วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Life > วิลลาปอล ปัวเรต์

วิลลาปอล ปัวเรต์

 

ปารีสมิใช่เพิ่งเป็นเจ้าแห่งแฟชั่น แต่เป็นมานานหลายเพลาแล้ว สังคมชั้นสูงของอังกฤษและประเทศต่างๆ ในยุโรปสนใจติดตามแฟชั่นของสาวปารีส ห้องเสื้อของฝรั่งเศสตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๙ มีอาทิ ลูเซียง เลอลง (Lucien Lelong) ฌาคส์ ดูเซต์ (Jacques Doucet) หรือชาร์ลส์ เฟรเดอริค เวิร์ธ (Charles Frederick Worth) ชาวอังกฤษที่มาเปิดห้องเสื้อในปารีส

 

ปอล ปัวเรต์ (Paul Poiret) (1879-1944) เป็นหนึ่งในช่างเสื้อที่ดังต้นศตวรรษ 20เขาเป็นหนึ่งในผู้นำร่องอารต์เดโก (art déco) เริ่มทำงานกับห้องเสื้อฌาคส์ ดูเซต์ และชาร์ลส์ เฟรเดอริค เวิร์ธ ก่อนที่จะเปิดห้องเสื้อของตนเองในปี 1903 ทำเสื้อให้เรฌาน (Réjane) นักแสดงของ Comédie française ทำให้ชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก

 

เอกลักษณ์ของเสื้อของปอล ปัวเรต์ คือเสื้อที่สวมสบาย ไม่เข้าเอว เส้นเอวขยับขึ้นสูง ถือเป็นคนแรกที่ให้ผู้หญิงเลิกสวม corset อันรึงรัด กลายเป็นเสื้อที่ถูกใจสาวสมัยนั้น ในปี 1908 ปอล ปัวเรต์ให้ปอล อีริบ (Paul Iribe) เขียนรูปแบบเสื้อของเขาในหนังสือชื่อ Les robes de Paul Poiret racontées par Paul Iribe ถือเป็นแค็ตตาล็อกแฟชั่นให้สาวๆได้ศึกษาก่อนจะสั่งตัด นับเป็นความชาญฉลาดของช่างเสื้อผู้นี้ นอกจากนั้นเขายังชอบจัดงานที่บ้าน โดยให้ชื่อธีม (theme) ค่ำคืนนั้นๆ สาวที่ได้รับเชิญต่างรีบรุดมาสั่งตัดเสื้อเพื่อจะได้เฉิดฉายในงาน นอกจากนั้นปอล ปัวเรต์ยังตัดเสื้อสวยให้เดอนิส (Denise) ผู้ภรรยา ใครเห็นก็สั่งตัดได้เช่นกัน

 

เสื้อของปอล ปัวเรต์เป็นไปตามสมัยนิยม เมื่อกระแสตะวันออกแพร่เข้ามา เขานำสไตล์กิโมโนมาทำเสื้อ หรืออาหรับราตรี ยามเดินทางไปต่างประเทศ เขาจะนำแฟชั่นพื้นเมืองของประเทศนั้นๆ มาทำเสื้อ กระโปรงกางเกงของปอล ปัวเรต์สร้างความอื้อฉาว

 

Les choses de Paul Poiret เป็นชื่อแค็ตตาล็อกอีกเล่มหนึ่งที่ปอล ปัวเรต์ให้จอร์จส์ เลอปาจ (Georges Lepage) เป็นผู้ทำ

 

ปอล ปัวเรต์เข้าสังคมอาร์ติสท์แขนงต่างๆ รู้จักนักเขียนและจิตรกรดังในยุคนั้น เขาขอให้ราอูล ดูฟี (Raoul Dufy) ออกแบบลายผ้าให้

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ชื่อเสียงของปอล ปัวเรต์เริ่มจางไป ด้วยว่าสาวๆ หันไปหารูปแบบเสื้อที่เรียบง่ายขึ้น เป็นยุคที่โกโก้ ชาแนล (Coco Chanel) เริ่มดัง เขาประสบปัญหาการเงินในปี 1923 แต่ยังคงทำงานต่อไป ร่วมงานเอ็กซ์โปนานาชาติด้านอารต์เดโก (exposition universelle des arts décoratifs) ในปี 1925 ทำหนังสือชื่อ Pan, annuaire du luxe à Parisในปี 1928 และในปี 1930 เขียนหนังสือชื่อ En habillant l’époque

 

ปอล ปัวเรต์สร้างบ้าน Villa Paul Poiret ที่เมซีซูร์แซน (Mézy-sur-Seine) โดยให้โรแบรต์ มัลเลต์สตีเวนส์ (Robert Mallet-Stevens) เป็นผู้ออกแบบ เป็นบ้านที่ปอล ปัวเรต์ไม่เคยเข้าพัก ช่วงก่อสร้าง เขาพักที่บ้านของคนเฝ้าบ้าน บ้านยังไม่ทันแล้วเสร็จ ปอล ปัวเรต์ก็หมดตัวเสียก่อน จึงขายบ้านแก่เอลวีร์ โปเปสโก (Elvire Popesco) ในปี 1930เธอพำนักที่บ้านนี้จนปี 1985

 

Villa Paul Poiret ขึ้นบัญชีสำรองอาคารอนุรักษ์ในปี 1984 นักธุรกิจชื่อซิดเนย์ นาตา (Sydney Nata) ซื้อไว้ในปี 1989 เขาเชิญสถาปนิกต่างๆ ให้มาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแบบบ้านหลังใหม่ที่จะสร้างในที่ผืนเดียวกันนี้ เชิญสื่อมาทำข่าวด้วย มีสถาปนิกชื่อดังชาติต่างๆ 15 คนมาร่วมประกวดแบบ ทว่าเขาเสียชีวิตเสียก่อนในปี 1996 โดยมีหนี้สินเป็นล้นพ้นตัว ต้องนำ Villa Paul Poiret ออกขายประมูลในปี 2006 โลรองต์ เบริง (Laurent Brun) เป็นผู้ประมูลซื้อได้ และบูรณะให้กลับไปเหมือนต้นแบบของโรแบรต์ มัลเลต์สตีเวนส์ พร้อมกับทำห้องใต้ดินเสียใหม่ มีสปา จากุสซี ห้องอาบแดด ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ เป็นต้น ในวันนี้เขาต้องการขาย Villa Paul Poiret

 

โรแบรต์ มัลเลต์สตีเวนส์เป็นสถาปนิกดังของฝรั่งเศส ผลงานของเขาได้รับการยกย่องเชิดชู ถือเป็นงานศิลป์ที่นักสะสมต้องการซื้อไว้ มีผู้สนใจจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอเมริกัน สวิส อิตาลี โมนาโก และอินเดีย

 

บ้านอีกสองหลังที่โรแบรต์ มัลเลต์สตีเวนส์เป็นผู้ออกแบบ และเป็นผลงานที่โดดเด่น คือ Villa Cavrois ที่ครัวซ์ (Croix) ใกล้ๆ เมืองลิล (Lille) และ Villa Noailles ที่อิแยร์ (Hyères) Villa Cavrois สร้างในปี 1932เจ้าของปล่อยทิ้งให้รกร้าง ผู้ “ประสงค์ดี” ช่วย “หยิบยกและรื้อ” ของในบ้านไปใช้ รัฐขึ้นทะเบียนอาคารอนุรักษ์ในปี 2001ทำการบูรณะและสามารถหาซื้อเครื่องเรือนส่วนหนึ่งไว้ และจะสามารถเปิดให้เข้าชมได้ในปี 2013 ส่วน Villa Noailles สร้างในปี 1923มีสภาพทรุดโทรมเช่นกัน แม้เทศบาลเมืองอิแยร์จะซื้อเอาไว้และขึ้นทะเบียนอาคารอนุรักษ์ในปี 1987เพิ่งจะมีการบูรณะในปี 1996ปัจจุบัน Villa Noailles เป็นศูนย์สถาปัตยกรรมและศิลปะร่วมสมัย

 

Villa Paul Poiret มี “อาการ” หนักกว่าอีกสองหลัง ด้วยว่าสร้างยังไม่ทันเสร็จ ปอล ปัวเรต์ก็หมดตัวเสียก่อน จึงขายให้แก่เอลวีร์ โปเปสโก ซึ่งไม่ชอบรูปแบบสถาปัตยกรรม จึงให้สถาปนิกชื่อ ปอล บัวเยร์ (Paul Boyer) สร้างต่อให้เสร็จ เขาไม่ชอบรูปแบบโมเดิร์น จึงแปลงแบบบ้านเป็นเรือเดินสมุทร

 

มีผู้สนใจซื้อ Villa Paul Poiret มาเยี่ยมชม แต่ยังไม่มีผู้ใดตัดสินใจ