วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
Home > Cover Story > ย้อนเส้นทางความสำเร็จของ “สแกน อินเตอร์” จากรับสร้างปั๊ม สู่ธุรกิจพลังงานครบวงจร

ย้อนเส้นทางความสำเร็จของ “สแกน อินเตอร์” จากรับสร้างปั๊ม สู่ธุรกิจพลังงานครบวงจร

บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN เริ่มกิจการครั้งแรกในปี 2531 โดยผู้ก่อตั้งอย่าง “ธัญชาติ กิจพิพิธ” ด้วยเงินทุนที่ไม่ได้สูงมากนักกับการรับสร้างโรงบรรจุน้ำมันซึ่งถือเป็นธุรกิจแรก ถัดจากนั้นในปี 2558 บริษัทเติบโตจนสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมกับสร้างปรากฏการณ์ปิดยอดซื้อขายวันแรกไปถึง 38,000 ล้านบาท ขึ้นแท่น SET 100 บริษัทที่มี Market Cap สูงที่สุดในขณะนั้น

จากธุรกิจรับสร้างโรงบรรจุน้ำมัน ปัจจุบัน “สแกน อินเตอร์” กลายเป็นบริษัทที่น่าจับตามองในฐานะผู้นำในธุรกิจพลังงานแบบครบวงจรที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง “ผู้จัดการ 360 องศา” จะพาไปย้อนเส้นทางความสำเร็จตลอด 36 ปีที่ผ่านมาของสแกน อินเตอร์ กับผู้บริหารรุ่นใหม่อย่าง “ดร. ฤทธี กิจพิพิธ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) และทายาทของ “ธัญชาติ กิจพิพิธ”

“สแกน อินเตอร์ เปิดบริษัทมาตั้งแต่วันที่ 6 เดือน 9 ปี 2531 อายุบริษัท 36 ปี เราเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันแรกเมื่อวันที่ 23 เดือน 2 ปี 2558 ถ้าจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของสแกน อินเตอร์ คงต้องย้อนไปสมัยรุ่นคุณพ่อที่เป็นผู้ก่อตั้ง พ่อผมเป็นลูกคนที่ 9 ในครอบครัวคนจีนที่มีพี่น้องทั้งหมด 11 คน ปู่กับย่าอพยพมาจากซัวเถา และมาตั้งรกรากที่ปัตตานีก็เลี้ยงหมูขายหมูในตลาด ซึ่งละแวกนั้นมีทั้งคนไทย จีน และมุสลิม ก็เกิดการกระทบกระทั่งกันบ้าง มันทำให้พ่อผมเขาเกิดความทะเยอทะยานอยากสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง”

ดร. ฤทธี เล่าต่อว่า รุ่นของผู้เป็นพ่อถือว่าโชคดีเพราะบรรดาพี่ๆ ทำงานแล้วเริ่มช่วยเหลือทางบ้านได้ ทำให้คุณพ่อของเขามีโอกาสได้เข้ามาศึกษาต่อระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

“พอเรียนจบคุณพ่อไปอยู่สงขลาเป็นช่างซ่อมเรืออยู่ระยะหนึ่ง และออกมาทำธุรกิจของตัวเองด้วยการรับเหมาก่อสร้าง สร้างบ้านอะไรพวกนี้ แต่เจ๊งไปไม่รอด ตอนนั้นผมเกิดแล้วแต่อยู่กับยายที่เบตง คุณพ่อเลยเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ในบริษัทรับเหมาก่อสร้างระบบท่อ ระบบน้ำมัน แต่บริษัทที่เขาทำเกิดขาดสภาพคล่อง พ่อเลยตัดสินใจออกมาตั้งบริษัทของตัวเอง เลยกลายมาเป็น สแกน อินเตอร์”

โดยงานแรกภายใต้บริษัทสแกน อินเตอร์ คือ การสร้างโรงบรรจุน้ำมันให้กับซัสโก้ (Susco) ซึ่งถือเป็นงานใหญ่งานแรกและเป็นงานที่ทำให้มีสแกน อินเตอร์ อย่างในทุกวันนี้

“ตอนนี้โรงบรรจุน้ำมันของซัสโก้ที่เราสร้างก็ยังอยู่ เป็นถังละล้านลิตรหลายๆ ถัง เป็นงานที่ทำให้พ่อผมได้รู้จักกับ ‘อาหมง’ หรือ ‘เสี่ยหมง ซัสโก้’ (ชัยฤทธิ์ สิมะโรจน์) นี่เป็นจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นเราก็รับงานรับเหมาก่อสร้างระบบท่อน้ำมันมาตลอดตั้งแต่ปี 2531”

จากงานสร้างระบบท่อน้ำมัน สแกน อินเตอร์ ขยายธุรกิจให้กว้างขึ้นไปอีกด้วยการเข้าสู่การเป็นผู้รับเหมาสร้างปั๊มน้ำมัน โดยสร้างปั๊มน้ำมันที่เป็นแฟล็กชิปของทั้ง ปตท. (ชื่อในสมัยนั้นก่อนเปลี่ยนเป็น OR ในภายหลัง), เชลล์, ซัสโก้, บางจาก ซึ่งเรียกได้ว่าเกือบทุกยี่ห้อในประเทศไทย

“เราสร้างปั๊มน้ำมันมาตลอด และทำงานให้ ปตท. ดีมาก ทุกวันนี้ในขณะที่เป็นยุคผมที่ทำ เราก็ยังรับสร้างปั๊มอยู่ และถือเป็น Core Value ของเราในเรื่องวิศวกรรมในการสร้างระบบน้ำมันต่างๆ”

NGV จุดเปลี่ยนแรกของสแกน อินเตอร์

“พอปี 2543 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของบริษัท เพราะเมื่อก่อนเรารับเหมาก่อสร้างไปเรื่อยๆ สร้างพวกระบบน้ำมัน ระบบต่างๆ เริ่มสร้างอสังหาฯ สร้างคอนโดมิเนียม สร้างโรงเรียนที่ตรังบ้าง แต่จุดเปลี่ยนคือการมี NGV เข้ามาในสมัยรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ ตอนนั้นคนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลเพี้ยนเพราะเอาก๊าซไปใส่ในรถ มันจะใส่ได้อย่างไร แต่พ่อผมเห็นต่าง เรามองว่ามันทำได้”

จากการสร้างปั๊มน้ำมัน สแกน อินเตอร์ ก้าวขาเข้าสู่พลังงานใหม่อย่าง NGV ด้วยการรับสร้างปั๊มก๊าซ NGV ให้กับ ปตท. ซึ่งความยาก ณ ตอนนั้น อยู่ที่ ปตท. มีเงื่อนไขว่า ถ้าจะทำต้องมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นตะวันตกเท่านั้น ห้ามใช้ของที่ไม่ได้มาตรฐาน

“สมัยนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่ทันสมัย มีก็ช้ามาก เพราะฉะนั้นวิธีการหาพันธมิตรคือการวิ่งไปที่สถานทูต สถานกงสุล ประเทศต่างๆ เพื่อหาคนที่มีเทคโนโลยีนี้เพื่อนำมาใช้ที่เมืองไทย สุดท้ายไปเจอที่นิวซีแลนด์ ชื่อบริษัท อินเตอร์เม็ค ตอนหลังถูกขายให้กับแอตลาส คอปโก เราก็ไปที่อินเตอร์เม็คไปนำอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในปั๊ม NGV ทั้งหมด เอากลับมาสร้างปั๊ม NGV ในไทย โดยปั๊มแรกที่เราสร้างอยู่ที่รังสิตสำหรับเติมให้กับรถเมล์”

สแกน อินเตอร์ ถือเป็นบริษัทแรกที่สร้างปั๊ม NGV ในเมืองไทยที่สามารถสร้างผลงานได้เป็นอย่างดี และทำให้มีปั๊ม 2, 3 และ 4 ตามมาเรื่อยๆ ซึ่งบริษัทฯ ก็มีการนำเข้าอุปกรณ์เข้ามาเรื่อยๆ เช่นกัน จนคู่แข่งเริ่มตามมา และมีการนำเข้าอุปกรณ์เพื่อมาประมูลงานแข่งกัน

และสิ่งที่สแกน อินเตอร์ นำมาปรับกระบวนทัพ คือ ลดการนำเข้าอุปกรณ์ในการสร้างปั๊ม NGV บางส่วน จากที่เคยนำเข้าทั้งหมดจากนิวซีแลนด์ โดยนำมาผลิตเองในไทยซึ่งคิดเป็น 60% ของมูลค่าสินค้า นั่นทำให้ต้นทุนของสแกน อินเตอร์ ชนะคู่แข่งอย่างรุนแรง และทำให้ชนะประมูลงานจาก ปตท. มาอย่างต่อเนื่อง

“พอถึงจุดที่มันประมูลแข่งกันปุ๊บ พ่อผมบอกเลยว่า NGV มีอนาคตไกล เงินที่เราได้มาจากการทำปั๊มทั้งหมด พ่อไม่เก็บเข้าครอบครัวเลย แต่เอาไปสร้างโรงงานผลิตคอมเพรสเซอร์ เราประมูลงานกับ ปตท. ตอนนั้น NGV โรดแมปต้องขึ้นให้ได้ 700 สถานี ภายใน 2-4 ปี เราชนะทุกงาน จน ปตท. ไม่อนุญาตให้เราเข้าประมูล ไม่ใช่เพราะเขากลัวฮั้ว แต่เขากลัวว่าเราจะทำไม่ทัน เพราะงานในมือปีหนึ่ง 200 ปั๊ม ตอนนั้นบริษัทกำไรดีมาก”

ถ้าดูจากจำนวนปั๊มที่รับสร้าง อาจเรียกได้ว่า สแกน อินเตอร์ คือบริษัทที่สร้างปั๊มให้กับ ปตท. มากที่สุดในประเทศไทย ทั้งปั๊ม NGV และน้ำมัน รวมกว่า 400-500 ปั๊ม และถ้ารวมกับปั๊มค่ายอื่นๆ สแกน อินเตอร์  น่าจะสร้างไปแล้วมากกว่า 700 ปั๊มทั่วประเทศ

สัมปทานการผลิตก๊าซ NGV” อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

จุดเปลี่ยนที่สองที่ถือว่าสำคัญที่สุดสำหรับสแกน อินเตอร์ คือ การได้สัมปทานจาก ปตท. ในการเป็นผู้ผลิตแก๊ส NGV ให้กับพื้นที่ภาคกลางทั้งหมด

ดร. ฤทธี อธิบายว่า ประเภทของปั๊ม NGV แบ่งเป็น Conventional Station เป็นสถานีบริการ NGV ที่ตั้งอยู่บนแนวท่อส่งก๊าซประเภทที่มีท่อผ่านและมีปั๊มอยู่ ไม่ต้องพึ่งพาการขนส่งก๊าซผ่านทางระบบการขนส่งทางรถขนส่ง แต่ถ้าเข้าไปในเมืองหรือในที่ที่ไม่มีท่อ ต้องขนก๊าซจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่งมีสถานีจ่ายก๊าซหลัก หรือสถานีแม่ (Mother Station) เป็นสถานีหลักที่ทำหน้าที่อัดและบรรจุก๊าซฯ ให้รถขนส่งก๊าซและจัดส่งให้กับสถานีบริการปลายทางที่อยู่นอกแนวท่อส่งก๊าซ ที่เรียกว่าสถานีลูก (Daughter Station)

ซึ่งการบรรจุก๊าซ NGV ต้องผ่านกระบวนการ Gas Purification ปรับปรุงคุณภาพให้กลายเป็นก๊าซ NGV โดยสแกน อินเตอร์ ได้สัมปทานผลิตแก๊ส NGV ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศที่ 700 กิโลกรัมต่อวัน (ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 500 กิโลกรัมต่อวัน) ซึ่งเป็นช่วงระหว่างปี 2552 ที่ NGV บูมมาก และไม่เพียงเท่านั้น สแกน อินเตอร์ ยังได้สัมปทานในการขนก๊าซ NGV จาก Mather Station ไปยัง Daughter Station ทั่วภาคกลางเพิ่มเข้ามาอีกด้วย

“เราไปติดต่อบริษัทที่อิตาลีเพื่อนำเข้าอุปกรณ์ Conversion Gas เอามาติดตั้งรถ ตอนนั้นผมเริ่มโตแล้ว เขาเลยส่งไปอินเดีย ไปเอาอุปกรณ์ที่แปลงรถใหญ่ รถสิบล้อ รถหัวลากที่เป็นดีเซลมาใช้ NGV ตอนนั้นเราทำครบวงจรและมีปั๊มของเราเองด้วย 13 ปั๊ม”

เดินหน้าขยายธุรกิจสู่การขนส่งและพลังงานหมุนเวียน

การได้สัมปทานขนก๊าซ NGV จาก ปตท. เป็นดั่งสารตั้งต้นในการขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจขนส่งของสแกน อินเตอร์ เพราะการขนส่งก๊าซต้องใช้รถหัวลากในการขนส่ง โดย ปตท. มีข้อกำหนดห้ามใช้เกิน 8 ปี และห้ามวิ่งเกินหนึ่งล้านกิโลเมตร และหลังจากนั้นต้องปลดประจำการ

ซึ่งรถหัวลากเหล่านั้นยังสามารถนำไปใช้งานอื่นได้ สแกน อินเตอร์ จึงนำมาขยายธุรกิจต่อ ด้วยการตั้งบริษัทขนส่งขึ้นใหม่ในชื่อ “บริษัท สแกน อินเตอร์ โลจิสติกส์” เพื่อประกอบธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นช่วงที่ ดร.ฤทธี สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมพลังงาน University of Massachusetts Lowell จากประเทศสหรัฐอเมริกา และเข้ามาทำงานในบริษัทฯ อย่างเต็มตัว ในราวๆ ปี 2555

ประจวบเหมาะกับขณะนั้นพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังเป็นกระแสดังในเมืองไทย ซึ่งสแกน อินเตอร์ ก็กระโดดเข้าสู่ธุรกิจผลิตพลังงานหมุนเวียนนี้ด้วยเช่นกัน โดยได้รับ PPA (Power Purchasing Agreement) สัญญาการซื้อขายไฟฟ้ามา 2 ใบ รวม 2.5 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนกว่า 200 ล้านบาท และนั่นทำให้สแกน อินเตอร์ ตัดสินใจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในที่สุด

“ตอนนั้นบริษัทหลักทรัพย์เข้ามาคุย และบอกว่าบริษัทฯ นี้ควรเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เราก็ปั้นกันอยู่พักหนึ่ง และเข้าตลาด SET ประมาณปี 2558 โดยยอดซื้อขายวันแรกพุ่งไป 38,000 ล้านบาท หุ้น IPO 5 บาท ขึ้นไป 15.50 บาท ตอนนั้นนักลงทุนเขาสนใจว่าเราเป็นธุรกิจพลังงานน้องใหม่ โดยมีเรือธงคือ NGV”

โดยธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของสแกน อินเตอร์ ประกอบด้วยการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ภาคเอกชนและภาครัฐ, รับเหมาก่อสร้าง ออกแบบ และติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ รวมถึงธุรกิจปฏิบัติการและซ่อมบำรุง นอกจากนั้น ยังเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเมียนมา ภายใต้บริษัท GEP (Green Earth Power) อีกด้วย

หลังจากนั้นไม่นานภาครัฐมีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน โดยมีการสนับสนุนพลังงานจากไบโอดีเซลมากขึ้น ทำให้ธุรกิจ NGV ต้องปรับตัว โดยมีการขนส่งก๊าซไปยังโรงงานอุตสาหกรรมโดยตรงแทนที่จะส่งเข้าปั๊มเพียงอย่างเดียว เพื่อเพิ่มฐานลูกค้า ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกที่ทำและส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด

“เราประดิษฐ์อุปกรณ์ชนิดหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า PRS (Pressure Reducing Station) หรือตัวลดแรงดันก๊าซ เพื่อใช้ในการขนก๊าซเข้าไปยังโรงงาน เราขาย Industrial Compress Natural Gas – ICNG นี่คือศัพท์ที่ผมคิดเอง ขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม ในภายหลังนี่คืออีกหนึ่งจุดเปลี่ยน โดยเราแยกออกมาให้ไปอยู่ในอีกบริษัทหนึ่งในชื่อ บริษัท เครือข่ายก๊าซไทย-ญี่ปุ่น จำกัด เป็นการร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น”

จากธุรกิจรับสร้างโรงบรรจุน้ำมัน ปัจจุบันสแกน อินเตอร์ ถือเป็นผู้นำธุรกิจก๊าซธรรมชาติ พลังงานทดแทน และขนส่งแบบครบวงจร ประกอบด้วย 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ทั้งรับเหมาก่อสร้างสถานีและเดินท่อก๊าซ, ธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับอุตสาหกรรม (iCNG/iLNG), ธุรกิจผลิต-ขนส่งก๊าซธรรมชาติ 2. ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน, 3. ธุรกิจยานยนต์ จับมือกับผู้ผลิตรถโดยสารจากประเทศจีน เพื่อจำหน่ายและซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ยังได้รับสัมปทานโครงการจัดหาและซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) ให้กับ ขสมก. จำนวน 489 คัน เป็นระยะเวลา 10 ปี แต่ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ยกเลิกสัญญาไปในที่สุด 4. ธุรกิจขนส่ง ทั้งขนส่งวัตถุอันตรายต่างๆ อย่าง ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG), ก๊าซธรรมชาติ (NGV), ก๊าซไนโตรเจน (N2), ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และสินค้าทั่วไป

โดยปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้รวมของกลุ่มบริษัทไปได้ถึง 2,068 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1/67 กวาดรายได้ไปแล้วกว่า 467 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 23% โดยการเพิ่มขึ้นของรายได้ดังกล่าวมาจากการเติบโตต่อเนื่องของทุกกลุ่มธุรกิจ นอกจากนั้น ยังมีแผนดันบริษัทย่อย “บริษัท สแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด” (SAP) ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เพิ่มเติม โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภายในและเตรียมยื่นแบบแสดงข้อมูล (ไฟลิ่ง) ซึ่งคาดว่าจะชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ไม่เพียงเท่านั้น ดร. ฤทธี ยังมองโอกาสต่อยอดการเติบโตของธุรกิจให้ไปไกลกว่าเดิม ด้วยการเดินหน้าศึกษาพลังงานรูปแบบใหม่อย่างการผลิตไฮโดรเจน หรือบลูไฮโดรเจน เพื่อหาโอกาสและความเป็นไปได้ในการลงทุน ซึ่งจะเป็นการต่อยอดธุรกิจและเสริมความแข็งแกร่งให้ SCN ในอนาคต

“คนพลังงานทุกคนไม่มีใครเถียงได้ว่า ไฮโดรเจนจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของพลังงาน มันคือคำตอบสุดท้ายของพลังงานอย่างแน่นอน ตอนนี้กำลังศึกษาตลาดและความเป็นไปได้ในการลงทุนผลิตไฮโดรเจน ผมอยากตัดสินใจภายในปีนี้ เราอยากเป็นผู้บุกเบิกการผลิตไฮโดรเจนในไทย” ดร. ฤทธี กล่าวทิ้งท้าย.