วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
Home > Cover Story > พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ เปิดตัว Canvas Ventures ดันสตาร์ทอัปไทยสู่เวทีโลก

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ เปิดตัว Canvas Ventures ดันสตาร์ทอัปไทยสู่เวทีโลก

สาเหตุที่สตาร์ทอัไทยหลายรายไปไม่ถึงเป้าหมาย และเจอทางตันในการดำเนินธุรกิจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะข้อจำกัดด้านความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อ ที่มักจะกลายเป็นปัญหาหลักของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ อีกส่วนหนึ่งคือการขาดนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ หรือแม้แต่คำแนะนำที่เหมาะสม ท้ายที่สุดสตาร์ทอัเหล่านี้ต้องถอยกลับไปยังจุดเริ่มต้นอีกครั้ง หรือที่แย่ที่สุดคือไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้

จากแนวคิดที่ต้องการจะกลบจุดบอดของผู้ประกอบการสตาร์ทอัป และการเป็นตัวเชื่อมระหว่างนักลงทุนกับสตาร์ทอัปรุ่นใหม่ๆ  ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้ที่เคยนั่งอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จึงตัดสินใจเปิดตัวบริษัทร่วมลงทุนในนาม Canvas Ventures เพื่อช่วยขับเคลื่อนสตาร์ทอัปไทยให้ไปสู่เวทีโลก

“เราเป็นสะพานเชื่อมการลงทุนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส” คำอธิบายของ ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ถึงบริษัทร่วมลงทุน แคสวาส เวนเจอร์ส ก่อนจะขยายความอย่างละเอียดว่า

“แคนวาส เวนเจอร์ส คือบริษัทร่วมลงทุนสัญชาติไทยและฝรั่งเศสแบบ Multifamily Office หรือบริษัทที่บริหารเงินลงทุนจากธุรกิจครอบครัว มีการรวบรวมเงินทุนจากหลายบริษัท หรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษมาลงทุนในระยะยาว คล้ายการลงทุนด้วยเงินกองกลางของครอบครัว หรือ ‘กงสี’ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใหม่มากสำหรับไทย ที่ผ่านมาบริษัทในอังกฤษและจีนมักจะนำเงินไปลงทุนในสิงคโปร์ มีการตั้งบริษัทในลักษณะนี้มากกว่าหนึ่งพันแห่ง ซึ่งแคนวาส เวนเจอร์สจะเข้ามาเติมเต็มให้กับสตาร์ทอัป โดยเราจะให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการใน 2 ระยะ คือ ระยะเริ่มต้น และระยะที่กำลังเติบโต และสิ่งสำคัญที่สตาร์ทอัปทั้งสองกลุ่มนี้ต้องมี คือ มีศักยภาพสูงและพร้อมที่จะก้าวไปสู่ระดับโลก” ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง Canvas Ventures อธิบาย

อย่างที่ทราบกันดีว่า ผู้ประกอบการสตาร์ทอัปไทยมักจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ กระนั้นแคนวาส เวนเจอร์สไม่ต้องการที่จะสนับสนุนเงินทุนแต่เพียงอย่างเดียว เพราะมองว่าหมดยุค Burn Cash

“สตาร์ทอัปที่ต้องการเงินสนับสนุนต้องยอมรับเงื่อนไขด้านอื่นด้วย ซึ่งนั่นจะเอื้อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน เรามีทีมงานที่เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำด้านการพัฒนากลยุทธ์และรูปแบบธุรกิจ ผ่านกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะที่เป็นเวนเจอร์สพาร์ตเนอร์ของบริษัท พร้อมช่วยเหลือบริษัทสตาร์ทอัปที่อยู่ในพอร์ตให้เติบโตและประสบความสำเร็จ ตลอดจนการเข้าถึงบางตลาดที่ปัจจุบันค่อนข้างมีความซับซ้อน โดยมาพร้อมกับปรัชญาทางธุรกิจ ‘Crafting every dot of imagination’ หรือ ‘รังสรรค์ทุกจุดของจินตนาการ’ ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับการผสานเทคโนโลยีเชิงลึกและความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่มได้ทั้งมูลค่าและคุณค่า ประสบการณ์ด้านนวัตกรรม”

คำถามที่น่าสนใจคือ แคนวาส เวนเจอร์สจะร่วมลงทุนในธุรกิจใดบ้าง เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า สตาร์ทอัปมีความหลากหลาย และกระจายตัวอยู่ในหลายอุตสาหกรรม ดร.พันธุ์อาจขยายความถึงกลุ่มสตาร์ทอัปที่จะได้รับการพิจารณาว่า

“กลุ่มธุรกิจของสตาร์ทอัปที่เราจะร่วมลงทุน จะอยู่ใน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ เศรษฐกิจสีเขียว คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change เศรษฐกิจสีเงิน เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย เศรษฐกิจสีส้ม การบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งอาจรวมถึงอุตสาหกรรมเกม บันเทิง แฟชั่น อาหาร และเศรษฐกิจสีชมพู ตัวแทนสีของ LGBTQIA2S+”

อลิกซ์ แอนดลอเออร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนชาวฝรั่งเศส

นอกจากนั้น อลิกซ์ แอนดลอเออร์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนชาวฝรั่งเศส เปิดเผยว่า “แคนวาส เวนเจอร์สปักหมุดให้สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางเพื่อการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำสมัย และเป็นจุดเชื่อมโยงในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้พัฒนาและผู้ลงทุนด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นจีน หรือยุโรป ที่ปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายทั้งที่เป็นกลุ่มภาครัฐและเอกชนอยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมมุ่งให้เครือข่ายเหล่านี้เห็นความสำคัญกับแนวทางการลงทุนร่วมกัน และนำเสนอแนวทางใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัปและบริษัทเทคโนโลยี โดยนอกจากกรุงเทพฯ แล้วยังมีสำนักงาน ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมนักลงทุนชาวไทยและเอเชียที่สนใจใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของฝรั่งเศสและเชื่อมโยงกับเครือข่ายผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth) เพื่อการลงทุนธุรกิจนวัตกรรมในระดับนานาชาติอย่างแท้จริง ซึ่งบริษัทจะมีการอำนวยความสะดวกการลงทุนระหว่างฝรั่งเศสและไทยให้ง่ายขึ้นกว่าที่ผ่านมา”

เหตุผลของการร่วมทุนกันระหว่างไทยและฝรั่งเศสน่าจะเป็นผลมาจากการเติบโตด้านนวัตกรรมของฝรั่งเศสในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะมีการทุ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมากกว่า 5 พันล้านยูโร ส่งผลให้อันดับด้านนวัตกรรมของฝรั่งเศสขยับขึ้นมาอยู่ที่ 11 ของโลก จากอันดับที่ 21 ซึ่งทำให้ระบบนิเวศนวัตกรรมแข็งแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

กวิน ว่องกุศลกิจ

4 กลุ่มเศรษฐกิจที่แคนวาสจะให้การสนับสนุน โดยเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจสีเงินเป็นสิ่งสอดคล้องกับวิถีของสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ผู้ประกอบสตาร์ทอัปส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญและสร้างธุรกิจโดยการยึดโยงกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ขณะที่เศรษฐกิจสีส้ม แคนวาส เวนเจอร์สมองว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มที่จะร่วมลงทุนด้วยนั้น กวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการบริษัทฯ และผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย มองว่า “เศรษฐกิจสีส้ม (Orange Economy) มีศักยภาพการเติบโตสูงในภูมิภาคเอเชีย บริษัทจึงตระหนักถึงการผลักดันกลุ่มธุรกิจนี้ ศักยภาพที่มีอยู่มากมายในประเทศไทย รวมถึงอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงให้เป็นผู้นำระดับโลกผ่านนวัตกรรม

โดยมองเห็นอิทธิพลที่มีต่อไลฟ์สไตล์ผู้คน เช่น AI ในอุตสาหกรรมเกมและบันเทิง อุตสาหกรรมแฟชั่นและอาร์ตทอย ซึ่งมีโมเดลธุรกิจที่แตกต่างจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยสามารถเพิ่มมูลค่าและสร้างบทบาทใหม่ในภาคธุรกิจแก่สาขา ดนตรี ศิลปะ และอุตสาหกรรมโรงแรม รวมถึงร้านอาหารไทย ที่ปัจจุบันยังคงไล่ตามห่วงโซ่มูลค่าโลกอยู่ได้ และได้กำหนดให้เป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่ต้องเร่งสรรหาเครือข่ายการลงทุน และแคนวาส เวนเจอร์สตั้งเป้าที่จะเข้ามามีบทบาทและเป็นผู้นำในธุรกิจนวัตกรรมเหล่านี้”

สังคมที่เปิดกว้างของไทยโดยเฉพาะต่อความหลากหลายทางเพศ ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับความหลากหลายทางเพศในหลายมิติ และแคนวาส เวนเจอร์สเองก็พร้อมให้การสนับสนุนและร่วมลงทุนในเศรษฐกิจในกลุ่มนี้เช่นกัน

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง Canvas Ventures

ธนะชัย กุลสมบูรณ์สินธ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวเรือสำคัญในการขับเคลื่อนประชาคมด้าน LGBTQIA2S+ กล่าวว่า “มีการประเมินว่ากำลังซื้อของกลุ่มความหลากหลายทางเพศทั่วโลกในปี 2025 อาจสูงถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาจสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 ขณะที่กรุงเทพฯ ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองหลวงของเอเชียในการใช้ชีวิตของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ นี่เองที่ทำให้แคนวาส เวนเจอร์สให้ความสำคัญและสนใจที่จะลงทุนในเศรษฐกิจกลุ่มนี้”

จากข้อมูลของ Crunchbase บริษัทที่ให้ข้อมูลทางธุรกิจระบุว่า การลงทุนในสตาร์ทอัปปี 2565 ลดลง 35% จากปี 2564 ปัจจัยหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลง นักลงทุนชะลอการลงทุน และในอนาคตหากเฟดมีการปรับดอกเบี้ยลดลง นักลงทุนอาจจะต้องมองหาธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น

แม้จะอยู่ในระยะเริ่มต้นของการสร้างการรับรู้ในแวดวงสตาร์ทอัปของบริษัท แคนวาส เวนเจอร์ส ซึ่งยังไม่เปิดเผยตัวเลขของเม็ดเงินในการลงทุนอย่างชัดเจน เบื้องต้น ดร.พันธุ์อาจระบุเพียงว่า “การลงทุนในแต่ละรอบจะอยู่ที่ 5 แสนถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภายใน 5 ปีน่าจะมีดีลเกิดขึ้นประมาณ 20 ดีล”

จากนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ธุรกิจสตาร์ทอัปไทยจะมีทิศทางการเติบโตอย่างไร เมื่อมีทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนสนับสนุนทั้งด้านงานวิจัยและเม็ดเงินลงทุน รวมไปถึงการให้คำแนะนำในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีปลายทางในระดับนานาชาติเป็นเส้นชัย.