วันพุธ, เมษายน 17, 2024
Home > Cover Story > เปิดโครงการ “เจพาร์ค” สหพัฒน์ระดม “แม็กเน็ต” พรึ่บ

เปิดโครงการ “เจพาร์ค” สหพัฒน์ระดม “แม็กเน็ต” พรึ่บ

 

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ปักหมุดตัวแรกเปิดตัวโครงการ “เจพาร์ค” เพื่อเร่งเครื่องยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจครั้งใหม่ของเครือสหพัฒน์ การรุกสู่ธุรกิจค้าปลีกแบบเต็มระนาบ ตั้งแต่การขยายเครือข่ายคอนวีเนียนสโตร์ “ลอว์สัน 108” และ “108 ช็อป” ปูพรมดรักสโตร์ “ซูรูฮะ” กระจายร้านจำหน่ายสินค้าในเครือ ไอ.ซี.ซี. “His&Her” และล่าสุด ผุดบิ๊กโปรเจ็กต์ คอมมูนิตี้มอลล์สไตล์ญี่ปุ่น ที่ตั้งเป้าสร้าง “เจแปนทาวน์” รองรับกลุ่มนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นในเขตอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นนักลงทุนต่างชาติติดอันดับ 1 ในไทยมาอย่างยาวนาน

ตามแผนเบื้องต้น โครงการเจพาร์คศรีราชา 2 เฟสแรก มีพื้นที่รวม 22 ไร่ เงินลงทุนประเดิม 800 ล้านบาท โดยรูปแบบโครงการจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ศูนย์การค้า แหล่งชอปปิ้งรวมร้านค้าทั้งของไทยและญี่ปุ่น ร้านอาหารญี่ปุ่น คอนโดมิเนียม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์การศึกษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น  ซึ่งมีสถานศึกษาในเครือสหพัฒน์ คือ โรงเรียนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นวาเซดะ และสถาบันแฟชั่นระดับโลกของประเทศญี่ปุ่น “บุนกะแฟชั่น” เข้ามาเป็นแม็กเน็ตหลัก

สำหรับเฟสแรก ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จประมาณเดือนตุลาคมและเปิดตัวทั้งหมดภายในปลายปี 2556 ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชอปปิ้งมอลล์  ล่าสุดนำร่องก่อน 2 แม็กเน็ต

แม็กเน็ตแรกที่ถือเป็นหัวหอกหลัก  คือ ร้านดรักสโตร์ “ซูรูฮะ” ขนาดพื้นที่ 1,000 ตร.ม. ถือเป็นสาขาใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และขนาดเท่าร้านต้นแบบแห่งแรกในเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้คอนเซ็ปต์ “One Stop Shopping” เนื่องจากอัดสินค้าครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกเพศทุกวัย ทั้งหมวดยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง ของใช้ส่วนตัว อุปกรณ์ทำความสะอาด เหมือนสาขาอื่นๆ และเพิ่มมุมตรวจสุขภาพเบื้องต้น มุมตรวจสภาพผิวและให้คำปรึกษาด้านความงาม สินค้าหมวดอุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์สำหรับดูแลผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์ เครื่องครัว อุปกรณ์ในห้องน้ำ ของใช้ในรถยนต์ และอาหารสัตว์

ทั้งนี้ ซูรูฮะญี่ปุ่นทุ่มทุนและหมายมั่นแจ้งเกิดสาขาเจพาร์คในตลาดต่างจังหวัดก่อนเดินหน้าขยายสาขาทั่วประเทศไทย เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจและลูกค้าคนไทยที่มีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบกระแสความเป็นญี่ปุ่น โดยตั้งเป้าขยายสาขาครบ 20 แห่งภายในปีนี้และครบ 100 แห่งภายใน 5 ปี

สาขาทั้งร้อยแห่งผนวกกับเครือข่ายความแข็งแกร่งของพันธมิตร “สหพัฒน์” จะเป็นฐานการขยายเข้าสู่กลุ่มอาเซียน ทั้งพม่า กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยรูปแบบการขยายธุรกิจมีทั้งการใช้ศักยภาพด้านคอนเนกชั่นเข้าไปลงทุนในภูมิภาค ซึ่งสหพัฒน์มีการลงทุนด้านตัวแทนจำหน่ายและร้านสะดวกซื้อ 108 ช็อปในหลายประเทศ  การร่วมลงทุนกับบริษัทท้องถิ่น และการควบรวมกิจการ เพื่อเป็นบันไดในการบรรลุเป้าหมาย 20,000 สาขาทั่วโลก

ปัจจุบัน ซูรูฮะในไทยมีทั้งหมด 7 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 4 สาขา ได้แก่ สาขาเกตเวย์ เอกมัย, ซีคอนสแควร์, ซีคอนบางแค และอาคารมิดทาวน์อโศก ส่วนต่างจังหวัด 3 สาขา ซึ่งก่อนหน้านี้นำร่องสาขาหน้าสวนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ศรีราชา แต่ยังไม่ประชาสัมพันธ์หรือรุกตลาดอย่างจริงจัง จนกระทั่งตัดสินใจเปิดสาขาเต็มรูปแบบที่ “เจ-พาร์ค ศรีราชา” และขยายสาขาใหม่ล่าสุดที่ พรอมเมนาดา รีสอร์ทมอลล์ เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นการเปิดตลาดในภาคเหนือ

ส่วนแม็กเน็ตอีกตัว คือ ซูเปอร์มาร์เก็ต “แม็กซ์แวลู่” ของกลุ่มบริษัทอิออน ซึ่งถือเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เน้นจุดขายด้านอาหาร ผัก ผลไม้ ของสด สินค้าคุณภาพระดับพรีเมียม และผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น

ขณะที่แม็กเน็ตอื่นๆจะทยอยเปิดตัว เนื่องจากต้องคัดเลือกร้านค้าสไตล์ญี่ปุ่น เพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ “เจแปนทาวน์” ซึ่งล่าสุดตกลงทำสัญญาเช่าพื้นที่แล้ว ได้แก่  ร้านสินค้านำเข้า “ไดโซะ” ร้านอาหารญี่ปุ่นแท้ๆ หลากหลายแบรนด์ เช่น Cho Fu, Sushi & Shabu, Crape Harajuku, PTK, Ramen, Frozen Yogurt  

นอกจากนี้ สหพัฒน์ยังวางแผนสร้างคอนโดมิเนียม รูปแบบเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในพื้นที่ฝั่งตรงกันข้าม อีกกว่า 10 ไร่ เพื่อรองรับกลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติ รวมถึงกลุ่มนักศึกษาที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนกว่า หากดูจุดยุทธศาสตร์แรกของเจพาร์คบนถนนสาย 3241 หรือถนนอัสสัมชัญ-หนองคล้อ ไม่ห่างจากมอเตอร์เวย์ ชลบุรี-พัทยา ถือเป็นย่านเมืองใหม่ของจังหวัดชลบุรีที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เฉพาะพื้นที่โดยรอบในรัศมี 20 กิโลเมตร มีประชากรอาศัยประมาณ 330,000 คน แบ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในเขตเมืองศรีราชาประมาณ 100,000 คน เขตอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด 130,000 คน  และสวนอุตสาหกรรมในเครือสหพัฒน์ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองอีกประมาณ 100,000 คน ซึ่งบริเวณใกล้เคียงยังมีคอมมูนิตี้มอลล์เปิดต่อเนื่องอีกหลายแห่ง

บุณยสิทธิ์กล่าวว่า ในอำเภอศรีราชามีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 20,000-30,000 คน และนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยลงทุนในจีนแล้วเริ่มถอนการลงทุนมาไทย โดยขณะนี้ไทยอยู่อันดับ 2 ที่กลุ่มทุนญี่ปุ่นมาลงทุนมากสุดในภูมิภาคอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย ส่วนเวียดนามเป็นอันดับ 3

ที่ผ่านมา การลงทุนในเขตอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ของบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ ทั้งนิคมอุตสาหกรรมและสนามกอล์ฟ ก็ได้รับการตอบรับจากกลุ่มคนทำงานชาวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสำคัญในการสร้างโอกาสต่อยอดธุรกิจ

ขณะเดียวกัน บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เพิ่งประเมินศักยภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัด โดยจัดให้จังหวัดชลบุรีเป็นเมืองที่มีศักยภาพสูง ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์จากส่วนกลางเข้าไปในพื้นที่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นค่ายแสนสิริหรือศุภาลัย

โดยเฉพาะอำเภอบางแสนถือเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา มีมหาวิทยาลัยบูรพาและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา อยู่ในพื้นที่ ล่าสุดมีนิสิตนักศึกษามากกว่า 55,000 คน รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและใกล้กับชุมชนชาวญี่ปุ่นที่มาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมศรีราชา ซึ่งมีกำลังซื้อสูง ทั้งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนไทยและต่างชาติ และประเภทของที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มเติบโตดี คือ คอนโดในเมืองที่ใกล้กับแหล่งชุมชนหรือ “ซิตี้คอนโด” (City Condo)

นอกจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรีมีการขยายตัวแบบไม่ตก ทั้งในแง่จำนวนนักท่องเที่ยว จำนวนผู้อยู่อาศัยต่างชาติและต่างเมือง

ที่สำคัญ ในอนาคต รัฐบาลมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเลียบถนนสุขุมวิทตั้งแต่อมตะนครถึงบ้านฉาง ประมาณปี 2562 และกระทรวงคมนาคมเตรียมแผนผลักดันการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน “แอร์พอร์ตลิงค์” สุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา-ระยอง ซึ่งทั้งสองปัจจัยยิ่งส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองเติบโตสูงมาก ราคาซื้อขายคอนโดมิเนียมเฉลี่ยสูงถึง ตร.ม.ละ 50,000-70,000 บาท

แผน “เจแปนทาวน์” ของบุณยสิทธิ์ในจังหวัดชลบุรีจึงไม่ใช่แค่การเปิดยุทธศาสตร์ค้าปลีกแบบครบวงจร แต่เป็นการใช้จุดแข็งและฉกฉวยโอกาสในพื้นที่เพื่อต่อยอดธุรกิจ  เนื่องจากเครือสหพัฒน์ยังมีที่ดินรอการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าอีกหลายร้อยไร่ รวมทั้งขยายไปยังสวนอุตสาหกรรมในจังหวัดอื่นๆได้อีก

ปัจจุบัน บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ลงทุนและบริหารธุรกิจสวนอุตสาหกรรม 5 แห่ง เริ่มจากสวนอุตสาหกรรมแห่งแรกที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เปิดเมื่อปี 2520 อยู่ในเขตเทศบาล ตำบลแหลมฉบัง เนื้อที่รวมกว่า 1,600 ไร่ ล่าสุดมีโรงงานทั้งสิ้น 81 แห่ง และมีที่ดินใกล้เคียงอีกหลายร้อยไร่ ซึ่งส่วนหนึ่งนำมาพัฒนาเป็นโครงการเจแปนทาวน์ “เจพาร์ค”

สวนอุตสาหกรรม กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งเมื่อปี 2532 เนื้อที่กว่า 3,500 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลนนทรี และ ตำบลวังดาล อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ล่าสุดมีโรงงานรวม 33 แห่ง
สวนอุตสาหกรรมลำพูน จังหวัดลำพูน ก่อตั้งเมื่อปี 2532 เนื้อที่กว่า 2,200 ไร่ ในเขตพื้นที่ตำบลป่าสัก และตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน  มีโรงงานอยู่ทั้งสิ้นรวม 17 โรงงาน

อีก 2 แห่ง เป็นสวนอุตสาหกรรมใหม่ในเครือที่จังหวัดราชบุรีและสวนอุตสาหกรรมแม่สอด ในตำบลกาษา จังหวัดตาก  เพื่อรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน(เออีซี) ล่าสุดเริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาจับจองพื้นที่สร้างฐานการผลิต 3-5 ราย

อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ต้องถือว่าสวนอุตสาหกรรมชลบุรี กบินทร์บุรี และลำพูน เป็นสวนอุตสาหกรรมหลัก 3 แห่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวก โรงงานผลิตไฟฟ้า สถานีไฟฟ้า สนามกอล์ฟ และสนามบินที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางอากาศ  

หากคอมมูนิตี้มอลล์เจพาร์ค ศรีราชา ประสบความสำเร็จ สหพัฒน์มีสิทธิ์ขยายโครงการใหม่ในสวนอุตสาหกรรมในเครืออย่างลำพูน เนื่องจากมีที่ดินรอพัฒนามากกว่าพันไร่ ซึ่งบุณยสิทธิ์ยืนยันว่าเป็นไปได้ แต่ต้องขอดูผลงานสาขาแรกก่อน และนั่นอาจเป็นตัวชี้อนาคตบทบาทใหม่ทางธุรกิจในฐานะเจ้าของเครือข่ายค้าปลีกรายใหญ่ที่มีฐานการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคมากที่สุดด้วย