วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > เครื่องเงินวัวลายภูมิปัญญาล้านนา เสน่ห์แห่งหัตถศิลป์เชียงใหม่

เครื่องเงินวัวลายภูมิปัญญาล้านนา เสน่ห์แห่งหัตถศิลป์เชียงใหม่

 
แม้ว่าเชียงใหม่จะมีสินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองขึ้นชื่อหลายอย่าง ทั้งร่มจากบ้านบ่อสร้าง งานแกะสลักไม้ของบ้านถวาย ผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากอำเภอแม่แจ่ม แต่ยังมีอีกหนึ่งหัตถศิลป์ที่แอบซ่อนอยู่บนถนนสายสั้นๆ อย่างถนนวัวลาย คือเครื่องเงินที่หลายคนเรียกขานกันว่า “เครื่องเงินวัวลาย”
 
นับเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาจากล้านนาที่ถูกส่งต่อกันมาหลายร้อยปีแล้ว ตั้งแต่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ ในครั้งที่สร้างความสัมพันธ์กับดินแดนพุกาม พร้อมทั้งมีการเจรจาขอช่างฝีมือเพื่อฝึกอาชีพให้กับชาวเชียงใหม่ นับแต่นั้นช่างฝีมือหัตถกรรมพื้นเมืองได้รับการฝึกฝนและสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง
 
ช่วงปี พ.ศ. 2310 ภายหลังจากเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้ากาวิละ พระเจ้าตากสินมหาราช และพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ร่วมกันขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่ ในเวลานั้นเชียงใหม่กลายเป็นเมืองร้างร่วม 20 ปี (พ.ศ. 2319-2339) เนื่องจากประชาชนหนีภัยสงครามไปอาศัยอยู่ตามป่าเขา นโยบาย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นการประกาศให้ประชาชนกลับเข้ามาอยู่ในเมืองเช่นเดิม
 
หลังสงครามมีการกวาดต้อนผู้คนให้เข้ามาตั้งรกรากในเมืองเชียงใหม่ ทั้งหมอ โหร ช่างฝีมือ ทั้งนี้ยังมีการฝึกอาชีพให้ประชาชน ในครั้งนั้นเจ้าขันแก้ววัวลายในฐานะผู้นำของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ละแวกรอบๆ วัดหมื่นสาร ได้ส่งชาวบ้านวัวลายให้เข้าไปเรียนรู้การทำเครื่องเงินในคุ้มหลวงและทำสืบต่อกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน
 
ในอดีตชาวบ้านในชุมชนวัวลายซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทั้งนี้เมื่อหมดช่วงฤดูทำนาชาวบ้านมักจะทำเครื่องเงินเป็นอาชีพเสริมซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิชาจากบรรพบุรุษ และแน่นอนว่าทำให้เกือบทุกหลังคาเรือนมีโรงงานขนาดเล็กที่เรียกว่า “เตาเส่า” สำหรับทำเครื่องเงิน
 
ในยุคนั้นสมาชิกในครอบครัวจะช่วยกันทำเครื่องเงินเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและเพื่อการค้า โดยหาซื้อแร่เงินจากพ่อค้าชาวจีนจากตัวเมืองเชียงใหม่นำมาตีขึ้นรูป ทั้งนี้ในระยะแรกผลิตภัณฑ์จากเครื่องเงินทำขึ้นเพื่อเป็นส่วยตามความต้องการของเจ้านาย ต่อมาเศรษฐกิจดีขึ้นมีการขยายตัวทางการค้ากับชาติอื่นมากขึ้น เครื่องเงินจึงถูกนำมาเป็นสินค้าแลกเปลี่ยน และเมื่อเจ้านายชั้นสูงเริ่มเปลี่ยนมาใช้เครื่องทอง ทำให้สามัญชนสามารถใช้เครื่องเงินได้
 
อย่างไรก็ตาม เครื่องเงินวัวลายในอดีตมักจะทำออกมาในรูปแบบของภาชนะ เช่น สลุง พาน ถาด เชี่ยนหมาก แต่ในระยะหลังที่รัฐบาลมีการรณรงค์ให้ข้าราชการ ประชาชนทั่วไปแต่งชุดไทยกันมากขึ้น เครื่องเงินวัวลายจึงถูกผลิตออกมาในรูปแบบของเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ กำไร เข็มขัด ต่างหู
 
แม้ว่าในช่วงแรกผลิตภัณฑ์เครื่องเงินมักจะถูกออกแบบโดยเน้นไปที่ศิลปะล้านนา ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ความเป็นเมืองเหนือ เช่นลายดอกฝ้าย ลายนักษัตร กระนั้นเมื่อยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนไปช่างทำเครื่องเงินจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับห้วงเวลา ทั้งในเรื่องการเปิดตัวเทคนิคการผลิตที่ทันสมัยขึ้น แม้ว่าส่วนหนึ่งก็ยังคงรักษาทักษะวิชาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และการออกแบบที่จำเป็นต้องปรับเพื่อให้ตรงกับความต้องการของบรรดานักท่องเที่ยวมากขึ้น
 
กระนั้นการท่องเที่ยวในย่านวัวลาย ย่านที่มีเพียงร้านเครื่องเงินกลับไม่เป็นที่นิยมจากนักท่องเที่ยวมากนัก จะมีก็เพียงแต่ลูกค้าขาประจำเท่านั้นที่จะแวะเวียนมา อีกทั้งเครื่องเงินจากชาวเขาซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องราคาถูก มากกว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเงินเกรดดี แต่กลับสามารถเรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวได้มากกว่าเครื่องเงินแท้ๆ จากย่านถนนวัวลาย และอาจเป็นเพราะขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีในช่วงแรก
 
ซึ่งผลที่ตามมาจากการไม่ได้รับความนิยมดังเช่นเก่าก่อนทำให้ช่างทำเครื่องเงินเลิกอาชีพนี้ หรือบางกรณีคือการขาดผู้สืบทอดวิชาการทำเครื่องเงิน ทำให้ปัจจุบันมีร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องเงินวัวลายเพียงไม่กี่ร้าน แม้ว่าในระยะหลังๆ การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่และองค์กรส่วนท้องถิ่นจะร่วมมือกันจัดถนนวัวลายให้เป็นตลาดนัดถนนคนเดินทุกเย็นวันเสาร์ 
 
บนถนนคนเดินวัวลายแม้บรรยากาศจะคึกคักและคลาคล่ำไปด้วยร้านรวงที่ต่างนำเสนอสินค้าและผลิตภัณฑ์พื้นเมือง ทั้งเสื้อ กางเกงผ้าทอมือ ผ้าพันคอ ของแต่งบ้านที่อุดมไปด้วยอัตลักษณ์แห่งเมืองเหนือ ร้านขายอาหารประจำภาค สินค้าทำมือที่บางชิ้นเรียกได้ว่ามีชิ้นเดียวในโลก แต่กระนั้นตลอดเส้นทางของถนนวัวลายที่มีความยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตร กลับปรากฏแผงลอยที่ตั้งขายเครื่องเงินวัวลายเพียงน้อยนิดเท่านั้น ซึ่งแทบจะถูกกลืนหายไปหากไม่สังเกต 
 
เสียงดนตรีแบบพื้นเมืองที่กำลังขับกล่อมอย่างเชื้อเชิญให้เดินเข้าไปเพื่อชมความวิจิตรและประณีตของช่างฝีมือที่บรรจงสร้างและเรียงร้อยแผ่นเงิน ดีบุก ประกอบส่วนเข้าด้วยกันจนกลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญบนถนนวัวลาย ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี นั่นคืออุโบสถเงิน ของวัดศรีสุพรรณ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2043 โดยพระเจ้าพิลกปนัดดาธิราช หรือพระเมืองแก้ว กษัตริย์เชียงใหม่ราชธานี และพระนางสิริยสวดี พระราชมารดามหาเทวีเจ้า โปรดเกล้าให้มหาอำมาตย์ชื่อหมื่นหลวงจ่าคำสร้างวัดนี้ 
 
โดยในช่วงแรกนั้นมีชื่อว่า “วัดศรีสุพรรณอาราม” และต่อมาเรียกสั้นๆ ว่า “วัดศรีสุพรรณ” ทั้งนี้อุโบสถเงินหลังดังกล่าวสร้างโดยชาวบ้าน ที่มีจุดประสงค์เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา และอนุรักษ์พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างหัตถกรรมเครื่องเงินเอาไว้ ถือได้ว่าเป็นอุโบสถเงินหลังแรกของโลก
 
วัดเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนสมัยก่อน กระทั่งปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ ภายในวัดศรีสุพรรณมีการเปิดศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณ สล่าสิบหมู่ล้านนา ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกอบรมศิลปหัตถกรรมเครื่องเงินและเครื่องประดับ เพื่อให้ผู้ที่สนใจอีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในย่านชุมชนวัวลายอีกด้วย
 
ท้องฟ้ากำลังเปลี่ยนสีเมื่อเวลาอาทิตย์อัสดง หากแต่ปริมาณนักท่องเที่ยวยังคงเดินทางเข้ามายังถนนวัวลายนี้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเสียงเอื้อนเอ่ยเป็นภาษาเหนือยังคงลอยมาจากเสียงตามสายของชุมชนอย่างต่อเนื่อง  หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเสน่ห์แห่งหัตถศิลป์ ที่เป็นภูมิปัญญาของเชียงใหม่อย่างเครื่องเงินวัวลาย จะได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักท่องเที่ยว ที่จะเป็นประหนึ่งแรงใจที่อาจช่วยผลักดันให้คนรุ่นหลังอยากจะสืบสานวิชาที่ถูกส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ เพื่อให้ภูมิปัญญาจากบรรพชนยังคงดำรงอยู่ต่อไป