วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > 24 ปี เส้นทางเจ้าพ่อคอนโด จาก “ชุมชนน่าอยู่” สู่ “ทาวน์ชิป”

24 ปี เส้นทางเจ้าพ่อคอนโด จาก “ชุมชนน่าอยู่” สู่ “ทาวน์ชิป”

 

“กลุ่มลูกค้าของ แอล.พี.เอ็น. ยังมีเป้าหมายอยู่ที่ตลาดกลางและล่าง ถ้าจับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ได้ แม้จะเจอวิกฤตร้ายแรงแค่ไหน จะเกิดภาวะแบบปี 40 ก็อยู่ได้ กินได้ยาว เพราะฐานกำลังซื้อใหญ่มากและมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง”

ฑิฆัมพร เปล่งศรีสุข ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ย้ำกับ ผู้จัดการ 360 ํ ในรถส่วนตัวที่เปิดประตูให้นักข่าวขึ้นได้อย่างไม่ถือตัวระหว่างการเยี่ยมชมโครงการ “ลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต-คลอง1” อภิมหาโปรเจ็กต์ที่จะเป็นกลยุทธ์ขับเคลื่อนแบรนด์ “แอล.พี.เอ็น.” เพื่อรุกตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียมที่มีผู้ประกอบการเจ้าใหญ่ลงมาเล่นมากขึ้นและทุ่มทุนเจาะทุกกลุ่มเซกเมนต์ ไม่ใช่เฉพาะตลาดบนเหมือนในอดีต  

นักธุรกิจวัย 64 ปี ฉายา “เจ้าพ่อคอนโด” ชี้ศักยภาพของรังสิต การเติบโตของชุมชนที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยใกล้เมือง เพราะส่วนใหญ่เป็นชุมชนอพาร์ตเมนต์ แฟลต ห้องเช่า เรียงรายตลอดตั้งแต่คลอง 1 ยาวถึงคลอง 6 ที่สำคัญมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เส้นทางรังสิต-บางซื่อ กลายเป็นที่มาของยุทธศาสตร์ปลุกปั้นต้นแบบ “ทาวน์ชิป” ติดถนนเลียบคลองรังสิต-นครนายก  โครงการคอนโดมิเนียมจำนวนหมื่นยูนิตที่มีความเป็นชุมชนเมืองเบ็ดเสร็จ และยังวางแผนขยายทาวน์ชิปแห่งต่อๆไป  เพื่อยึดสี่มุมเมืองของกรุงเทพฯ และปริมณฑล

สำหรับลุมพินี ทาวน์ชิป แห่งแรกที่รังสิตใช้เงินลงทุนรวม 7,000 ล้านบาท เนื้อที่ทั้งหมด 100 ไร่ แบ่งเป็นอาคารชุดพักอาศัยสูง 8 ชั้น 50 อาคาร อาคารจอดรถและส่วนบริการสูง 8 ชั้น อีก 6 อาคาร อาคารนันทนาการ สำนักงานนิติบุคคลอาคารชุด สระว่ายน้ำสูง 2 ชั้น 1 อาคาร

จำนวนห้องชุดมากกว่า 10,000 ยูนิต แบ่งเป็นห้องชุดขนาด 21.50-22 ตารางเมตร จำนวน 9,648 ยูนิต และขนาด 26-26.50 ตารางเมตร อีก 506 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 639,000 บาท ไปจนถึงล้านกว่าบาท

ภายในโครงการที่จะกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ จำนวนประชากรมากกว่า  20,000 คน  นอกจากการสร้างพื้นที่ส่วนกลางประเภทสวนพักผ่อน สนามสตรีทบาส สนามฟุตซอล ทาวน์ชิปยังมีไฮไลต์สำคัญที่ฑิฆัมพรคุยว่า เป็นจุดขายและจุดแข็งเหนือคู่แข่ง คือการจับมือกับพันธมิตรเบอร์ 1 ในแต่ละตลาดเข้ามาสร้างองค์ประกอบต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นเบอร์ 1 ในวงการคอมมูนิติ้มอลล์ สร้างช้อปปิ้งมอลล์ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) เบอร์ 1 ในธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์ เปิดร้านสะดวกซื้อ เซเว่น-อีเลฟเว่น รูปแบบใหม่ 2 แห่ง และผนึกกับกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจโรงพยาบาล เปิด “พญาไทเทเลคลินิค” ให้บริการ 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ตามแผนตั้งเป้าเปิดขายหมดภายใน 6 เดือน และส่งมอบพร้อมโอนเฟสแรกจำนวน 4,800 ยูนิต ในปี 2557 และส่งมอบพร้อมโอนทั้งหมดภาย ในปลายปี 2558

ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งในโซนรังสิตอย่างโครงการพลัม คอนโด พหลโยธิน 89 ของบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งชูธงเจาะกรุงเทพฯ โซนเหนือ ย่านรังสิต ผุดอาคารชุดรวม 32 อาคาร ห้องชุดประมาณ 3,000 ยูนิต โครงการคอนโด ดิ อเวนิว วัลเลย์ จำนวน 1,000 ยูนิต ของบริษัท แคปปิตอล จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของกลุ่มผู้แทนจำหน่ายสินค้าเครือซิเมนต์ไทยและบริษัทรับเหมาก่อสร้าง รวมถึงโครงการดีคอนโด แคมปัส รีสอร์ท ธรรมศาสตร์ จำนวน 900 ยูนิต ของยักษ์ใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

แอล.พี.เอ็น. อาจมีข้อได้เปรียบในแง่ราคา เนื่องจากไม่มีค่ายไหนสามารถเปิดราคาขายเริ่มต้นยูนิตละ 6 แสนกว่าบาท ส่วนใหญ่ราคาเริ่มต้น 9 แสนถึง 1 ล้านบาทต้นๆ และอยู่ติดถนน ทำเลรังสิต คลอง 1 ซึ่งอยู่ใกล้เมืองมาก

ทิฆัมพร เปล่งศรีสุข ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  24 ปีตลอดระยะเวลาการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยึดนโยบายสร้างบ้านคุณภาพตามนโยบาย “Affordable House”  หรือบ้านคุณภาพในราคาที่สามารถเป็นเจ้าของได้ให้แก่กลุ่มเป้าหมายระดับกลาง และระดับกลาง-ล่าง ซึ่งในอดีตคนกลุ่มนี้มักถูกมองข้าม ทั้งที่เป็นกลุ่มที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ถ้าสามารถผลิตสินค้าหรือบ้านที่สนองความต้องการอย่างแท้จริง คนกลุ่มนี้จะมาซื้อทันที และเป็นกลุ่มลูกค้าที่ช่วยให้แอล.พี.เอ็น. ผ่านพ้นวิกฤตทุกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตค่าเงินบาทปี 2540 หรือวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ “ซัพไพร์ม” ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และวิกฤตการเมืองไทยในช่วงปลายปี 2551

อย่างไรก็ตาม  ในยุคแรกๆ แม้ แอล.พี.เอ็น. เริ่มโครงการแรกด้วยการพัฒนาอาคารชุดสำนักงานลุมพินีทาวเวอร์ 37 ชั้น ตั้งแต่ปี 2532 แต่ทิศทางขณะนั้นยังไม่ชัดเจนระหว่างการเจาะตลาดคอนโดมิเนียมหรือทาวน์เฮาส์

ปี 2537 เมื่อ แอล.พี.เอ็น. แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน จึงหันมารุกโครงการอาคารชุด โดยเริ่มเจาะตลาดกลาง-บน ภายใต้แบรนด์ “ลุมพินีเพลส” จนกระทั่งปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจชนิดที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ล้มระเนระนาด บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จึงปรับโครงสร้างองค์กรและบุคลากรครั้งใหญ่ มีการจัดตั้งบริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด เพื่อบริหารอาคารชุดในเครือ ซึ่งขยายฐานครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งตลาดกลาง-ล่าง และกลาง-บน ภายใต้แบรนด์ลุมพินีเพลส ลุมพินีวิลล์ ลุมพินีเซ็นเตอร์ และลุมพินี สวีท

หลังจากรุกและทดลองตลาดหลายรอบ ฑิฆัมพรก็พบว่า ตลาดคอนโดมิเนียมระดับกลางและล่าง คือจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่สุดในช่วงจังหวะเมืองกำลังขยายตัว เกิดกระแสความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมในกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่จนกลายเป็นขุมทรัพย์ที่ผลักดันให้ แอล.พี.เอ็น. ขึ้นเป็นผู้นำในตลาดคอนโดมิเนียมระดับกลาง สามารถสร้างยอดขาย รายได้ กำไร และแจกโบนัสสูงสุดให้พนักงาน
 
จากวันแรกที่โครงการลุมพินีทาวเวอร์ จนถึงปัจจุบันที่เปิดโครงการมากกว่า 50 แห่ง จำนวนเกือบ 40,000 ยูนิต โดยเฉพาะกลยุทธ์การสร้างเอกลักษณ์คอนโดมิเนียม “LPN Design” ขนาดห้องไม่เกิน 25 ตารางเมตร การจัดสรรพื้นที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำและเหมาะสำหรับชีวิตคนรุ่นใหม่ วัยเริ่มทำงาน หรือเริ่มสร้างครอบครัว บวกกับกลยุทธ์การสร้างภาพลักษณ์คอนโดมิเนียมที่มีความเป็นชุมชนน่าอยู่จนติดตลาด
 
เรียกได้ว่าช่วงสิบปีที่ผ่านมา โครงการของแอล.พี.เอ็น. ได้รับความนิยมมาก เป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับและเริ่มขยายขนาดใหญ่ขึ้น มีองค์ประกอบความเป็นชุมชนมากขึ้น มีร้านค้า บริการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ร้านซักรีด ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย อยู่ในทำเลชุมชน ติดถนนใหญ่ ใกล้ศูนย์การค้า รวมถึงใกล้ศูนย์ราชการ ติดสถานีรถไฟฟ้าและเส้นทางหลักเข้าสู่เมือง
 
โดยเฉพาะโครงการต้นแบบที่สามารถปิดการขายได้อย่างรวดเร็ว ทั้งลุมพินี บดินทร์เดชา-รามคำแหง จำนวน 3,400 ยูนิต ลุมพินี คอนโดทาวน์ ชลบุรี-สุขุมวิท จำนวน 4,500  ยูนิต และลุมพินี คอนโดทาวน์ รามอินทรา-หลักสี่ จำนวน 3,000 ยูนิต รวมถึงโครงการลุมพินี เมกะซิตี้ บางนา จนทะลุเป้าหมายปี 2556  จากเดิมที่วางยอดขายไว้ที่ 15,000 ล้านบาท ล่าสุดรวม 8 เดือน เกินเพดานไปอยู่ที่  20,000 ล้านบาท และมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มอีก 2 โครงการ รวมมูลค่า 5,800 ล้านบาท ได้แก่ โครงการ เดอะ ลุมพินี สุขุมวิท 24 ซึ่งอยู่ในทำเลพรีเมียมแต่ราคาขายไม่สูงมาก คือเริ่มต้นที่ยูนิตละ 3 ล้านกว่าบาท ขนาดพื้นที่เริ่มต้น 26 ตารางเมตร จนถึง 100 ตารางเมตร
 
ส่วนปีหน้ามีโครงการใหม่ 5 โครงการ ไม่รวมแผนสร้างทาวน์ชิปที่ฑิฆัมพรต้องการผุดครอบคลุมสี่มุมเมือง แต่ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้ เนื่องจากต้องใช้เวลาหาทำเลที่มีศักยภาพในขนาดมากกว่า 50 ไร่
 
เส้นทางของเจ้าพ่อคอนโด ฑิฆัมพร เปล่งศรีสุข จากยุคเริ่มต้น ลงทุนสร้างโครงการอาคารชุด ขนาด 500-2,000 ยูนิต เข้าสู่ยุคที่ 2 ขยายเป็น 7,000-8,000 ยูนิตต่อโครงการ สวมบทนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และนักบริหารชุมชนสร้างจุดขาย “ชุมชนน่าอยู่” จนกระทั่งเดินเข้าสู่ยุคที่ 3 แจ้งเกิดกลยุทธ์ “ชุมชนเมืองน่าอยู่” ขนาด 10,000 ยูนิต อย่าง “ลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต” 
 
นี่จะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่า แอล.พี.เอ็น. จะสามารถตอบโจทย์โดนใจกลุ่มเป้าหมายแบบถล่มทลายได้จริงหรือไม่

 

Related Story

“ชุมชนน่าอยู่” การสร้างแบรนด์แบบ LPN