วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > “ทศ จิราธิวัฒน์” ฮุบบิ๊กดีล บิ๊กแพลน Central Bangkok

“ทศ จิราธิวัฒน์” ฮุบบิ๊กดีล บิ๊กแพลน Central Bangkok

 
 
ทศ จิราธิวัฒน์ กำลังพยายามจะจบบิ๊กดีลประมูลที่ดินสถานทูตอังกฤษบริเวณถนนวิทยุ เนื้อที่กว่า 10,000 ตารางวา มูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยตารางวาละ 2-2.2 ล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้ฮุบที่ดินแปลงแรกมาแล้วด้วยราคา 900,000 บาทต่อ ตร.ว. โดยเตรียมโครงการมิกซ์ยูสที่ใช้เงินลงทุนมากที่สุดเชื่อมต่อกับศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ห้างเซ็นทรัลชิดลม ห้างเซน และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สร้างอาณาจักรธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่และขยายแนวรบตามแผน “Central Bangkok” อย่างแข็งแกร่ง 
 
ว่ากันว่า ทันทีที่สถานทูตอังกฤษเปิดประมูลทำเลทองผืนงาม มีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่สนใจเข้าร่วมประมูล ทั้งทีซีซีกรุ๊ปของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี กลุ่มคิงเพาเวอร์ และกลุ่มแสนสิริ 
 
แต่สำหรับ “เซ็นทรัล” การสร้างอาณาจักรค้าปลีกระดับ “World Destination” ภายใต้แนวคิด Central Bangkok ที่กลุ่มจิราธิวัฒน์พยายามปลุกปั้นมาตลอด 3 ปี ทำให้การช่วงชิงที่ดินแห่งนี้มีความหมายมากมาย เพราะเป็นจุดรวมทุกแฟลกชิปสโตร์ของห้างเซ็นทรัล เจาะทุกตลาด ทุกกลุ่มลูกค้าและทุกไลฟ์สไตล์ ตลอดแนวชอปปิ้งสตรีทตั้งแต่สี่แยกราชประสงค์จนถึงถนนเพลินจิต ที่สำคัญ โครงการมิกซ์ยูสจะเสริมทุกแฟลกชิปสโตร์ โดยเฉพาะเซ็นทรัลเอ็มบาสซี เพื่อขยายฐานรายได้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับพรีเมียม
 
ทั้งนี้ เมื่อปี 2559 ทศในฐานะประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเซ็นทรัล คาดการณ์รายได้รวมจะเติบโต 18.9% หรืออยู่ที่ประมาณ 337,040 ล้านบาท จากปี 2558 อยู่ที่ 283,450 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้มาจากในไทย 50% และต่างประเทศ 50% ซึ่งข้อมูลล่าสุด รายได้ปี 2559 มีแนวโน้มเติบโตเกินคาดอยู่ที่ 20% 
 
ด้านหนึ่ง ทศเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจท่องเที่ยวจากฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งถือเป็นรายได้ที่มีศักยภาพเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มตลาดคนไทย แม้กลุ่มกำลังซื้อสูงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้พุ่งสูง แต่มีเงื่อนไขเรื่องบรรยากาศการจับจ่ายและปัญหาทางการเมือง 
 
อีกด้านหนึ่ง ต้องวางแผนเชิงรุกรักษาตลาดในประเทศและเร่งขยายตลาดต่างประเทศท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก 
 
ความเคลื่อนไหวและการเตรียมพร้อมอย่างชัดเจนที่สุด คือการปรับโครงสร้างผู้บริหารระดับสูงครั้งใหญ่ในรอบ 70 ปี นับตั้งแต่ยุคสมัยสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ และยุคที่ 2 วันชัย จิราธิวัฒน์ เปลี่ยน “เซ็นทรัล” จากยุค “กงสี” สู่ยุคนักบริหารมืออาชีพ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดในอีก 10 ปีข้างหน้าและสร้างองค์กรแข็งแกร่งมากขึ้น 
 
ไม่ว่าจะเป็น ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย และกรรมการในคณะอนุกรรมการร่วม ไทย-เมียนมาร์ ฝ่ายไทย เข้ามานั่งตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโส รับผิดชอบด้านการประสานงานภาครัฐและธรรมาภิบาล 
 
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด: UNCTAD) อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและอดีต รมว.กระทรวงพาณิชย์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาอาวุโส รับผิดชอบธุรกิจต่างประเทศฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกา 
 
นายญนน์ โภคทรัพย์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ดำรงตำแหน่ง President of Central Group รับผิดชอบด้านลูกค้าและซัปพลายเออร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าอุปโภคบริโภคจากประสบการณ์การทำงานในบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย นายนิโคโล กาลันเต้ อดีต Managing Partner บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ McKinsey & Company รับตำแหน่ง Chief Operating Officer, Central Group รับผิดชอบธุรกิจด้านออนไลน์ และนายชนิตร ชาญชัยณรงค์ อดีตรองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งประธานสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา เข้ามานั่งเก้าอี้รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัล รับผิดชอบการบุกตลาด CLMV โดยเฉพาะ
 
ล่าสุด ดึงนายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ อดีตรองกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายงานธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย เจ้าของไอเดีย “ไลฟ์สไตล์ แบงกิ้ง” เข้ามาดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น รับผิดชอบส่วนงานฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด และ ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน รองรับการขยายธุรกิจศูนย์การของซีพีเอ็นทั้งในและต่างประเทศ
 
แน่นอนว่า ในขณะที่ทศขยายอาณาจักรสู่ต่างประเทศอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว บริเวณสี่แยกราชประสงค์ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด ซึ่งเปรียบเทียบแต่ละแฟลกชิปสโตร์ ทั้งห้างเซน เซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นทรัลชิดลม สามารถสร้างฐานลูกค้าอย่างแข็งแกร่ง จะมีเพียง “เซ็นทรัลเอ็มบาสซี” แม้ช่วงเวลากว่า 3 ปี ประสบความสำเร็จในฐานะห้างหรู แต่ยังต้องการแรงดึงดูดเพื่อเป็นเวิลด์เดสทิเนชั่นของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่เริ่มต้นคอนเซ็ปต์โครงการ
 
ก่อนหน้านี้มีความพยายามดึงศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ห้างเซน ห้างเซ็นทรัลชิดลม และเซ็นทรัลเอ็มบาสซี ใช้เม็ดเงินร่วมพันล้านบาทจัดบิ๊กแคมเปญ เพื่อตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางชอปปิ้งสตรีทที่ยาวที่สุดใจกลางกรุงเทพฯ และคิกออฟกลยุทธ์ “Big Four” สร้าง “Shopping District” ชนคู่แข่ง “เดอะมอลล์กรุ๊ป” ที่ปลุกปั้น “ดิ เอ็ม ดิสทริค (The EM District)” แต่ดูเหมือนว่า เซ็นทรัลจะสามารถขยายฐานลูกค้าได้เฉพาะกลุ่มระดับกลางและบน แต่กลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียมอย่างแท้จริงของเซ็นทรัลเอ็มบาสซียังไม่เข้าเป้านัก
 
ช่วงปีที่ผ่านมา ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ทุ่มทั้งเม็ดเงินจัดอีเวนต์ระดับโลกและพยายามปรับพื้นที่ไลฟ์สไตล์ต่างๆ อย่างล่าสุดขยายโซน Eathai เพิ่มพื้นที่อีก 1,000 ตร.ม. ปรับโฉมพื้นที่ชั้น 6 กว่า 7,000 ตร.ม. เติมร้านค้าและบริการไลฟ์สไตล์ใหม่ รวมทั้งเปิดโซนไลฟ์สไตล์ “แหล่งแฮงก์เอ้าท์ใหม่” ในพื้นที่อีก 1,000 ตร.ม. ซึ่งทั้งหมดจะรองรับกลุ่มลูกค้าต่างชาติ หลังเปิดตัวโรงแรม Park Hyatt Bangkok ระดับ 6 ดาว โดยคาดหวังว่า ยอดผู้เข้ามาใช้บริการจะเพิ่มขึ้นอีก 25% หรืออยู่ที่ประมาณ 30,000-40,000 คนต่อวัน จากเดิม 20,000 คนต่อวัน และนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 35-40% จากเดิมเป็นลูกค้าคนไทย 75% 
 
ทั้งหมดทำให้โครงการมิกซ์ยูสที่ว่ากันว่า ทศประกาศยอมทุ่มเม็ดเงินมากที่สุดกลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Central Bangkok ได้อย่างแท้จริงเสียที