วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Life > ร่างกายประท้วงอะไรบ้างเมื่อคุณกินมากไป

ร่างกายประท้วงอะไรบ้างเมื่อคุณกินมากไป

 
Column: Well – Being
 
เราทุกคนล้วนผ่านประสบการณ์นี้มาแล้ว คือปล่อยให้ความเย้ายวนของอาหารเข้าครอบงำจิตใจ จนเผลอกินมากเกินไป จึงรู้สึกไม่สบายตัวหลังจากนั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายบ้าง เมื่อคุณเผลอกินมากเกินไป
 
นิตยสาร GoodHealth ไขข้อข้องใจดังนี้
 
คุณรู้สึกอิ่มมากและไม่สบายตัว
เพราะก่อนกินอาหาร กระเพาะอาหารของคุณมีขนาดเท่ากำปั้นขนาดใหญ่โดยประมาณ เมื่อกินอาหารเข้าไป ตัวรับความรู้สึกที่รับรู้การเหยียด (stretch receptors) ในผนังกระเพาะอาหารถูกกระตุ้น จึงส่งสัญญาณไปยังสมอง เพื่อบอกว่าคุณอิ่มแล้ว “กลไกนี้เริ่มทำงานเมื่อคุณกินอาหารปริมาณเทียบเท่าหนึ่งลิตร แต่กระเพาะอาหารสามารถขยายตัวเพื่อรับอาหารได้มากถึงสี่ลิตร” ดร. เคน หว่อง ศัลยแพทย์การผ่าตัดรักษาโรคอ้วนอธิบาย ซึ่งเท่ากับอาหาร 16 ถ้วยโดยประมาณ
 
ดร. หว่องแนะนำว่า “การลุกขึ้นและเดินไปมา หรือลองกินน้ำมันเปปเปอร์มินต์ชนิดแคปซูล จะช่วยลดความรู้สึกอึดอัดจากความอิ่มมากได้”
 
คุณรู้สึกแสบร้อนกลางอกหรือลำคอ
ปกติแล้วน้ำย่อยในกระเพาะอาหารจะอยู่ในที่ในทาง ไม่ไหลย้อนออกมา เพราะมีวาล์วคอยกั้นเอาไว้ แต่เวลาที่กระเพาะอาหารมีอาหารเต็มมาก ทำให้เกิดแรงดันที่สามารถทำให้วาล์วนี้เปิดออก น้ำย่อยจึงไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหาร ก่อให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก
 
วิธีแก้ไขคือ ให้เคี้ยวหมากฝรั่ง เพราะน้ำลายมีฤทธิ์เป็นด่าง เมื่อไปรวมตัวกับน้ำย่อยที่ไหลย้อนขึ้นมาซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด จึงช่วยให้เกิดภาวะเป็นกลางขึ้น ผลการศึกษาโดยโรงพยาบาลเซนต์โธมัสแห่งสหราชอาณาจักรกล่าวว่า หลังกินอาหารอิ่ม หากเคี้ยวหมากฝรั่งปลอดน้ำตาลนาน 30 นาที จะช่วยลดอาการแสบร้อนกลางอกลงได้มาก และการอยู่ในท่าที่ลำตัวตั้งตรงก็มีส่วนช่วยด้วยเช่นกัน เพราะถ้าคุณนอนลง โอกาสที่วาล์วจะเปิดออกก็มีมากขึ้น
 
คุณจะเลิกรู้สึกอยากอาหาร
ขณะกินอาหาร ร่างกายหลั่งฮอร์โมน PYY ซึ่ง อมีเลีย ฮาร์เรย์ นักกำหนดอาหารของโครงการ LiveLighter แห่งมูลนิธิหัวใจอธิบายว่า
 
“เซลล์ในระบบทางเดินอาหารทำหน้าที่หลั่งฮอร์โมน PYY ออกมา เพื่อตอบสนองต่ออาหารที่กินเข้าไป จัดเป็นหนึ่งในกลไกของร่างกายที่พยายามควบคุมปริมาณของพลังงานที่คุณบริโภค และทำงานโดยส่งสัญญาณไปยังสมอง เพื่อลดความรู้สึกอยากอาหาร”
 
เมื่อกลไกนี้ทำงาน คุณจะรู้สึกว่าไม่มีอาหารจานใดมีรสชาติอร่อยเท่าอาหารที่กินในช่วงแรก คุณจึงต้องเอาใจใส่กับความรู้สึกไม่อยากอาหาร ที่เกิดขึ้นทั้งขณะกินอาหารและหลังจากนั้นอีกสองสามชั่วโมง ซึ่งช่วยให้คุณควบคุมปริมาณอาหารที่กินได้ ฮาร์เรย์ยังแนะนำว่า “อย่าให้มีสิ่งรบกวนขณะกินอาหาร เพราะจะช่วยให้คุณรับรู้ความรู้สึกอิ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า”
 
คุณรู้สึกง่วงนอน
เมื่อร่างกายเริ่มย่อยอาหาร กลไกการควบคุมจะเปลี่ยนมาอยู่ที่ระบบประสาทอัตโนมัติที่เรียกว่า ภาวะร่างกายพักหลังรับประทานอาหาร เพราะมันทำให้เราสงบลง
 
ฮาร์เรย์กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้คุณรู้สึกง่วงซึมหลังกินอาหาร”
 
เหนือสิ่งอื่นใดคือ ร่างกายคุณหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน เพื่อทำหน้าที่ลำเลียงน้ำตาลกลูโคสที่ได้จากอาหารไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ ที่ซึ่งต้องใช้น้ำตาลเพื่อสร้างพลังงาน หรือเก็บไว้ในรูปของไขมัน ในกรณีที่ไม่ได้นำไปใช้ หลังจากร่างกายนำน้ำตาลไปใช้แล้ว จะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ทำให้รู้สึกง่วงนอนได้เช่นกัน
 
คุณไม่สามารถหยุดกลไกการตอบสนองต่อการกินอาหารได้ก็จริง แต่สามารถปรับอาหารได้เล็กน้อย เพื่อลดผลที่เกิดจากฮอร์โมนอินซูลิน
 
ฮาร์เรย์อธิบายว่า “ปริมาณอินซูลินที่ร่างกายสร้าง ขึ้นอยู่กับปริมาณและส่วนประกอบของอาหาร ยิ่งเป็นอาหารมื้อใหญ่ขึ้น หรือมีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตมากขึ้น ร่างกายก็ยิ่งผลิตอินซูลินมากขึ้น และทำให้คุณรู้สึกอ่อนเพลียขึ้นด้วย ให้หันมาเพิ่มโปรตีนและผัก โดยลดคาร์โบไฮเดรตลง จะทำให้คุณรู้สึกง่วงซึมน้อยลงได้”
 
หัวใจคุณเต้นเร็วขึ้นและอาจเจ็บหน้าอก
อาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์อย่างหนึ่งของการกินมากเกินไป คืออาจทำให้ปัญหาโรคหัวใจที่ซ่อนเร้นอยู่รุนแรงขึ้นได้ ซึ่งส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับการที่ร่างกายสร้างอินซูลินเพิ่มขึ้น แล้วทำให้คุณรู้สึกง่วงนอน เพราะขณะที่ร่างกายหลั่งอินซูลินมากขึ้น ก็หลั่งฮอร์โมนนอร์อะดรีนาลีนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
 
นอร์อะดรีนาลีนมีผลในการกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดเลือดแดงเล็กที่ไปเลี้ยงอวัยวะภายในต่าง ๆ ให้บีบตัว ทำให้ความดันเลือดสูง หัวใจเต้นเร็วขึ้น “หลอดเลือดหดตัว และมีเลือดไหลไปเลี้ยงบริเวณช่องท้องโดยตรง เพราะระบบย่อยอาหารกำลังทำงาน ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจน้อยลง” ศาสตราจารย์พอล มิดเดิลตัน แห่งสถาบันเทคฮาร์ทออสเตรเลียกล่าว
 
ในกรณีที่คุณมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอยู่แล้ว ภาวะนี้อาจทำให้เกิดอาการปวดเค้นหัวใจจากหัวใจหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และในกรณีร้ายแรงที่สุดคือ กระตุ้นให้เกิดอาการหัวใจวายได้
 
ถ้าคุณกินมากเกินไป และเกิดอาการเจ็บหน้าอกที่ร้าวไปถึงหัวไหล่หรือขากรรไกร ให้ไปโรงพยาบาลด่วนที่สุด ศาสตราจารย์มิดเดิลตันสรุปว่า “มันอาจเป็นปัญหาจากการย่อยไม่สมบูรณ์เพราะกินมากเกินไป ซึ่งหากวินิจฉัยพบในห้องฉุกเฉินว่า สาเหตุมาจากปัญหานี้ แล้วถูกส่งตัวกลับบ้าน นั่นย่อมดีกว่าการไม่ยอมไปพบแพทย์ และละเลยปัญหาหัวใจวายอย่างแน่นอน”
 
สมองของคุณปรับตัวกับการกินมากขึ้น
ถ้าคุณติดนิสัยกินมากเกินไป เช่น ในช่วงวันหยุด สมองของคุณจะเริ่มปรับตัวเข้ากับปริมาณอาหารที่กิน และคุณเริ่มคิดว่า คุณต้องการอาหารมากกว่าที่เป็นจริงจึงจะรู้สึกพอใจ มันทำให้เราลืมได้ว่า อาหารที่เพียงพอต่อการกินแต่ละมื้อควรมีปริมาณเท่าไร และยังติดนิสัยกินมากเกินไปแม้เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว
 
“แก้นิสัยแย่ ๆ นี้ด้วยการมีสติมากขึ้นในขณะที่กินอาหาร” บริจิตต์ นัจจาร์ ผู้ฝึกสอนจิตวิทยาการบริโภคแนะนำ “เมื่อเริ่มกินอาหาร พึงระมัดระวังว่าคุณหิวมากแค่ไหน ต้องมีสติรับรู้ว่า อาหารแต่ละคำมีรสชาติอย่างไร และมีสติรู้เมื่อเริ่มรู้สึกอิ่ม ใจต้องจดจ่ออยู่กับอาหารที่กินแต่ละคำ”
 
นอกจากนี้ คุณต้องกินให้ช้าลงและเคี้ยวให้ละเอียด คุณยิ่งกินช้าลงเท่าไร ก็ยิ่งมีแนวโน้มหยุดกินได้ก่อนจะเผลอกินมากเกินไป