วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
Home > Cover Story > พิษณุโลก เมืองหน้าด่านแห่งการเปลี่ยนแปลง

พิษณุโลก เมืองหน้าด่านแห่งการเปลี่ยนแปลง

 

หลังจากปล่อยคู่แข่งอย่าง “นกแอร์” ผูกขาดเส้นทางบินกรุงเทพ-พิษณุโลก มานานเกือบ 10 ปี ในที่สุด ผู้นำสายการบินต้นทุนต่ำอย่าง “แอร์เอเชีย” ก็แถลงเปิดตัวเส้นทางบินสู่พิษณุโลก โดยฤกษ์บินไฟลท์แรกวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ท่ามกลางเสียงเฮของชาวพิษณุโลก นักท่องเที่ยว นักลงทุน และพี่น้องในจังหวัดใกล้เคียง 

เบื้องต้นแอร์เอเชียจะให้บริการ 2 เที่ยวบินต่อวัน ขณะที่นกแอร์เพิ่งประกาศเพิ่มเที่ยวบินสู่พิษณุโลกเป็น 5 เที่ยวต่อวัน จากเดิมที่บินอยู่ที่วันละ 4 เที่ยว ด้วยเครื่องบิน ATR-72 บรรทุกได้ 66 ที่นั่ง และในไม่ช้าอาจจะได้เห็น “ไทยสมายล์” เข้ามาร่วมแข่งขันในเส้นทางนี้ด้วย เพราะไม่นานมานี้มีการส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจตลาดแล้ว

จากเมื่อก่อนที่มักถูกมองข้ามในเรื่องการลงทุนและธุรกิจ เพราะดูเหมือนการพัฒนาทุกอย่างจะพุ่งตรงจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ แต่นาทีนี้ พิษณุโลกกลายเป็นจังหวัดที่มีความตื่นตัวจากกลุ่มทุนส่วนกลางมากที่สุดจังหวัดหนึ่ง โดยมีโครงการรถไฟความเร็วสูง (Hi-Speed Train) เป็นตัวขับเคลื่อน

ไม่เพียงรถไฟความเร็วสูง ในแผนพัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคมที่เพิ่งมีการอนุมัติโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ยังพบว่าสถานีพิษณุโลกถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาโครงการรถไฟรางคู่ด้วย

มีความเป็นไปได้ว่าการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายแรกจะเริ่มต้นที่เส้นทางสายเหนือ โดยเฟสแรกคือ เส้นทางกรุงเทพ-พิษณุโลก ซึ่งหากเป็นจริง พิษณุโลกจะกลายเป็นเมืองท่าที่มีโครงข่ายระบบคมนาคมที่ครอบคลุมมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย เพราะเป็นชุมทางสำคัญของการคมนาคมทั้งระบบรางและระบบถนน 

สำหรับการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางถนน รัฐบาลมีโครงการทางหลวงแผ่นดินหมายเลข12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) จากเดิมที่มีแค่ 2 ช่องจราจร ให้เป็น 4 ช่องจราจร และกำลังเร่งให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 นี้ เพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC เนื่องจากพิษณุโลกเป็นที่ตั้งของ “สี่แยกอินโดจีน” อันเป็นจุดตัดของเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) และเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor)

ควบคู่กับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรมโยธาธิการและผังเมืองยังมีแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีไฮสปีดเทรนให้เป็น “เมืองใหม่” โดยสถานีพิษณุโลกเป็นหนึ่งในไม่กี่สถานีที่มีโอกาสที่จะได้รับเลือกให้อยู่ในแผนนี้

พิษณุโลกถือเป็นเมืองหลวงของภาคเหนือตอนล่าง และเป็นจังหวัดที่มีกำลังซื้อสูง เพราะไม่ใช่กำลังซื้อจากคนพิษณุโลกเท่านั้น แต่ยังมีกำลังซื้อจากคนพิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ และอีกหลายจังหวัดข้างเคียงที่เข้ามาจับจ่าย และในอนาคตอันใกล้ ยังจะมีกำลังซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาหนุนส่ง

อีกกำลังซื้อสำคัญยังมาจากการเป็นเมืองการศึกษาของภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้พิษณุโลกโดดเด่น โดยมหาวิทยาลัยขึ้นชื่อคือ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมีนิสิต อาจารย์ และบุคลากร รวมกันเกือบ 3 หมื่นคน อีกทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูล มหาวิทยาลัยพิษณุโลก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเอกชนอื่นๆ รวมถึงวิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

เมื่อกันยายน 2554 Cambridge Regional College ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลเก่าแก่จากอังกฤษ ก็เพิ่งเข้ามาตั้งโรงเรียนนานาชาติเคมบริดจ์ คอลเลจ (ประเทศไทย) ขึ้นที่เมืองพิษณุโลก เพื่อรองรับการเปิดเออีซี โดยที่นี่ถือเป็นสาขาแรกในภูมิภาคอาเซียน

แม้จะเป็นเมืองที่มีศักยภาพสูง แต่ก่อนหน้านี้ พิษณุโลกยังไม่เป็นที่ “ต้องตา” ของนายทุนจากส่วนกลางมากนัก มีเพียงกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่เริ่มเข้าไปปักหมุดเมื่อราว 7-8 ปีก่อน อาทิ โฮมโปร ไทวัสดุ อินเด็กซ์ฯ และเมเจอร์ฯ ยกเว้น เทสโก้ บิ๊กซี และแม็คโคร ที่อาจจะเข้าไปก่อนหน้านั้นเล็กน้อย

เศรษฐกิจที่เติบโตร่วมกับแผนพัฒนาระบบคมนาคมที่จะเกิดขึ้นในพิษณุโลก ทำให้ปลายปี 2554 กลุ่มเซ็นทรัลฯ ตัดสินใจเปิดศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือตอนล่างที่นั่น ส่วนเทสโก้ก็ขยายเป็น 2 สาขา ขณะที่บิ๊กซีและโฮมโปรก็กำลังขยายพื้นที่เพื่อรองรับแนวโน้มของกำลังซื้อที่จะมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยกว่าที่รถไฟความเร็วสูงจะแล้วเสร็จ ระหว่างนี้แอร์เอเชียจะรับบทผู้ขนส่งกำลังซื้อจำนวนมากเข้าสู่พิษณุโลก

นอกจากนี้ แว่วมาว่า กลุ่มเดอะมอลล์ได้ลงไปสำรวจพื้นที่ในพิษณุโลกแล้ว ขณะที่กลุ่มธุรกิจค้าปลีกรถยนต์รายใหญ่ก็ดาหน้าเข้าไปเกือบครบ โดยฟอร์ดเพิ่งเปิดโชว์รูมที่นั่น ส่วนฮอนด้าก็กำลังปรับปรุงโชว์รูมให้ใหญ่ขึ้น โดยยักษ์ด้านตลาดรถเช่าอย่าง “ไทยเร้นท์อะคาร์” ก็เตรียมทุนร่วม 25 ล้านบาทเพื่อเปิดสาขาที่นั่น

แม้จะยังไม่มีการตอกเสาเข็มแนวรถไฟความเร็วสูงสักต้น แต่ พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ก็ทำให้ธุรกิจอสังหาฯ ในพิษณุโลกตื่นตัวและเคลื่อนไหวอย่างมาก โดยในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ AP จะเปิดขายคอนโดอย่างเป็นทางการ ภายใต้แบรนด์ COO ซึ่งเป็นแบรนด์ใหม่ของ AP โดยตั้งอยู่ใจกลางเมือง ใกล้สี่แยกอินโดจีน รวม 448 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 1.39 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 728 ล้านบาท

“บริษัท AP เล็งเห็นถึงศักยภาพในฐานะ “ศูนย์กลางภาคเหนือตอนล่าง” โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ด้านศูนย์กลางโลจิสติกส์ของพิษณุโลก ซึ่งจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตลอดจนการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง และการเชื่อมต่อทางรถไฟกับประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของนักลงทุน นักธุรกิจ คนทำงาน ทั้งจากส่วนกลาง และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง” วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์การตลาด บมจ. เอพี อธิบาย
  
AP ถือเป็นบริษัทอสังหาฯ จากส่วนกลางรายล่าสุดที่ไปรุกตลาดคอนโดที่พิษณุโลก โดยก่อนนี้มี “กัลปพฤกษ์” แบรนด์คอนโดของ CP Land เข้าไปยึดหัวหาดก่อนแล้ว และเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนที่แล้ว และแว่วมาว่า ขณะนี้โครงการแรกมูลค่าราว 260 ล้านบาท จำนวนกว่า 200 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 1.3 ล้านบาท ถูกจองเกือบหมดแล้ว โดยอาจจะมีโครงการสองในเร็ววัน นอกจากนี้ CP Land ยังมีแผนสร้างโรงแรมและออฟฟิศให้เช่าในพิษณุโลกด้วย
 
ขณะที่ยักษ์ใหญ่ตลาดอสังหาฯ อย่าง แสนสิริ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และศุภาลัยเองก็เตรียมเข้ามาจับจองทำเลเพื่อเตรียมลงทุนก่อสร้างในเร็ววันนี้ นอกจากบริษัทด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย เมื่อไม่นานนี้ ผู้บริหารระดับสูงของ “สวนสยาม” ก็เพิ่งเปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะสร้างสวนน้ำที่พิษณุโลกด้วยเช่นกัน
 
“ตอนนี้การซื้อขายที่ดินแปลงใหญ่ที่พิษณุโลกเริ่มมีแทบทุกวัน เรียกได้ว่าที่ดินในพิษณุโลกมีการเปลี่ยนมือกันเป็นรายวัน” สำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลกให้ข้อมูล

อีกธุรกิจสำคัญที่เคลื่อนไหวรุนแรงไม่แพ้ธุรกิจอสังหาฯ นั่นคือธุรกิจโรงพยาบาล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพิษณุโลกได้รับการส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism Hub) ของภาคเหนือตอนล่าง แต่ส่วนสำคัญมาจากการใช้บริการของประเทศเพื่อนบ้านที่จะเพิ่มขึ้นหลังเปิดเออีซี โดยเฉพาะตลาดพม่า ซึ่งพบว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คนไข้จากพม่าบินมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนที่พิษณุโลกเป็นจำนวนมาก

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ (BGH) ได้เข้าซื้อหุ้น 70% โรงพยาบาลรัตนเวช ซึ่งเป็น 1 ใน 4 โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของพิษณุโลก โดยเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลกรุงเทพพิษณุโลก ขณะที่เครือโรงพยาบาลธนบุรีก็ได้ร่วมทุนกับโรงพยาบาลอินเตอร์เวชการไปก่อนหน้านั้น โดยกันยายน ที่ผ่านมา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ก็เพิ่งประกาศการซื้อหุ้นโรงพยาบาลพิษณุเวช โดยถือหุ้น 51% ซึ่งนับเป็นก้าวแรกในการลงทุนต่างจังหวัดของกลุ่มนี้

นี่เป็นเพียงบางมิติของความเปลี่ยนแปลงในจังหวัดที่จะเป็น “จุดหมาย” แห่งแรกของแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง และจังหวัดนำร่องของการพัฒนา “เมืองใหม่”

ภายใต้บรรยากาศของการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด สิ่งที่ต้องคิดคือ เมืองพิษณุโลกมีการรองรับการขยายตัวไว้อย่างเป็นระบบมาก/น้อยเพียงไร และ “พ่อเมือง” ได้เตรียมแผนสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนจาก “ศักยภาพภายใน” บ้างหรือไม่ เพราะทันทีที่เส้นทางรถไฟสายเหนือถูกขยายไปถึงเชียงใหม่ ฐานะของสถานีพิษณุโลกจะเหลือเพียง “ทางผ่าน” เท่านั้น!!