วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Home > Cover Story > อิน สาริน – ไท้ วสุวัส ปั้นแบรนด์ Holiday Pastry จากร้านขนมออนไลน์ สู่ Food Retail

อิน สาริน – ไท้ วสุวัส ปั้นแบรนด์ Holiday Pastry จากร้านขนมออนไลน์ สู่ Food Retail

หากเอ่ยชื่อ “อิน-สาริน รณเกียรติ” เชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่ไม่น้อย ในบทบาทการเป็นนักแสดงซีรีส์ชื่อดังหลายๆ เรื่อง ทั้งบท “ภูผา” ในซีรีส์ชุดลูกผู้ชาย หรือบท “พ่อเพิ่ม” ในละครเรื่องทองเอก หมอยา ท่าโฉลง รวมถึงผลงานสร้างชื่อในซีรีส์วายออริจินัลเรื่องแรกของช่อง 3HD อย่าง “คุณหมีปาฏิหาริย์”

แต่นอกจากการเป็นนักแสดงแล้ว อีกหนึ่งบทบาทที่น่าจับตาไม่แพ้กัน คือการเป็นเจ้าของแบรนด์ Holiday Pastry ร้านขนมสุดฮิต ที่มีนักธุรกิจหนุ่มทายาทตระกูลดังอย่าง “ไท้-วสุวัส คูหาเปรมกิจ” เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และที่สำคัญเขากำลังต่อยอดสร้างการเติบโตให้กับ Holiday Pastry จากร้านขนมออนไลน์ สู่การเป็น Food Retail ที่รวบรวมความอร่อยจากทุกมุมโลกมาไว้ที่ไทย

Holiday Pastry เปิดตัวครั้งแรกในฐานะร้านขนมออนไลน์ เมื่อปี 2563 ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ด้วยความแปลกใหม่และรสชาติของตัวขนม โดยมีพระเอกของร้านอย่าง “Premium Basque Burnt Cheesecake” ชีสเค้กหน้าไหม้สัญชาติสเปน, “Fountain Chocolate Cake” เค้กช็อกโกแลตเข้มข้น รวมถึง O.M.G. Pie พายคัสตาร์ดคาราเมลเครมบรูเล เป็นตัวชูโรง

วสุวัส คูหาเปรมกิจ Co-Founder และ Brand Director บริษัท เดอะ ฮอลิเดย์ จำกัด เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า จากการเล็งเห็นช่องว่างของตลาดร้านขนมในไทย ที่ยังมีผู้เล่นหลักๆ ไม่กี่ราย และยังขาดความหลากหลาย เมื่อเทียบกับนิวยอร์ก ลอนดอน โซล และซิดนีย์ ที่สำคัญร้านขนมที่มีส่วนใหญ่ยังเป็นร้าน Specialty ที่เน้นขายเฉพาะขนมอย่างใดอย่างหนึ่ง พอกระแสเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน จึงมีไอเดียอยากปั้นแบรนด์ร้านขนมที่เป็น The One and Only นำเสนอประสบการณ์ที่แปลกใหม่แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย

จึงเป็นที่มาของการเปิดตัว Holiday Pastry ร้านขนมออนไลน์ที่มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่น แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะตั้งแต่วันแรกที่ทั้งสองคนตัดสินใจทำธุรกิจนี้ พวกเขาวางเป้าหมายของ Holiday Pastry ไม่ใช่แค่ร้านขนมออนไลน์ แต่คือ Food Retail ศูนย์กลางที่รวบรวมความอร่อยจากทุกมุมโลกมาไว้ในเมืองไทย ผ่านแผนธุรกิจระยะยาวที่วางไว้ตลอด 5 ปี

โดยหลังจากเปิดร้านขนมออนไลน์ได้ 2 ปี จนสร้างฐานแฟนคลับได้อย่างแข็งแกร่งแล้ว ทั้งคู่ตัดสินใจเปิดแฟล็กชิปสโตร์แห่งแรกของ Holiday Pastry ขึ้นที่โครงการ OURS คอมมูนิตี้มอลล์ ย่านเจริญนครซอย 10 ที่มีสารินเป็นเจ้าของโครงการ เพื่อเป็นการสร้างภาพจำของแบรนด์ให้ชัดเจนมากขึ้น และเป็นการต่อยอดจากร้านค้าออนไลน์สู่ On Ground Store ตามแผนธุรกิจที่วางไว้

เจาะลึกแผนธุรกิจ 5 ปีของ Holiday Pastry

“ณ วันแรกที่เปิดร้านในออนไลน์ เราทำ 5 Years Plan เลย เพราะเป้าหมายของเราตั้งแต่วันแรกคือการเป็น Food Retail เอาแบรนด์ร้านอาหารจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง เกาหลี อเมริกา หรือประเทศใดก็ตามเข้ามา แต่มันต้องมีพอร์ต เลยเริ่มสร้างพอร์ต F&B โดยเริ่มจากการเปิด Holiday Pastry ร้านขนมออนไลน์ภายใต้บริษัท เดอะ ฮอลิเดย์ จำกัด” วสุวัสเปิดเผย

สำหรับแผนธุรกิจ 5 ปีของ Holiday Pastry นั้น หลังจากเปิดร้านออนไลน์ไปเมื่อปี 2563 พอเข้าปี 2564  เป็นปีแห่งการสร้าง Brand Awareness ให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเน้นสร้าง follower ในช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มที่แข็งแรงให้กับแบรนด์ โดยปัจจุบันมียอด follower ใน Line Shopping Official ราวๆ 80,000 คน และในอินสตาแกรมอีก 90,000 คน

ปี 2565 เน้นเรื่องการสร้างแบรนด์และสร้างภาพจำให้ชัดและแข็งแรงขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของแบรนด์ในอนาคต ด้วยการเปิดแฟล็กชิปสโตร์ โดยชูคอนเซ็ปต์ที่ตอกย้ำความเป็น “The One & Only” พาทุกคนท่องเที่ยวทั่วโลกผ่านจานอาหารและขนม

ปี 2566 เพิ่มทางเลือกเมนูที่หลากหลาย เสริมทัพอาหาร All Day Dining และขนมหวานกว่า 100 เมนู รวมทั้งขยายไปสู่บริการสั่งเค้กวันเกิด ขนมไหว้พระจันทร์ และ Catering

ปี 2567 ขยายสาขา เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสกับประสบการณ์ Dining Destination รูปแบบใหม่ๆ ทั่วเมือง พร้อมกับการคอลแลบส์กับแบรนด์ระดับโลก และแตกแบรนด์เพิ่ม

ปี 2568 ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายธุรกิจ Food Retail พร้อมแตกแบรนด์ลูก และธุรกิจอื่นๆเพิ่มเติม

สำหรับ Holiday Pastry แฟล็กชิปสโตร์แห่งแรก เป็นร้านขนมสไตล์ All Day Dining ที่สารินบอกว่า มันเป็นมากกว่าคาเฟ่ แต่คือ Creative Dessert Destination หรือจุดหมายปลายทางที่ต้องแวะมาเมื่ออยากกินขนมอร่อยๆ

โดยเมนูภายในร้านมีหลากหลายครบทั้งคาวหวาน รวมถึงเมนูสุดฮิตตั้งแต่เป็นร้านออนไลน์ ด้านการตกแต่งเน้นโทนสีเหลืองที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น มีพื้นที่ทั้ง indoor และ outdoor ที่เหมาะกับการนั่งชิลล์และถ่ายรูป ทำให้แฟล็กชิปสโตร์แห่งนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากคนไทยและนักท่องเที่ยว ถึงขนาดที่บางคนลากกระเป๋าเดินทางมาต่อคิวกันเลยทีเดียว

หลังจากเปิดแฟล็กชิปสโตร์ครบ 1 ปี Holiday Pastry เดินหน้าตามแผนธุรกิจอีกครั้ง ด้วยการรุกเข้าสู่ห้างใหญ่ใจกลางกรุง เปิดตัวสาขา 2 ขึ้นที่ชั้น 7 ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้ชื่อ Holiday Pastry “The Dining Room” โดยเปิดบริการไปเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยงบลงทุนกว่า 7 ล้านบาท รองรับได้ถึง 80 ที่นั่ง

สำหรับ Holiday Pastry “The Dining Room” จะเน้นเรื่องอาหารมากขึ้น มีเมนูคาวหวานรวม 100 เมนู วางโพสิชั่นนิ่งการเป็นครั้งแรกที่ร้านอาหารและร้านขนมควบรวมอยู่ในร้านเดียวกัน โดยจำลองบรรยากาศร้านมาจากล็อบบี้โรงแรมของมหานครนิวยอร์ก

สาริน ในฐานะ Co-Founder และ Creative Director อธิบายถึงการออกแบบภายในร้านว่า “คอนเซ็ปต์ที่เราวางไว้คือ เป็นการจำลองบรรยากาศล็อบบี้โรงแรมในมหานครนิวยอร์ก ยุค Art Deco ที่มีการเล่นกับสีสันที่สะดุดตาราวกับหลุดไปอยู่ในภาพยนต์เรื่อง The Grand Budapest Hotel ของผู้กำกับชื่อดัง  Wes Anderson ภายในประกอบด้วยโซน Immersive Experience ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนได้เดินทางวาร์ปจากสถานที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ก่อนจะเข้าสู่โซนรับประทานอาหาร ที่ตั้งใจออกแบบให้ความรู้สึกเหมือนล็อบบี้โรงแรม เพื่อสื่อถึงคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ ที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก มีการเพิ่มไลน์อาหารจาก Brunch มาเป็น All Day Dinner มีการปรับเพิ่มจากเมนูเดิมที่มีอยู่ 40 เมนู เป็น 100 เมนู โดยตั้งใจว่า ในแต่ละสาขาจะยังคงเมนูยอดฮิตและซิกเนเจอร์ไว้ เพิ่มเติมคือเมนูพิเศษที่เป็น The One and Only ของแต่ละสาขา ซึ่งเป็นเหมือนมิชชั่นให้ลูกค้าต้องตามเก็บให้ครบ และยังมีโซนชอปปิ้งสำหรับซื้อสินค้าหรือของที่ระลึกจาก Holiday Pastry”

ไม่เพียงเท่านั้นปลายปีนี้ยังมีแผนเปิดเพิ่มอีกหนึ่งสาขาที่ The Emsphere (ดิ เอ็มสเฟียร์) เป็นลักษณะ Dessert Bar ขายเฉพาะขนม แต่จะใส่ลูกเล่นและความสนุกลงไปในตัวขนมมากขึ้น รวมถึงการตกแต่งที่เน้นแนวเท่ๆ คูลๆ ต่างจาก 2 สาขาแรก

ต้องบอกว่าทั้งสารินและวสุวัสให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าเป็นอย่างมาก ทั้งการออกแบบคอนเซ็ปต์ร้าน เมนูอาหาร การตกแต่งร้าน จาน ชาม และชุดพนักงานล้วนผ่านการออกแบบมาอย่างดี และที่น่าสนใจคือ ในแต่ละร้านจะมีกลิ่นหอมเฉพาะที่ Holiday Pastry ร่วมพัฒนากับแบรนด์เครื่องหอมของไทยอย่าง BsaB พัฒนากลิ่นหอมเฉพาะในแต่ละสาขา ซึ่งเป็นการสร้างความแตกต่างและจุดขายให้กับ Holiday Pastry นอกเหนือจากตัวอาหารและขนมได้อีกส่วนหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีแผนกลับไปขยายสาขาแฟล็กชิปสโตร์จาก 40 ที่นั่ง สู่ 100 ที่นั่ง รวมถึงสร้างครัวกลางขนาดใหญ่กว่า 1,000 ตารางเมตรที่เจริญนคร ด้วยงบลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวของปีต่อๆ ไป

ไม่ใช่แค่ร้านอาหาร แต่ปีที่ผ่านมา Holiday Pastry ยังรุกเข้าสู่ธุรกิจจัดเลี้ยง (Catering) โดยทำให้กับแบรนด์ใหญ่ๆ ในลักษณะ B2B และยังมีการคอลแลบส์กับแบรนด์ดังต่างๆ ในอีเวนต์พิเศษ เช่น Coach แบรนด์ Hi Street ชื่อดังของอเมริกา, Karun Thai Tea แบรนด์ชาไทยพรีเมียม, Smizzler Burger เบอร์เกอร์เนื้อเจ้าดังของไทย,  Jo’s แบรนด์พายบานอฟฟี่และไลฟ์สไตล์ ชื่อดังจากเชียงใหม่ เป็นต้น

โดยหลังจากนี้ Holiday Pastry ยังมีโปรเจกต์ที่ร่วมงานกับแบรนด์ดังหลายแบรนด์ในทุกไตรมาสไปจนถึงปีหน้า ซึ่งเป็นแบรนด์ในวงการอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงในระดับเอเชียไปจนถึงแบรนด์ระดับโลก

อีกหนึ่งความสำเร็จของ Holiday Pastry ที่ต้องหยิบยกมากล่าวถึงคือ “ขนมไหว้พระจันทร์” ที่เรียกได้ว่าขายดิบขายดีและสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากปี 2563 ที่ทำขายปีแรกจนถึงปัจจุบัน สร้างยอดขายไปแล้วกว่า 200,000 ชิ้น เติบโตถึง 300%

“สิ่งที่ทำให้ขนมไหว้พระจันทร์โตแบบก้าวกระโดด เพราะเราฟังเสียงจากลูกค้าว่าลูกค้าอยากได้อะไร จุดขายอย่างแรกคือแพ็กเกจจิ้งต้องสวย เพราะเขาซื้อเป็นของขวัญ และที่สำคัญรสชาติต้องอร่อย” วสุวัสเน้นย้ำ

โดยขนมไหว้พระจันทร์ของ Holiday Pastry ได้เชฟต้นตำรับจากฮ่องกงมาช่วยพัฒนาสูตร ปัจจุบันมี 6 รสชาติ แต่ที่ขึ้นชื่อคือ รสไข่เค็มฮ่องกงคัสตาร์ด ทรัฟเฟิลคัสตาร์ด และทุเรียนหมอนทองคัสตาร์ด

ปี 2567 Holiday Pastry วางแผนเปิดแบรนด์เพิ่มเติมอีก 3 แบรนด์ เพื่อสร้างความหลากหลายและความแข็งแกร่งให้พอร์ตโฟลิโอของบริษัท ซึ่งทั้ง 3 แบรนด์ ประกอบด้วย แบรนด์ขนมปัง เครื่องดื่ม และอาหารไทยต้นตำรับ โดยจะเริ่มจากการเปิดเป็นร้านป๊อปอัปที่จะเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ เพื่อลองตลาดและทำให้คนรู้จัก ก่อนที่จะเปิดเป็นสาขาถาวรในปีที่ 5

สำหรับความท้าทายของธุรกิจของอาหารและขนม สารินกล่าวว่า “Food is Fashion” ธุรกิจอาหารก็เหมือนแฟชั่น มีเทรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น นอกจากจะฟังเสียงลูกค้าแล้ว ยังต้องตามเทรนด์ให้ทันและต้องฉับไว

ปัจจุบันลูกค้าหลักของ Holiday Pastry เป็นคนไทย 60% ชาวต่างชาติ 40% อายุระหว่าง 24-35 ปี โดยฐานลูกค้าหลักที่มองไว้ คือกลุ่มครอบครัวและนักท่องเที่ยว ถ้ามองในแง่ตัวเลขรายได้พบว่า 3 ปีแรก เติบโต 100% ทุกปี สำหรับปี 2566 คาดว่ายอดขายจะแตะที่ 100 ล้านบาท และตั้งเป้าภายใน 3 ปี ธุรกิจจะเติบโต 300% โดยมีเป้าหมายใหญ่ที่วางไว้ คือ การขึ้นแท่นเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจอาหารและขนมของเมืองไทย

และถ้าวันนั้นมาถึงคำว่าอายุน้อยร้อยล้านคงจะเบาบางเกินไปที่จะนิยามผู้ก่อตั้ง Holiday Pastry ทั้งสองคน.