วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
Home > Cover Story > บ้านผาแก้ว สปป. ลาว ท่ามกลางคลื่นลม AEC

บ้านผาแก้ว สปป. ลาว ท่ามกลางคลื่นลม AEC

 

พื้นผิวขรุขระของถนนสีฝุ่นกลางแดดร้อนแรง ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างจากจุดผ่านแดนถาวรภูดู่ มุ่งหน้าเข้าสู่บ้านผาแก้ว เมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี กำลังทำหน้าที่เป็นเส้นทางเชื่อมภายใต้กรอบแนวความคิดว่าด้วย connectivity ซึ่งได้รับการยกระดับเป็นวาระแห่งประชาคมอาเซียน ที่กำลังมุ่งหน้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC: ASEAN Economic Community) ในอีกไม่กี่ขวบปีข้างหน้า

ชุมชนบ้านผาแก้ว ก็คงไม่ต่างจากชุมชนตามเขตต่อแดนของ สปป. ลาว อีกมากมายหลายชุมชนที่กำลังถูกทดสอบและท้าทายจากกระแสธารของคลื่นลมแห่ง AEC เข้าโหมกระหน่ำ แม้ว่าเส้นทางสัญจรเข้าสู่ชุมชนแห่งนี้จะยังไม่อยู่ในสภาพที่ไม่สะดวกหรือสมบูรณ์นักเมื่อเทียบกับมาตรฐานทางหลวงทั่วไป

“AEC ยังมาบ่เถิงดอกหรอก นั่นสิแม่นเป็นเรื่องระดับชาติ เฮาสิอยู่ห่างไกลหลาย” คุณครูสัญญา แห่งโรงเรียนประถมศึกษาสมบูรณ์บ้านผาแก้ว เมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพที่บ้านผาแก้วกำลังเผชิญ

ในมิติของความเป็นไป บ้านผาแก้วกำลังจะได้รับผลกระทบและกลายเป็นชุมชนบนทางผ่าน หลังจากการเปิดจุดผ่านแดนถาวรภูดู่ (Phu Doo International Point of Entry ) ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านภูดู่ ตำบลม่วงเจ็ดต้น อำเภอบ้านโคกจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ได้รับการยกระดับจาก “ช่องภูดู่” ให้เป็นจุดผ่อนปรนถาวรช่องภูดู่ และได้รับการประกาศยกระดับขึ้นเป็นจุดผ่านแดนถาวรภูดู่อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งในเส้นผ่านทางอีกแห่งของกลุ่มจังหวัดอินโดจีนก็ตาม

พัฒนาการล่าสุดในพื้นที่ นอกจากจะประกอบส่วนด้วยการยกระดับ “ภูดู่” ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรไทย-ลาว แล้ว สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ NEDA ยังให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป.ลาว ในการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมจากอุตรดิตถ์ไปยังแขวงไชยะบุรี ด้วยโครงการก่อสร้างถนนระหว่างช่องภูดู่-เมืองปากลาย สปป. ลาว รวมทั้งการเชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 11 ของ สปป. ลาวมายังจุดตัดถนนภูดู่-ปากลาย ซึ่งจะเป็นการย่นย่อระยะทางการเดินทางเข้าสู่กรุงเวียงจันทน์ และหลวงพระบาง สปป. ลาวอีกด้วย

แนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่-เวียงจันทน์ (Chiang Mai-Vientiane Economic Corridor: CVEC) จะเป็นเส้นทางที่ผ่าน 5 จังหวัดของไทย ไล่เรียงตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และอุตรดิตถ์ รวมระยะทางในประเทศไทยประมาณ 385 กิโลเมตร ผ่านเข้าสู่ สปป.ลาว โดยเชื่อมต่อกับ 3 แขวงของ สปป.ลาว ได้แก่ ไชยะบุรี เวียงจันทน์ และนครหลวงเวียงจันทน์ รวมระยะทางใน สปป.ลาว ประมาณ 283 กิโลเมตร รวมระยะทางตามแนวการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่-เวียงจันทน์ ประมาณ 623 กิโลเมตร

จินตนาการของหน่วยงานไทยที่มีต่อการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมแนวระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่-เวียงจันทน์ ผ่านการก่อสร้างถนนหมายเลข 11 และถนนเส้นทางภูดู่ เข้าสู่เมืองปากลายของ สปป.ลาว นี้ นอกจากจะดำเนินไปท่ามกลางความเชื่อที่ว่าเส้นทางดังกล่าวจะช่วยให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วขึ้นและลดทอนต้นทุนโลจิสติกส์ ที่คาดหมายว่าภายในปี 2560 จะขยายโอกาสการค้าชายแดนได้กว่า 2,456 ล้านบาท และเพิ่มเป็น3,494 ล้านบาทในปี 2565 แล้ว

ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่ว่านี้ เกี่ยวข้องกับบ้านผาแก้วอย่างไม่อาจเลี่ยง เพราะโดยชัยภูมิที่ตั้งของ บ้านผาแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ในแนวเส้นทาง ภูดู่-บ้านผาแก้ว-บ้านบ่มเลา-บ้านแก่งสาว เมืองปากลาย รวมระยะทางทั้งสิ้น 32 กิโลเมตรนี้ จะมีการก่อสร้างอาคารด่านชายแดนที่บ้านผาแก้ว เพื่อเป็นประหนึ่งประตูเข้าสู่ สปป.ลาว ที่แขวงไชยะบุรีนี้อีกด้วย

แต่นั่นคงจะยังมิใช่นัยความหมายของการเชื่อมโยงเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมากเท่ากับการรุกคืบของกลุ่มทุนจากทั้งประเทศไทย และกลุ่มทุนนานาสัญชาติ ที่กำลังมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตของประชากรของบ้านผาแก้ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานให้เข้าสู่การผลิตแบบ Contact Farming ที่สนองรับต่อพัฒนาการของระบบทุนในอนาคต

 “จากความช่วยเหลือที่ได้ให้ไป ภาคเอกชนไทยควรรุกการทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งด้านการเกษตรใน สปป.ลาว ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังซื้อของผู้คนในท้องถิ่น ซึ่งจะสอดรับกับการพัฒนาตามแนวเส้นทางนี้” เป็นภาพสะท้อนมิติมุมมองและทัศนะของเจ้าหน้าที่หน่วยราชการจากฝั่งไทย ที่ประเมินศักยภาพการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้านได้ชัดเจนยิ่ง

สอดรับกับข้อเท็จจริงที่ว่า มีนักธุรกิจไทยเตรียมลงทุนสร้างคลังจัดเก็บสินค้ากลุ่มเกษตร ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องมือการเกษตรจากฝั่งไทยกลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยังไม่นับรวมความพยายามที่จะสานประโยชน์จากความสะดวกในการสัญจรเดินทางผ่านแดนของแรงงานต่างด้าวจาก สปป.ลาว อีกด้วย

แม้ว่าจุดผ่านแดนถาวรภูดู่จะเปิดอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางความคาดหวังและเล็งผลเลิศจากหน่วยราชการและผู้ประกอบการฝั่งไทยอย่างเอิกเกริกไปแล้ว แต่สำหรับผู้คนในบ้านผาแก้ว เมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี นี่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการลิ้มลองอนาคต ที่มีนามว่า AEC เท่านั้น

ซึ่งจินตนาการเกี่ยวกับ AEC ในทัศนะของประชาคมในชุมชนบ้านผาแก้ว อาจดำเนินไปตามบริบทที่คุณครูสัญญาได้กล่าวไว้ว่า “AEC ยังมาบ่เถิงดอก นั่นสิแม่นเป็นเรื่องระดับชาติ เฮาสิอยู่ห่างไกลหลาย” ก็เป็นได้