วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ไร้ท์แมน-เฟรชแอร์-เวิร์คพอยท์ ผุดธีมพาร์คเปิดโลกบรรพกาล

ไร้ท์แมน-เฟรชแอร์-เวิร์คพอยท์ ผุดธีมพาร์คเปิดโลกบรรพกาล

 
 
ในห้วงยามที่สังคมไทยอุดมไปด้วยการแข่งขันในมิติที่แตกต่างกันของแต่ละแวดวง แม้ว่าบางแวดวงธุรกิจจะสามารถคาดเดารูปแบบหรือกลยุทธ์ที่มักถูกใช้ในการแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้บนเวทีประลองสรรพกำลัง แต่ละองค์กรมักต่อสู้กันด้วยชั้นเชิงทางธุรกิจเพื่อหวังผลเฉกเช่นเดียวกันนั่นคือ “ความสำเร็จ”
 
ทั้งนี้ปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นยิ่งต่อทุกๆ การแข่งขัน และหรืออาจเป็นคีย์หลักสำคัญที่จะทำให้องค์กรต่างๆ บรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ตั้งธงเอาไว้ ไม่ว่าจะเรื่องของงบประมาณ แนวความคิด รวมไปถึงผู้ปฏิบัติงานที่มีศักยภาพเหมาะสมกับงาน 
 
แม้ว่าในบางครั้งโปรเจกต์ที่โดดเด่นไปด้วยแนวความคิด มีบุคลากรที่มากไปด้วยประสิทธิภาพแต่อาจไม่ประสบความสำเร็จ หากขาดงบประมาณที่จะช่วยขจัดอุปสรรคที่จะช่วยลดระยะทางที่จะทำให้ก้าวเดินสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น
 
หากแต่สิ่งเหล่านั้นคงไม่ใช่กับบริษัท เอฟดับเบิ้ลยูอาร์ จำกัด ที่แม้ว่าจะเป็นบริษัทน้องใหม่ที่มีโปรเจ็กต์ใหญ่อย่าง Dinosaur Planet ธีมพาร์คซึ่งตั้งตระหง่านอยู่บนถนนสุขุมวิท ย่านธุรกิจสำคัญใจกลางเมืองก็ตาม โดย “เอฟดับเบิ้ลยูอาร์” เกิดจากการรวมตัวกันระหว่างบริษัท เฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด
 
3 ประสานที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้นับได้ว่าเป็นการรวมตัวกันครั้งสำคัญแห่งวงการบันเทิงไทย ซึ่งแต่ละบริษัทต่างมีดีกรีและความถนัดในแต่ละด้าน โดยบริษัท เฟรชแอร์นั้นเคยผ่านงานระดับใหญ่อย่างการแสดงพระมหาชนก เดอะฟีโนมีนอน ไลฟ์ โชว์ ที่สร้างความประทับใจต่อผู้ชมอย่างมากในปี 2557 
 
บริษัท เวิร์คพอยท์เป็นที่รู้จักกันดีและเรียกได้ว่าเป็นผู้นำของวงการทีวีไทย โดยเฉพาะรายการทีวีเกมโชว์ที่มักจะกวาดรางวัลรายการเกมโชว์ยอดเยี่ยมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และบริษัท ไร้ท์แมน ผู้ที่สร้างลายเซ็นไว้ในนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้อีกหลายแห่ง อีกทั้งยังเป็นผู้ออกแบบศูนย์การเรียนรู้ที่จับเอาเทคโนโลยีมาผนวกกับเรื่องราว สร้างรูปแบบใหม่ในการนำเสนอซึ่งช่วยลดความน่าเบื่อในพิพิธภัณฑ์ได้
 
เมื่อมองการรวมตัวกันของทั้ง 3 บริษัทซึ่งนอกจากความสามารถเฉพาะทางของแต่ละบริษัทจะสามารถลดข้อจำกัดในการนำพาโปรเจ็กต์ไปสู่ความสำเร็จได้ ยังทุ่มเงินงบประมาณกว่า 500 ล้านบาทเพื่อเนรมิตพื้นที่ 12,000 ตารางเมตรบนย่านธุรกิจสำคัญของไทย ให้เป็นธีมพาร์คที่บอกเล่าเรื่องราวของไดโนเสาร์ สัตว์โลกที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานหลายล้านปี อีกทั้งยังถ่ายทอดเนื้อหาราวกับว่าบรรดาเหล่าสัตว์โลกล้านปีเหล่านั้นฟื้นกลับคืนมามีชีวิตโลดแล่นอีกครั้ง
 
อย่างไรก็ตาม ธีมพาร์คส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยมีคอนเซ็ปต์ไม่แตกต่างกันมากนัก อาจเพราะไทยเป็นประเทศในเขตร้อน ทำให้ธีมพาร์คส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาให้เป็นสวนน้ำที่มีเครื่องเล่นทันสมัย และถูกจัดวางอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ เช่น เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ขอนแก่น 
 
ทั้งนี้การมาถึงของ Dinosaur Planet ธีมพาร์คที่ฉีกรูปแบบแตกต่างไปจากเดิม ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Beyond Nova In The Heart Of Bangkok” หรือดาวดวงใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ โดยใช้ความถนัดของทั้ง 3 บริษัท เช่น การแสดง แสง สี เสียง จากบริษัท เฟรชแอร์ ฉากภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มความสนุกและตื่นเต้น ผลงานของเวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนแมนต์ และเทคโนโลยีที่ใช้เป็นเครื่องมือในการนำเสนอข้อมูลความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ แน่นอนว่าเป็นความถนัดของไร้ท์แมน
 
กระนั้นแนวความคิดการออกแบบ Dinosaur Planet อุปถัมถ์ นิสิตสุขเจริญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด บอกเล่ากับ “ผู้จัดการ 360  ํ” ฟังว่า “เราต้องการฉีกรูปแบบของ Theme Park หรือคอนเซ็ปต์สวนสนุกที่เคยมีแล้วในพื้นที่ต่างๆ อย่างสิ้นเชิง ซึ่งครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการเปิดมุมมองใหม่ให้แก่การท่องเที่ยว Theme Park ในไทย ด้วยการสร้าง Story Line ให้กับ Theme Park แห่งนี้ให้มีมิติที่แตกต่างด้วยเรื่องราวของไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มีความคลาสสิกและยังได้รับความนิยมตลอดกาล
 
ทั้งนี้การออกแบบและผสมผสานเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะทำให้ Dinosaur Planet มีความสมบูรณ์ทั้งเรื่องของความสมจริงและความตื่นเต้น เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยว เสมือนได้ย้อนเวลากลับไปยังโลกยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้เข้าชมลืมไปเลยว่ากำลังอยู่ในพื้นที่สุขุมวิทใจกลางกรุงเทพฯ”
 
การถ่ายทอดเรื่องราวโดยใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสาร ถูกสอดแทรกอยู่ในโซนต่างๆ รวมทั้งสิ้น 8 โซน อาทิ Dinosaur District ที่ผู้เข้าชมสามารถเรียนรู้ความเป็นมาของไดโนเสาร์ผ่าน Multimedia Technology เสมือนข้ามมิติเวลาไปสู่ดวงดาวแห่งไดโนเสาร์ อีกทั้งยังมีห้องแล็บที่จำลองการฟักไข่ไดโนเสาร์ และยังมีกิมมิคแอบแฝงเพื่อเพิ่มความตื่นเต้นในขณะเข้าชม
 
โซน Dino Eye พื้นที่สำคัญ Crystal Capsule บน Giant Wheel ที่มีความสูงกว่า 50 เมตร พร้อมกับ 3 ภูมิทัศน์ของโลกล้านปี นอกจากนี้ยังมีโซน 4D Deep World ด้วยการดำดิ่งสู่ใต้พื้นโลกล้านปี สร้างอารมณ์ในทุกมิติด้วยเทคนิค 4D Simulator ซึ่งถือว่าเป็นอัตลักษณ์ของไร้ท์แมนที่มักจะปรากฏให้เห็นตามศูนย์การเรียนรู้ที่ไร้ท์แมนเป็นผู้ดูแลออกแบบ และ The Great Volcano พื้นที่สำหรับการแสดงเทคนิค แสง สี เสียง และ Live Show เรื่องราวการดิ้นรนต่อสู้เพื่อการอยู่รอดจากการสูญพันธุ์ของเหล่าไดโนเสาร์
 
และที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดพีคเสมือนจำลองภาพเหตุการณ์จากหนัง Jurassic World มาไว้ในโซน The Raptor X-Tream ซึ่งผู้เข้าชมจะได้เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะร่วมผจญภัยท่ามกลางไดโนเสาร์สายพันธุ์ Raptor 
 
“แต่ละโซนจะมีความพิเศษเฉพาะที่จะช่วยดึงดูดฐานลูกค้าในกลุ่มที่ต่างๆ กันออกไป อีกทั้งในอนาคตเราเตรียมที่จะมีกิจกรรมทางการตลาดอื่นๆ ที่สลับสับเปลี่ยนมาเสริมทัพความบันเทิง และสร้างความน่าสนใจให้กับผู้เข้าชม ซึ่งความยิ่งใหญ่ทั้งหมดเราเตรียมพนักงานมืออาชีพกว่า 300 ชีวิตไว้คอยดูแลผู้เข้าเยี่ยมชม” ม.ร.ว. รุจยาภา อาภากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการบริษัท เฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด อธิบาย
 
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเจ้าของโปรเจ็กต์อย่างบริษัท เอฟดับเบิ้ลยูอาร์ มีความพยายามที่จะใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดเล่าเรื่องราวของไดโนเสาร์ให้เกิดอรรถรสอย่างที่สุด กระนั้นความได้เปรียบในเรื่องของทำเลที่ตั้งนั้น ได้รับความร่วมมือจากเดอะมอลล์ กรุ๊ป ซึ่งเดิมทีพื้นที่ดังกล่าวนั้นถูกบรรจุอยู่ในแผนโครงการใหญ่ของ ดิ เอ็มดิสทริค ซึ่งเดอะมอลล์ กรุ๊ปเปิดเผยแผนงานของโครงการดังกล่าวเมื่อปี 2557
 
หลังจากการเปิดตัว ดิ เอ็มควอเทียร์ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ดิ เอ็มสเฟียร์ ยังไม่ปรากฏโครงร่างหรือความคืบหน้าของโครงการให้เห็นแต่อย่างใด ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยและในอีกหลายประเทศทั่วโลก
 
นักลงทุนยังขาดความมั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจซึ่งทำให้ตัดสินใจที่จะชะลอการลงทุน และทำได้ดีที่สุดคือการสร้างประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าว กระนั้นการเกิดขึ้นของ Dinosaur Planet บนพื้นที่ของ ดิ เอ็มสเฟียร์ อาจเป็นส่วนประกอบในจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของเดอะมอลล์ กรุ๊ปในห้วงเวลาที่ยังอยู่ในภาวะเงียบสงบ เพื่อถมช่องว่างและสร้างผลกำไรถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม
 
โดยเกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิเอ็มโพเรี่ยม กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า “Dinosaur Planet แห่งนี้คือความมหัศจรรย์ที่รังสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์แห่งแรกโดยฝีมือคนไทย ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญที่โลกต้องตะลึง และในโอกาสครบรอบ 1 ปีของ ดิ เอ็มดิสทริค บริษัทฯ ภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับบริษัท เอฟดับเบิ้ลยูอาร์ ในการสร้างสรรค์ Dinosaur Planet ให้เป็นของขวัญกับประเทศไทย นอกจากนี้ในปี 2559 บริษัทฯ เตรียมทุ่มงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อมอบสุดยอดประสบการณ์การชอปปิ้งและความบันเทิงที่ยิ่งใหญ่และไม่ธรรมดา” 
 
มีความเป็นไปได้ว่าหลังจาก Dinosaur Planet ย้ายออกจากพื้นที่ไปสร้างความสนุกยังต่างจังหวัด อาจมีความคืบหน้าของโครงการ ดิ เอ็มสเฟียร์ ปรากฏขึ้นมาแทนที่
 
นอกเหนือไปจากความได้เปรียบทางด้านพื้นที่แล้ว ธีมพาร์ค Dinosaur Planet ยังแอบแฝงไปด้วยความแยบยลในการบอกเล่าความเป็นไปและการมีอยู่ของโครงการ เมื่อครั้งเริ่มการขนย้ายไดโนเสาร์จากปทุมธานีผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อนำไปติดตั้งที่ถนนสุขุมวิทเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งสามารถสร้างกระแสและเรียกความสนใจได้บนโลกโซเชียลมีเดีย และกลายเป็น Talk of the Town ในวันต่อมา
 
อย่างไรก็ตาม แม้การกระทำดังกล่าวจะผิดกฎหมายบางข้อและส่งผลให้เจ้าของโปรเจ็กต์ต้องจ่ายเงินค่าปรับ กระนั้นหากเปรียบเทียบจำนวนเงินค่าปรับที่ต้องเสียไปกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้นและเป็นที่พูดถึงในเวลาไม่นานก็นับว่าคุ้ม เพราะถือเป็นการประหยัดงบประมาณในการประชาสัมพันธ์ได้ดี
 
ในแง่มุมของธุรกิจท่องเที่ยวไทย “Dinosaur Planet” นับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่จะสร้างแรงกระเพื่อมและดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยวินิจ เลิศรัตนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด กล่าวว่า “Dinosaur Planet คือการรวม 3 พลังแห่งวงการบันเทิงไทย เพื่อจะทำให้ระยะเวลา 10 เดือนต่อจากนี้พื้นที่บริเวณ ดิ เอ็มสเฟียร์ถูกเนรมิตให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนวใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากคนไทยที่จะได้มีโอกาสพบกับไดโนเสาร์ที่เสมือนจริงแล้ว เราเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยเดินทางเข้ามารับประสบการณ์ความสนุกตื่นตาตื่นใจจากเหล่าไดโนเสาร์กว่า 200 ชีวิตที่เรานำมาจัดแสดง ที่มีรูปร่างลักษณะท่าทางเสมือนจริง ไม่ว่าจะเป็นการขยับ การเคลื่อนไหว การก้าวเดิน เสียงร้องรวมไปถึงเสียงของลมหายใจ 
 
ทั้งนี้ Dinosaur Planet  จะกระตุ้นให้เกิดเงินสะพัดด้านการท่องเที่ยวกว่า 5,000 ล้านบาท พื้นที่ตรงนี้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 15,000 คนต่อวัน โดยคาดว่าจะเป็นชาวต่างชาติราว 5 แสนคนต่อปี รวมนักท่องเที่ยวทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวเกาหลีที่มักจะท่องเที่ยวในโซนพื้นที่สุขุมวิทอยู่แล้ว รวมไปถึงชาวต่างชาติที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง อีกทั้ง Dinosaur Planet สามารถรองรับลูกค้าได้หลากหลายช่วงวัยและทุกเพศที่มีความต้องการจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ยุคดึกดำบรรพ์
 
ทั้งนี้หากครบกำหนดสัญญาเช่าพื้นที่ ดิ เอ็มดิสทริคแล้ว Dinosaur Planet จะย้ายพื้นที่ความสนุกไปยังเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติได้มีโอกาสร่วมรับประสบการณ์นี้ และแม้ว่าจนถึงเวลานี้ผู้บริหารของ Dinosaur Planet จะยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกพื้นที่ใด แต่บริษัทฯ คงจะหลีกเลี่ยงลักษณ์ Stand Alone เพราะมีความเสี่ยงมากกว่าการมีคู่ค้าทางธุรกิจที่จะช่วยหนุนนำซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดเงินสะพัดมากขึ้นในธุรกิจท่องเที่ยว
 
คงจะเป็นที่น่าเสียดายไม่น้อยหากธีมพาร์คไดโนเสาร์ที่ครั้งหนึ่งเคยโลดแล่นและตั้งตระหง่านอยู่บนถนนสุขุมวิท จะถูกแทนที่ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า เจ้าของพื้นที่ตัวจริงอย่าง ดิ เอ็มสเฟียร์ ซึ่งจะกลับมาเนรมิตศูนย์การค้าแหล่งชอปปิ้ง ที่นับวันจะมีมากขึ้น ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่า ประเทศไทยมีศูนย์การค้าอยู่ทั่วทุกมุมเมือง
 
หรือเราอาจยินดีที่จะให้เจเนอเรชั่นใหม่เติบโตมากับสังคมที่ฉาบฉวยมากกว่าสังคมที่อุดมไปด้วยความรู้ที่เป็นอาหารชั้นดีของสมอง จะดีกว่าหรือไม่หากบรรดาองค์กรธุรกิจจะแบ่งปันสรรพกำลังในด้านงบประมาณหรือพื้นที่ที่ถือครองเพียงสักนิดมาสร้างสรรค์ศูนย์การเรียนรู้เพื่อจรรโลงให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น เพื่อที่อาจจะพูดได้เต็มปากมากขึ้นว่า เราอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างแท้จริง
 
อย่างน้อยที่สุดในห้วงเวลานี้สังคมเราก็ยังมีหน่วยงานที่พอจะมองเห็นและเข้าใจสังคม อีกทั้งยังช่วยพัฒนาแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่แม้จะน้อยแต่ก็ยังมี