วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
Home > Cover Story > อุทยานจุฬาฯ 100 ปี ปอดใหม่ใจกลางเมือง

อุทยานจุฬาฯ 100 ปี ปอดใหม่ใจกลางเมือง

 
 
การขยายพื้นที่ธุรกิจกลางเมืองในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นตัวชี้วัดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งแล้ว ยังได้นำพาเอาความสะดวกสบายเข้ามาใกล้เรา ซึ่งช่วยให้เราใช้ชีวิตในยุคที่ทุกอย่างอาศัยความเร็วได้ง่ายขึ้น หากแต่ก็ทำให้ภูมิทัศน์ของรูปแบบเมืองแปรสภาพไปเป็นป่าคอนกรีตอย่างรวดเร็ว 
 
โครงการคอนโดมิเนียมทุกระดับราคา และห้างสรรพสินค้าที่ปักหมุดกระจุกตัวอยู่กลางเมือง ที่แทบจะถมพื้นที่ว่างจนเต็ม กระทั่งต้องขยายตัวออกไปรอบนอกตามกลยุทธ์แย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ที่เรียกได้ว่า เป็นเกมการแข่งขันที่ดุเดือดอยู่ตลอดเวลา
 
การเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วของป่าคอนกรีตทำให้ในหลายๆ ครั้งที่เรามักเรียกร้องขอคืนพื้นที่สีเขียวท่ามกลางตึกรามที่ขึ้นเบียดเสียดกันอย่างรวดเร็ว แต่การเรียกร้องที่ว่าไม่ได้ปรากฏชัดในรูปแบบของการแสดงออกเฉกเช่นที่มีการแสดงออกหรือปลุกระดมในเรื่องอื่นๆ 
 
หากแต่ความต้องการพื้นที่สีเขียวของคนกรุงกลับเป็นอาการของความโหยหาพื้นที่ที่อาจจะเป็นปอดที่อุดมไปด้วยออกซิเจนอันบริสุทธิ์เท่าที่ต้นไม้ใหญ่จะสามารถสร้างขึ้นมาได้ท่ามกลางมลพิษของเมืองหลวง และสภาพของเมืองที่แออัดไปด้วยอาคารคอนกรีตที่ถูกออกแบบให้มีสภาพแข็งแรง และดีไซน์โดดเด่นที่เห็นได้จากภายนอก ซึ่งกลายเป็นจุดสนใจของผู้พบเห็น เสมือนอาหารตาอย่างหนึ่ง หาใช่อาหารที่มากไปด้วยประโยชน์เท่าอากาศบริสุทธิ์ไม่
 
หลายคนมักเลือกเดินทางออกต่างจังหวัดเพื่อไปสูดอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งแม้จะเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวไทย ที่อย่างน้อยจำนวนนักท่องเที่ยวไทยก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กระนั้นคงจะดีหากเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ จะมีปอด หรือสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นในจำนวนเดียวกับที่มีห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น
 
บริเวณศูนย์การค้าสยามสแควร์ในวันที่เป็นแหล่งรวมร้านค้าที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง พื้นที่บางส่วนของคอมมูนิตี้ มอลล์ ถูกแบ่งให้กับนิทรรศการ “สถาปัตยกรรม 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งภายในนิทรรศการนี้บอกเล่าเรื่องราวในวาระสำคัญที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอายุครบ 100 ปี เพื่อเป็นการย้อนรำลึกถึงเรื่องราวในศตวรรษที่ 1 ก่อนจะก้าวย่างไปสู่ศตวรรษที่ 2 ของมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย 
 
ภายในนิทรรศการมีการรวบรวมเรื่องราวของสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในจุฬาฯ ตลอด 1 ศตวรรษ ถ่ายทอดผ่านชิ้นส่วนจำลองและเทคโนโลยี AR Code ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น A Century Of CU ที่ช่วยเพิ่มอรรถรสในการชมงานนิทรรศการ และสามารถเข้าใจเรื่องราวความเป็นไปทางประวัติศาสตร์ของจุฬาฯ ได้ดีขึ้นอีกด้วย 
 
เนื้อหาของงานนิทรรศการแบ่งออกเป็น 5 ส่วน 1. จุฬาฯ อารัมภบท เป็นการเกริ่นนำนิทรรศการ สิ่งที่ควรรู้ก่อนสัมผัสเรื่องราวของจุฬาฯ ตั้งแต่การกำเนิดจุฬาฯ แผนผังที่ดินและสถาปัตยกรรมทั้งหมดที่เคยเกิดขึ้นในจุฬาฯ ตลอด 100 ปี 2. บทบันทึก ตึกจุฬาฯ มีการจัดแสดงชิ้นส่วนจำลองของสถาปัตยกรรม 15 ชิ้น ที่บรรจุ 15 เรื่องราวความทรงจำสำคัญของจุฬาฯ ตลอดหนึ่งศตวรรษ และไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ “วังกลางทุ่ง” วังเก่าที่เคยใช้เป็นห้องเรียนแรกของจุฬาฯ ซึ่งเป็นวังที่คนรุ่นใหม่ไม่มีใครเคยเกิดทันได้เห็นของจริงมาก่อน 3. สนทนา จากสถาปนิกถึงศิษย์เก่า บทสนทนาว่าด้วยเรื่องสถาปัตยกรรม วิธีคิด และความผูกพัน เริ่มต้นจากอาจารย์สถาปนิกคนสำคัญ อาทิ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาลัย ส่งต่อไปถึงนิสิตเก่าจุฬาฯ 4. ใต้ร่มจามจุรี ในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องราวพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดรัชสมัยแห่งการครองสิริราชสมบัติอันยาวนานถึง 70 ปี อาทิ ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อพระราชทานต้นจามจุรี 5 ต้น และทรงปลูกด้วยพระองค์เอง และ 5. มองอาคาร อ่านอนาคต เป็นส่วนจัดแสดงแผนผังอาคารของจุฬาฯ ในศตวรรษที่ 2 และวิสัยทัศน์ต่ออนาคตผ่านสถาปัตยกรรมล่าสุดของจุฬาฯ ที่กำลังจะเปิดตัวในปีนี้ 
 
กระนั้นสิ่งหนึ่งที่สะดุดตาไม่น้อยภายในนิทรรศการครั้งนี้คือ โมเดลจำลองของอุทยาน 100 ปี ที่กำลังก่อสร้างบนถนนจุฬาซอย 5 ด้วยพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ ซึ่ง ผศ.ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์ภิลาศ ผู้ช่วยอธิการบดีงานการจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงที่มาโครงการนี้ว่า “ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้มีการวางแผนแม่บทที่จะพัฒนาอาคารหรือสถาปัตยกรรมบนพื้นดินพระราชทานแห่งนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทุกอาคารที่เกิดขึ้นจะมีความต่อเนื่องกันในแง่ความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย โดยใช้หลักในการออกแบบอาคารที่ให้ความเคารพกับผู้ออกแบบอาคารก่อนหน้า ซึ่งปัจจุบันสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นอาคารเรียนเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการเรียนรู้ให้นิสิต โดยให้ความใส่ใจสิ่งแวดล้อม”
 
ผศ.ดร.จิตติศักดิ์อธิบายเพิ่มเติมสำหรับโครงการอุทยาน 100 ปี ว่า “จุฬาฯ มีพื้นที่ที่เป็นพาณิชยกรรมเยอะแล้ว และพื้นที่ดังกล่าวเรามองว่าหากจะปรับให้เป็นพื้นที่สีเขียวน่าจะเหมาะ แต่เรามองว่าคอนเซ็ปต์ของอุทยาน 100 ปี คงไม่เหมาะหากจะทำเป็นรูปแบบของสวนสาธารณะที่จะต้องมีคนมาคอยดูแล เลยเลือกรูปแบบของป่าในเมือง เราต้องคัดสรรพืชพรรณที่จะมาปลูกเพื่อให้เหมาะสม และยังจัดสร้างสวนซึมน้ำ และพื้นที่แก้มลิง”
 
ภายในอุทยาน 100 ปี ยังมีการจัดแบ่งพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการ กิจกรรม สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อนิสิต นักศึกษา นักเรียน นอกจากประโยชน์สำหรับการเปิดโลกแห่งการเรียนรู้แล้ว อุทยาน 100 ปีแห่งนี้ยังจะเกื้อหนุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ที่จุฬาฯ เข้าไปร่วมทุนกับกลุ่มทีซีซีแลนด์ 
 
ซึ่งแผนการพัฒนาพื้นที่ของจุฬาฯ ที่โครงการสามย่านที่ได้ร่วมทุนกับกลุ่มทีซีซีแลนด์นั้น รูปแบบของโครงการจะมีความคล้ายคลึงกับโครงการจามจุรีสแควร์ ที่พื้นที่ชั้นล่างจะเป็นพื้นที่เช่าสำหรับร้านปลีก และด้านบนเป็นพื้นที่สำหรับสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และบางส่วนคือพื้นที่ของโรงแรมที่น่าจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE ได้เป็นอย่างดี 
 
นอกจากพื้นที่ของอุทยาน 100 ปีแล้ว ยังมีโครงการถนนจุฬา 100 ปี ซึ่งทั้งสองโครงการเป็นไปโดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความสุขแก่ชุมชน และเชื่อมโยงชุมชนภายนอกให้เข้าถึงกัน ภายใต้ยุทธศาสตร์เกื้อกูลกันเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมส่วนรวม และเป็นไปตามแนวคิดของโครงการ คือสืบสานความสง่างาม สอดประสานองค์ความรู้ สรรค์สร้างสู่ความยั่งยืน
 
ทั้งนี้สิ้นเดือนมีนาคม 2560 อุทยาน 100 ปี จะได้ฤกษ์เปิดใช้งานอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดของการพัฒนาพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม มาเป็นพื้นที่สีเขียวของจุฬาฯ แต่นับเป็นการคืนประโยชน์ สร้างความเขียวขจีให้แข่งกับอาคารคอนกรีต ซึ่งหากนับเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วจะไม่สามารถเทียบกันได้ก็ตาม