วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2024
Home > Cover Story > ซีพีแรม ทุ่มเม็ดเงิน 2,000 ล้านบาท เปิดตัวโรงงานผลิตขนมปังแห่งใหม่ ชิงส่วนแบ่งตลาดเบเกอรี่ 4 หมื่นล้าน

ซีพีแรม ทุ่มเม็ดเงิน 2,000 ล้านบาท เปิดตัวโรงงานผลิตขนมปังแห่งใหม่ ชิงส่วนแบ่งตลาดเบเกอรี่ 4 หมื่นล้าน

ตลาดขนมปังและเบเกอรี่ไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2566 มีมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตต่อปีเฉลี่ย 3-5% ในขณะที่ปี 2567 มีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 7-8% โดยขนมปังแผ่นนับเป็นสัดส่วนหลักของตลาดประมาณ 30% ขณะที่ 70% เป็นขนมปังสอดไส้ทั่วไป

ล่าสุด บริษัท ซีพีแรม จำกัด หรือ CPRAM ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เจ้าของแบรนด์ขนมปัง “เลอแปง” ทุ่มงบกว่า 2,000 ล้านบาท เปิดตัวโรงงานผลิต “ขนมปังแผ่น” แห่งใหม่ขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ด้วยกำลังการผลิตถึงวันละ 2.4 ล้านแผ่น เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดเบเกอรี่ และความต้องการของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยว

วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เปิดเผยว่า “การที่ตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตขนมปังแผ่นแห่งใหม่เพราะเล็งเห็นโอกาสในตลาด เราพบว่ายังบริการลูกค้าได้ไม่ครบ และเห็นได้ชัดว่าลูกค้ามีความต้องการสินค้าของเรา จึงสร้างโรงงานที่มีกำลังการผลิตที่สูงขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งที่ผ่านมาเลอแปงพัฒนาสินค้าตามโอกาสของตลาดที่มีและศักยภาพที่เข้าถึง ทำให้ความนิยมในสินค้าเลอแปงเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง”

“โรงงานผลิตขนมปังแผ่นแห่งใหม่นี้ถือเป็นโรงงานเบเกอรี่ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 2.4 ล้านแผ่นต่อวัน ซึ่งได้เปิดดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และเป็นโรงงานลำดับที่ 16 ของซีพีแรม สร้างขึ้นเพื่อรองรับตลาดเบเกอรี่ในประเทศไทยที่เติบโตขึ้นอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคหันมานิยมรับประทานผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมปังมากขึ้น เพราะสอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบันที่ต้องการอาหารที่หาซื้อง่าย รับประทานได้สะดวกรวดเร็ว โดยข้อมูลแนวโน้มการตลาดในประเทศไทยชี้ว่าในปี 2567 มูลค่าตลาดเบเกอรี่จะสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท”

ปัจจุบันซีพีแรมมีอยู่ทั้งสิ้น 7 สาขา 16 โรงงานทั่วประเทศ ประกอบด้วย ซีพีแรมสำนักงานใหญ่ลาดหลุมแก้ว 4 โรงงาน, ลาดกระบัง 4 โรงงาน, บ่อเงิน 2 โรงงาน, ลำพูน 1 โรงงาน, ขอนแก่น 2 โรงงาน, ชลบุรี 2 โรงงาน และสุราษฎร์ธานี 1 โรงงาน

โดยซีพีแรม สาขานิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 1 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เปิดดำเนินการครั้งแรกในปี 2556 ประกอบด้วย 2 โรงงาน ได้แก่ 1. โรงงานผลิตอาหารพร้อมรับประทาน แบ่งเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ กลุ่มติ่มซำ, กลุ่มข้าวกล่องแช่แข็ง ข้าวปั้นโอนิกิริ ซูชิโรล และกลุ่มอาหารแช่เย็น ได้แก่ ข้าวถาดแช่เย็น สลัด ข้าวเหนียว และเบเกอร์ มีกำลังการผลิต 30,000 ตัน/ปี 2. โรงงานผลิตเบเกอรี่ ประกอบด้วย กลุ่มขนมปังแผ่น, กลุ่มขนมปังแซนด์วิช และกลุ่ม Frozen Dough กำลังการผลิต 30,000 ตัน/ปี

ชูความพิเศษในรูปแบบอุตสาหกรรมโรงงานสีเขียว (Green Factory) โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงาน (Solar Rooftop) ขนาดรวม 2 เมกะวัตต์ และช่วยลดการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก 

ทั้ง 2 โรงานมีกำลังการผลิตรวม 60,000 ตัน/ปี จำนวนพนักงานโดยประมาณ 2,000 คน โดยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อกระจายให้กับร้านสะดวกซื้อกว่า 1,300 สาขา ในพื้นที่ 7 จังหวัดตะวันออก นอกจากจะจัดส่งให้กับภาคตะวันออกแล้ว ในส่วนของผลิตภัณฑ์กลุ่มแช่แข็งยังจัดส่งให้กับสาขาลาดหลุมแก้ว และผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ทุกกลุ่มยังจัดส่งให้กับสาขาลาดกระบังเพิ่มเติม เพื่อกระจายต่อให้กับร้านสาขาทั่วประเทศอีกด้วย

สำหรับโรงงานขนมปังแผ่นแห่งใหม่นี้ มีจุดประสงค์เพื่อขยายขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเบเกอรี่ของซีพีแรม ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ครอบคลุมตัวอาคาร เครื่องจักร และเทคโนโลยี ที่นำระบบ automation มาใช้ โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตขนมปังแผ่นอยู่ที่ 2,400,000 แผ่นต่อวัน ซึ่งถือเป็นกำลังการผลิตที่สูง บวกกับกำลังการผลิตที่โรงงานลาดกระบังอีก 2,000,000 ล้านแผ่นต่อวัน รวมแล้วสามารถผลิตขนมปังแผ่นได้ 4,400,000 แผ่นต่อวัน ซึ่งคาดว่ากำลังการผลิตจะเพียงพอและสามารถซัพพลายได้ทั่วประเทศ

“เป็นโรงงานที่ลงทุนไม่เบาเลยทีเดียว กับการขายขนมปังหลักสิบ แต่พอกลับไปที่ต้นทุนแต่ละชิ้นของผลิตภัณฑ์มันถูกกว่าที่เราเคยทำจากเทคโนโลยีเก่าๆ และต้องยอมรับว่าตั้งแต่เปิดโรงงานมา เราพอใจมากๆ ในคุณภาพสินค้า มันนิ่งและเป็นเลิศขึ้นมาทันทีเลย การลงทุน 2,000 ล้าน ไม่ได้แพง ถ้ามองในระยะยาว”

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “เลอแปง” มีตั้งแต่ขนมปังแผ่น แพนเบรดสอดไส้ ขนมปังหน้าพิซซ่า ขนมปังไส้คาวหวาน แซนด์วิชสอดไส้ เค้กโรล และคัพเค้ก โดยมีแซนด์วิชกระเป๋า (Pocket Sandwich) เป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะมีลูกเล่นเยอะ มีหลายไส้ และยังปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้บริโภค

สำหรับปัจจัยด้านสภาพเศรษฐกิจและราคาต้นทุนที่อาจมีผลต่อราคาสินค้านั้น ทางซีพีแรมเปิดเผยว่า วัตถุดิบบางตัวที่ใช้ผลิตเบเกอรี่ไม่มีในประเทศไทย อย่างแป้งสาลีที่ต้องนำเข้า จึงต้องบริหารซัพพลายเชนเพื่อควบคุมต้นทุน เช่น การซื้อขายล่วงหน้ากับโรงงานผลิตแป้งสาลี การการันตีราคา รวมถึงพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และวางแผนการผลิตที่อิงตาม Lean Process เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตและไม่เป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค