วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Attitude > ทศ จิราธิวัฒน์ รุกเร็วและร้อนแรง

ทศ จิราธิวัฒน์ รุกเร็วและร้อนแรง

“รุกเร็วอย่างเดียวไม่ได้ ทุกอย่างต้องเรียบร้อยและเร็วด้วย ที่เน้นมากที่สุด คือ คุณภาพและการเติบโต”
 

ปี 2555 ทศ จิราธิวัฒน์ เปิดเกมรุกธุรกิจค้าปลีกแบบรัวกระสุนเข้าเป้า เติบโตก้าวกระโดด ข่มขวัญคู่แข่งอย่างร้อนแรง และไม่ใช่แค่เกมในตลาดไทย แต่เร่งขยายอาณาจักร “เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” หรือ “ซีอาร์ซี” ทั้งในอาเซียน เอเชีย ยุโรป และทุกแห่งทั่วโลกที่มีโอกาส

โดยเฉพาะ “บิ๊กดีล” ที่ทศวางยุทธศาสตร์การควบรวบกิจการในช่วงเวลาไม่ถึงปี การซื้อกิจการห้างหรูอันดับ 1 ของอิตาลี “ลา รีนาเซนเต” อายุกว่า 150 ปี มูลค่ากว่า 260 ล้านยูโร หรือกว่า 10,000 ล้านบาท การเซ็นสัญญากับบริษัท พีที แกรนด์ อินโดนีเซีย เช่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกของศูนย์การค้าแกรนด์ อินโดนีเซีย ช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ระดับไฮเอนด์ ใจกลางกรุงจาการ์ตา จำนวน 4 ชั้น 21,000 ตารางเมตร เงินลงทุนกว่า 600 ล้านบาท

เดือนที่ผ่านมาซีอาร์ซีใช้เงิน 3,000 ล้านบาท ร่วมทุนกับบริษัท แฟมิลี่มาร์ท ประเทศญี่ปุ่น บุกตลาดร้านสะดวกซื้อ โดยวางแผนขยายสาขา 3,000 แห่ง ไล่บี้คู่แข่งอย่างเซเว่น อีเลฟเว่น

ล่าสุด ส่ง 2 บริษัทในเครือ คือ บีทูเอสและออฟฟิศ ดีโป ควบรวมธุรกิจกับบริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด(มหาชน) ผู้บริหารออฟฟิศเมท และ Trendyday.com ผู้นำในธุรกิจจำหน่ายเครื่องเขียน อุปกรณ์สำนักงาน และสินค้าเกี่ยวกับชีวิตประจำวันผ่านระบบแค็ตตาล็อก และระบบสั่งซื้ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทศตั้งเป้าบุกตลาดออนไลน์ เพื่อปูเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัลในอนาคต ไม่ใช่แค่การซื้อขายแบบออฟไลน์ แต่ต้องเร็วและมีคุณภาพบนโลกใบใหม่

ทั้งหมดวางเป้าหมายในการเป็นผู้นำธุรกิจออนไลน์ของไทยและอาเซียน ซึ่งถือเป็น “ก้าวต่อไป” หลังจากยึดตำแหน่งผู้นำตลาดค้าปลีก

เหตุผลหลักในวันนี้ คือธุรกิจออนไลน์เป็นหัวใจหลักของธุรกิจในอนาคต ภาคการค้าปลีกระดับโลกจะมีสัดส่วนการขายจากช่องทางดิจิตอลมากกว่า 35-40% ซึ่งทศต้องการผลักดันรายได้ให้ได้ตามเป้าหมายดังกล่าวเช่นกัน จากปัจจุบันที่ยังมีสัดส่วนไม่ถึง 1% หรือประมาณ 80 ล้านบาท จากรายได้รวม 140,000 ล้านบาท

แต่การรุกทุกก้าว ทุกดีล ทศกล่าวว่า “ต้องเร็ว แต่จะรุกเร็วอย่างเดียวไม่ได้ ทุกอย่างต้องเรียบร้อยและเร็วด้วย เร็วแล้วไม่เรียบร้อยหรือเรียบร้อยแล้วไม่เร็ว ไม่ได้ และเน้นมากที่สุด คือ คุณภาพและการเติบโต ทีมงาน สินค้า คุณภาพสำคัญที่สุด”

นี่คือหัวใจหลักที่ทศใช้ทุกครั้งในการตัดสินใจทุกขั้นตอนและถือเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญของกลุ่มเซ็นทรัลจากรูปแบบเดิมสู่การรุกอย่างรวดเร็วและร้อนแรง เมื่อเทียบกับผู้บริหารในกลุ่มตระกูลจิราธิวัฒน์ ซึ่งแท้จริงแล้วทุกย่างก้าวของทศเองมาจากแรงกดดันในฐานะลูกชายคนโตของสัมฤทธิ์และผู้นำรุ่นที่สอง เขาต้องจับงานค้าปลีกที่เป็นกิจการที่สร้างรายได้ส่วนใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัล

ทศรู้ถึงภาระที่รออยู่ข้างหน้าตั้งแต่เรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ เขาขอไปเรียนต่อต่างประเทศตั้งแต่อายุ 14 ปี เร็วกว่าลูกหลานทุกคนที่ปกติมักถูกส่งไปเรียนต่อต่างประเทศเมื่ออายุ 16 ปี

เขาเรียนที่ Palmer School ที่ไมอามี มลรัฐฟลอริดา จากนั้นเรียนปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ที่ Wesleyan College ในช่วงปี 2526-2528 เขาได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษ ที่ LSE (London School of Economics and Political Science) สถาบันชื่อดังที่ผลิตนักเศรษฐศาสตร์ไทยหลายคน อาทิ บุญมา วงศ์สุวรรณ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์

ทศจบปริญญาตรีในปี 2528 เริ่มเส้นทางการทำงานที่ Masey Department Store ที่นิวยอร์กเพื่อหาประสบการณ์ประมาณครึ่งปีก็ลาออกไปเรียน MBA ที่ Columbia University จบปี 2531 เขาไปทำงานที่ซิตี้แบงก์สาขาประเทศไทย แต่ทำได้ปีเดียวก็มาทำงานในกลุ่มเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ ในปี 2532 อยู่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจตลอดมา จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของซีอาร์ซี

ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทศเร่งการเติบโตอย่างรวดเร็วแต่เป็นไปอย่างมีคุณภาพ จนกระทั่งเริ่มเห็นเทรนด์การทำธุรกิจที่ลดความเสี่ยงให้ผลลัพธ์รวดเร็วและเติบโตมากกว่าการลงทุนเองทั้งหมด เพราะมีบทเรียนในอดีตเช่นกัน ซึ่งทศเองยอมรับว่าเซ็นทรัลรีเทลเองก็เคยล้มเหลว แต่เทียบกันแล้วประสบความสำเร็จมากกว่าล้มเหลว

ปี 2552 เขาตั้งหน่วยงานใหม่ ชื่อว่า “คอร์ปอเรท สตาร์ทติจี้ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์” เพื่อศึกษาและหาข้อมูลการขยายธุรกิจด้วยการซื้อกิจการ ร่วมหุ้น ซื้อโครงการหรือร่วมทุนในโครงการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ แต่เงื่อนไข คือ ของดีและราคาสมเหตุสมผล หลังจากได้ผลกำไรอย่างงดงามจากการควบรวมธุรกิจกับห้างสรรพสินค้าโรบินสันเมื่อปี 2538 และซื้อหุ้น “ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต” จากรอยัล เอโฮลด์ของกลุ่มทุนค้าปลีกเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 2547

ปีนี้ นโยบายของทศยิ่งให้น้ำหนักกับการควบรวมกิจการ หรือ M&A (Mergers & Acquisitions) ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ส่งผลให้รายได้ก้าวกระโดดแบบเห็นผลฉับไว โดยเตรียมเม็ดเงินซื้อกิจการและร่วมทุนทุกรูปแบบ ทั้งในและต่างประเทศปีละ 20,000 ล้านบาท ตั้งเป้าต้องมีสาขาในต่างประเทศครบ 40 สาขาภายใน 10 ปี เพื่อเร่งสปีดการขยายตัวเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 10% เทียบกับการขยายตัวในอัตราปกติปีละ 6-7%

ล่าสุด ซีอาร์ซีมีแบรนด์ห้างค้าปลีก 4 แบรนด์ คือ เซ็นทรัล เซน โรบินสัน และลารีนาเซนเต และแบรนด์ในเครืออีก 9 แบรนด์ ได้แก่ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์, เพาเวอร์บาย, ซูเปอร์สปอร์ต, บีทูเอส, โฮมเวิร์ค, ไทวัสดุ, ออฟฟิศ ดีโป และเพจวัน จำนวนสาขารวมกัน 582 แห่ง

ในแง่รายได้ปี 2555 ทศประกาศเป้าหมาย 160,000 ล้านบาท เติบโต 39% จากปี 2554 ที่มีรายได้ 115,344 ล้านบาท และคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศ 50% ในประเทศ 50% หรือเติบโต 2 เท่าจากปัจจุบัน หรือมากกว่า 320,000 ล้านบาท

ทั้งหมดล้วนเป็นผลจากการรุกที่รวดเร็วและร้อนแรงอย่างแท้จริง

 

เรื่องและภาพ: กองบรรณาธิการ ผู้จัดการ 360 ํ
ติดตามเรื่องราวและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
www.gotomanager.com และdowmload
Manager 360 ํ on iPad
เดือนพฤศจิกายน 2555 นี้