วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > AEC > Indochina Vision > ทวาย: นัยความหมายทางยุทธศาสตร์

ทวาย: นัยความหมายทางยุทธศาสตร์

การเดินทางเยือนเมียนมาร์ ของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายใต้ภารกิจสำคัญว่าด้วยการเยี่ยมชมความคืบหน้าของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงและตั้งข้อสังเกตอย่างกว้างขวาง

 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประพฤติกรรมที่ทำให้หลายฝ่ายเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับความเหมาะสมและประเด็นว่าด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนที่พร้อมจะเป็นไปเพื่อสร้างความมั่งคั่งเฟื่องฟูให้กับเครือข่าย
 
สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ และควรตระหนักจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ในด้านหนึ่งอยู่ที่ความด้อยประสิทธิภาพในงานสารนิเทศ ที่ไม่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน หรือแม้แต่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลมีแนวทางและกำหนดบทบาทในเชิงยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ไว้อย่างไร
 
โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอาจเป็นโครงการที่มีความสืบเนื่องมาจากฐานรากที่บริษัทเอกชนไทย ได้รับสัมปทานในการพัฒนาพื้นที่ ก่อสร้าง และหาแหล่งทุน ที่มีลำดับขั้นและพัฒนาการมาตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี 2551 ก่อนที่จะมีการลงนามในข้อตกลงเรื่องสิทธิในการพัฒนาและดำเนินการบริหารโครงการทวายตามระยะเวลาการเช่าที่ดิน เป็นเวลามากกว่า 75 ปี ในช่วงปลายปี 2553
 
หากประเมินในมิติที่ว่านี้ โครงการดังกล่าวย่อมเป็นเพียงเรื่องราวความเป็นไประหว่างเอกชนไทยรายหนึ่ง ที่ได้เข้าไปเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลแห่งเมียนมาร์ โดยที่เอกชนรายที่ว่าก็คงอยู่ในตำแหน่งและบทบาท ไม่แตกต่างจาก “นายหน้าที่วิ่งเร่ขายโครงการ” ให้กับผู้ร่วมทุนหรือผู้ประกอบการรายอื่นๆ
 
ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ในห้วงที่พรรคประชาธิปัตย์ยังเรืองอำนาจในฐานะรัฐบาล ก็เคยวาดหวังจะให้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นจักรกลในการผลิตสร้างเมกะโปรเจกต์ โดยอลงกรณ์ พลบุตร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เคยประกาศบนเวทีปาฐกถาเรื่อง “GMS ในทศวรรษใหม่” ที่ จ. เชียงราย เมื่อต้นปี 2553 ว่า จะผลักดันท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นส่วนหนึ่งในอภิมหาโครงการเชื่อมตะวันออก-ตะวันตกที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้ความร่วมมือไทย-เมียนมาร์
 
แต่ความเป็นไปและคืบหน้าของโครงการพัฒนาดังกล่าวกลับขึ้นสู่กระแสสูงในช่วงกลางปี 2555 ที่ผ่านมาหลังจากที่กระทรวงการคลังไทย แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนไทยในการพัฒนาโครงการทวาย 
 
โดยคณะทำงานชุดดังกล่าวมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นประธานคณะทำงาน และมีคณะทำงานประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDB) ผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Thailand) และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ร่วมเป็นคณะทำงาน
 
ก่อนที่ในเวลาต่อมาเพียง 1 เดือนหลังจากมีการแต่งตั้งคณะทำงานชุดดังกล่าว จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding “MOU”) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาร์ ว่าด้วยการขยายความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการสนับสนุนและผลักดันโครงการทวาย ซึ่งมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการจากรัฐบาลพม่า โดยกำหนดกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐอย่างเป็นทางการ
 
ประเด็นดังกล่าวเป็นเหตุให้บทบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกตั้งคำถามถึงบทบาทของรัฐบาลไทยต่อโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอย่างต่อเนื่องว่าคืออย่างไรกันแน่ และจะมีการใช้จ่ายงบประมาณหรือเงินกู้ ซึ่งมีนัยความหมายรวมถึงการใช้เงินภาษีของประชาชนคนไทยไปโอบอุ้มหรือเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจ หรือไม่อย่างไร
 
แม้ว่าในความเป็นจริงทุกฝ่ายต่างตระหนักดีว่า โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย มิได้มีนัยความหมายจำกัดอยู่เฉพาะบริบทความเป็นไปในเมียนมาร์ หรือแม้แต่ประโยชน์ของเอกชนรายใดรายหนึ่งแต่เพียงลำพัง หากแต่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกำลังปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทั้งด้านการค้าการลงทุน อุตสาหกรรมและการคมนาคมทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจขยายไปสู่บริบทที่กว้างขวางกว่านั้นด้วย
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ด้วยระยะทาง 160 กิโลเมตรของเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวายกับด่านน้ำพุร้อน จังหวัดกาญจนบุรี จะมีสถานะเป็น land bridge เชื่อมโยงการค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกที่สั้นที่สุด
 
ยังไม่นับรวมเส้นทางที่จะเชื่อมท่าเรือทวาย-กาญจนบุรี-แหลมฉบัง ในลักษณะที่จะเป็นอภิมหาโครงการที่เชื่อมโยงตะวันตก-ตะวันออกของไทย รวมถึงการต่อเชื่อมเข้ากับ Southern Corridor ที่จะมีท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่อยู่ในแผนพัฒนาเข้ามารองรับโครงการนี้
 
ประเด็นสำคัญของการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงต้องตอบให้ได้อย่างชัดเจนว่าจะพึงใจที่จะเป็น “นายหน้า” หรือดำเนินไปในฐานะ “ผู้จัดการ” โครงการที่มีวิสัยทัศน์ในเชิงยุทธศาสตร์
 
เป็นการวางยุทธศาสตร์ที่ก้าวพ้นไปไกลกว่าการวางกรอบโครงของการพัฒนาที่ถูกจำกัดด้วยขอบเขตของ คำว่า ภายในประเทศ ไปสู่การกำหนดบทบาทและการพัฒนาในระดับภูมิภาค ซึ่งจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้สลัดทิ้งผลประโยชน์เฉพาะหน้าของพวกพ้อง ไปสู่การรังสรรค์และอำนวยประโยชน์เพื่อส่วนรวม และประเทศชาติอย่างแท้จริงแล้วเท่านั้น