วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Recreation > Travel in Style > “เชียงขวาง” จากสมรภูมิรบสู่เมืองท่องเที่ยว

“เชียงขวาง” จากสมรภูมิรบสู่เมืองท่องเที่ยว

 

 

สงครามอินโดจีนหรือสงครามเวียดนามได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ด้วยชัยชนะของฝ่ายนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา แม้จะผ่านไปแล้วกว่า 4 ทศวรรษ แต่ร่องรอยของสงครามยังคงมีให้ชนรุ่นหลังได้เห็นถึงความโหดร้ายของมันอยู่ โดยเฉพาะที่แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว
 
เชียงขวาง (Xiangkhoang) คือแขวงหนึ่งของ สปป.ลาว ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ ด้วยชัยภูมิที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ราวๆ 400 กิโลเมตร มีชายแดนติดกับประเทศเวียดนาม สามารถใช้เป็นเส้นทางในการลำเลียงกองกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จากเวียดนามเหนือ มาสู่ขบวนการปะเทดลาวได้อย่างดี 
 
ด้วยชัยภูมิดังกล่าวขบวนการปะเทดลาวจึงได้ตั้งกองบัญชาการใหญ่ขึ้นที่เชียงขวาง กองทัพอากาศสหรัฐฯ ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดแบบปูพรมเพื่อทำลายล้างขบวนการปะเทดลาว ระเบิดไม่ต่ำกว่า 3 ล้านตัน ถูกระดมทิ้งลงที่นี่ บ้านเรือนราษฎร วัดวาอารามพังพินาศ ผู้คนอพยพออกจากเมือง ที่นี่จึงเป็นสมรภูมิรบที่ดุเดือดและเป็นพื้นที่ที่ได้รับอย่างหนัก
 
ปัจจุบันเชียงขวางฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ บ้านเรือน ถนนหนทาง ส่วนราชการถูกสร้างขึ้นใหม่ เป็นเมืองที่สะอาดและเป็นระเบียบ แต่ร่องรอยของสงครามก็ยังมีให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะที่เมืองคูน ซึ่งเป็นเมืองเอกเดิมของแขวงเชียงขวาง เป็นเมืองที่โดนทำลายอย่างหนัก รัฐบาลจึงสร้างเมือง “โพนสะหวัน” เป็นเมืองเอก ทดแทนเมืองคูนที่ถูกทำลายลง ซากปรักหักพังบางอย่างได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงความโหดร้ายของสงคราม หลุมระเบิดขนาดใหญ่ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไป เศษของลูกระเบิดถูกนำมาดัดแปลงเป็นเสาบ้าน รางปลูกต้นไม้ ที่นั่งเล่น หรือประดับตามร้าน เป็นการสร้างบ้านแปงเมืองโดยแท้
 
นโยบายการเปิดประเทศของลาวตั้งแต่ พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวของลาวเอง ทำให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศลาวมากขึ้น และด้วยความเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานของเชียงขวาง มีแหล่งท่องเที่ยวอันโด่งดังซึ่งเป็นที่รู้จักอย่าง “ทุ่งไหหิน” จึงไม่แปลกที่จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวลาวและชาวต่างชาติที่เดินทางไปเยือนเชียงขวางจะเพิ่มขึ้นทุกปี… 
 
การเดินทางไปยังเชียงขวางไปได้ทั้งทางเครื่องบินของสายการบินลาวและทางรถยนต์ ซึ่งทางรถยนต์อาจจะกินเวลามากกว่า แต่ทัศนียภาพระหว่างทางที่เราได้กลับมานั้นเป็นสิ่งที่คุ้มค่าไม่น้อย 
 
เมืองโพนสะหวัน เมืองหลวงใหม่ของแขวงเชียงขวาง คือจุดตั้งต้นเพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวตามจุดต่างๆ ของนักท่องเที่ยวหลายท่าน เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกและเอื้อต่อการท่องเที่ยว ทั้งที่พัก ร้านอาหาร จุดแลกเปลี่ยนเงิน และบริษัทรับจัดทัวร์ นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อกับบริษัททัวร์เพื่อไปเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่อยู่ในเชียงขวางได้ ทั้งทุ่งไหหิน หมู่บ้านของชนเผ่า และแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ
 
นักท่องเที่ยวที่มาเชียงขวาง คงไม่มีใครอยากพลาดการไปเยือน “ทุ่งไหหิน” (Plain of Jars) สิ่งมหัศจรรย์และมรดกโบราณที่สร้างจากน้ำมือมนุษย์ ความเป็นมาของไหหินขนาดใหญ่หลายร้อยลูกที่กระจัดกระจายอยู่บนภูเขายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานหลักๆ 2 ข้อ คือ หนึ่งทำไว้เพื่อบรรจุศพคนตายในสมัยหลายพันปีมาแล้ว โดยตัดเจาะมาจากหินก้อนใหญ่ และนำไปไว้บนภูเขา ตามความเชื่อของคนในยุคนั้นที่สถานที่ฝังศพคนตายต้องรักษาไว้ในที่สูง เพื่อป้องกันการถูกเซาะและพังทลายจากน้ำ และสองอาจจะเป็นไหเหล้าของนักรบโบราณ ตามตำนานกล่าวไว้ว่าในช่างศตวรรษที่ 8 นักรบผู้กล้าหาญของลาวนามว่า “ท้าวเจือง” ได้ยกพลไปทำสงครามแล้วได้รับชัยชนะอยู่ที่เชียงขวาง หลังจากได้รับชัยชนะแล้ว จึงได้ทำการฉลองชัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 7 เดือน ไหหินที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นไหเหล้าสำหรับเลี้ยงไพร่พลของท้าวเจืองนั่นเอง ดังนั้นคนลาวจึงมักเรียกไหหินนี้ว่า “ไหเหล้าเจือง”
 
ช่วงสงครามอินโดจีนไหหินเหล่านี้โดนระเบิดของอเมริกาถล่มไปเป็นจำนวนมาก ร่องรอยของระเบิดยังมีให้เห็นชัดเจน บริเวณทุ่งไหหินเราจะเห็นหลุมขนาดใหญ่หลายหลุม เป็นหลุมที่เกิดจากการโดนทิ้งระเบิด บางหลุมใหญ่มากขนาดที่ว่าเห็นแล้วลองจินตนาการว่า พลังการทำลายล้างของระเบิดที่ทำให้เกิดหลุมใหญ่ขนาดนี้มันจะหนักหนาสาหัสเพียงใด
 
เนื่องจากยังมีพื้นที่อีกมากในลาวที่ยังไม่ได้เก็บกู้ระเบิดที่ทิ้งมาในช่วงสงคราม หรือที่เรียกว่า Unexploded Ordnance (UXO) รวมถึงพื้นที่ของเชียงขวางด้วย ดังนั้นข้อควรระวังในการเที่ยวชมทุ่งไหหินและพื้นที่อื่นๆ ในเชียงขวางคือ ไม่ควรเดินออกนอกเส้นทางที่กำหนด เพราะอาจไปเจอกับระเบิดที่พร้อมระเบิดได้ทุกเมื่อ
 
นอกจากทุ่งไหหินแล้ว การเยี่ยมชมวิถีท้องถิ่นและหมู่บ้านชาวม้งคืออีกหนึ่งเสน่ห์ของการมาเยือนเชียงขวาง หมู่บ้านทำช้อนคือหมู่บ้านหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทุ่งไหหิน ชาวบ้านที่นี่ใช้วัสดุจากซากระเบิดช่วงสงครามมาหลอมใหม่และผลิตเป็นช้อนวางขายเพื่อใช้งานและเป็นของที่ระลึกสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน หมู่บ้านต้มเหล้าที่ใช้วิธีการต้มเหล้าแบบดั้งเดิม ผลผลิตที่ได้เป็นเหล้าท้องถิ่นราคาไม่แพงแต่ดีกรีแรง เป็นที่นิยมของหนุ่มๆ ชาวลาว นอกเหนือจากเบียร์ลาวที่คนไทยคุ้นเคย หรือจะไปเยือนหมู่บ้านชาวม้งที่อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านใหญ่เป็นระเบียบ ที่นี่เราจะได้เห็นบ้านเรือนตามแบบฉบับของชาวม้ง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ถึงแม้ว่าวันนี้การแต่งกายของเขาจะเป็นชุดตามสมัยนิยมบ้างแล้วก็ตาม แต่ยังคงสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของวิถีดั้งเดิมที่มีอยู่ 
 
หลุมขนาดใหญ่ที่เกิดจากระเบิดช่วงสงครามยังคงมีให้เห็นอยู่ตลอดเส้นทาง บางหลุมอยู่กลางทุ่งนาของชาวบ้าน บางหลุมใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ ภูเขาบางช่วงโล่งเตียน ซึ่งเกิดจากแรงระเบิดและอาวุธเคมี บ้านเรือนบางหลังยังคงใช้รางระเบิดมาเป็นเสาบ้าน เป็นรางปลูกพืชผักสวนครัว เป็นที่นั่งเล่นหน้าบ้าน ลูกระเบิด เครื่องมือเครื่องใช้สมัยสงคราม ยังคงเป็นของประดับตกแต่งตามโรงแรม ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว
 
ร่องรอยความโหดร้ายยังมีให้เห็น บาดแผลจากสงครามอาจจะยังคงอยู่ แต่การแปรเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ และผสมผสานสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมๆ กับการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นใหม่ เป็นการเปลี่ยนสมรภูมิรบในอดีตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลก