วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
Home > Cover Story > ตลาดรถยนต์ EV ไทยแข่งสนุก AION บุกไทยชูคุณภาพเหนือกว่า

ตลาดรถยนต์ EV ไทยแข่งสนุก AION บุกไทยชูคุณภาพเหนือกว่า

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยความร้อนแรงในการแข่งขัน แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทยจะยังคงอ่อนไหว อีกทั้งยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากลับเต็มไปด้วยสีสันเมื่อมีหลายค่ายเริ่มเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่และประกาศสร้างฐานการผลิตในประเทศไทย

ล่าสุด AION แบรนด์รถไฟฟ้า Top3 ประกาศเปิดเกมรุกในไทย ก่อนจะสยายปีกสู่ตลาดใหญ่ในอาเซียน โดย นายโอเชี่ยน หม่า (Ocean Ma) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผนึกกำลังกับอีก 7 พันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ชั้นนำจาก 4 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ Gold Integrate (ประเทศไทย), AIONIC (ประเทศไทย), V Group AI (ประเทศไทย), Harmony Auto (ประเทศไทย), 99 เมียนมา (เมียนมา), Harmony Auto (เวียดนาม), EV HUB PRE LTD (สิงคโปร์) เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่จะบุกตลาดไทย

“ปริมาณการขายของ AION ติดอันดับ Top3 ของโลกในกลุ่มตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกลยุทธ์การพัฒนาและการเติบโตในต่างประเทศของแบรนด์ ซึ่ง AION ไม่เพียงเลือกประเทศไทยเป็นประเทศแรกในการรุกตลาดระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังมีแผนการสร้างสำนักงานใหญ่ของ AION ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เมืองไทยเป็นแห่งแรกอีกด้วย เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนการดำเนินการงานหลักในตลาดนี้ และจะยังคงขยายฐานการดำเนินงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นๆ ต่อไปในอนาคต ภารกิจของ AION คือการนำเสนอผลิตภัณฑ์พลังงานทางเลือกใหม่ระดับไฮเอนด์บนมาตรฐานระดับโลกสู่ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่งเสริมไลฟ์สไตล์ที่ขับเคลื่อนด้วยยานยนต์พลังงานใหญ่อันชาญฉลาดแก่ผู้บริโภค” โอเชี่ยน หม่า กล่าว

AION ยังเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น AION Y Plus ที่พร้อมจำหน่ายในประเทศไทยรุ่นแรก ชูจุดเด่นที่คุณภาพเหนือกว่าด้วยรูปลักษณ์ที่หรูหรา อายุแบตแตอรี่ที่ยาวนานพร้อมประสิทธิภาพการขับขี่ขั้นสูง

นอกจากการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าค่าย AION Automobile แล้วยังมีบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและระบบขับขี่อัจฉริยะ และเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของจีน ที่เข้ามาลงทุนตามคำเชิญของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ

ซึ่งฉางอันจดทะเบียนพาณิชย์ในไทยถึง 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ฉางอัน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด ประกอบกิจการผลิต นำเข้า ส่งออก ออกแบบ ประกอบ วิจัยและพัฒนาจัดซื้อ จัดจำหน่าย ให้เช่ารถยนต์ เครื่องจักร เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ภายใต้ทุนจดทะเบียนสูงกว่า 4 พันล้านบาท

บริษัท ฉางอัน ออโต้ คอมโพเน้นท์ส (ประเทศไทย)จำกัด ประกอบกิจการจัดซื้อ จัดจำหน่าย ให้เช่า ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ตกแต่ง แม่พิมพ์ เครื่องมืออุปกรณ์ยึดจับ เครื่องมือในการผลิตและประกอบสินค้า และอุปกรณ์ต่อพ่วง ผ่านทางระบบออนไลน์และร้านค้า ทุนจดทะเบียน 36 ล้านบาท

และบริษัท ฉางอัน ออโต้ เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด นำเข้า ส่งออก ออกแบบ วิจัยและพัฒนาจัดซื้อ จัดจำหน่าย ให้เช่ารถยนต์ อะไหล่รถยนต์เครื่องจักร เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ แบตเตอรี่ อุปกรณ์วิทยุโทรคมนาคม อุปกรณ์ตกแต่ง แม่พิมพ์ เครื่องมืออุปกรณ์ยึดจับ เครื่องมือในการผลิตและประกอบสินค้า และอุปกรณ์ต่อพ่วง วัสดุสังเคราะห์รวมทั้งอะไหล่และอุปกรณ์ของสินค้าข้างต้น ผ่านทางระบบออนไลน์และร้านค้า ทุนจดทะเบียน 270 ล้านบาท

ฉางอันจะดำเนินการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาในไทย โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตระยะแรกที่ 100,000 คันต่อปี และจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 200,000 คันต่อปีในระยะสอง คาดว่าจะพร้อมจำหน่ายภายในสิ้นปีนี้ ฉางอัน ออโตโมบิล มีสำนักงานใหญ่และฐานการผลิตหลักอยู่ที่มหานครฉงชิ่ง และมียอดขายกว่า 2 ล้านคันในปีที่ผ่านมา

ขณะที่มีรายงานที่น่าสนใจจากสำนักข่าว Bloomberg เกี่ยวกับสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 23 ประเทศ รวมประเทศไทยว่า ล่าสุดมีสัดส่วนมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ โดยประเทศที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเกิน 5 เปอร์เซ็นต์นั้น เช่น นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ จีน ไอร์แลนด์ โปรตุเกส เยอรมนี เบลเยียม นิวซีแลนด์ หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา

การวิเคราะห์ของ Bloomberg ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็วนั้น กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งไทย ซึ่งปี 2022 ที่ผ่านมามี 19 ประเทศที่มีสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเกิน 5% ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวถือว่ารถยนต์ไฟฟ้ากำลังจะถูกยอมรับในวงกว้างหลังจากนี้

สัดส่วนการใช้งานสินค้าหรือบริการแต่ละอย่างให้ได้ 5% ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย Bloomberg ยกตัวอย่างการใช้งานเตาไมโครเวฟที่ต้องใช้ระยะเวลานานถึง 20 ปีเพื่อเข้าถึง 1 ใน 10 ครัวเรือนในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในที่สุด แต่เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าถือว่าใช้เวลาสั้นกว่า

ในกรณีของรถยนต์ไฟฟ้า Bloomberg มองว่า 5% นั้นเปรียบเหมือนเป็นจุดเปลี่ยน โดยระยะเวลาที่ใช้ในการไปถึงระะดับ 5% นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งความท้าทายในหลายประเทศที่พบเหมือนกันคือ เรื่องราคารถยนต์ ความพร้อมใช้งานของที่ชาร์จ เมื่อปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไข คนจำนวนมากก็จะแห่ตามมาใช้ในไม่ช้า

กรณีของประเทศไทยนั้น จุดเปลี่ยน 5% นั้นเกิดขึ้นในไตรมาส 1 ของปีนี้ ปัจจุบันอัตราส่วนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 8.1% โดยการเข้าถึงจุดเปลี่ยนของรถยนต์ไฟฟ้าที่ 5% ประเทศแรกคือ นอร์เวย์ ในไตรมาส 3 ของปี 2013 ปัจจุบันประเทศดังกล่าวมีอัตราผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 82.1% แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีประเทศอินเดีย ที่ถือเป็นตลาดสำคัญอีกแห่งในโลก ปัจจุบันมีสัดส่วนผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าถึง 3% ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยอินเดียถือป็นอีกประเทศที่น่าจับตามองการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหลังจากนี้ และผู้ผลิตหลายรายพยายามที่จะเจาะตลาดนี้เช่นกัน

และถ้าหากหลายประเทศก้าวข้ามผ่านตัวเลขที่ 5% ไปได้แล้ว ในช่วงทศวรรษนี้อาจเป็นยุคทองของรถยนต์ไฟฟ้าก็มีความเป็นไปได้สูงมาก

ไม่ใช่แค่ตลาดผู้ใช้งานเท่านั้น ในรายงานของ Bloomberg ยังชี้ว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์มีจุดเปลี่ยนสำคัญเช่นกัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 10% ของยอดขายรวม ถ้าหากผู้ผลิตรถยนต์มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10% ก็จะเป็นจุดที่เริ่มมองหากำไรจากการผลิตได้แล้ว ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ก็จะต้องผลิตให้ได้จำนวนมากพอเพื่อที่ต้นทุนต่อหน่วยจะได้ลดลง เหมือนกรณีของ Tesla ในปี 2017 ที่ต้องเร่งการผลิตให้ได้จำนวนมาก

ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาทำการตลาดในไทยต่างทยอยเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงผู้บริโภคที่ตัดสินใจหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเมื่อค่าใช้จ่ายสำหรับรถยนต์สันดาปแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากการพัฒนาระบบการชาร์จรวมถึงปริมาณจุดชาร์จไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต จำนวนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยน่าจะมีจำนวนมากขึ้นภายในไม่กี่ปีข้างหน้า.