วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Life > ศาสตร์การควบคุมลมหายใจ

ศาสตร์การควบคุมลมหายใจ

 
Column: Well – Being
 
บทความเรื่อง “The Science of Breathing” ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Yoga Journal กล่าวว่า ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของตะวันตกยอมรับแล้วว่า ศาสตร์การควบคุมลมหายใจจัดเป็นหนึ่งในวิธีที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุดในการช่วยลดความเครียดในชีวิตประจำวัน และทำให้ปัจจัยด้านสุขภาพต่างๆ ตั้งแต่อารมณ์ไปจนถึงระบบการเผาผลาญดีขึ้น
 
ปราณายามะคือคำตอบ
จากข้อความข้างต้น ทำให้ ดร.โรเจอร์ โคล ครูสอนโยคะและนักวิจัยด้านสรีรศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า “ปราณายามะจึงมีความสำคัญขึ้นมาในฉับพลัน จากที่เป็นทั้งการฝึกเพื่อสุขภาพกาย ฝึกเพื่อสุขภาพจิต และการทำสมาธิ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการฝึกลมหายใจ แต่เป็นการฝึกจิตใจโดยใช้การหายใจเป็นเครื่องมือ ปราณายามะจึงทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น”
 
ขณะที่สถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน อธิบายความหมายของ “ปราณายามะ” ซึ่งมาจากคำว่า “ปราณะ” (ลมหายใจ) ผสมกับ “อยามะ” (การควบคุม) ว่าเป็นการฝึกควบคุมลมหายใจ การฝึก
 
ปราณายามะนอกจากก่อให้เกิดผลดีด้านกายภาพมากมาย ยังเอื้อให้ผู้ฝึกมีอารมณ์มั่นคง มีจิตสงบ พร้อมสำหรับการฝึกเทคนิคของโยคะขั้นสูงขึ้นไป ซึ่งล้วนเป็นเทคนิคที่ว่าด้วยการฝึกจิตทั้งสิ้น 
 
การฝึกปราณายามะจึงเป็นการฝึกควบคุมกล้ามเนื้อของระบบหายใจ ซึ่งเป็นกลุ่มกล้ามเนื้อที่ควบคุมโดยประสาททั้ง 2 ระบบ คือ ระบบประสาทสั่งการ และระบบประสาทอัตโนมัติ
 
การที่เราควบคุมกล้ามเนื้อระบบหายใจผ่านทางระบบประสาทอย่างสม่ำเสมอ น่าจะส่งผลให้เรามีช่องทางที่จะควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติได้ โดยเป้าหมายของกลไกที่อยู่ภายใต้ระบบประสาทอัตโนมัติที่เราต้องควบคุมในที่นี้คือ จิต อารมณ์ ไม่ว่าอารมณ์โกรธ ความเครียด ความกังวล ฯลฯ
 
ซึ่ง ดร.แซท บีร์ ซิงห์ คัลซา ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ศึกษาด้านโยคะและการทำสมาธิ ยืนยันเช่นกันว่า “มีความสัมพันธ์กันโดยตรงระหว่างอัตราการหายใจ ภาวะทางอารมณ์ และสภาวะการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ”
 
ระบบประสาทอัตโนมัติ (automatic nervous system) ทำหน้าที่ควบคุมอวัยวะที่ทำงานได้เอง เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เช่น การเต้นของหัวใจ การหายใจ และการย่อยอาหาร โดยแบ่งออกเป็นระบบประสาทอัตโนมัติด้านตื่นตัว (sympathetic nervous system) ซึ่งกระตุ้นด้านการเปิด เช่น การขยายรูม่านตา การตื่นนอน และระบบประสาทอัตโนมัติด้านผ่อนคลาย (para – sympathetic nervous system) ซึ่งกระตุ้นด้านการปิด เช่น การหดปิดรูม่านตา การนอนหลับ
 
ตามปกติแล้ว ระบบประสาทดังกล่าวทำงานในฐานะที่เป็นกลไกเพื่อความอยู่รอด แต่ปัจจุบันเราอยู่ในยุคเทคโนโลยีที่ต้องใช้เครื่องมือสื่อสารกันอย่างบ้าระห่ำตลอดเวลา ไม่ว่าการใช้สมาร์ทโฟน การรับส่งอีเมล หรือการติดตามข่าวสาร จนร่างกายต้องส่งสัญญาณเตือนภัยให้ตระหนักถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นตามที่ ดร.คัลซากล่าวเพิ่มเติมว่า
 
“เรารู้มานานแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงของจังหวะการหายใจนั้น เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองกับอารมณ์ที่แปรเปลี่ยน เมื่อเกิดความตื่นตระหนกและกระวนกระวาย ลมหายใจของคุณจะสั้นและถี่ แต่ปัจจุบันมีผลการศึกษามากมายยืนยันว่า หากสามารถเปลี่ยนอัตราการหายใจได้ ย่อมสามารถเปลี่ยนการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติและสภาวะทางอารมณ์ได้”
 
กลไกการหายใจทำงานดังนี้
เมื่อหายใจหนึ่งครั้ง ตัวรับความรู้สึก (sensory receptors) นับล้านๆ ตัวในระบบทางเดินหายใจ ส่งสัญญาณผ่านเส้นประสาทสมองไปยังก้านสมอง การหายใจถี่ๆ จึงกระตุ้นสมองในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติด้านตื่นตัว ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียด เกิดความตึงเครียดในกล้ามเนื้อ มีเหงื่อออก กระวนกระวาย ทั้งอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตสูงขึ้น ในทางตรงข้าม หากควบคุมลมหายใจให้ช้าลง ย่อมทำให้เกิดการตอบสนองของระบบประสาทอัตโนมัติด้านผ่อนคลาย ทำให้กลไกในร่างกายที่กล่าวถึงข้างต้นทำงานช้าลงจนเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย สงบ และจิตใจแจ่มใส
 
ทำไมต้องหายใจอย่างถูกต้อง
เพื่อความสุขและความมั่นคงทางอารมณ์ – วารสาร Cognition & Emotion ตีพิมพ์การค้นพบว่า การควบคุมลมหายใจสามารถปรับเปลี่ยนความแปรปรวนทางอารมณ์ของคุณได้มากถึงร้อยละ 40 ไม่ว่าอารมณ์โกรธ กลัว ความสุข หรือความเศร้า เพียงหายใจเข้าและออกทางรูจมูกอย่างช้าๆ 
 
เพื่อลดน้ำหนัก – ผลการวิจัยของ ดร.เชอร์ลีย์ เทลเลส ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการวิจัยปตัญชลีในอินเดียระบุว่า การฝึกหายใจแบบโยคี หรือการหายใจเข้าออกทางรูจมูกอย่างช้าๆ ช่วยเพิ่มระดับของเลปติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เนื้อเยื่อไขมันหลั่งออกมาเพื่อส่งสัญญาณไปยังสมองให้ระงับความรู้สึกหิวได้
 
เพื่อออกกำลังกายได้ทนนานขึ้น – อายุรแพย์โรคหัวใจและหลอดเลือดแห่งมหาวิทยาลัยทาเวีย ประเทศอิตาลี ทำการศึกษาโดยเปรียบเทียบกลุ่มนักปีนเขาผู้ฝึกควบคุมการหายใจอย่างช้าๆ วันละชั่วโมงเป็นเวลา 2 ปี ก่อนปฏิบัติภารกิจปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ กับกลุ่มนักปีนเขาที่ไม่เคยฝึกการหายใจ ผลคือกลุ่มที่ฝึกหายใจสามารถปีนถึงยอดเขาได้โดยไม่ต้องใส่หน้ากากออกซิเจน ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งจำเป็นต้องใส่หน้ากากออกซิเจนช่วย
 
นอกจากนี้ จากตัวอย่างเลือดและตัวอย่างลมหายใจออกยังระบุว่า กลุ่มที่ฝึกหายใจสามารถใช้งานพื้นผิวของปอดถึงร้อยละ 70 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราสูงสุดของการหายใจเอาออกซิเจนเข้าไป
 
เพื่อชีวิตที่ยืนยาวขึ้น – ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่า การเข้าร่วมหลักสูตรฝึกความผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิ โยคะ หรือสวดมนต์ ล้วนส่งผลถึงยีนส์ของผู้เข้ารับการฝึกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยนำตัวอย่างเลือดทั้งก่อนและหลังการฝึกมาวิเคราะห์แล้วพบว่า ตัวอย่างเลือดหลังการฝึกมียีนส์เกี่ยวกับระบบเผาผลาญและการยับยั้งภาวะอักเสบเพิ่มขึ้น
 
โดยเหตุที่ภาวะอักเสบเรื้อรังมีส่วนสัมพันธ์กับโรคร้ายบางชนิด เช่น โรคหัวใจ อัลไซเมอร์ ซึมเศร้า และมะเร็ง จึงอาจกล่าวได้ว่า การควบคุมลมหายใจอย่างถูกต้อง ไม่เพียงช่วยเปลี่ยนชีวิตของคุณในทางที่ดีขึ้นได้ แต่ยังช่วยรักษาชีวิตด้วย