วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
Home > Cover Story > ชัยวัฒน์ มิ่งไม้ แตกไลน์ “เมะ” บุกหนังแอนิเมชัน

ชัยวัฒน์ มิ่งไม้ แตกไลน์ “เมะ” บุกหนังแอนิเมชัน

ชัยวัฒน์ มิ่งไม้ เคยคุยกับสื่อถึงชีวิตวัยเด็ก พ่อเป็นตำรวจ แม่ขายของ ไม่มีเวลาดูแลและมักถูกปล่อยไว้ที่โรงภาพยนตร์ชั้นสองที่วนฉายหนังควบ 2 เรื่อง ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน มีเพียงหมอน 1 ใบกับผ้าห่ม 1 ผืน แต่นั่นกลับเป็นสารตั้งต้นให้เขาเลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กลายเป็นนักดูหนัง ทำงานคร่ำหวอดในวงการนานกว่าสิบปี

ก่อนหน้านี้เขาทำงานด้านตลาดให้ เอ็ม พิคเจอร์ส อยู่เบื้องหลังการตั้งชื่อหนังหลายเรื่อง อย่าง Inside Llewyn Davis คน กีตาร์ แมว ถือเป็นนักทัวร์เทศกาลหนังระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลหนังเมืองคานส์ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเบอร์ลิน เทศกาลหนังฮ่องกง หรือ Hong Kong Film Gala Presentation เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโทรอนโต และ American Film Market ต้องดูหนังเพื่อเก็บข้อมูลการตลาด นับแล้วไม่ต่ำกว่า 300 เรื่องต่อปี

ที่ผ่านมา วางแผนด้านการตลาดให้ภาพยนตร์มากกว่า 30 เรื่อง ได้แก่ แสงกระสือ, ไบค์แมน, Angel has fallen, ขุนแผน ฟ้าฟื้น, อีเรียมซิ่ง, นาคี 2, ขุนบันลือ, 9 ศาสตรา, DORAEMON THE MOVIE, มิสเตอร์ เฮิร์ท, ส่ม ภัค เสี่ยน, YOUR NAME, Love Lies Bleeding, Exhuma, silent night, Dream Scenario, the Bride Curse 2, Single 8, Ransomed, เทปผีดุ, The Moon, Talk to me, 4 Kings 2, แสงกระสือ 2, ทวงคืน, แดงพระโขนง และแอน FACES OF ANNE

ช่วง เอ็ม พิคเจอร์ส เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ชัยวัฒน์ตัดสินใจออกมาลุยบริษัท ฉายแสง แอด.เวนเจอร์ จำกัด วางแผนการตลาดให้ภาพยนตร์ไทยของค่ายเนรมิตรหนัง ฟิล์ม รวมทั้งจัดจำหน่ายและหาลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทย-เทศ ล่าสุดเตรียมลุยโปรเจกต์ใหญ่บุกตลาดหนังแอนิเมชัน

ชัยวัฒน์ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฉายแสง แอด.เวนเจอร์ จำกัด กล่าวว่า วันนี้ ฉายแสง แอด.เวนเจอร์ เป็นบริษัทที่ทำการตลาดและจัดจำหน่ายให้กับภาพยนตร์ไทยจากค่ายเนรมิตรหนัง ฟิล์มเป็นหลัก โดยปี 2566 มีภาพยนตร์ 4Kings 2 ที่สามารถทำรายได้ 240 ล้านบาท ทั่วประเทศ และยังร่วมกับพาร์ตเนอร์นำภาพยนตร์ที่เป็นกระแสเข้ามาฉายในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับ Night Edge Pictures นำ TALK TO ME จับ มือ ผี ภาพยนตร์สยองขวัญอินดี้ จาก A24 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีและประสบความสำเร็จมาก

การร่วมกับ ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) ทำการตลาด Guy Ritchie’s The Covenant, Silent Night และร่วมมือกับค่าย โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ (ประเทศไทย) ส่งภาพยนตร์เรื่อง EXHUMA ขุดมันขึ้นมาจากหลุม เป็นหนังที่สร้างรายได้ถล่มทลายที่ประเทศเกาหลี มีผู้ชมตีตั๋วชมกว่า 2 ล้านใบ ภายใน 4 วันแรกที่เปิดตัว กลายเป็นภาพยนตร์ที่เปิดตัวด้วยรายได้สูงสุดในเกาหลีประจำปี 2024 ทำสถิติขายตั๋ว 1 ล้านใบแรก และ 2 ล้านใบแรกเร็วที่สุดแห่งปี ซึ่งปรากฏว่า การเปิดตัวในไทยสามารถกวาดรายได้ไปถึง 52 ล้านบาท เฉพาะพื้นที่ฉายในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่

ล่าสุด บริษัทเปิดเกมรุกตลาดภาพยนตร์กลุ่มแอนิเมชัน เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้นักดูหนังชาวไทยและจากการพูดคุยกับพาร์ตเนอร์ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ตลาดคึกคักมาก โดยเฉพาะอัตราเติบโตต่อเนื่องทุกปี ซึ่งผลสำรวจตลาดช่วงปี 2563-2566 พบว่าภาพยนตร์แอนิเมชันที่เข้าโรงฉายในประเทศไทยมีตลาดรวมมากกว่า 150 ล้านบาท บริษัทจึงมองเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมแอนิเมชัน ตัดสินใจขยายพอร์ต เปิดยูนิตธุรกิจใหม่ ภายใต้ชื่อ “เมะ” (ME’) เพื่อจัดจำหน่ายและทำการตลาดภาพยนตร์แอนิเมชันแยกออกจากแนวอื่นๆ อย่างชัดเจน

บริษัทเชื่อมั่นว่า ตลาดหนังแอนิเมชันมีกลุ่มแฟนคลับจำนวนมาก ดูจากคอมเมนต์ผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ อย่างในอดีตที่เคยนำเรื่อง YOUR NAME เข้ามาทำตลาดไทย เป็นภาพยนตร์อนิเมะญี่ปุ่นแนวโรแมนติกแฟนตาซี ออกฉายเมื่อปี 2559 เล่าเรื่องเด็กหนุ่มนักเรียนมัธยมปลายในโตเกียวและเด็กสาวมัธยมปลายในชนบทของญี่ปุ่นที่เกิดการสลับร่างกันอย่างลึกลับ ปรากฏว่า เซอร์ไพรส์มาก สามารถทำรายได้กว่า 40 ล้านบาท มีแฟนๆ เรียกร้องให้เข้าฉายในโรงหนังทั่วประเทศ และมีเด็กบางคนตีตั๋วเข้าชมถึง 15 รอบ!!

ปัจจุบันชัยวัฒน์เร่งเดินหน้าเจรจาจับมือกับพาร์ตเนอร์หลายเจ้า อย่าง Medialink Entertainment Limited และพาร์ตเนอร์ที่มี license แอนิเมชัน เบื้องต้นในปีนี้วางแผนนำเข้าแอนิเมชันทั้งหมด 5 เรื่อง ภายใต้งบประมาณ 2 ล้านดอลลาร์ หรือราว 74 ล้านบาท

สำหรับไลน์อัปภาพยนตร์ที่เตรียมเข้าฉายในปีนี้ ได้แก่ Haikyu!! The Dumpster Battle ไฮคิว!! คู่ตบฟ้าประทาน ตอน: ศึกที่กองขยะ ผลงานมังงะแนวกีฬาวอลเลย์บอลของอาจารย์ Furudate Haruichi ที่มีการตีพิมพ์ในนิตยสาร Shonen Jump ตั้งแต่ปี 2555 มีแฟนคลับติดตามมากมาย จนนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน เป็นภาพยนตร์ที่ได้ร่วมกับ Medialink Entertainment Limited ถือเป็นพาร์ตเนอร์ใหญ่ในเอเชีย กำหนดเข้าฉายวันที่ 30 พฤษภาคมนี้

Ya boy Kongming: Road to Summer Sonia ขงเบ้ง เจาะเวลาปั้นดาว ผลงานกำกับโดย ชู ฮมมะ เขียนบทโดย โยโกะ ยาไนยามะ มังงะแนวคอมเมดี้ไอดอลยอดฮิต สร้างจากหนังสือการ์ตูนของสำนักพิมพ์ Kodansha ที่ตีพิมพ์ออนไลน์ใน Comic Days ช่วงปลายปี 2562-2564 ต่อมาถูกตีพิมพ์ ใน Weekly Young Magazine ในปี 2564 ถึงปัจจุบัน ซึ่งฉบับภาษาไทยตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เซนชู กำหนดเข้าฉายวันที่ 6 มิถุนายน

Given: Hiiragi Mix ร่วมกับ Neofilms เรื่องราวความสัมพันธ์ ความรัก ความโรแมนติก ความเศร้า ของ 4 หนุ่ม กับวงดนตรีนาม GIVEN ที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แนว BL และได้รับความนิยมอย่างมาก กำหนดเข้าฉายวันที่ 1 สิงหาคม

Totto-Chan: The Little Girl at the Window ภาพยนตร์ที่ร่วมมือกับ TOHO เป็นนวนิยายที่ถูกตีพิมพ์มากสุดในประเทศญี่ปุ่น และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมายทั่วโลก กำหนดเข้าฉายวันที่ 29 สิงหาคม

เรื่องที่ 5 คือ Ghost Cat Anzu ภาพยนตร์ที่ร่วมมือกับ Shin-ei Animation และบริษัทฝรั่งเศส CHARADES เป็นแอนิเมชันที่เพิ่งเข้าสายประกวด Directors Fortnight ที่เทศกาล Cannes Film Festival ครั้งที่ 77 ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่กำหนดวันเข้าฉายที่แน่นอน

ด้านผลการดำเนินงานในฐานะบริษัทน้องใหม่นั้น ฉายแสง แอด.เวนเจอร์ ทำกำไรได้เกือบ 20 ล้านบาทในปี 2566 และปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 2 เท่า ปัจจัยหลัก คือ จำนวนคอนเทนต์ที่มีในมือ โดยเฉพาะภาพยนตร์แอนิเมชัน ภาพยนตร์ไทย ภาพยนตร์ต่างประเทศ รวมทั้งภาพยนตร์ไทยจากพาร์ตเนอร์ที่เตรียมเปิดตัวมากขึ้นกว่าปีก่อนด้วย.

ย้อนตำนานอนิเมะ ซามูไรผู้โง่เขลา

อนิเมะ (アニメ) หมายถึงอนิเมชันภาพเคลื่อนไหวในภาษาญี่ปุ่น ในญี่ปุ่นอนิเมะหมายถึงอนิเมชันทุกประเภทรวมถึงการ์ตูนอเมริกันและที่อื่น สำหรับประเทศอื่นๆ อนิเมะมักหมายถึงอนิเมชันจากญี่ปุ่นโดยเฉพาะ อนิเมะมีความโดดเด่นด้วยตัวละครที่วาดอย่างสวยงามและมีดวงตากลมโต ตัวละครจะถูกกำหนดชัดเจนและดูสมจริงและโครงเรื่องมักจะซับซ้อนมีการพัฒนาตัวละครและการดำเนินเรื่อง แต่ยังมีอนิเมะบางเรื่องที่ไม่เข้ากับกฎตายตัวนี้

ประเทศญี่ปุ่นเริ่มผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันในเชิงพาณิชย์เมื่อปี ค.ศ.1917 เรื่องแรกชื่อ Namakura Gatana (なまくら刀) ผลิตโดยจุนอิจิ โคอูจิ มีความยาวเพียง 4 นาที เป็นภาพขาวดำ ไม่มีเสียง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับซามูไรคนหนึ่งที่ซื้อดาบคมทื่อมาใช้งานด้วยความโง่เขลาเพราะดาบเล่มนั้นไม่สามารถใช้ต่อสู้กับใครได้แม้แต่ศัตรูที่อ่อนแอที่สุด

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ในฐานะสื่อสำหรับเด็กของภาพยนตร์การ์ตูนทำให้อนิเมะได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มและแผ่นดินไหวใหญ่ในที่ราบคันโตเมื่อ ปี ค.ศ.1923 ทำให้สตูดิโอและงานในยุคแรกถูกทำลายจำนวนมาก

สำหรับการ์ตูนอนิเมะเรื่องยาวเรื่องแรก คือ โมโมทาโร่ อุมิโนะชินเปอิ (桃太郎 海の神兵) หรือ โมโมทาโร่ ทหารเทพแห่งท้องทะเล ซึ่งสร้างขึ้นโดยราชนาวีของจักรวรรดิญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1944 เพื่อใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อระหว่างสงคราม โดยให้นายทหารโมโมทาโร่ตาเป็นตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นต่อสู้กับปิศาจเสมือนฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามยุคนั้น

ยุคหลังสงครามความนิยมในภาพยนตร์แอนิเมชันได้รับการฟื้นฟูเป็นลำดับ จนกระทั่งในทศวรรษ 1960 นักสร้างแอนิเมชันอย่าง เทะซิกะ โอซามุ บุกเบิกเทคนิคการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนในญี่ปุ่น โดยศึกษาเลียนแบบเทคนิคของนักทำแอนิเมชันของดิสนีย์และคิดหาทางลดความยุ่งยาก รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ จนได้รับยกย่องเป็นบิดาแห่งอนิเมะสมัยใหม่

ปี ค.ศ.1963 โอซามุเปิดตัวอนิเมะเรื่องแรก ซีรีส์เจ้าหนูอะตอม (Astro Boy) ที่ดัดแปลงจากมังงะเจ้าหนูอะตอม (Astro Boy) ออกอากาศสัปดาห์ละครั้งความยาว 30 นาทีต่อตอน ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจนสถานีโทรทัศน์ NBC ของสหรัฐอเมริกาซื้อลิขสิทธิ์นำไปฉายพร้อมพากย์เสียงภาษาอังกฤษ

ผลงานโด่งดังที่สุดของเขายังมีอีกหลายเรื่อง เช่น Buddha, Dororo, Kimba the White Lion, Phoenix และ Black Jack ไม่ใช่ความนิยมในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่นำไปฉายในอเมริกาและประเทศในยุโรปหลายเรื่อง

ในทศวรรษ 1980 อนิเมะได้รับความนิยมกว้างขวางในญี่ปุ่น ทำให้ธุรกิจการสร้างอนิเมะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และในทศวรรษ 1990-2000 ชื่อเสียงของอนิเมะได้แพร่ขยายไปยังนอกประเทศญี่ปุ่น พร้อมๆ กับการขยายตัวของตลาดอนิเมะทั่วโลก.