วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ยุทธศาสตร์ “C asean” ต่อยอด-แตกไลน์ธุรกิจ

ยุทธศาสตร์ “C asean” ต่อยอด-แตกไลน์ธุรกิจ

 
ศูนย์ C asean เปิดตัวและกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของ “ไทยเบฟเวอเรจ” ภายใต้แผน Vision 2020 ซึ่งฐาปน สิริวัฒนภักดี ประกาศเป้าหมายการก้าวขึ้นเป็นบริษัทเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดและมีผลกำไรสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยล่าสุดวางแผนต่อยอดรุกธุรกิจใหม่ “FOOD of ASIA” ดึง “อัตลักษณ์” ของทุกชนชาติในอาเซียน สร้าง “จุดต่าง” จากคู่แข่งและ “กลยุทธ์” ต่อยอดจากตลาดไทย 
 
เป็นเกมที่ฐาปนต้องการขยายอาณาจักรธุรกิจอาหารและไม่ได้เจาะเฉพาะกลุ่มเออีซีที่มีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน แต่วางแผนระยะยาวสยายปีกสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียด้วย 
 
สำหรับบริษัท Food of ASIA (FOA) ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2558 โดยดึงมือมาร์เก็ตติ้งด้านตลาดคิวเอสอาร์ หรือร้านอาหารบริการด่วน “นงนุช บูรณะเศรษฐกุล” อดีตผู้บริหารทีมสร้างแบรนด์ “พิซซ่าฮัท” ให้บริษัท ยัม เรสเทอรองต์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ทำงานอยู่กับยัมฯ นานเกือบ 10 ปี ก่อนหน้านั้นยังเคยร่วมงานกับ “แมคโดนัลด์” และทำงานด้านการตลาดกับบริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ ปั้นแบรนด์ “สบู่โปรเท็กซ์” เป็นผู้นำในตลาดเซกเมนต์สบู่สุขภาพผิวและ “แคร์” เป็นผู้นำในตลาดแป้งเด็ก
 
นงนุชซึ่งสถานะหนึ่งเป็นภรรยาคู่ชีวิตของมารุต บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยดริ้งค์ จำกัด และกรรมการผู้จัดการบริษัท โออิชิกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในเครือไทยเบฟฯ เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท FOA แยกออกจากธุรกิจอาหารสไตล์ญี่ปุ่นโออิชิ และรับภารกิจสานต่อวิชั่นของฐาปน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่กลุ่มไทยเบฟฯ โดยตรง
 
นงนุชเปิดเผยกับ “ผู้จัดการ360 ํ”ว่า บริษัท FOA เป็นธุรกิจใหม่ที่ต้องการสร้างเครือข่ายยึดโยงกับตลาดอาเซียนและสร้างโมเดลธุรกิจอาหารหลากหลายรูปแบบ โดยเริ่มต้นนำร่อง 4 โมเดล เพื่อจับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม เน้นคุณภาพอาหารและราคาที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งสไตล์การตกแต่งร้านที่ทันสมัย มีเอกลักษณ์ รวมทั้งสื่อถึงความเป็นอาเซียนและความเป็นชาติเอเชีย 
 
สำหรับโมเดลเริ่มต้น ได้แก่ โมเดลภัตตาคารจีนสไตล์กวางตุ้ง Man Fu Yuan (หม่าน ฟู่ หยวน) ภายใต้คอนเซ็ปต์ Fine Dining Experience with Authentic Chinese Cuisine นำมาจากภัตตาคาร หม่าน ฟู่ หยวนโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล สิงคโปร์ ซึ่งมีเมนูลือชื่ออย่างเป็ดอบใบชาและเครื่องดื่มชาจีนเลิศรส 
 
โมเดลต่อมา ร้านอาหาร So Asean Café & Restuarant คอนเซ็ปต์ The Destination of Asean Cusine 
 
โมเดลที่ 3 ร้านกาแฟ So Asean Coffee คอนเซ็ปต์ The Art Asean Coffee Through Unbeatable และสุดท้าย คือ Food Street สไตล์ฟู้ดคอร์ท ภายใต้คอนเซ็ปต์ The Center of Variety and Popular Taste 
 
“ทั้ง 4 รูปแบบเป็นเพียงการเริ่มต้นทดลองตลาด ซึ่ง FOA วางแผนขยายโมเดลเพิ่มเติมอีกหลายรูปแบบ เพื่อรองรับการขยายตลาดในไทย รวมถึงตลาดอาเซียน โดยประสานงานกับศูนย์ C asean ที่มีฐานอยู่ในประเทศไทย เพราะศูนย์ C asean จะสร้างความร่วมมือกับทูตประเทศต่างๆ ในอาเซียน เน้นทั้งความร่วมมือด้านธุรกิจ วัฒนธรรมและศิลปะ หาก FOA จะขยายธุรกิจในอาเซียนย่อมมีความเป็นไปได้” นงนุชกล่าว
 
ความร่วมมือในกลุ่มอาเซียนผ่าน C asean จึงเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมธุรกิจ ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ฐาปนวางไว้ตั้งแต่ริเริ่มแนวคิดก่อตั้ง C asean เมื่อปี 2556 จนกระทั่งเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการในอาคารไซเบอร์เวิลด์ ย่านถนนรัชดาภิเษก เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความเป็น “อาเซียน” ทั้งศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และการศึกษาในลักษณะเดียวกับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และต่อยอดสร้างกลยุทธ์การตลาด ทั้งการสร้างแบรนด์ การขยายเครือข่ายสินค้าและการสร้างความสัมพันธ์เพื่อนำไปสู่การขยายความร่วมมือทางธุรกิจ เนื่องจากศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และการศึกษา สามารถทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ง่ายขึ้น
 
วิเชฐ ตันติวานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด มหาชน ในฐานะผู้บริหารศูนย์ C asean กล่าวว่า ศูนย์ C asean  มีภารกิจหลัก 3 เรื่อง คือ การเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ของภูมิภาคอาเซียน  การเสริมสร้างประสิทธิภาพของเครือข่าย (Network) ด้วยการจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจ (Business Matching) และการเป็นเวทีของคนอาเซียนรุ่นใหม่ (ASEAN Citizenship) 
 
วิเชฐกล่าวว่า  C asean เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ไทยเบฟฯ ทุ่มงบลงทุนก้อนใหญ่เพื่อดำเนินการตามโมเดลธุรกิจ “A380 Model” เปรียบอาณาจักรธุรกิจไทยเบฟฯ เหมือนเครื่องบิน A380 ทั้งลำประกอบด้วยการทำงานของส่วนต่างๆ ทุกส่วนมีหน้าที่และสอดประสานกัน เพื่อบินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน เริ่มจากหัวเครื่องบิน (Growth/Coverage) เป้าหมายต้องการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจร เป็นธุรกิจชั้นนำระดับโลก และมีมูลค่าการลงทุนที่ดียั่งยืน
 
“หาง” ตัวบังคับทิศทางของเครื่องบิน สร้างจุดยืนทางธุรกิจและความเป็นไทย สะท้อนผ่านกีฬา ดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม และการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ 
 
ปีกซ้าย คือ กลยุทธ์การตลาด การขยายกลุ่มลูกค้าและการสร้างแบรนด์ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง เช่น การเป็นสปอนเซอร์ทีมฟุตบอลทั้งในและต่างประเทศ ทีมนักกีฬาวอลเลย์บอล เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าจากฐานแฟนคลับหลายล้านคน และมี C asean เป็นศูนย์รวมธุรกิจ ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และดนตรีของคนอาเซียน 600 ล้านคน บวกกับ “ปีกขวา” กลยุทธ์การช่วยเหลือและแบ่งปันสังคม การสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กรธุรกิจ 
 
เวลานี้ ยุทธศาสตร์ C asean เริ่มขยายผลทางธุรกิจ ขณะที่ไทยเบฟเวอเรจเตรียมความพร้อมสำหรับธุรกิจใหม่ FOA นานกว่า 5 ปี ตั้งแต่ เจริญ สิริวัฒนภักดี ให้กลุ่ม บริษัท พรรณธิอรในเครือทีซีซีกรุ๊ป เปิดบริษัท ปากซองไฮแลนด์ เข้าไปทำสัมปทานปลูกกาแฟบริเวณพื้นที่ราบสูงโบโลเวน เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ นอกเหนือจากการปลูกมันสำปะหลัง เพื่อผลิตเอทานอลรองรับธุรกิจด้านพลังงาน 
 
พื้นที่ในเมืองปากซองถือเป็นจุดเหมาะสมในการปลูกกาแฟคุณภาพสูง เพราะมีระดับความสูง 1,300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มีอากาศหนาวเย็นเกือบทั้งปี มีปริมาณน้ำฝนสูงและดินเป็นดินภูเขาไฟมีความสมบูรณ์ของแร่ธาตุอาหารจนได้รับสมญานามว่าเป็นเมืองกาแฟ หรือ “Coffee Town” ของ สสป. ลาว มีบริษัทต่างชาติ ทั้งไทย สิงคโปร์ รวมถึงกลุ่มดาวเรือง (ดาวเฮือง) ผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ที่สุดของลาว เจ้าของแบรนด์ DAO COFFEE จับจองพื้นที่และสามารถผลิตกาแฟคุณภาพสูง จนติดอันดับกาแฟรสชาติดีเยี่ยม 1 ใน 3 ของโลก
 
สำหรับ “ปากซองไฮแลนด์” ของทีซีซีกรุ๊ป ฝังรากทดลองปลูกกาแฟ โดยกำหนดแผนการพัฒนาธุรกิจเป็นเฟสๆ ตั้งแต่ปี 2553 เริ่มจากการปลูกกาแฟ ในพื้นที่ 14,000 ไร่ ส่งเสริมการขยายพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้ได้วัตถุดิบป้อนโรงงาน โดยส่งเสริมการเพาะปลูกในรูปแบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งในปี 2554 
 
หลังจากนั้น สร้างโรงงานแปรรูปและผลิตสินค้ากาแฟคุณภาพสูง มาตรฐานระดับโลก เพื่อเพิ่มมูลค่ากาแฟ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยคัดเลือกสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 ตามแผนวิชั่น 2020 ของฐาปน โครงการปากซองไฮแลนด์จะผลิตกาแฟหมากเขียว Green Bean มากกว่า 5,000 ตัน และผลิตผลจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยตั้งเป้าหมายผลิตกาแฟระดับพรีเมียมและ Specialty coffee มีการลงทุนสร้างโรงงานคั่วบดกาแฟประสิทธิภาพสูงที่นำเข้าจากประเทศแถบอเมริกาใต้ อเมริกาเหนือและยุโรป 
 
ปัจจุบัน เมล็ดกาแฟ “ปากซองไฮแลนด์” ยังไม่มีจำหน่ายในตลาดไทยและลาว เพราะเน้นส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น แต่ทันทีที่บริษัท FOOD of Asia เปิดตัว บริษัท ปากซองไฮแลนด์ จะเริ่มทำตลาดผ่านร้านอาหารและร้านกาแฟ So Asean เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น 
 
ขณะเดียวกัน ไทยเบฟฯ ยังพัฒนาพื้นที่ปลูกกาแฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรโดยเฉพาะกาแฟ แบบครบวงจร เทคนิคการปลูกและผลิตกาแฟจากตะวันตกผสมองค์ความรู้ในลาว เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างแบรนด์ปูทางการขยายตลาดอีกทางหนึ่ง 
 
เป็นกลยุทธ์เดียวกับการสร้างพิพิธภัณฑ์ House of  Mekhong ที่โรงงานสุราบางยี่ขัน 2 อ. บางคูวัด จ. ปทุมธานี เพื่อเป็น Visitor Center ดึงกลุ่มคนต่างๆ และนักธุรกิจเข้ามาเห็นศักยภาพการผลิตเหล้าของไทยที่ได้มาตรฐานระดับโลก รวมทั้งขยายเป็นแลนด์มาร์คประเทศไทย เหมือน “วิสกี้” ที่สกอตแลนด์ จะมีสถานที่ที่เรียกว่า “Whisky Experience” จัดอยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาและเยี่ยมชมกระบวนการผลิตวิสกี้อย่างครบวงจร
 
จาก “C asean” สู่ “So Asean” กลยุทธ์ใหม่และธุรกิจใหม่ของ “ไทยเบฟเวอเรจ” เป็นก้าวย่างที่น่าตื่นเต้น  โดยเฉพาะการเปิดสงครามกับบรรดาคู่แข่งยักษ์ใหญ่ที่กำลังรุกหนักสร้างเครือข่ายธุรกิจร้านอาหารและฟู้ดคอร์ทอย่างเข้มข้นด้วย