วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
Home > Cover Story > สิงห์-ช้าง รุกหนักขยายแนวรบ “ฟู้ดรีเทล”

สิงห์-ช้าง รุกหนักขยายแนวรบ “ฟู้ดรีเทล”

2 ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเครื่องดื่ม “สิงห์-ช้าง” กำลังเร่งขยายแนวรบธุรกิจร้านอาหารอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะเกมการไล่ล่าซื้อกิจการ เพิ่มแบรนด์ในพอร์ต สร้างเครือข่ายอาณาจักรให้แข็งแกร่งที่สุด เพื่อช่วงชิงเม็ดเงินในตลาดที่มีมากกว่า 4 แสนล้านบาท

ที่สำคัญ ธุรกิจร้านอาหารกลายเป็นทั้งพระเอก ตัวชูโรงและจิ๊กซอว์เชื่อมโยงตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งเครื่องดื่ม อาหาร สแน็ก ซอส และยังหมายถึงแผนรุกเครือข่ายช่องทางสมัยใหม่ ตั้งแต่หน้าร้าน บริการเดลิเวอรี่ และแอปพลิเคชันสั่งอาหาร ถือเป็นบลูโอเชียนที่บรรดาคู่แข่งขันต้องรีบวางโครงสร้างธุรกิจครอบคลุม 360 องศา

เพราะหากใครทำได้เหนือกว่าย่อมหมายถึงโอกาสการต่อยอดเติบโตไม่รู้จบ

สำหรับค่ายสิงห์ หรือกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ภายใต้ธุรกิจ 6 เสาหลัก 1. ธุรกิจเบียร์ โซดา และน้ำดื่ม 2. ธุรกิจบรรจุภัณฑ์บางกอกกล๊าส 3. ธุรกิจระดับภูมิภาค (รีจินัล) ภายใต้กลุ่มสิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง 4. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยสิงห์เอสเตท 5. ธุรกิจซัปพลายเชน ภายใต้บุญรอดซัพพลายเชน และ 6. ธุรกิจอาหาร โดยฟู้ด แฟคเตอร์ ถือว่าอยู่ในช่วงเวลาปลุกปั้นธุรกิจอาหาร เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอาหารแบบครบวงจร จากต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ผ่าน 3 ส่วนหลัก

ประกอบด้วย 1. กลุ่มการผลิตและผลิตภัณฑ์ (Food Product & Production) 2. กลุ่มเครือข่ายธุรกิจอาหาร (Food Network) 3. กลุ่มร้านอาหาร (Food Retail) ซึ่งล่าสุดฟู้ด แฟคเตอร์ทุ่มเม็ดเงินกว่า 1,500 ล้านบาท เข้าร่วมลงทุนกับบริษัท เคที เรสทัวรองท์ (KT) โดยเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 88% ดึงแบรนด์ร้านสเต็กซานตา เฟ่ และร้านอาหารอีสาน “เหม็งนัวนัว” เข้ามาอยู่ในพอร์ตเพิ่มขึ้น

ปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ย้ำว่า การเข้าซื้อกิจการบริษัท เคที เรสทัวรองท์ เป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายด้านยอดขาย 4,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปีข้างหน้า เนื่องจาก เคที เรสทัวรองท์ มีรายได้เฉลี่ย 1,200 ล้านบาทต่อปี และร้านซานตา เฟ่ ทั้ง 117 สาขา ถือเป็นจิ๊กซอว์เสริมศักยภาพในกลุ่มร้านอาหาร (Food Retail) ประเภทร้านสเต็ก เติมเต็มธุรกิจร้านอาหารในพอร์ตโฟลิโอครอบคลุมยิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่มีแบรนด์ร้านอาหาร ได้แก่ ร้านฟาร์มดีไซน์ ร้านอาหารญี่ปุ่น คิตาโอจิ และเอส 33

นอกจากนี้ ซานตา เฟ่ และเหม็งนัวนัวจะกลายเป็นอีกช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าในกลุ่ม เช่น น้ำดื่ม เบียร์ ข้าวบรรจุถุงพันดี ขณะที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพัฒนาเมนูและผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะธุรกิจร้านอาหารสเต็กมีโอกาสเติบโตสูง เป็นกลุ่มอาหารที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนไทย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดยังมีร้านไม่มากนัก คู่แข่งรายใหญ่ๆ ในตลาดมีเพียง 2-3 ราย และยังมีโอกาสขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ เคทีเรสทัวรองท์ฯ ได้เริ่มนำร่องขยายสาขาในประเทศกัมพูชาแล้ว

ในอนาคต บริษัทยังวางแผนสร้างซัปพลายเชนธุรกิจอาหารให้ครบวงจร ศึกษาความเป็นไปได้ในการทำครัวกลาง เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิต การจัดตั้งศูนย์การกระจายสินค้า (Central Distribution) หลังจากธุรกิจมีมูลค่ามากเพียงพอ โดยร่วมกับกลุ่มเฮสโก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการผลิตอาหาร กลุ่ม Food Innovation Center ศูนย์วิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่ม Bevchain Logistics การบริหารจัดการและการกระจายสินค้าสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการสร้างแบรนด์สินค้าใหม่จับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อมากขึ้น

“หลังจากนี้ บริษัทวางเป้าหมายธุรกิจรีเทลหรือร้านอาหารในเครือของฟู้ด แฟคเตอร์ จะต้องมีจำนวนสาขาอยู่ที่ 50 สาขาภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า พร้อมกับมีแบรนด์ร้านอาหารใหม่ในเครือเกิดขึ้น ทั้งแบรนด์ที่พัฒนาเอง และแบรนด์ที่บริษัทร่วมทุนซื้อกิจการอย่างน้อยอีก 2-3 แบรนด์ในอีก 2 ปีข้างหน้า” ปิติกล่าว

ด้านค่าย “ช้าง” ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เพิ่งเปิดแถลงข่าวประจำปีเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยยืนยันแผนการดำเนินงาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย “วิสัยทัศน์ 2020” หลังจากช่วงปีงบประมาณ 2561 ( ต.ค 61-มิ.ย. 62) ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง ทั้งยอดขายและกำไร โดยระบุปัจจัยขับเคลื่อนหลักในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร คือ การขยายสาขาอย่างต่อเนื่องเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด ซึ่งปีที่ผ่านมาเปิดสาขาใหม่ทั้งสิ้น 59 สาขา การทำการตลาดและสร้างแบรนด์ การให้บริการลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลและรองรับตลาดเดลิเวอรี่

หากเจาะพอร์ตธุรกิจร้านอาหารของไทยเบฟเวอเรจแยกเป็นร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นในกลุ่มโออิชิ ได้แก่ โออิชิแกรนด์ โออิชิอีทเทอเรียม โออิชิบุฟเฟต์ โออิชิราเมน นิกุยะ ชาบูชิ คาคาชิ และโฮวยู โดยมีสาขารวมทุกแบรนด์ 266 สาขา

กลุ่มฟู้ดออฟเอเชีย ได้แก่ ร้านอาหาร So Asean Cafe & Restuarant ร้านกาแฟ So Asean Coffee ร้านอาหารบ้านสุริยาศัย ร้าน Hyde & Seek ร้านอาหารอีสาน “คาเฟ่ชิลลี่” ร้านอาหารไทย “ชิลลี่” ร้านเกาเหลาหม้อไฟ อีทพอท ร้านอาหารไทย 4 ภาค พอท มินิสทรี ร้านอาหารภาคใต้ “เสือใต้” ภัตตาคารจีนสไตล์กวางตุ้ง “Man Fu Yuan (หม่าน ฟู่ หยวน)” ฟู้ดคอร์ต ภายใต้แบรนด์ “Food Street” และร้านเบเกอรี่ “MX” มีสาขารวมทุกแบรนด์ 49 สาขา

กลุ่มฟาสต์ฟู้ด ไก่ทอด เคเอฟซี ซึ่งกลุ่มไทยเบฟเวอเรจทุ่มเงินมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทผ่านบริษัทลูก คือ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (QSA) ซื้อสาขาแฟรนไชส์จากบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และล่าสุดขยายสาขาไปถึง 305 แห่ง

นอกจากนี้ เครือทีซีซีกรุ๊ปของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ตั้งกิจการร่วมค้าชื่อ บริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ (ประเทศไทย) (CCT) เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด ยึดสาขา 384 แห่งในประเทศไทย และให้บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ในนามบริษัท บีเจซี เมก้า มาร์เก็ต (บีเจเอ็มเอ็ม) ซึ่งเป็นบริษัทลูก ปิดดีลซื้อกิจการธุรกิจกาแฟท้องถิ่น ‘วาวี’ ที่ปัจจุบันเปิดอยู่ 20 สาขา โดยมีแผนผุดเพิ่มก้าวกระโดดร่วมร้อยสาขาในปีหน้าและเพิ่มเป็น 1,000 สาขา ภายใน 3-5 ปี

แน่นอนว่า เกมในสงครามฟู้ดรีเทลของสองยักษ์ใหญ่ยังไม่จบและจะเพิ่มดีกรีความร้อนแรง โดยเฉพาะกลยุทธ์ไล่ล่าแบรนด์ร้านอาหารที่ดุเดือดมากขึ้นด้วย

ใส่ความเห็น