วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > On Globalization > SUGAMO: ฮาราจูกุของ สว.

SUGAMO: ฮาราจูกุของ สว.

 
เพื่อนๆ ของผู้เขียนทั้งที่อยู่ในแวดวงเครื่องแต่งกายหรือมีความสนใจใฝ่รู้เรื่องแฟชั่นล้ำสมัย มักชวนผู้เขียนไปเดินเตร็ดเตร่ สังเกตการณ์และสำรวจกระแสความนิยมล่าสุดของสังคมญี่ปุ่นอยู่เป็นระยะ
 
ผู้เขียนเคยสังเกตและสนุกนึกตามประสาคนช่างคิดนึก พบจุดที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือภายใต้เส้นทางรถไฟสาย ยามาโนเตะ (Yamanote Line) ซึ่งถือเป็นรถไฟสายหลักที่วิ่งรอบกรุงโตเกียวนี้ มีแหล่งรวมแฟชั่นของคนญี่ปุ่นในแต่ละช่วงวัยไว้อย่างน่าสนใจ
              
เพราะรถไฟที่วิ่งวนเป็นวงกลมรอบกรุงโตเกียวสายนี้ ทำหน้าที่ประหนึ่งหน้าปัดนาฬิกาแฟชั่นขนาดใหญ่ไปด้วยในคราวเดียวกัน ท่านผู้อ่านลองตามผู้เขียนมานะคะ
 
บ่อยครั้งที่จุดเริ่มต้นของพวกเรามักเป็น ฮาราจูกุ (Harajuku) เพราะทำให้เห็นภาพกว้างของแฟชั่นญี่ปุ่นในแต่ละช่วงได้อย่างหลากหลาย 
 
ความเป็นไปของแฟชั่นที่ฮาราจูกุ ส่วนใหญ่จะดึงดูดกลุ่มเป้าหมายในวัยกำลังจะโต ตั้งแต่อายุ 13 ปีขึ้นไปหรือที่เรียกกันว่าโลว์ทีน (low teen) หรือกลุ่มนักเรียนมัธยมเป็นหลัก เทียบคร่าวๆ ก็คงคล้ายกับสยามบ้านเราในช่วงหนึ่ง แต่ฮาราจุกุ มีสีสันมากกว่ามาก แถมยังพรั่งพรูห้อมล้อมด้วยรายละเอียดที่บางครั้งก็เกินเลยไปกว่าที่จะนึกถึงว่ามีผู้คนสวมใส่เสื้อผ้าแบบนี้สัญจรไปบนท้องถนนได้จริงๆ 
 
แต่หากเป็นกลุ่มวัยรุ่นนักศึกษาตั้งแต่ระดับวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย ย่านแฟชั่นหลักของพวกเขาก็จะเป็นแถวชิบูยา (Shibuya) ซึ่งมีร้านรวงเกี่ยวกับเสื้อผ้าและเครื่องประดับ เรียงรายอยู่มากมาย ภายใต้สนนราคาที่ไม่แพงนัก โดยเฉพาะหากเจาะลึกลงไปในรายละเอียด อาคาร 109 ของชิบูยา ซึ่งอยู่ตรงหัวถนนก็คงใกล้เคียงกับการไปเดินอยู่ในห้างแพลททินั่ม ที่ประตูน้ำเลยทีเดียว
 
ส่วนแฟชั่นของผู้คนในวัยทำงานจะอยู่ขยับสูงถัดขึ้นไปอีกหน่อยเป็น ชินจูกุ (Shinjuku) ซึ่งก็คงให้ภาพที่ไม่แตกต่างจากสาวออฟฟิศเมืองไทยเดินชอปปิ้งแถวราชประสงค์เท่าใดนัก
 
ในโปรแกรมท่องเที่ยวของบริษัททัวร์จากเมืองไทยส่วนใหญ่ หรือแม้ในหนังสือแนะนำสถานที่น่าสนใจในกรุงโตเกียว ไม่เคยพลาดที่จะบรรจุย่านแฟชั่นหลักทั้งสามนี้ไว้เป็นส่วนหนึ่ง ให้ได้ตื่นตาตื่นใจกันเสมอ
 
แต่แฟชั่นบนเส้นทางสายยามาโนเตะไม่ได้หยุดหมุนอยู่เพียงเท่านี้ และชีวิตไม่ได้สิ้นสุดอยู่ที่การเป็นพนักงานออฟฟิศที่รอวันร่วงโรย
 
เหนือขึ้นไปที่ ซูกาโมะ (Sugamo) ซึ่งเรียกได้ว่าอยู่บนจุดสูงสุดของเส้นทางยามาโนเตะนี้ละคะ ที่เป็นแหล่งแฟชั่นล้ำสมัยอีกแห่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้กล่าวถึง ทั้งที่กลุ่มเป้าหมายส่วนนี้มีอัตราขยายตัวต่อเนื่องมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ของญี่ปุ่นเสียอีก
 
ซึ่งแม้ที่ซูกาโมะนี้จะไม่มีภาพของคอสเพล์ย (cosplay) หลุดโลกทะลุมิติ ซึ่งเป็นภาพที่ชินตาแบบฮาราจูกุ แต่ซูกาโมะ ก็ได้รับความนิยม และยังคงได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็น ฮาราจูกุของผู้สูงวัย และมีฐานะไม่ต่างจากการเป็นศูนย์รวมแฟชั่นของเหล่าผู้สูงวัยในญี่ปุ่นมาไม่ต่ำกว่า 3 ทศวรรษแล้ว
 
ถ้าต้องการสัมผัสความคึกคักของซูกาโมะ แนะนำให้ไปย่านนี้ในวันที่ 4, 14 และ 24 ซึ่งถือเป็นประหนึ่งวันนัดชุมนุมของเหล่า ส.ว. ซึ่งแม้แฟชั่นที่นี่จะไม่ได้เน้นความหวือหวา แหวกแนว หากเน้นที่ความมีสไตล์และเหมาะควรสมวัย แต่อย่าเพิ่งคิดว่าซูกาโมะ จะเต็มไปด้วยบรรยากาศทึมทึบชวนหดหู่เสียก่อนนะคะ
 
บางช่วงแฟชั่นของที่นี่ร้อนแรงกว่าที่อื่นๆ เสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในเรื่องของสีเนื่องเพราะในบางช่วงกระแสความคิดเกี่ยวกับสุขภาพ ที่เชื่อกันว่าสีโทนร้อนช่วยให้เลือดลมของ ส.ว. เดินดี ได้ขับเน้นให้สีแดงกลายเป็นสียอดนิยม และเสื้อผ้าที่มีลายดอกไม้ โดยเฉพาะกุหลาบได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม
 
แต่ใช่ว่าซูกาโมะจะมีดีเฉพาะแฟชั่นสำหรับผู้สูงวัยเท่านั้น ร้านรวงในซูกาโมะ ต้องพัฒนาสินค้าให้ต้องกับรสนิยมของเหล่าส.ว. ที่เป็นฐานลูกค้าของที่นี่ไปพร้อมกัน
 
เมนูอาหารเครื่องดื่มของที่นี่จึงต้องเน้นหรือออกแนวรักษ์สุขภาพ ทั้งประเภทไขมันต่ำ ไม่มีน้ำตาล หรือแม้กระทั่งการมีส่วนผสมของสมุนไพรช่วยบำรุงด้านความจำ ฯลฯ
 
ขณะที่เสียงเพลงที่เปิดบรรเลงคลอไปตลอดแนวเส้นทาง ก็ย้อนสร้างบรรยากาศให้หวนรำลึกยุคบ้านเมืองดีหลังสงครามโลก สมัยโชวะ (Showa) หรือเมื่อประมาณ 50-60 ปีที่ผ่านมาแล้วได้เป็นอย่างดี ซึ่งคงร่วมสมัยอยู่กับดนตรีแนวสุนทราภรณ์บ้านเราประมาณนั้นกันเลยทีเดียว
 
ถึงตรงนี้เลยคิดได้ว่าจะต้องหาโอกาสพา ส.ว. ผู้ใหญ่ในบ้านไปเดินแถว ดิโอลด์สยาม รำลึกช่วงวัยที่ผ่านมาของยุคโก๋หลังวัง หรือแม้กระทั่งไปชมการแสดงเพลงร่วมสมัย (ของท่าน) ที่ศาลาเฉลิมกรุงก็คงเข้าท่าไม่น้อย…ท่านผู้อ่านล่ะคะเห็นเป็นอย่างไรบ้าง