วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > ปิดฉาก…โรบินสันรัชดา เบนเป้าเปิดสาขา ตจว.

ปิดฉาก…โรบินสันรัชดา เบนเป้าเปิดสาขา ตจว.

“โรบินสันกำลังสร้างแบรนด์ห้างสรรพสินค้าให้ชัดเจน รูปแบบไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ โดยตั้งเป้าภายในปี 2559 จะมีสาขาครบ 50 แห่ง ใน 40 จังหวัด” 

ปี 2556 ต้องถือเป็นอีกจังหวะก้าวสำคัญของ “โรบินสัน” ไม่ใช่แค่การปิดจุดยุทธศาสตร์สำคัญ สาขารัชดาภิเษกที่เปิดดำเนินการมานานกว่า 25 ปี และเป็นสาขาที่ทำรายได้สูงสุดเดือนละ 1,200 ล้านบาท ไปปลุกปั้นสาขาพระราม 9 ซึ่งถือเป็นแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา พระราม 9 ห่างออกไปจากที่ตั้งเดิมเพียงหนึ่งสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยตั้งเป้าผลักดันยอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 50%

แม้ล่าสุดโรบินสันพระราม 9 ยังอยู่ในช่วงการสร้างรายได้ แต่ระยะเวลาปีกว่าๆ หลังจากเปิดตัวเมื่อปี 2554 สามารถดึงยอดลูกค้าได้ถึงเดือนละ 250,000 คน สูงกว่าสาขารัชดาภิเษกที่เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 100,000 คน เนื่องจากมีข้อได้เปรียบทั้งความสดใหม่ ความหลากหลายของร้านค้า ทั้งในเครือเซ็นทรัลและร้านค้าแบรนด์ดัง การเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน โครงการที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งแนวถนนรัชดาภิเษก แนวถนนลาดพร้าวจนถึงพหลโยธิน และมีโรงแรมขนาดใหญ่อย่าง “แกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน” ที่บริษัท ซีพีแลนด์ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กำลังทุ่มงบปรับโฉมอัพเกรดเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว
 
ถือเป็นทำเลทองที่โรบินสันต้องการปักหลักสร้างสาขาที่ทำรายได้สูงที่สุดให้ได้เช่นเดียวกับที่สาขารัชดาภิเษกเคยทำได้
 
ขณะเดียวกัน ปีนี้ยังเป็นอีกจังหวะก้าวการขยายแนวรบของโรบินสัน ในฐานะ “หัวหอก” สำคัญของกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อรุกเครือข่ายเจาะพื้นที่หัวเมืองใหญ่เชื่อมโยงไปยังตลาดอาเซียน ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลประกาศนโยบายชัดเจน ภายใน 3 ปีนับจากนี้ เตรียมงบประมาณลงทุนรวมทั้งกลุ่มไม่ต่ำกว่า 90,000 ล้านบาท ขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซื้อและควบรวมกิจการ ทั้งหมดเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558
 
ปัจจุบันโรบินสันมีสาขารวม 31 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 10 สาขา และต่างจังหวัด 21 สาขา ประกอบด้วยภาคเหนือ 4 สาขา ได้แก่ สาขาเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พิษณุโลก, ภาคกลางและตะวันตก 4 สาขา ได้แก่ สาขาอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี ภาคตะวันออก 3 สาขา ได้แก่ สาขาชลบุรี ศรีราชา จันทบุรี, ภาคอีสาน 4 สาขา ได้แก่ สาขาอุบลราชธานี 2 แห่ง สาขาขอนแก่น อุดรธานี และภาคใต้อีก 6สาขา ได้แก่ สาขาหาดใหญ่ ภูเก็ต จังซีลอน นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี
 
ในจำนวน 31 สาขา แยกเป็นสาขาสแตนด์อะโลน 12 สาขา และเป็นสแตนด์อะโลนที่เหลืออยู่ในกรุงเทพฯ เพียง 3 สาขา คือ สุขุมวิท บางรัก และลาดหญ้า หลังจากปิดสาขารัชดาภิเษก ดอนเมือง อนุสาวรีย์ สีลม และไม่มีการขยายสาขาใหม่อีกเลยนับจากปี 2540 ที่เหลือเป็นสาขาที่อยู่ในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ประกอบด้วยสาขาที่ขยายไปกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา 11สาขา และอยู่ในศูนย์การค้าแบรนด์อื่นอีก 8 สาขา เช่น ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์, ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, เมกาบางนา, ซีคอนบางแค, แปซิฟิคพาร์ค, อยุธยาพาร์ค, จังซีลอน ซึ่งแม้ทิศทางของโรบินสันในช่วง 2-3 ปีจะเน้นการขยายสาขาไปกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาตามนโยบายของกลุ่มเซ็นทรัลที่ต้องการรุกตลาดต่างจังหวัดอย่างเข้มข้นและรวดเร็ว แต่หลังจากนี้โรบินสันกำลังสร้างแบรนด์ห้างสรรพสินค้าให้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายสาขารูปแบบไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ หลังจากทดลองตลาดได้สองสามปี

ทั้งนี้รูปแบบไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์เป็นโมเดลที่โรบินสันนำเสนอเมื่อปี 2553 เพื่อเจาะตลาดหัวเมืองต่างจังหวัด โดยนำร่องที่ จ. ตรังเป็นสาขาต้นแบบ ภายใต้แนวคิดอาคารค้าปลีกแนวราบ 2 ชั้น และเน้นแบรนด์ “โรบินสัน” ในฐานะเจ้าของโครงการ มีแองเคอร์เข้ามาผสมผสานเพื่อสร้างไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย ซึ่งพันธมิตรหลักมาจากกลุ่มเซ็นทรัล เช่น ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, เพาเวอร์บาย, ซูเปอร์สปอร์ต บีทูเอส บวกกับพันธมิตรร้านค้า โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร และร้านค้าอื่นๆ ประมาณ 200 ร้านค้า ในพื้นที่ขนาด 30,000-40,000 ตารางเมตร

นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนงานหลักในการดำเนินธุรกิจปี 2556 อยู่ภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก คือ รุกขยายธุรกิจแบบก้าวกระโดด สร้างการเติบโตต่อเนื่องและมั่นคง รับการเติบโตของภูมิภาคอาเซียน โดยวางแผนขยายสาขาอย่างรวดเร็วปีละ 5 สาขา งบลงทุนปีละ 4,000 ล้านบาท และตั้งเป้าภายในปี 2559 จะมีสาขาครบ 50 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ 40 จังหวัดทั่วประเทศ งบลงทุนรวมมากกว่า 16,000 ล้านบาท  โดยเน้นการขยายสาขาในจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับกำลังซื้อที่จะเพิ่มขึ้นหลังการเปิดเออีซี

สำหรับ 5 สาขาในปีนี้ เริ่มเปิดไปแล้วที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งถือเป็นการขยายเข้าสู่ภาคตะวันตก ตามด้วยสาขาอุบลราชธานี 2 เสริมสาขาอุบลราชธานีที่มีอยู่เดิม เนื่องจากเป็นจังหวัดศูนย์กลางภาคอีสานตอนล่างและเป็นประตูสู่กลุ่มประเทศอินโดจีน ส่วนอีก 3 สาขา ได้แก่ สาขาสกลนคร สุรินทร์ และสระบุรี ซึ่งทุกสาขาเป็นรูปแบบไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ทั้งหมด เพราะตั้งอยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีแผนขยายฐานลูกค้าออกไปมากขึ้น นอกจากนี้ เตรียมที่ดินรองรับการขยายสาขาไว้แล้วอีก 9 จังหวัด เช่น ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด

“โรบินสันจะเน้นตลาดต่างจังหวัด ซึ่งการขยายสาขาอย่างรวดเร็วส่งผลให้บริษัทมีอัตราการเติบโตของผลประกอบการเกินเป้าหมาย ปี 2555 เรามียอดขายสูงถึง 21,620 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23 % จากปีก่อน กำไรสุทธิรวม 2,063 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% โดยเป็นกำไรสุทธิจากธุรกิจหลัก 1,668 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการขยายสาขาอย่างก้าวกระโดดถึง 5 สาขา เราเปิดบริการครบ 30 สาขา ครอบคลุมทั่วประเทศ  ไม่ว่าจะเป็นสาขาสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์แห่งที่ 2  สาขาเมกาบางนา  สาขาสุราษฎร์ธานี  สาขาบางแค และสาขาลำปาง ในแง่การเติบโตของเมือง กำลังซื้อและฐานลูกค้า ทุกสาขาทำยอดขายสูงกว่าเป้าหมายทั้งหมด” นายปรีชากล่าว
 
กว่า 30 ปี โรบินสันผ่านมรสุมธุรกิจอย่างโชกโชน บทเรียนจากการปิดสาขาและสมรภูมิการแข่งขันที่รุนแรงน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดว่า เค้กก้อนใหม่ที่น่ากินมากที่สุดของโรบินสันอยู่ที่ตลาดต่างจังหวัด ไม่ใช่กรุงเทพฯ อีกแล้ว