วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
Home > Cover Story > ถอดรหัสเลือกตั้งเมียนมา “ประชาธิปไตยแบบมีวินัย”

ถอดรหัสเลือกตั้งเมียนมา “ประชาธิปไตยแบบมีวินัย”

 
โฉมหน้าทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านทางทิศตะวันตกของไทย ในนามเมียนมา กำลังเข้าสู่ห้วงเวลาที่น่าสนใจติดตาม ซึ่งอาจเป็นการกำหนดบทบาทและทิศทางการขับเคลื่อนประเทศบนหนทางประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
 
การเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 ได้รับความสนใจและเป็นที่จับตามองจากประชาคมนานาชาติว่าจะดำเนินไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรมและเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด ซึ่งความคาดหวังเหล่านี้อาจเป็นเพียงแนวคิดอุดมคติ เพราะในความเป็นจริงที่ปรากฏในปัจจุบัน กระบวนการเปลี่ยนผ่านตาม Roadmap to Discipline-flourishing Democracy ของเมียนมาที่ประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2003 ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคและความไม่แน่นอนอยู่พอสมควร
 
เงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งที่เป็นเสมือนเครื่องหมายของการกระชับอำนาจของฝ่ายทหารในการรักษาอำนาจไว้ก็คือ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ระบุให้มีการแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาในสัดส่วนที่มากถึงหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกที่พึงมี โดยสมาชิกแต่งตั้งเหล่านี้มีสิทธิที่จะยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายทหารเป็นผู้ยกร่างอีกด้วย
 
แม้ความเป็นไปในบทบัญญัตินี้จะได้การวิพากษ์และท้วงติงจากประชาคมประชาธิปไตย แต่ฝ่ายกุมอำนาจในเมียนมา ระบุว่านี่คือการสร้างประชาธิปไตยแบบมีวินัย หรือ Discipline-flourishing Democracy ซึ่งทำให้ผลการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น นอกจากจะได้รับการประเมินในมิติของความโปร่งใสและสะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนเมียนมาเพียงใดแล้ว ยังต้องประเมินต่อไปอีกว่าจะสามารถมีนัยความหมายมากพอที่จะสร้างกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้หรือไม่
 
ขณะเดียวกัน ท่ามกลางพรรคการเมืองจำนวนมากถึง 91 พรรค พรรค NLD (National League for Democracy) ที่นำโดยออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi) ผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญ ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น แต่นั่นก็เป็นการคาดการณ์จากผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อครั้งที่เกิดขึ้นในปี 1990 ที่ NLD ได้รับชัยชนะมากถึง 392 ที่นั่งจากจำนวน 492 ที่นั่ง 
 
กระนั้นก็ดี ผลการเลือกตั้งดังกล่าวกลับไม่ได้เปิดโอกาสให้ออง ซาน ซู จี ได้เข้าบริหารประเทศ เมื่อรัฐบาลทหารปฏิเสธผลการเลือกตั้งและยังคงบริหารประเทศภายใต้ SLORC (State Law and Order Restoration Council) ต่อมาจนถึงปี 1997 และในฐานะ State Peace and Development Council (SPDC) เรื่อยมาก่อนที่จะยุบเลิกไปในปี 2011 ควบคู่กับการเริ่มต้นแผนการปฏิรูปครั้งใหม่ที่เปิดโอกาสให้ NLD ได้ร่วมลงสู่สนามการเมืองอีกครั้งในการเลือกตั้งซ่อมในปี 2012 ซึ่ง NLD สามารถสร้างประวัติศาสตร์ถล่มทลายด้วยการครองที่นั่งจำนวน 43 ที่นั่งจาก45 ที่นั่งที่มีการเลือกอีกด้วย
 
ภาพความสำเร็จของ NLD ในอดีตอาจไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดที่จะยืนยันว่า NLD จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ โดยเฉพาะการได้มาซึ่งเสียงข้างมากอย่างสมบูรณ์ เพื่อผลของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งอาจจะผูกพันและขึ้นอยู่กับท่วงทำนองและท่าทีของฝ่ายผู้กุมอำนาจว่าจะปล่อยอำนาจให้หลุดมือไป หรือจะใช้วิธีการแบบเดิมที่ได้เคยดำเนินการมาเมื่อ 25 ปีที่แล้วอีกครั้ง
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือบทบัญญัติในมาตรา 59F ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ระบุว่า “หากทายาทของนักการเมืองรายใดถือสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่เมียนมา บุคคลนั้นย่อมไม่มีสิทธิเป็นประธานาธิบดี” ซึ่งกรณีเช่นนี้ครอบคลุมไปถึงบุตรชายทั้งสองคนของออง ซาน ซู จี ที่ถือสัญชาติอังกฤษ และทำให้ออง ซาน ซู จี หมดโอกาสที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นประธานาธิบดีนี้อย่างสิ้นเชิง แม้ว่าออง ซาน ซู จี จะประกาศเจตจำนงนี้อย่างแข็งขันในช่วงก่อนหน้านี้ก็ตาม
 
การเปลี่ยนผ่านผู้นำในตำแหน่งประธานาธิบดีของเมียนมา จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ประชาคมนานาชาติให้ความสนใจ เพราะในขณะที่โอกาสของออง ซาน ซู จี จะตีบแคบลง กลับไม่ปรากฏรายชื่อของ เต็งเส่ง (Thein Sein) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันในฐานะผู้สมัครพรรค USDP (Union Solidarity and Development Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล คำถามที่เกิดขึ้นจึงอยู่ที่ว่าแล้วใครจะก้าวขึ้นมาแทน เต็ง เส่ง ท่ามกลางการคาดการณ์หลากหลาย
 
อย่างไรก็ดี การไม่มีรายชื่อเป็นผู้สมัครเลือกตั้งไม่ได้ทำให้โอกาสในการสืบทอดและอยู่บนตำแหน่งประธานาธิบดีของเต็ง เส่ง หมดไป เพราะรัฐธรรมนูญปี 2008 ของเมียนมาในมาตรา 60 (c) ระบุว่าผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี มาจากการเลือกของ “คณะผู้เลือกตั้ง” ซึ่งจะเลือกจากผู้ที่เป็นสมาชิกรัฐสภา หรือไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาก็ได้ นั่นก็คือ การเปิดช่องทางลัดให้มีการเสนอชื่อ เต็ง เส่ง เป็นประธานาธิบดี “คนนอก” ได้โดยปริยาย
 
ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจติดตามอีกด้านหนึ่งในเวทีการเมืองเมียนมาก็คือ บทบาทของ ฉ่วย มาน (Shwe Mann) ประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน และเป็นคีย์แมนลำดับสามของคณะปกครองทหาร ที่ก่อนหน้านี้ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งจากเต็ง เส่ง แต่กลับถูกปลดออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค USDPไปเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
 
ท่วงทำนองที่มีแนวโน้มปฏิรูปสูงของ ฉ่วย มาน ทำให้มีการวิเคราะห์ว่า ออง ซาน ซู จี และ ฉ่วย มาน กำลังดำเนินการเจรจาเพื่อเป็นพันธมิตรกัน โดย NLD อาจสนับสนุนให้ ฉ่วย มาน ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน แลกกับการที่ ฉ่วย มาน จะผลักดันการแก้เงื่อนกำหนดของรัฐธรรมนูญเพื่อลดบทบาทของกองทัพและเปิดทางให้ออง ซาน ซู จี มีสิทธิดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองในอนาคต
 
แม้ว่าสมมุติฐานดังกล่าวอาจนำไปสู่การสร้างรัฐบาลผสมแห่งชาติ USDP/NLD แต่เหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้ยาก เพราะฝ่ายที่มุ่งหมายจะสกัดกั้นออง ซาน ซู จี และ NLD มีข้อได้เปรียบเรื่องสมาชิกแต่งตั้งที่นั่งคอยอยู่ในรัฐสภาแล้วถึงหนึ่งในสี่ การตั้งรัฐบาลที่ไม่มี NLD มาประกอบส่วน จึงต้องการเพียงชัยชนะในจำนวนที่นั่งที่เหลือเพียงหนึ่งในสามจากสนามเลือกตั้งเท่านั้น และนั่นต่างหากที่เป็นกลไกกำหนดอนาคตของประธานาธิบดีคนต่อไป
 
สมการทางการเมืองของเมียนมา ในช่วงที่ผ่านมาจึงปรากฏความพยายามในการทำลายความน่าเชื่อถือของออง ซาน ซู จี และ NLD อยู่เป็นระยะโดยเฉพาะการตกเป็นเป้าโจมตีจากกลุ่มศาสนาชาตินิยมหัวรุนแรง “มะบะทะ” (Ma Ba Tha) ซึ่งได้กล่าวหาพรรค NLD ว่าชื่นชอบชาวมุสลิม หลังพรรค NLD ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายการแต่งงานที่จำกัดสิทธิของชายมุสลิมที่แต่งงานกับหญิงชาวพุทธ
 
กลุ่มพระสงฆ์ชาตินิยมและหัวรุนแรง “มะบะทะ” (Ma Ba Tha) สนับสนุนและผลักดันการออกกฎหมายคุ้มครองเชื้อชาติและศาสนา 4 ฉบับในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1. กฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนศาสนา 2. กฎหมายคู่สมรส 3. กฎหมายการควบคุมประชากรและด้านสุขภาพ และ 4. กฎหมายการแต่งงานของหญิงชาวพุทธ โดยพระวีระธุ (Ashin Wirathu) แกนนำของกลุ่มได้ออกมากล่าวสนับสนุนประธานาธิบดีเต็งเส่งด้วย
 
ขณะที่กรณีกฎหมาย 4 ฉบับดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์และห่วงใยจากชาติตะวันตก โดยระบุว่า กฎหมายที่มีลักษณะพุ่งเป้าไปที่ชาวมุสลิมในประเทศและละเมิดสิทธิสตรีนี้ ไม่ควรมีหรือเกิดขึ้นในเมียนมา ที่กำลังถ่ายโอนไปสู่หนทางประชาธิปไตย
 
ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม Ma Ba Tha เกิดขึ้นควบคู่กับท่าทีของคณะกรรมการเลือกตั้งเมียนมา ที่ระบุว่าอาจพิจารณาเลื่อนการเลือกตั้งใหญ่ออกไป โดยอ้างเหตุภัยพิบัติที่อาจทำให้ประชาชนประสบความยากลำบากในการออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่หลังจากข่าวการเลื่อนเลือกตั้งแพร่สะพัดออกสู่สาธารณชน ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง รวมไปถึงประชาชนทั่วไปอย่างหนัก และทำให้คณะกรรมการเลือกตั้งเมียนมา ต้องออกมายืนยันกำหนดการเลือกตั้งเดิมต่อไป
 
ท่าทีของฝ่ายกุมอำนาจ รวมถึงคณะกรรมการเลือกตั้งเมียนมา ดูจะสะท้อนความกังวลใจและสื่อแสดงความไม่มั่นใจในผลการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งทางแพร่งของการตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นการล้มเลิกหรือเลื่อนการเลือกตั้งออกไป หรือแม้กระทั่งการเพิกเฉยไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งในภายหลัง ย่อมไม่น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคณะผู้กุมอำนาจของเมียนมาแต่อย่างใด
 
เพราะดูเหมือนว่า กงล้อความประสงค์ของประชาชนกำลังเคลื่อนผ่านแผนที่นำทาง “ประชาธิปไตยแบบมีวินัย” ที่ผู้กุมอำนาจพยายามจะขีดร่างไว้ หวังเพียงแต่ว่าเมื่อถึงเวลาของการส่งมอบดอกผลของประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้ง ทุกฝ่ายจะสามารถรักษาวินัย ไม่เลือกที่จะใช้อำนาจฉีกทำลายให้ต้องย้อนทางกลับไปเริ่มต้นใหม่เท่านั้น