วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
Home > New&Trend > GGC เผยแผนกลยุทธ์ ขยายตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพและผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมมุ่งสู่ผู้นำระดับโลก

GGC เผยแผนกลยุทธ์ ขยายตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพและผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมมุ่งสู่ผู้นำระดับโลก

 

บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC บริษัทแกนนำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมของกลุ่มบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เผยแผนกลยุทธ์ขับเคลื่อนบริษัท มุ่งสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก ทั้งการเพิ่มกำลังการผลิตไบโอดีเซลที่ใช้ปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบเพื่อรองรับความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพที่เพิ่มสูงขึ้น การเตรียมนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการผลิตโอลีโอเคมีชนิดพิเศษ (specialty oleochemicals) และเดินหน้าศึกษาการขยายไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ

 

เป็นการขานรับนโยบายรัฐในการผลักดันการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve)

ภายใต้วิสัยทัศน์แห่งการเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่สร้างคุณค่าให้กับสังคมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน GGC เตรียมพร้อมรับมือความต้องการพลังงานชีวภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของรัฐบาล ด้วยแผนการเปิดโรงงานผลิตเมทิลเอสเทอร์ (Methyl Ester) หรือไบโอดีเซล (บี100) แห่งที่สองที่จังหวัดชลบุรี เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต

 

จิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

 

“กว่าทศวรรษแห่งความสำเร็จในการพัฒนาและบุกเบิกตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพและผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบัน GGC เป็นผู้ผลิตไบโอดีเซลชั้นนำ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ร้อยละ 26 และมีอัตราการเติบโตที่น่าพอใจ เพื่อเป็นการตอบสนองต่อแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของรัฐบาล หรือ AEDP 2015 (Alternative Energy Development Plan) ซึ่งมีเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนในระยะยาวเพิ่มขึ้น รวมทั้งแนวโน้มความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง GGC จึงได้ขยายกำลังการผลิตด้วยการเปิดโรงงานไบโอดีเซลแห่งที่สอง ที่อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี บนเนื้อที่ 30 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขานรับนโยบายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) ในพื้นที่ 3 จังหวัด เพื่อพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน ซึ่งกำหนดให้มีการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต รวมถึงเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (Bioeconomy) อีกด้วย”

 

โรงงานผลิตไบโอดีเซลแห่งที่สองนี้คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2561 ซึ่งจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 200,000 ตันต่อปี เมื่อรวมกับโรงงานแห่งแรก GGC จะมีกำลังการผลิตไบโอดีเซลรวมถึง 500,000 ตันต่อปี

 

และด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่เลือกใช้ในโรงงานแห่งใหม่นี้ คาดการณ์ว่าจะช่วยให้มีต้นทุนการผลิตโดยรวมต่ำลงและมีความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น

 

นอกจากการเป็นผู้นำในตลาดไบโอดีเซลแล้ว GGC ยังเป็นผู้ผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์เพียงรายเดียวในประเทศไทย ภายใต้เครื่องหมายการค้า THAIOL ซึ่งดำเนินการผลิตโดย บริษัท ไทยแฟตตี้ แอลกอฮอล์ จำกัด บริษัทในกลุ่มของ GGC

 

แฟตตี้แอลกอฮอล์นี้เป็นผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีขั้นพื้นฐานที่ถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน แชมพู ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไปภายในครัวเรือน ซึ่งในปัจจุบันแนวโน้มอุตสาหกรรมโอลีโอเคมีในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และอินเดีย มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ต่อปี

 

รวมทั้งยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีที่มีคุณสมบัติเฉพาะเจาะจงมากขึ้น GGC จึงศึกษากลยุทธ์ทางการตลาด และการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการต่อยอดการผลิตโอลีโอเคมีชนิดพิเศษ (Specialty Oleochemicals)

 

โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าและตอบสนองแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดแผนกลยุทธ์ปูทางสู่ความเป็นผู้นำด้านเชื้อเพลิงชีวภาพและผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก GGC เตรียมศึกษาการขยายฐานการผลิตจากปาล์มน้ำมันไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบเพิ่มเติมโดยการสร้าง “ไบโอคอมเพล็กซ์” เพื่อเตรียมพร้อมรุกสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และเคมีชีวภาพ

 

“บริษัทฯ กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนเพื่อสร้างไบโอคอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมธุรกิจ ประกอบด้วย โรงผลิตน้ำอ้อย โรงงานเอทานอล โรงงานพลังงานชีวภาพ (Bio-Power) โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และเคมีชีวภาพ (ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากอ้อยและปาล์ม) เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย และทำให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น

 

โดยพบว่าแนวทางที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจในระยะยาว คือ การลงทุนโรงงานผลิตในลักษณะที่มีการเชื่อมโยงการใช้วัตถุดิบและระบบสาธารณูปการกับโรงหีบอ้อยหรือโรงหีบปาล์ม ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างประโยชน์ร่วมกันตลอดห่วงโซ่อุปทานระหว่างผู้ผลิตฯ และอุตสาหกรรมการเกษตร

 

โดยใช้หลักการพึ่งพาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ซึ่งกันและกัน เป็นการประหยัดต้นทุนค่าขนส่งวัตถุดิบจากการที่โรงงานผลิตอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ และพิจารณารูปแบบการลงทุนเพื่อเดินหน้าผลิตพลาสติกชีวภาพและผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพในอนาคต” จิรวัฒน์กล่าวเสริม

 

ทั้งนี้ การจัดตั้งโรงงานผลิตในรูปแบบดังกล่าว จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินลงทุนโครงการและต้นทุนการผลิตลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการตั้งโรงงานผลิตในนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป โดยในการพัฒนาไบโอคอมเพล็กซ์ที่มีความยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้จะประกอบด้วยผลิตภัณฑ์หลักและผลิตภัณฑ์พลอยได้ คือ เชื้อเพลิงชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ และไฟฟ้าชีวมวล (Biomass Power)

 

นอกจากนี้ GGC ยังมองว่า การลงทุนสร้างไบโอคอมเพล็กซ์จะเป็นส่วนหนึ่งในการตอบรับนโยบายของรัฐบาล เพื่อเปิดให้มีการลงทุนการวิจัยและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพของประเทศต่อไปในอนาคตอีกด้วย

 

นอกจากขยายกำลังการผลิตและต่อยอดธุรกิจแล้ว GGC ยังพัฒนาแหล่งวัตถุดิบปาล์มน้ำมัน ด้วยการสนับสนุนและผลักดันกลุ่มเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ให้หันมาทำเกษตรกรรมสวนปาล์ม โดยมีการควบคุมการผลิตอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน The Roundtable on Sustainable Palm Oil หรือ RSPO ซึ่งเป็นการส่งเสริมแนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบเป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาดโลก

 

“ด้วยกลยุทธ์ต่างๆ และประสบการณ์กว่า 10 ปีในธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพและผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม GGC พร้อมที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ช่วยต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม และจะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทยทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม อันจะเป็นการทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” จิรวัฒน์กล่าวสรุป