วันเสาร์, กันยายน 14, 2024
Home > Cover Story > อัปเดตความคืบหน้า Dusit Central Park โปรเจกต์ยักษ์ บนสุดยอดทำเลทอง

อัปเดตความคืบหน้า Dusit Central Park โปรเจกต์ยักษ์ บนสุดยอดทำเลทอง

บนถนนพระราม 4 กำลังมีการก่อสร้าง 2 โครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่จาก 2 ค่ายยักษ์ ที่ขับเคี่ยวกันมาอย่างดุเดือดและเป็นที่จับตาของแวดวงอสังหาริมทรัพย์ของไทย

โครงการแรก “วัน แบงค็อก” (One Bangkok) ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท วัน แบงค็อก โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี”

“วัน แบงค็อก” เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสม (Mixed-Use) ขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 104 ไร่ บนถนนพระราม 4 และถนนวิทยุ เดิมเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเตรียมทหาร สนามมวยเวทีลุมพินี และสวนลุมไนท์บาซาร์  ซึ่งเป็นพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ตัวโครงการใช้เงินลงทุนสูงถึง 120,000 ล้านบาท พื้นที่อาคารรวม 1.83 ล้าน ตร.ม. ประกอบด้วย อาคารสำนักงานเกรดเอ 5 อาคาร, ที่พักอาศัยระดับลักชัวรี 3 อาคาร, พื้นที่ร้านค้าปลีก 4 โซน บนพื้นที่ 190,000 ตร.ม. และโรงแรมชั้นนำถึง 5 โรงแรม ห้องพักกว่า 1,200 ห้อง รวมถึงแบรนด์โรงแรมสุดหรูอย่าง The Ritz-Carlton Bangkok และมีพื้นที่สีเขียว 50 ไร่

ซึ่งมีพิธียกเสาเอกโครงการไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 และคาดว่าในช่วงกลางปี 2567 จะเปิดให้บริการอาคารสำนักงาน Tower 4 ฝั่งถนนวิทยุก่อนเป็นตึกแรก จากนั้นจะทยอยเปิดใช้พื้นที่จนครบ 70% ของโครงการภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งจะประกอบด้วยพื้นที่ของอาคารสำนักงาน โรงแรม ที่พักอาศัย และพื้นที่ค้าปลีก เดิมทีมีการประกาศว่าทั้งโครงการจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2569 แต่ความคืบหน้าล่าสุดอาจต้องมีการขยับเวลาออกไป

ในขณะที่อีกมุมหนึ่งของถนนพระราม 4 ช่วงที่ตัดกับถนนสีลม “Dusit Central Park” (ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค) มิกซ์ยูสขนาดใหญ่ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ก็กำลังเร่งเครื่องก่อสร้างตามมาติดๆ เช่นกัน

“ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” เป็นโครงการมิกซ์ยูสที่สร้างบนที่ดินกว่า 23 ไร่ บริเวณแยกศาลาแดง ตรงข้ามกับสวนลุมพินี ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของโรงแรมดุสิตธานี อีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ ในอดีต

โดยโรงแรมดุสิตธานีเกิดจากวิสัยทัศน์ของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ที่มองว่าเมืองไทยและกรุงเทพฯ จะเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว จึงขอเช่าพื้นที่จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินผืนดังกล่าว เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาวแห่งแรกในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2511 ภายใต้ชื่อ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 เป็นอาคารสูง 23 ชั้น ซึ่งถือเป็นอาคารสูงแห่งแรกของไทย ใช้สถาปัตยกรรมแบบไทยเดิมร่วมสมัยที่ออกแบบโดยกลุ่ม Kanko Kikaku Sekkeisha เปิดให้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมายาวนานกว่า 47 ปี กระทั่งมีนาคม พ.ศ. 2560 เครือดุสิตธานีประกาศต่อสัญญาเช่าที่ดินกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นระยะเวลารวม 67 ปี พร้อมประกาศแผนพัฒนาและยกระดับโรงแรมดุสิตธานีเดิม ด้วยการจับมือกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ร่วมพัฒนาพื้นที่จากโรงแรมสู่โครงการมิกซ์ยูสในชื่อ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 46,000 ล้านบาท ภายใต้การบริหารงานโดย บริษัท วิมานสุริยา จำกัด

“ดุสิตธานีเปิดให้บริการมากว่า 50 ปี พอมาถึงปัจจุบันเราต้องการสร้างอะไรที่มันตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนสมัยนี้ ลำพังตึกโรงแรมอย่างเดียวมันไม่ตอบโจทย์แล้ว เมื่อ 5 ปีที่แล้วจึงตัดสินใจพัฒนาโครงการใหม่ และเป็นที่มาของดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค หลายๆ อย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับอสังหาริมทรัพย์ของกรุงเทพฯ เราอยู่ในธุรกิจโรงแรมมานาน สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นน้องใหม่ แม้จะเป็นน้องใหม่ก็จริง แต่เรามาทีตัวใหญ่” ละเอียด โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิมานสุริยา จำกัด และผู้พัฒนาโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค กล่าว

สำหรับ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” เป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ บนพื้นที่โครงการรวม 440,000 ตร.ม.  ตั้งอยู่บนทำเลทอง เพราะใกล้ระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ทางด่วน และเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของเมือง แวดล้อมด้วยอาคารสำนักงาน สถานศึกษา และสถานทูตของประเทศต่างๆ ที่สำคัญยังมีสวนสาธารณะอย่างสวนลุมพินีอยู่ใกล้เคียง

ตัวโครงการมี 3 อาคารขนาดใหญ่ ซึ่งเรียงกันเป็นสีทอง เงิน และนาก ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1. โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ 2. โครงการที่พักอาศัย The Residences at Dusit Central Park (เดอะ เรสซิเดนเซส แอท ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค) 3. ศูนย์การค้า Central Park Retail และ 4. สำนักงาน Central Park Offices โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่ง ณ วันนี้ ผ่านมาแล้วกว่า 4 ปี ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค คืบหน้าไปอย่างไร “ผู้จัดการ 360 องศา” จะพาไปอัปเดตพร้อมกัน

โรงแรมดุสิตธานี (ใหม่) แต่คงเสน่ห์แบบเดิม

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของเครือดุสิต เริ่มดำเนินการก่อสร้างไตรมาสแรกปี 2562 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปี 2567 ตัวโรงแรมเป็นอาคารสีทองสูง 39 ชั้น เพิ่มความสูงเกือบเท่าตัวจากโรงแรมดุสิตธานีเดิม มีจำนวนห้องพักพาโนรามาวิวรวม 257 ห้อง

การออกแบบเป็นการผนวกเอกลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานีเข้ากับดีไซน์ใหม่ที่ทันสมัย มีการนำวัสดุตกแต่งของเดิมที่เป็นเอกลักษณ์กลับมาอีกครั้ง เช่น ชฎาสีทองบนยอดตึก, Golden Facade ส่วนหน้าอาคารลายดอกไม้สีทอง, ห้องสมุด, น้ำตกและต้นไม้ที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ปลูกไว้, เพดานล็อบบี้, ผ้าประดับในห้อง Heritage Suite ซึ่งเคยต้อนรับบุคคลสำคัญจากต่างประเทศมานับไม่ถ้วน รวมถึงเสาเบญจรงค์ที่หนักต้นละ 10 ตัน อีก 2 ต้น ก็จะนำมาจัดวางในโรงแรมแห่งใหม่ด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันในส่วนของโรงแรมถือว่ามีความคืบหน้ามากที่สุด โดยมีการติดตั้ง “ชฎาสีทอง” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานีบนยอดตึกเรียบร้อย อีกทั้งยังมีการทำตัวครอบและประดับไฟเพิ่มเติม และพร้อมสร้างสีสันอีกครั้งกลางปีหน้า

Central Park Retail & Office

สำหรับศูนย์การค้าและอาคารสำนักงานนั้นเป็นอาคารสีเงิน ซึ่งเซ็นทรัลพัฒนาได้แถลงเปิดตัวแบรนด์ “Central Park” ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าลงทุนรวม 20,000 ล้านบาท โดยตัวศูนย์การค้า Central Park มีจำนวน 8 ชั้น บนพื้นที่ 80,000 ตร.ม. เตรียมเปิดให้บริการช่วงไตรมาส 3 ปี 2568 ส่วนอาคารสำนักงาน Central Park Offices มีจำนวน 40 ชั้น พื้นที่ 90,000 ตร.ม. เป็นสำนักงานให้เช่าเกรดเอที่ออกแบบมาสำหรับการทำงานยุคใหม่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ Rooftop Bar ที่สามารถชมวิวกรุงเทพฯ ได้แบบ 360 องศา คาดว่าจะเปิดให้บริการในไตรมาส 2 ปี 2568

The Residences at Dusit Central Park: คอนโดฯ ที่ได้เซอร์วิสแบบดุสิตธานี

อีกหนึ่งไฮไลต์ของ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” คงหนีไม่พ้น The Residences at Dusit Central Park (เดอะ เรสซิเดนเซส แอท ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค) โครงการที่พักอาศัยระดับลักชัวรีที่ราคาต่อ ตร.ม. พุ่งสูงแตะ 350,000 บาทเลยทีเดียว

โดย The Residences at Dusit Central Park เป็นอาคารสูง 69 ชั้น มีจำนวน 406 ยูนิต ถ้าสร้างแล้วเสร็จจะติดอันดับ 1 ใน 5 อาคารที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ ประกอบด้วย 2 ลิฟวิ่งคอนเซ็ปต์ ได้แก่ Dusit Residences (ดุสิตเรสซิเดนเซส) และ Dusit Parkside (ดุสิตพาร์คไซด์) มีห้องให้เลือกมากกว่า 20 แบบ

ดุสิตพาร์คไซด์ ตั้งอยู่ที่ชั้น 9-29 มีจำนวน 246 ยูนิต ขนาด 1-2 ห้องนอน มีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 55-115 ตร.ม. เหมาะสำหรับครอบครัวขนาดเล็ก ส่วนดุสิต เรสซิเดนเซส มีจำนวน 160 ยูนิต พื้นที่ใช้สอย 120-900 ตร.ม. ขนาด 2-4 ห้องนอน อยู่ตั้งแต่ชั้นที่ 30-69 ซึ่งรวมเพนต์เฮาส์อีก 7 ยูนิต โดยมีเพนต์เฮาส์ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ชั้นบนของตึกด้วยพื้นที่ใช้สอยถึง 900 ตร.ม.

จุดเด่นของ The Residences at Dusit Central Park คือการออกแบบที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน รวมถึงบริการพิเศษแบบดุสิตธานี อย่างบริการทำความสะอาดด้วยแม่บ้านของดุสิตธานี 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และเปลี่ยนผ้าปูที่นอน 2 ครั้งต่อเดือน ซึ่งเป็นบริการที่ลูกบ้านไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

อีกหนึ่งส่วนที่สำคัญคือ Roof Park หรือสวนสาธารณะลอยฟ้าขนาด 7 ไร่ ที่ออกแบบมาเพื่อเป็นโอเอซิสสีเขียวขนาดใหญ่เชื่อมทั้ง 4 โครงการภายใต้ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เข้าไว้ด้วยกัน มีทั้งสวน อัฒจันทร์ ลู่วิ่ง และฟาร์มปลูกผักใจกลางเมือง เพื่อเป็นพื้นที่สีเขียวให้กับทั้งลูกบ้าน แขกที่มาพัก และผู้คนทั่วไป

ทั้งนี้ตัวเลขยอดขายล่าสุดของ The Residences at Dusit Central Park หลังจากเริ่มขายโครงการมาตั้งแต่ปี 2563 ตอนนี้ยอดขายกำลังแตะ 80% ในอีกไม่ช้า โดยขายไปแล้วกว่า 300 ห้อง ลูกค้าที่มาซื้อส่วนใหญ่ซื้อเพื่ออยู่เองและมีเพื่อการลงทุนบางส่วน โดยแบ่งเป็นลูกค้าชาวไทย 75% และชาวต่างชาติ 25% ประกอบด้วย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ลาว เมียนมา อิสราเอล ดูไบ อเมริกา อังกฤษ เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ เอสโตเนีย เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย แต่หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย คาดว่าสัดส่วนลูกค้าต่างชาติจะขยับเพิ่มขึ้นตามคาดการณ์เดิมที่ 35% ซึ่งในปี 2567 ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จะวางแผนทำโรดโชว์เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติอย่างจริงจัง

สำหรับการเปิดตัวโครงการทั้ง 4 ส่วนจะแบ่งออกเป็น การเปิดตัวโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ในครึ่งหลังของปี 2567 ส่วนสำนักงานและศูนย์การค้าจะเปิดตัวภายในปี 2568 และจะเริ่มส่งมอบ The Residences at Dusit Central Park ในช่วงปลายปี 2568 โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการในไตรมาส 2 ของปี 2569

ระหว่างนี้คงเป็นการเร่งเครื่องการก่อสร้างเพื่อเดินหน้าโครงการกันอย่างเต็มกำลัง และถ้าเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ อีกไม่เกิน 3 ปีเราน่าจะได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ของอสังหาริมทรัพย์ริมถนนพระราม 4 อย่างแน่นอน.