วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > พรมแดนค้าปลีก “ASEAN” ของ “CPN” เปิดแล้ว

พรมแดนค้าปลีก “ASEAN” ของ “CPN” เปิดแล้ว

 

ภายหลังการประกาศลงทุนโครงการ “เซ็นทรัล เวสต์เกต” ย่านบางใหญ่ อภิมหาโครงการขนาดใหญ่ของ CPN เมื่อต้นปี 2556 โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการ Mixed Used ที่มีพื้นที่มากถึง 100 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ศูนย์การค้าร่วม 5 แสน ตร.ม. เพื่อรองรับกำลังซื้อกว่า 13 ล้านคน ซึ่งถือเป็นรูปแบบ Super Regional Mall แห่งแรกของเครือ CPN
 
หลังจากนั้น ข่าวการเปิดโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัลแห่งอื่นก็ดูเหมือนไม่น่าตื่นตาตื่นใจและตื่นเต้นอีกต่อไป อย่างเช่นข่าวโครงการ “เซ็นทรัลพลาซ่า ระยอง” ที่แถลงเปิดตัวเมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา หากไม่ใช่จังหวะเดียวกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ด บางที ข่าวการเปิดตัวโครงการของ CPN ในระยองอาจได้รับความสนใจน้อยลง
 
โครงการ “เซ็นทรัลพลาซา ระยอง” นับเป็นศูนย์การค้าแห่งที่ 4 ในภาคตะวันออก และอันดับที่ 26 ของ CPN ตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราด สาย 36 (มอเตอร์เวย์ ไป อ.บ้านเพ) ใกล้แยกเกาะลอย พื้นที่ทั้งหมด 60 ไร่ โดยในเฟสแรก มีขนาดพื้นที่ราว 1.3 แสน ตร.ม. มูลค่าโครงการราว 3.2 พันล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการราว ธ.ค. 2557
 
ทั้งนี้เพื่อรองรับกำลังซื้อราว 8.2 แสนคน จากทั้งนิคมอุตสาหกรรม 19 แห่ง ซึ่งมีโรงงานกว่า 1.9 หมื่นโรง และผู้คนในจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงกำลังซื้อจากชาวกัมพูชาและชาวเวียดนาม ที่อาจมาโดยเส้นทาง R10 หรือถนนเลียบชายฝั่งทะเลไทย-กัมพูชา-เวียดนาม
 
เรียกได้ว่า เป็นอีกโครงการของ CPN ที่สะท้อนยุทธศาสตร์การปักหมุดตั้งรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เหมือนหลายๆ โครงการที่เปิดตัวในช่วงปีหลังๆ ของ CPN
 
กระทั่งมาถึงข่าวเปิดตัวโครงการ “เซ็นทรัลพลาซา ไอ-ซิตี้” เมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่เพิ่งผ่านมา ซึ่งแม้ว่าขนาดของโครงการนี้จะแค่ใกล้เคียงกับเซ็นทรัลฯ แจ้งวัฒนะ ไม่ได้ใหญ่เท่าเซ็นทรัล เวสต์เกส แต่กลับได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างล้นหลามไม่น้อยกว่ากัน
 
ความน่าสนใจของโครงการเซ็นทรัลพลาซา ไอ-ซิตี้ ไม่ได้อยู่ที่ขนาด แต่เป็นทำเลที่ตั้งในประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกของเครือ CPN ในมาเลเซียและอาเซียน
 
“วันนี้ ถือเป็นการประกาศการลงทุนครั้งประวัติศาสตร์ของ CPN กับก้าวแรกสู่อาเซียน เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการก้าวไปเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกระดับภูมิภาคของเรา” วัลยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานพัฒนาธุรกิจและบริหารโครงการก่อสร้างของกลุ่ม CPN กล่าวเปิดในงาน A Passage to Malaysia
 
เซ็นทรัลพลาซา ไอ-ซิตี้ จะเป็นศูนย์การค้าในรูปแบบ Regional Mall แห่งแรกของมาเลเซีย อยู่ในโครงการ i-City เมืองเทคโนโลยีแห่งใหม่ของมาเลเซีย และศูนย์กลางของไลฟ์สไตล์ของรัฐสลังงอร์ ตั้งอยู่ในเขต7 ของเมืองชาห์อาลัม รัฐสลังงอร์ ขนาด 182 ไร่ โดยโครงการ i-City เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของชาวมาเลเซียและนักท่องเที่ยวในแง่มุมของสถานที่ท่องเที่ยวที่มีสีสัน โดยเฉพาะธีมปาร์คและสวนน้ำ
 
i-City พัฒนาโดย i-City Properties Sendirian Berhad หรือ ICP ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเครือของ I-Berhad ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของมาเลเซีย ก่อตั้งในปี 2510 ที่เมืองชาห์อาลัม ปัจจุบัน บริษัทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เบอร์ซ่า มาเลเซีย
 
ภายในโครงการ i-City ยังประกอบด้วยอาคารสำนักงานไซเบอร์เซ็นเตอร์, สำนักงานและบริษัทชั้นนำ, โรงแรม, อาคารที่พักอาศัย และศูนย์การค้า โดย CPN ร่วมกับ ICP ตั้งบริษัทย่อยชื่อ Central Plaza i-city Mall Malaysia Sdn Bhd ขึ้นในประทศมาเลเซีย เพื่อลงทุนพัฒนาศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ไอ-ซิตี้ มูลค่าโครงการราว 5.8 พันล้านบาท โดย CPN ถือหุ้น 60% และ ICP ถือหุ้น 40%
 
เซ็นทรัลพลาซา ไอ-ซิตี้ มีพื้นที่ทั้งหมดราว 278,000 ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่ขายราว 89,700 ตร.ม. โดยมี CPN เป็นผู้ควบคุมการออกแบบ พัฒนาศูนย์การค้า และบริหารศูนย์การค้าแห่งนี้ ทั้งนี้ คาดการณ์กัน เมื่อสร้างเสร็จศูนย์การค้าแห่งนี้จะใหญ่ที่สุดในเมืองชาห์อาลัม 
 
ผู้บริหารสาวอธิบายยุทธศาสตร์ของ CPN ในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศว่า จะใช้การร่วมทุนเป็นอันดับแรก เพราะนั่นจะทำให้ CPN มีโอกาสเรียนรู้และทำคามเข้าใจตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค และกฎหมายท้องถิ่น เมื่อผนวกกับประสบการณ์ธุรกิจ 32 ปี ในเมืองไทยของ CPN ซึ่งมีธุรกิจหลากหลายพร้อมลงทุนให้สอดคล้องกับทำเลหรือตลาดในแต่ละประเทศ ก็จะทำให้ “ย่างก้าว” นั้นมีความแข็งแกร่ง
 
สำหรับสาเหตุที่เลือกปักธงในอาเซียนที่มาเลเซียเป็นก้าวแรก วัลยาให้เหตุผลมากมาย เช่น เป็นประเทศที่อยู่ใกล้ ซึ่งช่วยให้ระบบลอจิสติกง่ายขึ้น, การเมืองและการเงินมีเสถียรภาพ, ชาวมาเลเซียคุ้นเคยกับคนไทย, ขนาดเศรษฐกิจใกล้กับเมืองไทย แม้ประชากรจะน้อยกว่าครึ่งของเมืองไทย แต่มี GDP มากกว่าไทย 2 เท่า, ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลาง-บน ฯลฯ
 
นอกจากนี้ มาเลเซียเป็นประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตของเมือง และมีอำนาจซื้อสูง โดยรายได้ประชากรเฉลี่ยอยู่ที่ ราว 332,800 บาท ขณะที่รายได้ต่อหัวของคนไทยอยู่ที่ 176,000 บาท โดยวิสัยทัศน์ 2020 ของมาเลเซีย ตั้งเป้าจะผลักดันให้ประชากรมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 480,000 บาทต่อปี ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีกที่สำคัญ
 
ประเด็นสำคัญคือ มูลค่าธุรกิจค้าปลีกในมาเลเซียใหญ่เป็น 4 เท่าของค้าปลีกไทย แต่ปัจจุบัน ยังมีสัดส่วนของโมเดิร์นเทรดน้อยกว่าไทยและสิงคโปร์อยู่มาก โดยส่วนใหญ่เป็นศูนย์การค้าที่พัฒนาโดยผู้พัฒนาโครงการที่พักอาศัย เพื่อรองรับและให้บริการลูกค้าของโครงการเป็นหลัก
 
สำหรับคู่แข่งที่เป็นรูปแบบเชนศูนย์การค้าเช่นเดียวกับ CPN ในตลาดมาเลเซียและตลาดอาเซียน ประกอบด้วย แคปปิตอล มอลล์ จากสิงคโปร์, เอสเอ็มไพรม์ จากฟิลิปปินส์ และอิออน เชนศูนย์การค้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยวัลยาเชื่อว่า CPN น่าจะเป็นเชนศูนย์การค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ณ ปัจจุบัน
 
“เรามั่นใจว่าการไปมาเลเซียเป็นการตอกย้ำว่าเราพาแบรนด์ไทยไปได้ และเราก็มั่นใจแบรนด์เราด้วย กับประสบการณ์ที่เรามี และสิ่งที่เราทำมาในไทย น่าจะ apply ได้ในมาเลเซีย” เป็นบทส่งท้ายแสดงความมั่นใจของ ผู้บริหาร CPN ที่เต็มเปี่ยมด้วยความท้าทายอย่างยิ่ง