200 แห่งทั่วประเทศ โดยตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ 100 สาขา ต่างจังหวัด 100 สาขา เป็นสัดส่วนร้านแฟลกชิพสโตร์ 15% บูติกสโตร์ 30% ที่เหลือ 55% เป็นร้านสแตนด์อะโลน    

ทั้งนี้ ในปี 2556  ได้ทุ่มงบกว่า 60 ล้านบาทขยายสาขา 20 แห่ง เฉลี่ยลงทุนสาขาละ 3 ล้านบาท เพื่อทำการตลาดและส่งเสริมการขายเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายที่จะเปิดสาขาใหม่ 15-20 แห่งทั่วประเทศพร้อมวางกลยุทธ์ให้เป็นร้านแว่นตาระดับพรีเมียม เจาะลูกค้าระดับบีบวกขึ้นไปผนวกกับความหลากหลายของสินค้ากว่า 30 แบรนด์ โดยเน้นแบรนด์ที่มี “คาแรกเตอร์” หรือสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟแบรนด์ หรือ เอ็กซ์คลูซีฟโมเดล  พร้อมทั้งมีการนำเข้าแบรนด์ใหม่ๆ ปีละ 1-2  แบรนด์ เป็นต้น
 
ชัชวาลย์ วณิชไพสิฐ ผู้อำนวยการด้านการบริหาร เคที ออฟติค ระบุว่า  เคทีออฟติค สนใจเปิดตลาดพม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา พร้อมๆ กับการเร่งขยายธุรกิจในไทย เพื่อให้ครอบคลุมการก้าวสู่ตลาดอาเซียนในยุค AEC อย่างสมบูรณ์แบบ โดยวางโมเดลธุรกิจในการเปิดตลาดร่วมกับ “พันธมิตรท้องถิ่น” ในประเทศนั้น ในขณะเดียวกัน  การตามติดกลุ่มห้างใหญ่ๆ เช่น กลุ่มเซ็นทรัล ที่มีการปักหมุดในตามพื้นที่ต่างๆ ในแถบอาเซียน ก็เป็นช่องทางหนึ่งของการปูทางทางการตลาดของบริษัทด้วย
 
ด้านฝั่งของเบอร์หนึ่งในตลาดแว่นตาไทยอย่าง “แว่นท็อปเจริญ” ดูจะมั่นใจในศักยภาพของตลาดและกลยุทธ์ที่ดำเนินต่อเนื่องมาไม่น้อยเช่นกัน
 
นพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์ กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ร่วมเจริญพัฒนา จำกัด เจ้าของร้าน แว่นท็อปเจริญ  มีมุมมองในการบริหารทางการตลาดว่า การที่เปิดสาขามากเท่าไร จะยิ่งครองตลาดได้มากเท่านั้น  ซึ่ง ณ ปัจจุบัน แว่นท็อปเจริญได้ขยายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ครองความเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดแว่นตา  ด้วยจำนวนสาขากว่า 1,700 สาขา ทั่วประเทศ  รวมถึงการเปิดตัวกลยุทธ์ด้วยการเป็นพันธมิตรทางการค้ากับแว่นบิวตี้ฟูลที่จะเน้นให้บริการหลังการขาย ซึ่งเป็นจุดสำคัญของธุรกิจแว่นตา
 
ในขณะที่แว่นบิ้วตี้ฟูลเน้นกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น เน้นแฟชั่น แว่นท็อปเจริญจะเน้นลูกค้าทั่วไป และยังมีแผนการควบรวมแว่นท็อปเจริญ และบิวตี้ฟูลเป็นบริษัทเดียวกันในอนาคต เพื่อเตรียมความพร้อมทางธุรกิจ และเตรียมตัวในการเข้าสู่ AEC ในที่สุด
 
ตลาดแว่นตา  ตลาดที่มีการเติบโตไม่หวือหวา แต่เติบโตที่มีแนวโน้มสูงและต่อเนื่อง ท่ามกลางการแข่งขันทั้งผู้ประกอบการในและนอกประเทศ