วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > On Globalization > เศรษฐีศรีลังกา

เศรษฐีศรีลังกา

 
Column: AYUBOWAN
 
ความเป็นไปทางเศรษฐกิจของประเทศเล็กๆ อย่างศรีลังกาในช่วงหลังสงครามกลางเมืองที่ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ อาจทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าจักรกลที่หนุนนำทางเศรษฐกิจของดินแดนแห่งนี้คงเป็นผลจากแรงกระทำและกระตุ้นของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) แต่โดยลำพัง
 
หากแต่ในความเป็นจริงศรีลังกามีบรรษัทและนักธุรกิจที่ประกอบการและดำเนินธุรกิจหนุนนำสังคมให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอยู่จำนวนไม่น้อยเลยนะคะ
 
หนึ่งในจำนวนนักธุรกิจที่โดดเด่นและถือว่าเป็นผู้มีบทบาทอิทธิพลในสังคมเศรษฐกิจศรีลังกามากที่สุดรายหนึ่งในทำเนียบนักธุรกิจศรีลังกา คงต้องยกให้ Don Harold Stassen Jayawardena (D.H.S. Jayawardena) หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า Harry Jayawardena เป็นนักธุรกิจลำดับต้นๆ ที่ทุกคนจะต้องนึกถึง
 
ลำดับชีวิตของ Harry Jayawardena ในวัย 73 ปี (เกิด 17 สิงหาคม 1942) เริ่มต้นจากการเป็นพนักงานในบรรษัทค้าใบชาจากอังกฤษซึ่งควบคุมกลไกทางเศรษฐกิจของดินแดนอาณานิคมแห่งนี้ ก่อนที่จะผันตัวเองมาสู่ภาคราชการด้วยการเป็นผู้จัดการแผนกชา (Tea Department) ในวิสาหกิจการค้าแห่งรัฐ ที่ทำหน้าที่ผูกขาดกิจกรรมทางการพาณิชย์ของศรีลังกาในยุคหลังอาณานิคมไว้อย่างเบ็ดเสร็จ
 
ความเปลี่ยนแปลงในแนวนโยบายจากเศรษฐกิจที่ควบคุมโดยรัฐไปสู่การค้าเสรีนับตั้งแต่ช่วงปี 1977 ของ Junius Richard Jayewardene (นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีศรีลังกา ระหว่างปี 1977-1989) กลายเป็นข้อต่อและจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญให้กับวิถีชีวิตของ Harry Jayawardena ก่อนการสร้างอาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา
 
Harry Jayawardena เริ่มต้นธุรกิจในนาม Stassen Exports Limited เพื่อส่งออกชาจากศรีลังกาไปสู่ตลาดโลกในเดือนกันยายน 1977 ซึ่งทั้งเป็นการสอดรับกับนโยบายใหม่ของรัฐบาลศรีลังกาและเปิดโอกาสให้ Harry Jayawardena ใช้โครงข่ายความรู้ความสามารถและสายสัมพันธ์ที่มีมาต่อยอดธุรกิจได้อย่างลงตัว
 
อาณาจักรธุรกิจของ Harry Jayawardena คืบหน้าไปอีกขั้นและกลายเป็นจุดเริ่มต้นของขุมพลังในการรุกธุรกิจครั้งใหม่เมื่อเขาเข้าซื้อและกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน Hatton National Bank PLC ธนาคารเอกชนชั้นนำรายใหญ่ของศรีลังกาในปี 1988 ซึ่งนอกจากจะทำให้ Harry Jayawardena มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเท่ากับว่าเขามีเครื่องมือทางการเงินสำหรับการขยายอาณาจักรธุรกิจในอนาคตด้วย
 
เมื่อรัฐบาลศรีลังกามีนโยบายที่จะแปรรูป Distilleries Company of Sri Lanka PLC (DCSL) อดีตรัฐวิสาหกิจโรงกลั่นสุราให้เป็นบรรษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ศรีลังกา ในปี 1992 กลุ่มนักลงทุนที่นำโดย Harry Jayawardena ได้เสนอตัวเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 60 ใน DCSL ด้วยระดับราคาที่สูงกว่าคู่แข่งขันรายอื่นๆ และถือเป็นกรณีการแปรรูปที่ประสบผลสำเร็จที่สุดของศรีลังกาในเวลาต่อมา
 
การครอบครอง DCSL ไม่ได้มีผลเฉพาะในมิติที่ทำให้อาณาจักรธุรกิจของ Harry Jayawardena ยึดกุมตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะ Arrack สุราประจำถิ่นจากมะพร้าวของศรีลังกา (DCSL ผลิต Arrack ปีละ 40 ล้านลิตรต่อปีหรือร้อยละ 90 ของตลาดรวม) ไว้ได้อย่างเกือบจะเบ็ดเสร็จเท่านั้น 
 
หากแต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายไปสู่ธุรกิจเครื่องดื่มและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ทั้งน้ำตาล สวนมะพร้าวได้อย่างไร้ขีดจำกัด ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการทำให้อาณาจักรธุรกิจของ Harry Jayawardena อุดมไปด้วยบรรษัทจดทะเบียนชั้นนำของศรีลังกาไปโดยปริยาย
 
จังหวะก้าวที่สำคัญอีกขั้นของ Harry Jayawardena อยู่ที่การรุกเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม เมื่อเขาใช้กลไกของทั้ง Milford Holdings และ DCSL เข้าครอบกิจการของ Lanka Bell (ก่อตั้งปี 1997) บริษัทผู้ประกอบการโทรศัพท์ fixed line อันดับสองของประเทศซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก BOI ของศรีลังกา เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงข่ายธุรกิจ
 
ขณะเดียวกัน Harry Jayawardena ยังขยายอาณาจักรไปสู่ธุรกิจสันทนาการและโรงแรมผ่าน Aitken Spence ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีเครือข่ายโรงแรมทั้งในศรีลังกา มัลดีฟส์ อินเดีย โอมาน หากยังมีธุรกิจหลากหลายทั้ง โลจิสติกส์ ที่ปรึกษาการลงทุน และพลังงานด้วย
 
ความโดดเด่นของ Harry Jayawardena ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงธุรกิจ หากสายสัมพันธ์ทางการเมืองของเขาก็จัดว่าอยู่ใกล้ชิดศูนย์อำนาจทางการเมืองไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสด้านการค้าและการลงทุนในสมัยของประธานาธิบดี Chandrika Kumaratunga (1994-2005) 
 
รวมถึงการดำรงตำแหน่งเป็นประธานบอร์ดใน Ceylon Petroleum Corporation: CEYPETCO และ Sri Lankan Airlines ซึ่งต่างมีสถานะเป็นวิสาหกิจของรัฐในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนโครงข่ายสายสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองที่ครองอำนาจในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี
 
แม้ว่า Harry Jayawardena จะได้รับการยอมรับและมีชื่อว่าเป็นผู้ร่ำรวยมหาศาลแบบ mega rich ในบรรดาหมู่มหาเศรษฐีของศรีลังกา แต่ในการจัดอันดับนักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดจากข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ของศรีลังกากลับไม่ปรากฏชื่อของเขาอยู่ในบัญชีรายชื่อ เนื่องเพราะสินทรัพย์ของ Harry Jayawardena จำนวนไม่น้อยอยู่ในรูปของสินทรัพย์ส่วนบุคคลที่ไม่เปิดเผยหรือถือผ่านบริษัทตัวแทน 
 
กระนั้นก็ดีมูลค่าของสินทรัพย์ในแต่ละบริษัทที่ Harry Jayawardena ถือครองอยู่ก็มีมูลค่ารวมกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณเกือบ 6 หมื่นล้านบาท และในส่วนของเขาก็มีทรัพย์สินส่วนตัวอีกไม่ต่ำกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
 
Harry Jayawardena กล่าวครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ว่า แม้การลงทุนจากต่างประเทศจะมีความสำคัญและจำเป็นในการผลักดันเศรษฐกิจ และไม่มีประเทศใดสามารถเติบโตได้โดยปราศจากการลงทุนจากภายนอก หากแต่สิ่งที่ศรีลังกาจะต้องปลูกสร้างและพัฒนาอยู่ที่ฐานของธุรกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะในห้วงยามที่เต็มไปด้วยโอกาสใหม่ๆ หลังสงครามกลางเมืองได้ยุติลง
 
ซึ่งดูเหมือนว่า Harry Jayawardena จะได้สร้างเสริมฐานธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโตครั้งใหม่ของศรีลังกาไว้อย่างมั่นคงและพร้อมจะต่อยอดความมั่งคั่งนี้ไว้พร้อมพรั่งแล้ว
 
เครดิตภาพ : therepublicsquare.com