วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Life > ถึงเวลาอัพเกรดสมอง

ถึงเวลาอัพเกรดสมอง

 
Column: Well – Being
 
สมองเราก็เหมือนกล้ามเนื้อ เรายิ่งยืดเหยียดและใช้งานมากขึ้นเท่าไร สมองจะยิ่งแข็งแรงและทำงานได้ดีขึ้นเท่านั้น ดร.เจนนี บร็อคคิส ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และผู้เขียนหนังสือ Future Brain กล่าวว่า “สมองของเรามีความสามารถในการเปลี่ยนแปลง เราจึงอัพเกรดสมองได้เสมอ
 
เมื่อคุณดูแลซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ของรถยนต์คันโปรด คุณรู้ได้ทันทีว่ามันทำงานดีขึ้นมาก สมองของคุณก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน” ดร.บร็อคคิส แนะนำวิธีง่ายๆ ในการเสริมประสิทธิภาพการทำงานของสมองผ่านทางนิตยสาร GoodHealth ดังนี้
 
ไขมันเป็นของดีสำหรับคุณ
สมองมีส่วนประกอบของไขมันถึงร้อยละ 60 และจำเป็นต้องใช้โอเมกา–3 ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นในการรักษาสภาพความยืดหยุ่นของเซลล์สมอง 
 
ผลการศึกษาระบุว่า การขาดกรดไขมันโอเมกา–3 หมายถึงความจำและทักษะการแก้ปัญหาที่แย่ลง นอกจากนี้ การบริโภคไขมันคุณภาพเลว เช่น ไขมันในขนมเค้กและขนมปังกรอบต่างๆ ยังเป็นสาเหตุให้เซลล์สมองมีเนื้อเยื่อที่ขาดความยืดหยุ่น ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานด้อยลง
 
บริโภคอาหารที่เป็นแหล่งสำคัญของกรดไขมันโอเมกา–3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และน้ำมันมะกอก รวมทั้งเมล็ดแฟกซ์ วอลนัท และอโวคาโด
 
ใส่ปุ๋ยสมองด้วยการออกกำลังกาย
การออกกำลังกายทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น และเพิ่มการไหลเวียนของเลือดขึ้นไปยังสมอง นั่นคือ การนำออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงสมองมากขึ้น การออกกำลังกายยังช่วยให้สมองหลั่งสารกระตุ้นสมองที่เรียกว่า BDNF (brain–derived neurotrophic factor) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ปุ๋ย” บำรุงสมอง เพราะกระตุ้นให้สมองผลิตเซลล์ใหม่ๆ ขึ้นมา
 
แนะนำให้ออกกำลังกายประเภทใดก็ได้ที่ทำให้คุณเหนื่อยหรือหายใจเหนื่อยหอบ ตั้งเป้าออกกำลังกายให้ได้วันละ 30 นาทีรวมสัปดาห์ละ 5 ครั้ง
 
ดีท็อกซ์สมอง
เมื่อสมองทำงาน จะเกิดการสะสมของเสียขึ้น ขณะนอนหลับ ร่างกายสามารถกำจัดของเสียในสมองได้เร็วกว่าขณะตื่นนอนถึง 10 เท่า นอกจากนี้ ขณะนอนหลับสมองของคุณยังควบคุมข้อมูลและสร้างความจำระยะยาวขึ้น รวมทั้งลบหรือลืมข้อมูลใดๆ ก็ตามที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน
 
ตั้งเป้านอนหลับให้ได้คืนละ 7–8 ชั่วโมง ก่อนเข้านอนสองชั่วโมง ให้หลีกเลี่ยงการใช้สมาร์ทโฟน แลปทอป และแท็บเล็ต ที่ปล่อยแสงสีฟ้าออกมา
 
การเรียนรู้เป็นสิ่งจำเป็น
การจะคงไว้ซึ่งความสามารถของสมองในการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต ด้วยการสร้างส่วนเชื่อมต่อใหม่ๆ ระหว่างเซลล์ประสาทด้วยกัน คุณจำเป็นต้องทำให้สมองได้ยืดเหยียดด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่มีความแตกต่างและยาก เพื่อเพิ่มความสามารถในการเปลี่ยนแปลงของสมองนั่นเอง
 
ยืดเหยียดกล้ามเนื้อสมองด้วยการเรียนภาษาใหม่ เรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรี หรือเรียนรู้คำศัพท์ใหม่และความหมายของคำเหล่านั้นให้ได้วันละสามคำ
 
ไม่ทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน
การทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เป็นการลดประสิทธิภาพการทำงานและผลิตภาพของสมองลงถึงร้อยละ 40 ถ้าคุณทำสองสิ่งในเวลาเดียวกัน สมองทั้งสองซีกของเราจะถูกแยกความสนใจไปสู่งานทั้งสองนั้น ก่อให้เกิดภาพลวงตาว่า เรากำลังทำงานหลายอย่าง ทั้งๆ ที่เราเพียงแยกความสนใจอย่างละครึ่งไปสู่งานแต่ละอย่าง
 
แนะนำให้ทำงานเพียงอย่างเดียวในแต่ละช่วงเวลา เมื่อสมองไม่ถูกแบ่งความสนใจออกไป ก็จะสามารถทำงานได้ดี
 
มีจิตใจที่เปิดกว้าง
การทำงานด้วยทัศนคติที่ว่าฉันทำได้ เป็นการช่วยเสริมความกระฉับกระเฉงให้สมอง ถ้าคุณมีความคิดที่ตายตัว คุณย่อมไม่พยายามลองทำสิ่งใหม่ๆ เพราะกลัวความล้มเหลว ในทางตรงข้าม หากมีทัศนคติที่เชื่อว่า เมื่อคุณทุ่มเทความพยายามลงไป คุณจะอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้นและประสบความสำเร็จ
 
พึงระวังเวลาที่เกิดความคิดว่า “ฉันทำไม่ได้” ขึ้น เพราะการฝึกสร้างทัศนคติว่า “ฉันทำได้” จะช่วยคงไว้ซึ่งความสามารถในการเปลี่ยนแปลงของสมอง เพื่อคุณจะได้สามารถประมวลผลข้อมูลใหม่ๆ ได้ต่อไป
 
อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง
เราพยายามคิดหาวิธีทำในสิ่งที่เรารู้สึกคุ้นเคยอยู่ตลอดเวลา สมองจึงมองว่าการเปลี่ยนแปลงคือการคุกคาม และต้องทำงานอย่างหนักเพื่อชั่งน้ำหนักถึงผลดีและผลเสียของสถานการณ์นั้นๆ
 
ให้คิดหาเหตุผลมารองรับว่า ทำไมการเปลี่ยนแปลงจึงมีประโยชน์ มันจะก่อให้เกิดความรู้สึกเกี่ยวกับความสำเร็จและความเชื่อมั่น ทำให้สมองเกิดความยืดหยุ่น เพื่อว่าคุณจะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น
 
ฝันกลางวันมีเป้าหมายพิเศษ
คุณได้แนวคิดที่ดีที่สุดจากไหน ตอนตื่นนอนอยู่ใช่ไหม หรือระหว่างกำลังออกกำลังกาย การเกิดความคิดสร้างสรรค์สามารถสร้างขึ้นได้เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
 
ปล่อยให้จิตใจคุณได้ล่องลอยไปบ้าง บางครั้งความคิดที่ดีที่สุดมาจากการที่เรายอมให้สมองเข้าถึงจิตใต้สำนึก และสร้างความเชื่อมต่อขึ้นระหว่างธนาคารความจำของเรากับสิ่งใหม่ๆ
 
บางทีความเครียดก็มีประโยชน์
ความเครียดในทางบวกช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของสมองได้ ด้วยการทำให้เราตื่นตัวอยู่เสมอ “eustress” คือคำที่ใช้เรียกความเครียดในชีวิตประจำวันที่ทำให้เราดำเนินชีวิตต่อไป และทำให้เราเฝ้าคอยความท้าทายต่างๆ ที่ต้องเผชิญ
 
พึงรับรู้ด้วยว่า ความเครียดบางอย่างช่วยให้สมองของคุณตื่นตัวและกระฉับกระเฉงได้ ความเครียดเชิงบวกคือความรู้สึกหวิวๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการคาดหวัง ความตื่นเต้น และความฉงนจากการเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ๆ
 
มิตรภาพช่วยปกป้องสมอง
สมองของคนที่โดดเดี่ยว ต้องทำหน้าที่เหมือนหน่วยรักษาความปลอดภัยตลอดกาล เพราะต้องตื่นตัวมากเป็นพิเศษต่อการคุกคามต่างๆ ที่มาจากโลกภายนอก จัดเป็นผลกระทบเชิงลบต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมอง 
 
แต่การมีเพื่อนช่วยเสริมพลังสมองได้ เพราะช่วยให้สมองหลั่งสารเคมีที่เรียกว่าออกซิโทซิน เพื่อช่วยลดความกระวนกระวาย
 
พึงทะนุถนอมสายสัมพันธ์กับผู้อื่น และอย่าดูแคลนความสำคัญของการกระทำที่แสนจะธรรมดา เช่น การสวมกอด หรือการแตะแขนกัน