วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
Home > On Globalization > ฝึกแพ้ให้ถูกวิธีแบบ JUDO

ฝึกแพ้ให้ถูกวิธีแบบ JUDO

 

สิ่งแรกๆ ที่นึกถึงเวลากล่าวถึงกีฬา เชื่อว่าหลายท่านคงนึกถึงความแข็งแกร่งของร่างกาย และพละกำลังในการเอาชัยชนะเหนือคู่ต่อสู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกีฬาที่ว่าเป็นกีฬาที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ซึ่งมีมิติของเทคนิควิธีต่างๆ ประกอบส่วนเข้ามาอีก

แม้ว่าจะมีคุณพ่อบ้านเป็นนักกีฬาอยู่ใกล้ตัว แต่ดิฉันในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งก็ถูกกล่อมเกลาและถ่ายทอดให้มี perception เช่นนี้มานานหลายปีทีเดียวนะคะ

แต่ทัศนะดังว่าถูกปรับให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อครั้งพวกเราพาลูกชายคนโตไปฝึกเรียน ยูโด (Judo) ในญี่ปุ่น ประเทศที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของกีฬาชนิดนี้

เพราะตลอดระยะเวลากว่า 3 ชั่วโมงในแต่ละสัปดาห์หรือในแต่ละครั้งที่ดิฉันได้มีโอกาสเฝ้ามองลูกชายผ่านการเรียนการสอนยูโด ดิฉันพบว่าเด็กๆ ทั้งหญิงและชาย ไม่ได้ถูกขับเน้นให้ฝึกฝนการทุ่มหรือการมุ่งหมายชัยชนะเหนือคู่แข่งขัน หากแต่คุณครูผู้ฝึก (Sensei) จะสอนวิธีการล้มที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้ได้รับบาดเจ็บ เมื่อต้องเข้าต่อสู้จริงๆ

การฝึกล้มของยูโดเป็นการฝึกสำคัญที่ใช้เวลารวมกว่า 2 ชั่วโมงเลยทีเดียวนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคนิคการล้มให้มีเสียงดังแต่ไม่เจ็บ เพราะนั่นหมายถึงนักเรียนแต่ละคนสามารถกำหนดให้ส่วนหนาของร่างกายเป็นจุดกระทบพื้นได้อย่างลงตัว

เรียกได้ว่าทุกครั้งที่ไปเรียนยูโดก็คือ เวลาที่ครอบครัวของเราไปเรียนวิชาว่าด้วยการเตรียมตัวแพ้อย่างถูกวิธี ก็น่าจะได้

ฟังดูแล้วแปลกๆ ไหมคะ แต่ลูกชายดิฉันต้องไปฝึกล้มอยู่นานเกือบครึ่งปีเลยทีเดียว กว่าจะได้เรียนเทคนิคการเข้าประชิดตัวคู่ต่อสู้และการทุ่มในเวลาต่อมา

นัยแฝงของการฝึกล้ม หรือการเตรียมตัวแพ้ให้เป็น แพ้ให้ถูกวิธีดังกล่าว ในด้านหนึ่งคือการสร้างให้เกิด มาตรการป้องกัน (preventive measure) เพื่อลดระดับความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น และเป็นการมุ่งเน้นให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการที่จะดำเนินไปจากบริบทภายในของนัก JUDO แต่ละคน มากกว่าที่จะเพ่งพินิจไปที่คู่ต่อสู้ ซึ่งเป็นเพียงปัจจัยภายนอก

ทัศนะในแบบป้องกัน (preventive) ของยูโด อาจทำให้ยูโดมีลักษณะคล้ายกับว่าเน้นการตั้งรับและรอคอยจังหวะ เพื่อแปลงไปสู่ความได้เปรียบและชัยชนะในที่สุด มากกว่าศิลปะการต่อสู้ชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะเทควันโด (Taekwondo) หรือคาราเต้ (Karate) ซึ่งมีท่วงทำนองเน้นหนักไปที่การจู่โจมเข้าตีคู่ต่อสู้ในลักษณะที่เน้นผสานทั้งการรุกและตั้งรับ (offensive-defensive) ไว้ด้วยกัน

ในด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะคาโนะ จิโกโระ (Kano Jigoro) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิดยูโด เป็นเพียงชายร่างเล็ก ที่ดูบอบบางด้วยน้ำหนักที่ไม่ถึง 45 กิโลกรัม แม้จะเจริญวัยมาสู่ช่วงวัยหนุ่มแล้วก็ตาม และเป็นเหตุให้เขาไม่ประสบความสำเร็จในการฝึกฝนจูจึทซู (Jujutsu) ศิลปะการป้องกันตัวดั้งเดิมอีกรูปแบบหนึ่งของญี่ปุ่นมากนัก

เขาเฝ้ามองและฝึกฝนหาเทคนิควิธีหลากหลาย ก่อนที่จะผนวกและนำเสนอศิลปะการป้องกันตัวชนิดใหม่ที่ชื่อว่า ยูโด ในปัจจุบัน พร้อมกับผลักดันให้ยูโดเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนระดับประถมและมัธยมของญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

ลำดับขั้นของยูโดในทัศนะของคาโนะ จิโกโระ แบ่งออกเป็นสามส่วนเริ่มตั้งแต่ เรนไท-โฮะ (rentai-ho) หรือยูโดในฐานะที่เป็นการฝึกฝนทางร่างกาย โชบู-โฮะ (shobu-ho) หรือยูโดในฐานะที่เป็นศิลปะการต่อสู้ และชูชิน-โฮะ (shushin-ho) หรือยูโดในฐานะที่เป็นการบ่มเพาะภูมิปัญญาและจริยธรรม ซึ่งกลายเป็นหลักสำคัญของการฝึกยูโดด้วย

เทคนิควิธีการต่อสู้แบบยูโดไม่ได้ตัดสินหรือบ่งชี้ว่าผู้คนที่แข็งแรงกว่าจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะเสมอไป หากแต่ผู้ที่สามารถอาศัยจุดแข็งของคู่ต่อสู้ให้กลายเป็นจุดอ่อน เพื่อพลิกผันไปสู่ภาวะเสียสมดุล ซึ่งง่ายต่อการทุ่ม-งัดให้ล้มลงไปกองกับพื้นในที่สุดต่างหากคือผู้ที่ได้รับชัยชนะ

ยูโด ซึ่งโดยรากศัพท์หมายถึงหนทางที่นุ่มนวล (JU: gentle และ DO: way) สะท้อนหลักวิธีคิดในกีฬานี้อย่างเด่นชัด ขณะที่หลักปรัชญาที่สำคัญของยูโด อาจสรุปได้ง่ายๆ ว่า “Maximum Efficiency with Minimum Effort” หรือประสิทธิภาพสูงสุดด้วยความพยายามน้อยที่สุด

ฟังดูง่าย ใช่ไหมคะ แต่ในความเป็นจริงเรื่องดังกล่าวน่าจะทำได้อย่างยากลำบากน่าดู

เพราะการที่จะสัมฤทธิ์ผลเช่นนั้นได้แสดงว่าเราต้องเข้าใจข้อเด่นข้อด้อยของเราเอง และของคู่ต่อสู้ที่ยืนอยู่เบื้องหน้าเราในเกือบจะทุกมิติ

ยูโดอาจมีรากฐานที่ต่อยอดขึ้นมาจากจูจึทซู แต่ความแตกต่างอย่างสำคัญอยู่ที่จูจึทซูมีนัยความหมายเกี่ยวเนื่องกับศาสตร์ ศิลป์ และเทคนิคของความนุ่มนวลเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้

ขณะที่ยูโดได้ข้ามพ้นไปสู่การให้ความหมายของการควบคุมและพัฒนา ทั้งในมิติของร่างกาย จิตใจ อารมณ์และจริยธรรมของนักยูโดแต่ละคน ในลักษณะของการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม สำหรับการใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วย

จริงอยู่ที่ว่า ผู้ที่ฝึกฝนยูโดซึ่งเดิมถูกเรียกขานด้วยคำที่มีความหมายแตกต่างกันตามลำดับชั้นและความสามารถ แต่ปัจจุบันถูกเรียกรวมกันหมดว่า ยูโด-กะ (Judo-ka) จะต้องมีการฝึกฝนเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับร่างกายเพื่อให้พร้อมสำหรับการนำเทคนิคอื่นๆ ไปใช้ แต่นั่นย่อมไม่ใช่ทั้งหมดของวิถีแห่งยูโด

นอกเหนือจากเทคนิคการล้ม การทุ่มในแบบยูโดแล้ว สิ่งที่คุณครูผู้ฝึกยูโดสอดแทรกเข้าไปที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งก็คือ วัตรปฏิบัติของนักยูโดรุ่นเยาว์

การทำความเคารพสถานที่ฝึกสอน และเคารพคู่แข่งขันในแต่ละครั้ง สะท้อนการให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยปราศจากการหยามหมิ่น แน่นอนว่าย่อมเป็นเป็นหัวใจของนักยูโดที่ดี และควรหมายรวมไปสู่นักต่อสู้ในศิลปะการป้องกันตัวแขนงอื่นด้วย

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวสารที่ถูกนำเสนอต่อเนื่อง ทำให้ได้หวนรำลึกถึงบทเรียนเล็กๆ ที่ได้มีโอกาสเฝ้าสังเกตเห็น เมื่อครั้งพาลูกชายคนโตไปเรียนยูโดในญี่ปุ่นไม่น้อยเลย

หากประเมินในมิติที่ว่านี้ บางทีมุมมองว่าด้วยเรื่องราวและท่วงทำนองของฝ่ายที่ขัดแย้งในแวดวงการเมืองและสังคม อาจได้รับการประเมินกันใหม่ก็เป็นได้