วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > จากทัวร์ศูนย์เหรียญถึง อีสติน ตัน ความเป็นไปของการท่องเที่ยวไทย

จากทัวร์ศูนย์เหรียญถึง อีสติน ตัน ความเป็นไปของการท่องเที่ยวไทย

 
 
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยนอกเหนือจากความวูบไหวของตลาดหุ้นไทยจากเหตุปัจจัยความไม่มั่นคงและไม่มั่นใจจากเงื่อนไขภายในหลากหลายประการที่รุมเร้าแล้ว
 
ปรากฏการณ์ว่าด้วยการสกัดการท่องเที่ยวแบบทัวร์ศูนย์บาทหรือทัวร์ศูนย์เหรียญของนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงข่าวการบุกเข้าตรวจสอบโรงแรมอีสติน ตัน เชียงใหม่ (Eastin Tan Hotel Chiang Mai) ของ ตัน ภาสกรนที นักธุรกิจชื่อดัง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้เหตุผลว่าด้วยอาคารดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบการโรงแรมที่พัก ดูจะเป็นกรณีที่สั่นสะเทือนธุรกิจท่องเที่ยวไม่น้อยเลย
 
เพราะในขณะที่รัฐบาลพยายามหนุนนำกลไกทางเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเอิกเกริก แต่การปราบปรามทัวร์ศูนย์บาทกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการยกเลิกการท่องเที่ยวของคณะทัวร์จีน และส่งผลกระทบต่อผู้คนในแวดวงการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งของมาตรการการสกัดทัวร์ศูนย์เหรียญดังกล่าวอยู่ที่ความพยายามปรับยกสถานะและภาพลักษณ์ของการเป็นจุดหมายปลายทางราคาถูก หรือ cheap destination มาสู่การเป็นจุดหมายปลายทางที่มีคุณภาพ (quality destination) ที่เป็นประหนึ่งเป้าประสงค์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
 
แต่ในอีกมิติหนึ่ง การผนึกประสานความพยายามของหน่วยงานรัฐทั้งตำรวจท่องเที่ยว กองบัญชาการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และหน่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวนี้ กลับสั่นคลอนความเป็นไปของธุรกิจท่องเที่ยวไทยอย่างไม่อาจเลี่ยง
 
โดยเฉพาะเมื่อประเมินจากรายงานและสถิติของทางราชการที่ระบุว่านักท่องเที่ยวชาวจีนมีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวจากทุกชาติ โดยในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวจีนในเมืองไทยเกือบ 8 ล้านคน สร้างรายได้ให้คนไทยราว 371,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2566 รายได้ส่วนนี้จะเพิ่มสูงถึงประมาณ 830,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
 
มาตรวัดว่าด้วยการเป็นจุดหมายปลายทางราคาถูก และการเป็นจุดหมายปลายทางที่มีคุณภาพ บนฐานของข้อมูลเช่นว่านี้ในด้านหนึ่งจึงดูจะเป็นทางเลือกที่ท้าทายต่อการกำหนดนโยบายของภาครัฐและพัฒนาการของผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยที่น่าสนใจติดตามไม่น้อยว่าจะดำเนินไปในทิศทางและในรูปแบบใดนับจากนี้
 
ขณะที่กรณีการปรากฏข่าวหน่วยงานราชการไทยปราบปรามจับทัวร์จีนในเมืองไทย ได้สร้างความสับสนให้เกิดขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างมาก และขยายไปสู่การเผยแพร่ข่าวเตือนในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจีนในบางพื้นที่ให้หลีกเลี่ยงการมาเมืองไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมา จากเหตุความสับสนและไม่ชัดเจนในมาตรการของทางการไทยด้วย
 
กรณีการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญอาจเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามปรับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยที่หลายฝ่ายอาจมุ่งหมายให้เกิดผลเชิงบวกในระยะยาว หากแต่ในห้วงเวลาต่อมาอีกไม่นานนับจากเหตุดังกล่าวก็ปรากฏข่าวการเข้าตรวจสอบโรงแรมหรูกลางเมืองเชียงใหม่ ในนาม Eastin Tan ที่อาจนำไปสู่การปิดการให้บริการโรงแรมที่เพิ่งเปิดให้บริการได้ไม่ถึง 2 ขวบปีแห่งนี้
 
ประเด็นดังกล่าวสืบเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า อาคารที่ตั้งของโรงแรมอีสติน ตัน เชียงใหม่แห่งนี้ เดิมได้ขออนุญาตก่อสร้างเป็นอาคารชุดที่พักอาศัย หรือคอนโดมิเนียม แต่ผู้ประกอบการได้นำอาคารดังกล่าวมาเปิดให้บริการเป็นโรงแรมที่พัก ซึ่งผิดต่อ พ.ร.บ. ผังเมือง ซึ่งนำไปสู่การไม่สามารถอนุญาตให้ดำเนินกิจการประเภทโรงแรมได้
 
กระนั้นก็ดี มูลเหตุที่นำไปสู่การเข้าตรวจสอบและแจ้งข้อกล่าวหาของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ดูจะมีเงื่อนไขว่าด้วยการไม่สามารถออกใบอนุญาตที่ขัดและไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากนัก
 
เพราะในขณะที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ปกครอง และดูแลเรื่องผังเมืองระบุว่าอาคารแห่งนี้ ผิด พ.ร.บ. ผังเมือง และกฎหมายควบคุมอาคาร 
 
ทางฝ่ายโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ กลับระบุอย่างแข็งขันว่า โรงแรมอีสติน ตัน โฮเทล เชียงใหม่ กระทำผิด เพราะไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร เพื่อดำเนินธุรกิจโรงแรมตั้งแต่เริ่มแรก หากแต่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารชุดที่อยู่อาศัยรวม หรือคอนโดมิเนียม 
 
การทำ EIA ก็ดำเนินการสำหรับอาคารชุดที่พักอาศัย ไม่ได้ทำ EIA สำหรับโรงแรม การที่นำอาคารชุดมาดัดแปลงจึงผิดกฎหมาย ซึ่งไม่เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนกฎหมายผังเมืองใหม่ หรือผังเมืองเก่า
 
ข้อเท็จจริงในส่วนของการขออนุญาตก่อสร้างดังกล่าวนี้ ดูจะสอดคล้องกับคำชี้แจงของ ตัน ภาสกรนที ที่ระบุว่า ช่วงแรกของการดำเนินการขออนุญาตนั้น บริษัท ตันบุญ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมอีสติน ตัน โฮเทล ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้าง ได้ทำเรื่องขออนุญาตเป็นอาคารชุดที่พักอาศัยรวม พร้อมกับทำ EIA ซึ่งได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้ 
 
แต่หลังจากนั้นได้มาขออนุญาตดำเนินกิจการโรงแรมในอาคารชุดที่ทำการก่อสร้าง ซึ่งกรณีที่ว่านี้อาจขัดกับข้อกฎหมาย จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้ถูกควบคุมไว้ตาม พ.ร.บ. ผังเมือง และกฎหมายควบคุมอาคาร ว่าโรงแรมในบริเวณดังกล่าวต้องเป็นโรงแรมขนาดเล็กเท่านั้น ดังนั้นจึงผิดตั้งแต่การอนุญาตก่อสร้างครั้งแรก ที่ไม่ได้ขอเพื่อประกอบธุรกิจโรงแรม
 
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งอยู่ที่ การระบุว่า อาคารที่ก่อสร้างขึ้นมานี้ได้มีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมพื้นที่โดยรอบ จนเป็นเหตุให้รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปได้อย่างสะดวก หากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้นในอาคารดังกล่าว ซึ่งการที่อาคารจะปรับเปลี่ยนมาประกอบธุรกิจโรงแรมเป็นอันตรายต่อผู้พักอาศัย 
 
เนื่องจากตามกฎหมายโรงแรมจะต้องมีเส้นทางหนีไฟที่ชัดเจน เพราะผู้ที่เข้ามาพักอาศัยไม่ได้อยู่เป็นประจำ ไม่ทราบผังอาคารเหมือนกับผู้ที่พักอาศัยอยู่ตลอดที่รู้จักเส้นทางออกจากอาคาร ดังนั้นอาคารนี้จึงผิดกฎหมายควบคุมอาคารและต้องยุติการให้บริการด้านโรงแรม นั่นเป็นมิติมุมมองของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
 
พร้อมกับเน้นย้ำว่า การนำอาคารชุดที่พักอาศัยรวมมาดัดแปลงเป็นโรงแรมนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ และไม่มีช่องทางที่จะแก้ไขนอกจากจะหยุดให้บริการด้านโรงแรม และดำเนินการเฉพาะอาคารชุดพักอาศัยตามที่ได้ขออนุญาตไว้เท่านั้น และไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงผังเมืองใหม่ หรือผังเมืองเก่า ที่เป็นเงื่อนไขที่ ตัน ภาสกรนที พยายามจะหยิบขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ในการอุทธรณ์
 
เพราะการดำเนินการเพื่อขอความคุ้มครองเป็นเรื่องของผู้ประกอบการจะดำเนินการ และตัน ภาสกรนที ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการการส่งเสริมและกำกับธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีระยะเวลาในการพิจารณายื่นอุทธรณ์ แต่ผลจะออกมาอย่างไรเป็นเรื่องที่ชวนติดตาม
 
กรณีที่ว่านี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก เพราะในห้วงเวลาที่ผ่านมา ภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจที่จะเปิดดำเนินการธุรกิจโรงแรมราคาประหยัดหรือ budget hotel ซึ่งมีทั้งที่เริ่มก่อสร้างอาคารเพื่อประกอบการธุรกิจโรงแรมเป็นการเฉพาะขึ้นมาใหม่
 
รวมถึงในลักษณะของการเข้าใช้ประโยชน์และปรับปรุงสภาพจากอาคารเก่าที่มีอยู่เดิมให้แปลงสภาพมาเป็นโรงแรมรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตขึ้น
 
แนวความคิดที่ว่านี้พัฒนาไปไกลถึงขนาดที่มีการกล่าวถึงการเข้าปรับปรุงและใช้ประโยชน์จากอาคารเก่ารกร้างที่ถูกทอดทิ้งไว้ให้มีสภาพเป็นเพียงซากที่สะท้อนยุคสมัยแห่งความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาให้สามารถนำพาและรองรับบริบทใหม่ทางธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น
 
ซึ่งกรณีของ อีสติน ตัน อาจเป็นตัวอย่างและตัวแบบที่นำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานสำหรับผู้ประกอบการแต่ละรายให้ได้ตระหนัก ว่าการพัฒนาพื้นที่และการต่อยอดธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะมีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร และจะถูกจำกัดด้วยข้อกำหนดแห่งกฎระเบียบข้อบังคับใดบ้าง
 
จริงอยู่ที่ว่าท่วงทำนองของตัน ภาสกรนที อาจให้ภาพของนักธุรกิจการตลาดที่ดำเนินไปอย่างหวือหวา ฉาบฉวย และบ่อยครั้งก็ก้ำกึ่งระหว่างความเหมาะสมและถูกต้องแห่งกฎหมาย และไม่ควรได้รับการยกเว้นหากเขาดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายจริงๆ
 
หากแต่การบุกเข้าตรวจสอบพร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหาให้รับทราบแล้ว ติดตามมาด้วยการปล่อยให้ อีสติน ตัน ยังสามารถเปิดรับและให้บริการลูกค้าได้อย่างปกติอยู่กลางเมืองเช่นนี้ย่อมไม่ใช่สิ่งที่สมควรอย่างแน่นอน
 
กระนั้นก็ดี การแปลงสภาพจากโรงแรมกลับไปสู่การเป็นคอนโดมิเนียมก็ไม่ได้หมายความว่า ตัน ภาสกรนที จะไม่สามารถสร้างรายได้จากอาคารที่ว่านี้ จะมีก็แต่เพียงการอยู่ในชื่อเรียกขานที่แตกต่างออกไป เพราะเครื่องมือและรูปแบบในการให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวในยุคสมัยปัจจุบันก้าวหน้าไปมากแล้ว
 
ประเด็นที่ต้องร่วมกันพิจารณาอยู่ที่ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งเรื่องการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญและกรณีของ อีสติน ตัน นี้ จะมีผลในการส่งเสริมผู้ประกอบการในธุรกิจการท่องเที่ยวให้มีความเข้มแข็งท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นหรือเป็นการสกัดกั้นการพัฒนาให้ต้องอ่อนเปลี้ยลงไปจากเดิม