วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > ราชา ในเงาสลัว บนอาณาจักรแห่งเล่ห์กล

ราชา ในเงาสลัว บนอาณาจักรแห่งเล่ห์กล

 
 
ในห้วงยามที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทย ยังปราศจากข่าวดีมาสนับสนุนให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนทิศทางและแนวโน้มการเติบโตในอนาคต ดูเหมือนว่าความเคลื่อนไหวและเป็นไปของอาณาจักรธุรกิจในนาม “คิง พาวเวอร์” ที่มี วิชัย ศรีวัฒนประภา คอยกำกับเป็นหัวเรือใหญ่ กลับสามารถรังสรรค์สีสันและความน่าตื่นตาตื่นใจให้ปรากฏเป็นข่าวได้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 เลยก็ว่าได้
 
เป็นการปรากฏเป็นข่าวในทางสาธารณะของเจ้าของอาณาจักรธุรกิจ ที่ดำเนินไปท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยของผู้คนในสังคมไทย ถึงที่มาที่ไปและจังหวะก้าวในการสั่งสมโอกาสทางธุรกิจที่เต็มไปด้วยสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวพันหลายระนาบและระดับชั้น
 
ข่าวการขึ้นเถลิงแชมป์พรีเมียร์ลีกของทีมเลสเตอร์ซิตี้ ที่ได้รับสมญานามว่า “จิ้งจอกสยาม” ทีมขนาดเล็กๆ ในสังเวียนลีกฟุตบอลสูงสุดของอังกฤษกลายเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างประวัติศาสตร์ไม่เฉพาะกับสโมสรแห่งนี้เท่านั้น หากยังสั่นคลอนสถานะของทีมฟุตบอลชั้นนำแห่งอื่นๆ ของอังกฤษ และกำลังจะกลายเป็นประเด็นให้ต้องกล่าวถึงในระดับยุโรปในอนาคตอันใกล้
 
เพราะการได้แชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลแข่งขันที่ผ่านมา หมายถึงสิทธิการได้เข้าร่วมชิงชัยในสังเวียน Uefa Champion League ซึ่งเป็นแหล่งรวมทีมสโมสรชั้นนำของยุโรปในฤดูการแข่งขันปี 2016-2017 โดยอัตโนมัติ และเป็นความท้าทายใหม่ที่เพิ่มระดับความเข้มข้น เพื่อพิสูจน์ความสามารถขอ เลสเตอร์ซิตี้ ในห้วงเวลานับจากนี้
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ วิชัย เข้าซื้อหุ้นและกุมอำนาจบริหารในสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ตั้งแต่เมื่อปี 2010 และเริ่มปรับแต่งให้ทีมฟุตบอลที่มีอันดับอยู่กลางตารางในลีก Championship ลีกการแข่งขันระดับรองของอังกฤษ สั่งสมความสำเร็จทีละเล็กละน้อย ก่อนที่จะก้าวกลับขึ้นมาโลดแล่นใน Premier League ซึ่งเป็นลีกสูงสุดอีกครั้งในปี 2014-2015 ในฐานะที่เป็นแชมป์ Championship League ในฤดูกาลก่อนหน้า
 
หากแต่บันไดสู่ความสำเร็จและการอยู่รอดในสังเวียนพรีเมียร์ลีกไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และการลงแข่งขันในระดับสูงสุดในปีนั้น เลสเตอร์ ซิตี้เกือบถูกผลักให้ตกชั้นกลับไปสู่ลีกระดับรอง ก่อนที่ในปีถัดมาเลสเตอร์ซิตี้จะสร้างปรากฏการณ์ที่เป็นประหนึ่งเทพนิยายด้วยการคว้าชัยชนะเลิศ เรียกได้ว่าจากจุดต่ำสุดสู่แชมป์อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
 
ข่าวคราวของเลสเตอร์ ซิตี้ ในด้านหนึ่งนอกจากจะเป็นกรณีที่ปลุกกระแสให้ผู้นิยมกีฬาฟุตบอลในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยหันมาร่วมเชียร์ร่วมยินดีกับความสำเร็จของทีมฟุตบอล ที่ได้ชื่อว่ามี “นักธุรกิจคนไทย” เป็นเจ้าของแล้ว ในอีกด้านหนี่งยังเป็นภาพสะท้อนมิติแห่งความสำเร็จในเชิงธุรกิจตามแบบของ วิชัย ศรีวัฒนประภา ที่อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนจำนวนมาก หากแต่สามารถเล็งผลสัมฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบนความสนใจของสังคมออกจากประเด็นแหลมคมของการตรวจสอบความชอบธรรมในการได้มาซึ่งสัญญาสัมปทานที่กำลังพุ่งเข้าใส่คิง พาวเวอร์ ในช่วงก่อนหน้านี้
 
วิชัย ศรีวัฒนประภา และอาณาจักร คิง พาวเวอร์ ของเขาไม่ได้เพิ่งจะถูกตั้งคำถามถึงที่มาที่ไป เฉพาะเมื่อเกิดปรากฏการณ์เทพนิยาย จิ้งจอกสยาม นี้เท่านั้น หากแต่ความพยายามที่จะเปิดเผยเงาร่างที่ห่มคลุมอาณาจักรธุรกิจแห่งนี้มีมานานพอสมควร และเกี่ยวโยงไปถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ทางลบในสังคมไทยไปแล้วด้วย
 
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2549 ที่มีการรัฐประหารเพื่อหวังจะเปลี่ยนขั้วทางการเมือง วิชัยและอาณาจักรคิง พาวเวอร์ ก็อยู่ในสถานะที่พร้อมจะถูกตรวจสอบในฐานะที่เป็นเครือข่ายของกลุ่มอำนาจและพลังทางธุรกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในสังคมไทยและกำลังท้าทายดุลอำนาจเดิมอย่างไม่อาจเลี่ยง
 
แต่ดูเหมือนคำกล่าวที่ว่า “ชื่อแซ่ อาจใช้ไม่ได้ หากฉายานามต้องมีเหตุผลอยู่บ้าง” และวิชัยในฐานะที่ได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็นนักธุรกิจที่รุ่มรวยสายสัมพันธ์กับผู้คนในเกือบทุกวงการ ก็สามารถดำเนินไปบนหนทางแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
 
ความสามารถของวิชัยในฐานะราชาแห่งสายสัมพันธ์ ทำให้เขาผ่านช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านขณะนั้นได้อย่างแยบคายและไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ก่อนที่ในปี 2555 “วิชัย รักศรีอักษร” จะกลายเป็นเพียงอดีตด้วยการเปลี่ยนนามสกุลมาเป็น “ศรีวัฒนประภา” ตามความในประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 ระบุว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสกุล “ศรีวัฒนประภา” ให้แก่ นายวิชัย รักศรีอักษร (สกุลเดิม) เพื่อเป็นสิริมงคลแก่วงศ์สกุล”
 
ความสนใจของสังคมไทยต่อความเป็นไปของวิชัย ศรีวัฒนประภา และอาณาจักรคิง พาวเวอร์ ดำเนินต่อเนื่องประหนึ่งระลอกคลื่นที่ถาโถมเข้าสู่ฝั่งฟากของการรับรู้ 
 
เพราะยังไม่ทันที่กลิ่นอายของบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองความสำเร็จของจิ้งจอกสยาม นามเลสเตอร์ ซิตี้ จะจางหายไปจากการรับรู้ของสังคมไทย วิชัยและครอบครัว ศรีวัฒนประภา ก็สร้างกระแสและความฮือฮาให้ได้กล่าวถึง ด้วยการประกาศเข้าซื้อหุ้น บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ถือหุ้นร้อยละ 55 ของไทยแอร์เอเชีย ในสัดส่วนร้อยละ 39 มูลค่ารวมประมาณ 7,945 ล้านบาทจากธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ และครอบครัว ภายใต้เหตุผลว่าเพื่อผนึกกำลังและขยายธุรกิจร่วมกัน
 
จังหวะก้าวของวิชัย ในการเข้าซื้อหุ้น AAV ทำให้เขาถูกตั้งคำถามถึงความเป็นไปในสายสัมพันธ์ครั้งเก่ากับทักษิณ ชินวัตร อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อเท็จจริงที่ว่า ไทยแอร์เอเชีย มีประวัติการกำเนิดขึ้นในยุคที่ทักษิณ ชินวัตร เรืองอำนาจบนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 
 
ขณะที่สถานะของธรรศพลฐ์ เบเลเว็ลด์ ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ได้รับการประเมินว่าเป็นเพียงนอมินี ในการถือครองหุ้นในไทยแอร์เอเชีย แทนผู้ลงทุนตัวจริงเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย ภายใต้เป้าประสงค์ที่จะนำพาไทยแอร์เอเชียให้ขึ้นมาเบียดแทรกและปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ในอุตสาหกรรมการบินของไทยไปอย่างที่ไม่มีทางหวนกลับ
 
กรณีที่ว่านี้ยิ่งทำให้แผนการลงทุนทางธุรกิจที่หลากหลายของวิชัยและครอบครัวศรีวัฒนประภา ซึ่งนับรวมมูลค่าได้มากกว่าแสนล้านในอนาคตตกอยู่ในเงื้อมเงาที่มัวสลัวหนักขึ้นไปอีก ว่ามีที่มาและจะดำเนินไปในหนทางเช่นไร
 
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับไทยแอร์เอเชีย อีกประการหนึ่งก็คือในช่วงต้นปี 2559 ที่ผ่านมา รัฐบาล โดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้เสนอแนวความคิดที่จะให้การบินไทยเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 20 ใน AAV เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางการบินครอบคลุมอาเซียน แต่ดีลที่ว่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้น
 
ต่อมาไม่นานในช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องเมษายนก็ปรากฏข่าวว่าจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใน AAV แพร่สะพัดในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยวิชัย ศรีวัฒนประภา ปรากฏชื่อเป็นตัวละครหลักในกระแสข่าวที่ว่านี้ ก่อนที่จะมีการออกมาปฏิเสธในเวลาต่อมา
 
กระทั่งในที่สุด วิชัย ศรีวัฒนประภา และธรรศพลฐ์ เบเลเว็ลด์ ก็ร่วมกันแถลงข่าวเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถึงดีลการซื้อขายหุ้น AAV ที่ติดตามมาด้วยประเด็นข้อสงสัยถึงระดับราคา 4.20 บาทต่อหุ้นที่ธรรศพลฐ์ขายให้กับกลุ่มครอบครัว ศรีวัฒนประภา ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่พอสมควร และยังขัดแย้งกับท่าทีก่อนหน้าที่มีการปฏิเสธข่าวด้วย
 
ขณะเดียวกัน ภายใต้ข้อกำหนดที่วิชัย ศรีวัฒนประภาและครอบครัว ในฐานะผู้ซื้อที่ต้องการครอบงำกิจการจะต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของกิจการ (Mandatory Tender Offer) ส่วนที่เหลือจากผู้ถือหุ้นอื่นๆ ประมาณร้อยละ 60 ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ AAV โดยมีราคาเสนอซื้อที่ 4.20 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวมประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนทางการเงิน ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (แบบ 247-4) อย่างเป็นทางการ ได้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น
 
กลับปรากฏข่าวว่า ธรรศพลฐ์ เบเลเว็ลด์ ซึ่งยังดำรงตำแหน่ง CEO ของไทยแอร์เอเชีย กล่าวกับนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ด้วยการระบุว่า สนใจที่จะเข้าซื้อหุ้นของนกแอร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา โดยการซื้อขายนี้อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ และยังไม่ได้กำหนดว่าจะซื้อในนามบุคคลหรือในนามบริษัท ซึ่งหากข้อสังเกตที่ว่า ธรรศพลฐ์ เป็นนอมินี คำแถลงของเขาในครั้งนี้ย่อมมีความน่าสนใจและอาจสั่นคลอนสถานภาพของผู้คนในกลไกรัฐอยู่ในที
 
ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งของท่วงทำนองและจังหวะก้าวความเคลื่อนไหวของวิชัย ศรีวัฒนประภา ในห้วงเวลาที่ผ่านมานี้ ดูจะสอดรับกับข่าวความเคลื่อนไหวของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้รับการเปิดเผยว่าได้จัดตั้งและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริษัทสตาร์ทอัพ ด้านการรักษาความปลอดภัยบนระบบออนไลน์ในอังกฤษ ร่วมกับนักธุรกิจน้ำมันรายใหญ่ และกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ ที่ดูจะลดทอนความเข้มขลังของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐไทยดำเนินอยู่ไม่น้อยเลย
 
ข้อกล่าวหาที่หนักหน่วงที่วิชัย ศรีวัฒนประภา กำลังจะเผชิญในอนาคต อาจไม่ได้จำกัดอยู่ไม่เพียงแค่กรณีที่ว่ามีการเอื้อประโยชน์โดยมิชอบให้ได้มาซึ่งสัมปทานผูกขาดในการประกอบการร้านค้าปลอดภาษีที่ยืดเยื้อมานานหลายปี หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คิง พาวเวอร์ เคยได้รับการกล่าวหาจากกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ว่าดำเนินธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบคู่แข่งขันรายอื่นๆ มาก่อนหน้านี้ ถึงขั้นที่มีการเรียกร้องและนำเสนอให้จัดตั้ง Duty Free City เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม
 
เพราะประเด็นสำคัญอยู่ที่มูลค่าสินค้านำเข้าที่เสียภาษีนำเข้าตามพิกัดศุลกากร (duty paid) มีมูลค่าเพียง 45,168.60 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมายศุลกากร (duty free) มีมูลค่าสูงถึง 87,815.83 ล้านบาท มากกว่ามูลค่าสินค้านำเข้า Duty paid เกือบ 80% ซึ่งตัวเลขมูลค่าสินค้า duty paid กับ duty free ที่แตกต่างกันสะท้อนถึงความได้เปรียบด้านกฎหมายเรื่องการยกเว้นภาษีนำเข้า ซึ่งกำลังทำลายโครงสร้างการค้าปลีกในเมืองอย่างรุนแรง เพราะสินค้าที่จำหน่ายในดิวตี้ฟรีไม่กี่แห่งมีมูลค่าสูงกว่าร้านค้าในเมืองหลายพันร้านค้าถึงเกือบเท่าตัว
 
และเป็นมูลเหตุให้สมาคมค้าปลีกไทยยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐเร่งผลักดัน “Shopping Tourism” หรือนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงชอปปิ้งอย่างจริงจัง เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในภาวะที่กำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะการเปิดเสรีร้านค้าปลอดภาษี เพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดภาษีในเมืองมากขึ้น และผลักดันนโยบาย Duty Free City เพื่อให้ประเทศไทยเป็นชอปปิ้งเดสติเนชันของนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง โดยเสนอเปิดดิวตี้ฟรีซิตี้ใน 10 เมืองท่องเที่ยว ได้แก่ พัทยา ภูเก็ต สมุย หาดใหญ่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย อุบลราชธานี อุดรธานี และนครราชสีมา ซึ่งเป็นการท้ารบกับคิง พาวเวอร์ โดยตรง
 
แต่บาทย่างของราชาแห่งสายสัมพันธ์ ในนามของวิชัย ศรีวัฒนประภา ในห้วงเวลานับจากนี้ ภายหลังเข้าครอบงำกิจการ AAV อาจได้รับการพิจารณาด้วยความเคลือบแคลงระคนสงสัยหนักข้อขึ้นไปอีกขั้น โดยอาจขยายไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งในโครงข่ายธุรกิจและผลประโยชน์ ที่มีส่วนร่วมในความพยายามที่จะผูกขาดและบั่นทอนภาพรวมของธุรกิจการบินของไทย ซึ่งกำลังอ่อนแรงลงอย่างช้าๆ ให้ไม่เหลือคู่แข่งบนน่านฟ้านี้ได้อีก
 
ซึ่งประเด็นที่ว่านี้ อาจหนักหนารุนแรงมากกว่าการต่อกรกับบรรดาเจ้าสัวในแวดวงค้าปลีกที่ร่ำร้องโอดโอย เพราะภายใต้โครงการของระบบบริหารราชการแบบไทยๆ จินตภาพว่าด้วยสายการบินแห่งชาติในความหมายที่ก้าวหน้าออกไปดูจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตราบเท่าที่ผลประโยชน์ในเงามืดยังคงอุดมสมบูรณ์ให้ได้ตักตวง
 
บางทีอาณาจักรแห่งเล่ห์กลที่กำลังดำเนินอยู่นี้ อาจไม่ใช่อาณาจักรคิง พาวเวอร์ ที่มีวิชัย ศรีวัฒนประภา เป็นประมุขอยู่โดยลำพัง เพียงแต่แสงสว่างทางปัญญาจะฉายให้เห็นจิ้งจอกสยามตัวจริงจากเงามืดได้อย่างไรเท่านั้น