วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > AEC 2025 ก้าวย่างที่ท้าทายของอาเซียน

AEC 2025 ก้าวย่างที่ท้าทายของอาเซียน

การประชุมหารือของคณะรัฐมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 15 ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นการหารือครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังจากการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) เมื่อปี 2015 กำลังเป็นภาพสะท้อนความคืบหน้าและจังหวะก้าวของ ASEAN ที่น่าสนใจไม่น้อย

เพราะการหารือดังกล่าวในด้านหนึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) ซึ่งที่ประชุม AEC Council ได้รับรองแผนงานรายสาขา (Sectoral Work Plans) จนครบถ้วนทั้ง 23 แผนงาน โดย 3 แผนงานสุดท้ายที่ได้รับรองอยู่ที่แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนธุรกรรมทางการค้าลงร้อยละ 10 ภายในปี 2020 และเพิ่มมูลค่าการค้าภายในภูมิภาคเป็น 2 เท่า ภายในปี 2025

รวมถึงแผนการดำเนินการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินเพื่อส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในภูมิภาค และสุดท้าย แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ด้านภาษีอากร ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินการด้านภาษีอากร เช่น การสนับสนุนการดำเนินการเพื่อจัดทำความตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อนให้แล้วเสร็จ การขยายขอบเขตโครงสร้างภาษีหัก ณ ที่จ่าย การปรับปรุงการปฏิบัติงานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งแผนงานดังกล่าวเป็นแผนงาน/กิจกรรมที่จะดำเนินการนับจากนี้จนถึงปี 2025

นอกจากนี้ ที่ประชุม AEC Council ได้รับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยนวัตกรรม ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนในการใช้นวัตกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโต และการแข่งขันของอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค โดยเอกสารดังกล่าวได้รับการนำเสนอต่อผู้นำอาเซียนเพื่อให้ความเห็นชอบภายในการประชุมผู้นำอาเซียนด้วย

ภายใต้วิสัยทัศน์หลักของอาเซียน 2025 ที่มุ่งหมายจะให้เกิดการปรับปรุงและนำพาประชาคมอาเซียนให้มีบูรณาการในเชิงลึกมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทั้งในเชิงลึกและในเชิงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

หากแต่ในภาพรวมของแผนงานที่อาเซียนจะดำเนินการในระยะเวลาที่เหลือตามกรอบกำหนดของ AEC Blueprint 2025 ดังกล่าว ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของความคิดริเริ่ม และมาตรการที่จะผลิตสร้างแนวคิดใหม่ ที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนมีความสมบูรณ์มากขึ้น นอกเหนือจากดำเนินงานสานต่อจาก AEC Blueprint 2015

ประเด็นที่ Blueprint 2025 ได้รับการประเมินอย่างผิดหวัง ในด้านหนึ่งอยู่ที่การขาดการมุ่งเน้นเป้าหมายระยะยาว โดยเฉพาะการหนุนนำให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวหรือฐานการผลิตเดียว ซึ่งในมิติเช่นว่านี้ได้รับการพิจารณาว่าเป็นการสะดุดชะงักครั้งใหญ่ในกระบวนการวิวัฒนาการของอาเซียน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ อาเซียน สามารถก้าวกระโดดจากเขตการค้าเสรีอาเซียน มาเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้วยการเปิดเสรี 5 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการค้าสินค้า การค้าภาคบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ มาก่อนแล้วจาก Blueprint 2015

จุดเน้นย้ำของไทย ภายใต้กรอบโครงของ AEC blueprint 2025 อยู่ที่การเน้นย้ำว่าอาเซียนต้องให้ความสำคัญของการเสริมสร้างผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย หรือ MSMEs ที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในขณะนี้ และดำเนินการแก้ปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีอย่างจริงจัง เพื่อให้การค้าภายในอาเซียนขยายตัวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสอดรับกับบริบทของการดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้ AEC มีการเปิดเสรีการค้าสินค้าที่สมบูรณ์มากขึ้นโดยเฉพาะการเน้นจัดการกับปัญหามาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures: NTM)

กระนั้นก็ดี ความสำเร็จของอาเซียนที่สะท้อนผ่านการประชุมครั้งล่าสุดนี้ มีประเด็นสำคัญอยู่ที่การวัดผลสัมฤทธิ์ของมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน กรอบการดำเนินงานเพื่อให้ธุรกิจรายเล็กและรายย่อยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก การส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีและเยาวชน การปรับปรุงกฎระเบียบการจดทะเบียนธุรกิจของสมาชิกอาเซียนให้สอดคล้องกัน รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อเชื่อมโยงระหว่าง MSMEs กับบริษัทข้ามชาติ (MNEs)

ขณะเดียวกัน วาระการประชุมรอบหน้าที่สิงคโปร์จะเป็นประธานอาเซียนในปี 2018 อยู่ที่การสานต่อและร่วมกันเสนอแนะประเด็นสำคัญว่าด้วย การส่งเสริมนวัตกรรม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และเศรษฐกิจดิจิทัล การเสริมสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ และการส่งเสริมการค้าบริการ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าจะบังเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจติดตามจากการประชุมสุดยอดอาเซียน และ AEC Council ในอีกบริบทหนึ่งอยู่ที่การเสนอให้ผู้นำอาเซียนพิจารณาและให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรรายสาขา และเสาหลักของประชาคมอาเซียน รวมถึงการให้ประเทศสมาชิก RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศและประเทศคู่เจรจาของอาเซียนอีก 6 ประเทศ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แสดงความยืดหยุ่นและปรับระดับความคาดหวัง เพื่อให้การเจรจาความตกลงในกรอบของ RCEP บรรลุผลยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ความสำคัญของ RCEP นอกจากจะได้รับการประเมินในฐานะที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเลือกเพื่อทดแทนกรอบความร่วมมือ Trans-Pacific Partnership (TPP) ซึ่งจีนและอินเดีย 2 ประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทในเชิงเศรษฐกิจของเอเชียไม่ได้อยู่ร่วมแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังถือเป็นการดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบของอาเซียน+6 ซึ่งน่าจะมีพลังในการต่อรองและประสานผลประโยชน์ตามเป้าหมายของอาเซียนได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าการดำเนินงานในกรอบของ TPP ซึ่งยังมองไม่เห็นอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไปจาก TPP อีกด้วย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของอาเซียนก็คือในปี 2559 อาเซียนมีมูลค่าการค้ารวม 2.24 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีการลงทุนโดยตรงเข้ามายังภูมิภาคอาเซียนมูลค่ารวม 9.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนอกจากจะเป็นการค้าขายภายในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเองแล้ว คู่ค้ารายใหญ่นอกกลุ่มอาเซียน ยังประกอบด้วยจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ โดยสหภาพยุโรปยังคงเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่งของอาเซียน ตามด้วยสหรัฐฯ และญี่ปุ่น

ปัจจุบันอาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจเป็นลำดับที่ 6 ของโลก และมีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 จะมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของโลก หากอาเซียนสามารถนำความตกลงโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจมาปฏิบัติตามเป้าหมายอย่างครบถ้วน และมุ้งเน้นสร้างนวัตกรรม เพื่อให้เป็นกลไกหนุนนำการขับเคลื่อน ก็จะเป็นการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความเข้มแข็งสู่เป้าหมายในอนาคต

ขณะเดียวกัน ASEAN จำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายในโดยการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งสิ่งที่อาเซียนควรเร่งดำเนินการอยู่ที่การแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการกับสภาวะแคระแกร็น การเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมสูงวัย การบริหารจัดการด้านการบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติในภูมิภาค รวมถึงการต่อต้านปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ที่กำลังเป็นภัยคุกคามที่ทวีความหนักหน่วงขึ้นทุกขณะ

แม้ว่า AEC Blueprint 2025 อาจให้ภาพและได้รับการวิพากษ์ว่าเป็นความเคลื่อนไหวในแบบที่ค่อนข้างอนุรักษนิยมหรือพยายามวิวัฒน์ไปอย่างเนิบช้ามั่นคง หลังจากที่มีวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดดมาในช่วงก่อนหน้า หากแต่ภายใต้บริบทที่อาเซียนจำเป็นต้องดำเนินมาตรการอย่างรอบคอบรอบด้าน โดยเฉพาะการวางรากฐานการพัฒนาภายในกลุ่มประเทศสมาชิกให้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและมีระดับขั้นการพัฒนาที่ไม่แตกต่างกันมากนัก

การมุ่งหน้าสู่ AEC 2025 จึงไม่ได้มีความหมายเป็นเพียงการพัฒนาความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หากยังต้องมีพัฒนาการทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน ซึ่งไม่ควรเป็นเพียงวาทกรรมสวยหรูในห้องประชุม หากควรเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติเพื่อให้สังคมอาเซียนมีความเข้มแข็งอย่างแท้จริงในระยะจากนี้อีกด้วย

ใส่ความเห็น