วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > จับตาธุรกิจไมซ์ ฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

จับตาธุรกิจไมซ์ ฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 
 
“ประชารัฐ” นโยบายที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อหวังใช้เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ และแน่นอนว่าผลประโยชน์ต่างตอบแทนทำให้ผู้ประกอบการต่างเสนอตัวเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายนี้ได้ไม่ยาก
 
นอกเหนือไปจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่เป็นแรงหนุนชั้นดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ยังมีอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดเม็ดเงินในเศรษฐกิจไทยได้ และกำลังเป็นที่จับตามองทั้งจากนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ “อุตสาหกรรมไมซ์”
 
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ตอบโจทย์นโยบายประชารัฐของรัฐบาลทันที อีกทั้งยังเดินหน้าผลักดัน 4 โครงการหลัก เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจไมซ์ในไทย
 
นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการทีเส็บ อธิบายว่า การส่งเสริมธุรกิจไมซ์ในประเทศถือเป็นพันธกิจสำคัญของทีเส็บในฐานะผู้ขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ โดยจากปีงบประมาณ 2558 พบว่ามีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศจำนวน 23 ล้านคนต่อครั้ง สร้างรายได้จากการใช้จ่าย 46,000 ล้านบาท โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลได้กำหนดนโยบายประชารัฐ และเกิดคณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมซ์ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งทีเส็บได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้วย ขณะเดียวกันยังได้กำหนดแผนการส่งเสริมธุรกิจไมซ์ในประเทศประจำปี 2559 ถึง 4 โครงการ
 
โครงการแรก ส่งเสริมให้เกิดความต่อเนื่องของแคมเปญ “ประชุมเมืองไทย ภูมิใจช่วยชาติ” ซึ่งเป็นแคมเปญส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการจัดงานไมซ์ และยังมี 21 องค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน ภาคประชาสังคม ผนึกกำลังเพื่อสนับสนุนให้บริษัทเอกชนในเครือข่ายจัดประชุม สัมมนา และการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลในประเทศไทย อย่างน้อย 1 ประชุมหรือ 1 ทริป ต่อ 1 บริษัท ในต่างจังหวัดภายในปี 2559 
 
โครงการที่ 2 ส่งเสริมการจัดไมซ์ในพื้นที่พิเศษ ชูโครงการพระราชดำริภายใต้กิจกรรม 3 ปีติ หรือ 3 วาระมงคลของชาวไทยในปีนี้ คือ 1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 2. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุ 88 พรรษา และ 3. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา ถือเป็นอีกโครงการที่ลูกค้ากลุ่มองค์กรสามารถเข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่โครงการพระราชดำริ โดยทีเส็บจะร่วมสนับสนุนค่าพาหนะในการเดินทางสำหรับองค์กรจัดกิจกรรมไมซ์ในพื้นที่โครงการพระราชดำริกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ 
 
โครงการที่ 3 ส่งเสริมตลาด Distination Promotion โดยสร้างการรับรู้พื้นที่ตะเข็บชายแดนหรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่สามารถรองรับธุรกิจไมซ์ โดยทีเส็บมีเป้าหมายจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการใน 10 พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในปีงบประมาณ 2559 ประกอบด้วย หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี ตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา และตราด นับเป็นการช่วยกระตุ้นธุรกิจไมซ์ทั้งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ต่อเนื่องไปยังกลุ่มประเทศ CLMV สร้างองค์ความรู้ด้านไมซ์ขยายการเติบโตของเศรษฐกิจหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะทำให้ไทยก้าวไปสู่ศูนย์กลางไมซ์ระดับอาเซียน 
 
โครงการที่ 4 ส่งเสริมการจัดกิจกรรมไมซ์ เน้นให้การสนับสนุนกับหน่วยงานภาคีที่มีศักยภาพในการจัดประชุมสัมมนา เช่น หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ และสมาคมการจัดงานบุคคลแห่งประเทศไทย 
 
ดูเหมือนว่านโยบายที่ทีเส็บวางไว้เพื่อดำเนินกิจการภายใต้กรอบนโยบายจะเป็นไปอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางหมุดหมายลงบนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ หรือกลุ่มประเทศ CLMV ที่อาจนับเป็นอีกหนึ่งหมัดเด็ด เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้เสมือนดอกไม้ที่ส่งกลิ่นหอมหวานเชิญชวนให้ลงทุนไม่ใช่น้อย 
 
ทั้งนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยในรูปแบบบูรณาการที่น่าจะได้ผลที่สุดคือการทำให้เม็ดเงินลงไปถึงพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงชุมชนด้วยรูปแบบของการท่องเที่ยว
 
อย่างไรก็ตาม งานประชุม งานแสดงสินค้า ตลอดจนงานอีเวนท์ที่เกิดขึ้น ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ไม่ได้เป็นเพียงส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยเท่านั้น หากกิจกรรมที่กล่าวมามีการเติบโตและเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในระดับภูมิภาคเอเชีย ซึ่งส่งผลต่อสถานการณ์การท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้ที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน
 
แน่นอนว่าบรรดามหานครใหญ่ของโลกที่มีความพร้อมในการจัดงานต่างเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ซึ่งการแข่งขันการประมูลดำเนินไปอย่างเข้มข้น ทั้งงานระดับ World Expo มหกรรมกีฬาโอลิมปิก ผลดีของกิจกรรมต่างๆ ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศนั้นๆ อย่างเห็นได้ชัด
 
ซึ่งไม่เพียงแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่วิ่งสูงขึ้นบนกราฟเท่านั้น หากแต่ในแง่มุมของการให้การศึกษา การพัฒนาเทคโนโลยี จะถูกพัฒนาเพื่อสร้างความก้าวหน้าและให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน
 
เมื่อพิจารณาจากตัวเลขการเติบโตของจำนวนนักเดินทางไมซ์ในปี 2557 919,164 คน สามารถสร้างรายได้รวม 80,800 ล้านบาท และในปี 2558 จำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ 1,095,995 คน สร้างรายได้ 95,857 คน ตัวเลขที่สูงขึ้นอาจมองได้ว่าไทยกำลังจะกลายเป็นฐานการจัดงานระดับชาติในอนาคต
 
จึงไม่น่าแปลกใจที่เริ่มมีผู้ประกอบการไทยกำลังเบนเข็มธุรกิจ เมื่อตัวเลขรายได้ของธุรกิจไมซ์นั้นไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวเลขจากการท่องเที่ยว อีกทั้งยังค่อยๆ ไต่ระดับการเติบโตขึ้น 
 
น่าจับตามองว่านโยบายจากภาครัฐ ที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ จะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการจัดงานประชุมทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติได้หรือไม่ อะไรจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ระหว่างเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ไทยไม่ใช่ผู้บุกเบิก กับการชูอัตลักษณ์ไทยนำเสนอบนตลาดไมซ์