วันพุธ, พฤษภาคม 1, 2024
Home > New&Trend > เคทีซี x แอนท์ กรุ๊ป เปิดตัว ‘อาลีเพย์พลัส’ ยกระดับร้านค้าไทยรับชำระเงินข้ามชาติ

เคทีซี x แอนท์ กรุ๊ป เปิดตัว ‘อาลีเพย์พลัส’ ยกระดับร้านค้าไทยรับชำระเงินข้ามชาติ

เคทีซี x แอนท์ กรุ๊ป เปิดตัว ‘อาลีเพย์พลัส’ ยกระดับร้านค้าไทยรับชำระเงินข้ามชาติ รองรับนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้และฮ่องกง

“เคทีซี” ต่อยอดบริการรับชำระเงิน จับมือกับ “แอนท์ กรุ๊ป” เจ้าของและผู้ให้บริการอาลีเพย์ (Alipay) เปิดตัว ‘อาลีเพย์พลัส’ (Alipay+) นวัตกรรมการชำระเงินดิจิทัลระหว่างประเทศบนระบบรับชำระเงินของเคทีซี เพื่อต่อยอดธุรกิจร้านค้าในไทย รองรับการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวเอเชียที่เดินทางมาประเทศไทย ผ่าน 3 พันธมิตรโมบายล์วอลเล็ตใหม่ ได้แก่ อาลีเพย์ ฮ่องกง (AlipayHK) / ทัชแอนด์โก (Touch ‘n Go) และคาเคาเพย์ (KakaoPay) ตั้งเป้าธุรกิจร้านค้ารับชำระของเคทีซีปีนี้โต 20% แตะ 100,000 ล้านบาท

เนาวรัตน์ กีรติเกษมสุข ผู้บริหารสูงสุด สายงานบริหารร้านค้าสมาชิก “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เคทีซีได้ทำงานร่วมกับทางแอนท์ กรุ๊ป หนึ่งในผู้นำแพลตฟอร์มชำระเงินดิจิทัลระดับโลก อีกทั้งยังเป็นเจ้าของและผู้ให้บริการอาลีเพย์ (Alipay) มาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อพัฒนาบริการรับชำระเงินให้หลากหลายและตอบโจทย์ผู้ใช้บริการให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยระยะแรกเริ่มต้นด้วยบริการรับชำระเงินด้วยอาลีเพย์ (Alipay) แพลตฟอร์มรับชำระเงินสุดฮิตของจีน

และเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากปีที่แล้ว ทางเคทีซีจึงได้พัฒนาความร่วมมือกับทางแอนท์ กรุ๊ป เพิ่มไปอีกขั้น ด้วยการเปิดตัวบริการรับชำระเงินด้วย “อาลีเพย์พลัส (Alipay+)” นวัตกรรมล่าสุดบนระบบการชำระเงินให้กับร้านค้าของเคทีซี เพื่อรองรับการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวเอเชียที่เดินทางมาประเทศไทย และเป็นการต่อยอดธุรกิจร้านค้าในไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น

ซึ่งการร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ร้านค้าสมาชิกเคทีซีสามารถรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยคิวอาร์โค้ดของโมบายล์วอลเล็ตที่อยู่ใน Ecosystem ของอาลีเพย์พลัส อย่าง Alipay (สำหรับชาวจีน) ที่เปิดตัวในไทยตั้งแต่ปี 2558 และล่าสุดกับโมบายล์วอลเล็ตใหม่อีก 3 ราย ได้แก่ AlipayHK (เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน), KakaoPay (เกาหลีใต้) และ Touch ‘n Go eWallet (มาเลเซีย) โดยทั้ง 4 โมบายล์วอลเล็ต ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเดินทางมาประเทศไทยมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ นักท่องเที่ยวมาเลเซีย จีน เกาหลีใต้และฮ่องกง รวม 2.9 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยทั้งหมด 8.6 ล้านคน ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-เมษายน 2566 ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

“ผู้ประกอบการร้านค้าเคทีซีสามารถเชื่อมต่อระบบเพียงครั้งเดียวก็สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียได้มากถึง 1 พันล้านคน อีกทั้งยังสะดวกและรวดเร็วกว่าการเชื่อมต่อกับโมบายล์วอลเล็ตของแต่ละประเทศแบบหนึ่งต่อหนึ่ง หากลูกค้ามีโมบายล์วอลเล็ตในระบบนิเวศน์ของอาลีเพย์พลัส เมื่อเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจะสามารถใช้โมบายล์วอลเล็ตของประเทศตัวเองชำระเงินกับร้านค้าเคทีซีในไทยได้ทันที” เนาวรัตน์เปิดเผย

ไม่เพียงเท่านั้น ความร่วมมือครั้งนี้ยังได้ 2 พันธมิตรยักษ์ใหญ่อย่างเดอะมอลล์ กรุ๊ป และ คิง เพาเวอร์ ผู้นำด้านธุรกิจรีเทลและค้าปลีกสินค้าปลอดอากร เข้ามาเสริมความแกร่งอีกด้วย ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม ถือเป็นหมุดหมายหลักในการช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวชาวจีนอีกด้วย โดยเนาวรัตน์เสริมว่า ร้านค้าสมาชิกเคทีซีที่รับชำระด้วยอาลีเพย์พลัสจะได้รับสิทธิประโยชน์ร่วมรายการส่งเสริมการขาย “Alipay+ Scan for offer” โดยลูกค้าโมบายล์วอลเล็ตของอาลีเพย์พลัสจะได้รับโปรโมชันต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายให้กับร้านค้าเช่นกัน

เนาวรัตน์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงเดือน 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม 2566) ธุรกิจร้านค้ารับชำระด้วยบัตรเครดิต และวอลเล็ตอาลีเพย์ของเคทีซี มีปริมาณรับชำระเพิ่มขึ้น 27% คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ตามแนวโน้มเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และคาดสิ้นปี 2566 ปริมาณยอดรับชำระด้วยบัตรเครดิต / วอลเล็ตอาลีเพย์และอาลีเพย์พลัสของเคทีซีจะเติบโตได้ 20% แตะ 100,000 ล้านบาทตามเป้าหมาย โดยจะมุ่งขยายฐานร้านค้าทั้งการรับชำระด้วยบัตรเครดิต อาลีเพย์ และอาลีเพย์พลัส เพื่อตอบโจทย์การรับชำระข้ามประเทศให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่เป้าหมายของนักท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ พัทยา ชลบุรี ภูเก็ตและหาดใหญ่ เป็นต้น

ปัจจุบันเคทีซีมีร้านค้าที่เป็นพันธมิตรอยู่ทั้งสิ้น 50,000 ร้านค้า โดยเป็นร้านค้าที่รับการชำระด้วย Alipay 10,000 ร้านค้า เป้าหมายต่อไปคือการขยายฐานร้านค้าสมาชิกที่รองรับการชำระเงินด้วย Alipay ให้ครบ 50,000 ร้านค้าในระยะสั้น และขยายเป็น 100,000 ร้านค้าภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อสร้าง Ecosystem ที่แข็งแรงต่อไป

ด้านสิทธิพงษ์ กิตติประภาพงศ์ ผู้จัดการทั่วไป ด้าน Global Merchant Partnership ประจำประเทศไทย บริษัท แอนท์กรุ๊ป เสริมว่า อาลีเพย์พลัส เป็นชุดบริการชำระเงินดิจิทัลและโซลูชันการตลาดระหว่างประเทศที่ออกแบบมาเพื่อเปิดโอกาสให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจเอสเอ็มอีในการดำเนินการชำระเงินผ่านมือถือได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงผู้บริโภคระดับภูมิภาค และระดับโลกได้กว่า 1,000 ล้านราย ผ่านการทำงานที่ง่ายและเสร็จสิ้นภายในครั้งเดียว (one-time integration) อีกทั้งยังมีโซลูชันการตลาดอื่นๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการร้านค้าสามารถเข้าถึง และมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคตั้งแต่ก่อนเดินทางตลอดจนสิ้นสุดการเดินทาง โดยนักท่องเที่ยวสามารถชำระเงินด้วยโมบายล์วอลเล็ตที่คุ้นเคยในประเทศตนเอง พร้อมอัตราแลกเปลี่ยนที่แข่งขันได้

“เราได้ร่วมมือกับเคทีซีอย่างต่อเนื่อง และเสริมความแกร่งของการเป็นพันธมิตรในครั้งนี้โดยการนำเอาอาลีเพย์พลัส เข้าไปใช้กับเครือข่ายร้านค้าของเคทีซี และสนับสนุนการใช้งานดิจิทัลของธุรกิจไทย นักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตอนนี้สามารถเพลิดเพลินกับการช้อปปิ้งและวิธีการชำระเงินที่ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ คิง เพาเวอร์ และห้างสรรพสินค้าในเครือเดอะมอลล์กรุ๊ป ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรของเราในประเทศไทย เราจะยังช่วยให้ธุรกิจท้องถิ่นในประเทศเชื่อมต่อกับนักท่องเที่ยวนานาชาติ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ และพัฒนาประสบการณ์ท่องเที่ยวให้ดีขึ้น และที่สำคัญจุดแข็งของอาลีเพย์พลัสคือลูกค้าสามารถเห็นอัตราแลกเปลี่ยน ณ ขณะนั้นได้เลย” สิทธิพงษ์กล่าว และเสริมว่า

ภายในปีนี้ ทางแอนท์ กรุ๊ป จะนำเข้าโมบายล์วอลเล็ตของประเทศในเอเชียเพิ่มอีกราวๆ 10 ราย เช่นของฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการขอใบอนุญาต ซึ่งถ้าสำเร็จ แผนการสร้าง Ecosystem ให้กับระบบชำระเงินข้ามชาติก็น่าจะแข็งแกร่งขึ้นไปอีกขั้นด้วยเช่นกัน