วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
Home > Cover Story > ม้าเลียบคุน มาบุญครอง พลิกต้นตระกูล “บูลกุล” 

ม้าเลียบคุน มาบุญครอง พลิกต้นตระกูล “บูลกุล” 

ม้าเลียบคุน ต้นตระกูล “บูลกุล” เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2440 เป็นลูกชายคนแรกของม้าถ่องเจ๊งกับจีเข่งชิน ครอบครัวชาวจีนกวางตุ้งที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย รับจ้างเป็นช่างฝีมือประจำโรงสี และเก็บหอมรอมริบสร้างโรงสีของตัวเองแถวย่านบางปะกอก ธนบุรี

ม้าถ่องเจ๊งส่งม้าเลียบคุนไปศึกษาที่โรงเรียนเซนต์สตีเวนในฮ่องกง กระทั่งอายุ 19 ปี เรียนจบเดินทางกลับบ้าน มาเป็นผู้จัดการโรงสีจินเส็ง ซึ่งเวลานั้นถือเป็นโรงสีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ต่อมา เตี่ยลาโลกไป เขาสืบทอดขยายกิจการเติบโตก้าวไกล พัฒนาธุรกิจส่งออกข้าว ตั้งสาขาในต่างประเทศ คือ ห้างจินเส็งฮงที่ฮ่องกง และห้างส่งเส็งที่สิงคโปร์ ส่วนในประเทศยังเป็นต้นคิดตั้งบริษัทเดินเรือรับส่งสินค้าและเปิดธนาคารจินเส็งฮงในปี 2476

ปี 2484 นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม อนุญาตให้ม้าเลียบคุนโอนสัญชาติเป็นไทย โดยตั้งนามสกุลให้ว่า “บูลกุล” กลายเป็นนายมา บูลกุล รวมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทข้าวไทย

นายมามีลูกๆ กับภรรยาชื่อ “บุญครอง” รวม 9 คน เป็นลูกชาย 4 คน คือ  ศุภชัย วันชัย โชคชัย และศิริชัย ส่วนลูกสาว 5 คน ต่างแต่งงานแยกครอบครัว ได้แก่ มาลี เลียงชัยกุล อมรา ภัทรธรรมมาศ จันทนา ลิ่มปิวิวัฒน์กุล ลาวัณย์ ซอย และนิรมล สุริยสัตย์  ซึ่งในบรรดาลูกๆ มีศิริชัย บูลกุล เข้ามาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสานต่อกิจการ

วันที่ 25 กรกฎาคม 2517 ศิริชัยจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท มาบุญครองอบพืชและไซโล จำกัด เพื่อดำเนินกิจการให้บริการพัก เก็บ อบ และขนถ่ายผลิตผลทางการเกษตร

ปี 2526 เขาตัดสินใจเช่าที่ดินบริเวณสี่แยกปทุมวันกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อสร้างโครงการ ซึ่งในตอนแรกใช้ชื่อ “จุฬาคอมเพล็กซ์” ก่อนเปลี่ยนเป็นศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ จากชื่อพ่อ “มา” และชื่อแม่ “บุญครอง” เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2528

ช่วงปี 2527 บริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล จำกัด สร้างความฮือฮา ผลิตข้าวสารบรรจุถุงพลาสติกขนาด 2 และ 5 กิโลกรัมเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ใช้ชื่อยี่ห้อว่า “ข้าวมาบุญครอง” พร้อมสโลแกน ‘สะอาดทุกถุง หุงขึ้นหม้อ’

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Pinid Bulakul

แน่นอนว่า ห้างมาบุญครองในยุคนั้นถือเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ผนังอาคารบุด้วยหินอ่อนทั้งภายในและภายนอก มีร้านค้าขายสินค้าแบรนด์เนม ห้างสรรพสินค้าโตคิวจากญี่ปุ่น ศูนย์อาหารทันสมัย โรงแสดงคอนเสิร์ตและสวนสนุกบนดาดฟ้า

ทว่า เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤตช่วงปี 2527 รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประกาศลดค่าเงินบาทจาก 23 บาท เป็น 27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกพืชผลทางการเกษตรของไทย การขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และขาดดุลงบประมาณ

แต่อีกด้านหนึ่งส่งผลกระทบต่อบริษัทเอกชนมากมาย รวมถึงบริษัท มาบุญครองอบพืชและไซโล จำกัด เริ่มประสบปัญหาหนี้สินจำนวนมากและศูนย์การค้ามาบุญครองเพิ่งเปิดให้บริการได้ไม่นาน ยังมีผู้เช่าไม่เพียงพอ ในที่สุดบริษัทต้องเปิดทางให้บริษัททุนธนชาต จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในปี 2532

ปี 2533 มีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท เอ็มบีเค พรอพเพอร์ตีส์ แอนด์ ดีเวลอปเมนต์ จำกัด ก่อนเข้าจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2537 และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2539 ใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า MBK-PD และเริ่มซื้อขายหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายนปีเดียวกัน

วันที่ 9 พฤษภาคม 2543 เปลี่ยนชื่อศูนย์การค้าจากมาบุญครอง เซ็นเตอร์ เป็น เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ รวมทั้งปรับปรุงอาคาร ต่อมาเปลี่ยนชื่อบริษัทอีก 2 ครั้งเป็นบริษัท เอ็ม บี เค ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2545 และบริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) ในปีถัดมา รวมทั้งเปลี่ยนชื่อย่อหลักทรัพย์เป็น MBK

ปี 2555 บริษัทปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ รวมธุรกิจในเครือภายใต้ชื่อ เอ็ม บี เค กรุ๊ป โดยปัจจุบันมี 8 ธุรกิจหลัก เริ่มจากธุรกิจศูนย์การค้า 5 ศูนย์ ได้แก่ เอ็มบีเคเซ็นเตอร์ พาราไดซ์พาร์ค พาราไดซ์เพลส เดอะไนน์เซ็นเตอร์ พระราม 9 และเดอะไนน์เซ็นเตอร์ ติวานนท์

ธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว ได้แก่ ลยานะรีสอร์ทแอนด์สปา ดุสิตธานีกระบี่บีชรีสอร์ท โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ทินิดีโฮเทลแอนด์รีสอร์ท และดิโอลิมปิคคลับ

ธุรกิจกอล์ฟมีสนามกอล์ฟริเวอร์เดลกอล์ฟคอร์ส บางกอกกอล์ฟคลับ ล็อคปาล์มกอล์ฟคอร์ส และเรด เมาท์เทิน กอล์ฟ คอร์ส

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการควินน์ สุขุมวิท 101 ควาริทซ์ พระราม 9 พาร์ค ริเวอร์เดล เดอะริเวอร์เดล เรสซิเดนซ์ และโครงการในต่างจังหวัด

ธุรกิจอาหาร ได้แก่ กิจการข้าวมาบุญครองและฟู้ดคอร์ท ฟู้ด เลเจ้นด์ส บาย เอ็มบีเค

ธุรกิจการเงิน ได้แก่ สินเชื่อรถจักรยานยนต์ (T Leasing) และสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (MBKG)

ธุรกิจการประมูล ได้แก่ ศูนย์ประมูลรถยนต์ Apple Auto Auction และธุรกิจศูนย์สนับสนุนองค์กร ได้แก่ เอ็ม บี เค คอนแทคท์ เซ็นเตอร์ เอ็ม บี เค เทรดดิ้ง อินเทลลิเจ้นท์ ครีเอทีฟ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง ที เอ็ม คอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ แบรนด์แมเนจเม้นท์ เทคโนโลยี เกตเวย์

ปี 2566 MBK มีรายได้รวม 12,101 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากปีก่อนหน้า ปัจจัยหลักมาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจศูนย์การค้ามีรายได้รวม 3,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 49% ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว มีรายได้รวม 1,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% และธุรกิจกอล์ฟ มีรายได้รวม 530 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32%