วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > On Globalization > แอร์โฮสเตสอาชีพในฝันของสาวๆ ที่ไม่สวยงาม และเลิศหรูอย่างที่คิด

แอร์โฮสเตสอาชีพในฝันของสาวๆ ที่ไม่สวยงาม และเลิศหรูอย่างที่คิด

 
Women in Wonderland
 
อาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Flight Attendance หรือ Cabin Crew) ผู้ชายที่ทำหน้าที่ต้อนรับบนเครื่องบินเรียกว่า สจ๊วต ส่วนผู้หญิงที่ทำงานนี้เรียกว่า แอร์โฮสเตส เป็นหนึ่งอาชีพในฝันของผู้หญิงหลายคน เพราะเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้อย่างมากมาย (ประมาณ 40,000 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ที่เริ่มทำงานแรกๆ และอาจจะมีรายได้มากกว่านี้สำหรับบางสายการบิน) แถมยังได้แต่งตัวสวยๆ มีโอกาสท่องเที่ยวเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในที่ต่างๆ อยู่เสมอ
 
หน้าที่หลักๆ ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน คืออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินในระหว่างการเดินทาง เช่น ดูแลอุปกรณ์ความปลอดภัยบนเครื่องบิน และสาธิตการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น 
 
ในขณะเดียวกันแอร์โฮสเตสก็จะทำงานบริการต่างๆ บนเครื่องบินให้กับผู้โดยสารทุกท่าน เช่น เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม เตรียมอาหาร ให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นกับผู้โดยสารที่เกิดเจ็บป่วยระหว่างการเดินทาง จัดหาที่นั่งให้กับผู้โดยสาร แจ้งข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ ในการเดินทาง รวมทั้งคอยให้บริการด้านอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งในยามปกติและยามเกิดเหตุฉุกเฉิน
 
ฟังแล้วอาชีพแอร์โฮสเตสดูเหมือนไม่ยาก เพียงแค่คอยบริการและอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ผู้โดยสารตั้งแต่เริ่มเดินทางจนถึงที่หมายปลายทางให้อยู่ในความเรียบร้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาชีพแอร์โฮสเตสนั้นเป็นงานที่หนัก เพราะต้องทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน ขึ้นอยู่กับว่าสายการบินจะกำหนดให้ทำงานในเที่ยวบินที่จะออกเดินทางตอนกี่โมง จึงไม่สามารถเลือกเวลาทำงานได้เหมือนอาชีพอื่นๆ 
 
นอกจากนี้แอร์โฮสเตสยังต้องทำงานภายใต้ความกดดันสูง เพราะพวกเธอไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะพบเจอลูกค้าแบบไหน และสายการบินยังมีการประเมินและทำการทดสอบต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นคนที่จะมาเป็นแอร์โฮสเตสไม่เพียงจะต้องมีใจรักการบริการเท่านั้น แต่ต้องมีความอดทนอดกลั้น แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีอีกด้วย
 
โดยทั่วไปคนที่จะสมัครงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะต้องมีคุณสมบัติคร่าวๆ ดังนี้ (1) มีอายุระหว่าง 20–26 ปี (2) จบการศึกษาอย่างน้อยในระดับปริญญาตรี คณะไหนก็ได้ (3) มีส่วนสูงอย่างน้อย 160 เซนติเมตรขึ้นไป และน้ำหนักประมาณ 55 กิโลกรัม หรือน้ำหนักต้องสัมพันธ์กับส่วนสูง (4) ต้องมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคประจำตัว สายตาปกติ และสามารถว่ายน้ำได้คล่องแคล่ว (โดยทั่วไปสายการบินต่างๆ จะให้สอบว่ายน้ำในท่าฟรีสไตล์ โดยผู้หญิงจะต้องว่ายต่อเนื่อง 50 เมตร และผู้ชายให้ว่ายต่อเนื่อง 100 เมตร) (5) จะต้องมีผลสอบความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นของ TOEIC จะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 600 คะแนน TOEFL จะต้องได้อย่างน้อย 550 คะแนน และถ้าเป็น IELTS จะต้องได้ 5.5 ขึ้นไป และ (6) ต้องเป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพดี แต่งกายสุภาพ
 
หลังจากที่ทำการสมัครแล้ว ผู้สมัครต้องสอบข้อเขียน สอบบุคลิกภาพ และสอบสัมภาษณ์ในขั้นตอนสุดท้าย ในส่วนการสอบสัมภาษณ์ ถ้าเป็นการบินไทยจะต้องมีการตอบคำถามทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกทั้งชาวไทยและต่างชาติประมาณ 6–7 คน เพื่อวัดและทดสอบปฏิภาณไหวพริบ สติสัมปชัญญะ และการควบคุมอารมณ์ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ 
 
เมื่อผ่านการสอบต่างๆ แล้ว และได้รับเลือกให้เป็นพนักงานบริการบนเครื่องบิน ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมของสายการบินนั้นๆ (ระยะเวลาในการเข้าอบรมขึ้นอยู่กับแต่ละสายการบิน) เพื่อเรียนรู้เรื่องการให้บริการต่างๆ บนเครื่องบิน เช่น เสิร์ฟอาหาร จัดอาหาร และผสมเครื่องดื่ม เป็นต้น 
และยังต้องฝึกอบรมในเรื่องการปฐมพยาบาล การฝึกรับมือกับอุบัติเหตุ การหาอาหารฉุกเฉินเมื่อเกิดอุบัติเหตุ รวมไปถึงกิริยามารยาทต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเป็นแอร์โฮสเตส และสุดท้าย จะมีคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลอีกทีว่าคุณเหมาะสมที่จะเป็นแอร์โฮสเตสหรือไม่
 
สายการบินที่คนไทยส่วนใหญ่อยากทำงานด้วยก็คงหนีไม่พ้นสายการบินไทย ที่ได้ค่าจ้างสูง และได้ประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ อีกด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกไปทำงานกับสายการบินอาหรับ อย่างเอมิเรตส์แอร์ไลน์ (Emirates Airline) และกาตาร์แอร์เวย์ (Qatar Airways) เป็นต้น 
 
ทั้งสองสายการบินนี้ถูกจัดให้เป็นอันดับต้นๆ ของสายการบินที่ดีที่สุดในโลกในปี 2557 โดยวัดจากประสบการณ์ของลูกค้าเมื่ออยู่บนเครื่องบิน กาตาร์แอร์เวย์ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 3 และเอมิเรตส์แอร์ไลน์อยู่ในอันดับที่ 6 ขณะที่การบินไทยอยู่ในอันดับที่ 10 
 
สาเหตุที่ทำให้หลายคนเลือกไปทำงานกับสายการบินอาหรับ ทั้งๆ ที่จะต้องย้ายไปประจำอยู่ที่ประเทศนั้นๆ ก็เป็นเพราะสายการบินอาหรับเหล่านี้ให้เงินค่าจ้างสูงกว่าสายการบินอื่นๆ มาก และสายการบินอาหรับยังให้บริการเที่ยวบินไปในที่ต่างๆ ทั่วโลก และยังเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้ผู้ที่ทำงานกับสายการบินเหล่านี้นอกจากจะได้ค่าจ้างที่สูงกว่าแล้ว ยังมีโอกาสได้เดินทางไปเที่ยวตามที่ต่างๆ มากกว่าอีกด้วย
 
ถึงแม้รายได้และโอกาสการได้ท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ จะเป็นของล่อใจที่ดีในการดึงผู้คนจากชาติต่างๆ ให้เข้าไปทำงานกับสายการบินอาหรับ แต่ต้องไม่ลืมว่าคนในประเทศเหล่านี้ค่อนข้างที่จะกำหนดสิทธิของผู้หญิงในสังคม ดังนั้นเมื่อสายการบินเหล่านี้ต้องการรับสมัครผู้หญิงไปทำงานด้วย จึงมีการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จำกัดสิทธิของผู้หญิง
 
เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (International Transport Workers’ Federation หรือที่เรียกย่อๆ ว่า ITF) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า พนักงานบริการบนเครื่องบินโดยเฉพาะที่เป็นผู้หญิงและทำงานอยู่ในสายการบินยักษ์ใหญ่ที่มีฐานการบินหลักอยู่ที่ประเทศกาตาร์ (Qatar) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates)ได้ถูกละเมิดสิทธิแรงงาน 
 
ITF อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สายการบินเอมิเรตส์แอร์ไลน์ กาตาร์แอร์เวย์ และเอทิฮัดแอร์เวย์ (Etihad Airways) เป็นสายการบินใหญ่ที่มีการจ้างนักบินมากกว่า 70,000 คน และมีการจ้างพนักงานบริการบนเครื่องบินและบุคคลที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในสนามบินอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมากกว่า 90% เป็นคนต่างชาติที่ย้ายมาทำงาน และอยู่ในประเทศเหล่านี้ได้เพราะบริษัทออกวีซ่าสำหรับการทำงานให้ 
 
ซึ่งแน่นอนว่าผู้หญิงที่ไปทำงานในประเทศเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิของกฎหมายแรงงานขั้นพื้นฐานเหมือนกับประเทศของตัวเอง อย่างเช่นผู้หญิงเหล่านี้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรต่างๆ หรือสิทธิเสรีภาพในการเจรจาต่อรองในเรื่องต่างๆ เป็นต้น
 
ITF ยังชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า สายการบินกาตาร์แอร์เวย์เป็นสายการบินที่แอร์โฮสเตสถูกละเมิดสิทธิแรงงานมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ในสัญญาระหว่างแอร์โฮสเตสกับสายการบินกาตาร์แอร์เวย์มีการระบุว่า (1) พนักงานบริการที่เป็นผู้หญิงจะถูกจ้างงานโดยสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ก็ต่อเมื่อพวกเธอมีสถานะโสดเท่านั้น 
 
(2) พวกเธอเหล่านี้จะต้องมีสถานะโสดอย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่เริ่มทำงาน (3) ถ้าแอร์โฮสเตสที่ทำงานเกิน 5 ปีแล้ว และต้องการแต่งงาน จะต้องทำเรื่องขออนุญาตแต่งงานจากสายการบินก่อน (4) ถ้าแอร์โฮสเตสรู้ว่ากำลังตั้งครรภ์จะต้องแจ้งต่อสายการบินทันที และ (5) การตั้งครรภ์ระหว่างทำงานอาจจะถูกพิจารณาว่าเป็นการละเมิดสัญญาที่ตกลงกันไว้ และอาจนำไปสู่การไล่ออกในที่สุด
 
หลังจากที่ ITFเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ ด้านสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่ทำงานในสายการบินนี้ได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้น
 
เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ผู้บริหารสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ Rossen Dimitrov ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Washington Post เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ไม่เป็นความจริงที่ในสัญญาระหว่างแอร์โฮสเตสกับสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ระบุว่า แอร์โฮสเตสจะต้องเป็นคนโสด และคงอยู่ในสถานะโสด เพราะในความเป็นจริงแล้วมีพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจำนวนมากของสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ที่แต่งงานแล้ว และในขณะเดียวกันแอร์โฮสเตสก็ต้องแจ้งสายการบินทันทีที่รู้ว่ากำลังตั้งครรภ์ เพราะนี่เป็นกฎเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ที่ทำงานด้านการบินในประเทศกาตาร์ และถ้าหากแอร์โฮสเตสไม่สามารถทำงานบริการบนเครื่องบินได้เพราะตั้งครรภ์ ทางสายการบินก็จะหาตำแหน่งที่เหมาะสมที่สนามบินให้ทำงาน
 
นอกจากนี้ผู้บริหารระดับสูงของสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ Akbar al-Baker ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวรอยเตอร์ ว่า ถ้าคุณต้องการทำงานกับสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ ทางเราจะให้เอกสารไปชุดหนึ่งซึ่งอธิบายเกี่ยวกับกฎต่างๆ ของสายการบิน และถ้าคุณมีความเป็นมืออาชีพพอ คุณก็ควรที่จะรับกฎต่างๆ เหล่านี้ให้ได้ และไม่ควรเรียกร้องใดๆ
 
หลังจากที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันอย่างมากในโซเชียลมีเดีย มีหลายคนออกมาให้ความเห็นว่า กฎต่างๆ เหล่านี้ของสายการบินกาตาร์แอร์เวย์เป็นกฎที่ล้าหลังมาก เพราะเป็นกฎที่สายการบินต่างๆ นั้นใช้อยู่ในช่วงปี 2503 และเลิกใช้มานานแล้ว และสัญญาการจ้างงานเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นถึงการเหยียดเพศอีกด้วย
 
เรื่องนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ถ้า ITF นำเรื่องนี้ไปร้องเรียนต่อองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือที่เรียกย่อๆ ว่า ICAO) แล้ว ICAO จะเรียกร้องให้สายการบินในประเทศอาหรับแก้ไขปัญหาเรื่องแอร์โฮสเตสถูกละเมิดสิทธิแรงงานอย่างไร
 
 
 
สายการบินกาตาร์แอร์เวย์ถือเป็นสายการบินที่ใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก และมีเครื่องบินที่ทันสมัยให้บริการเป็นจำนวนมาก แต่ ITF ได้เปิดเผยว่าเป็นสายการบินที่แย่ที่สุดในเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานสำหรับลูกจ้างที่เป็นผู้หญิง
 
 
 
Akbar Al Baker ผู้บริหารระดับสูงของสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ Reuter เพื่อโต้แย้งเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ในการจ้างงานของสายการบิน
 
 
 
 
สายการบินเอมิเรตส์แอร์ไลน์ ก็จัดว่าเป็นสายการบินใหญ่ติดอันดับต้นๆของโลกเช่นเดียวกันกับกาตาร์แอร์เวย์ และถูกทาง ITF เปิดเผยว่าละเมิดสิทธิแรงงานต่อลูกจ้างที่เป็นผู้หญิงเช่นกัน