วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
Home > Cover Story > เจาะหุ้นนางงาม MGI ลุ้นตลาด มงจะลง-ไม่ลง

เจาะหุ้นนางงาม MGI ลุ้นตลาด มงจะลง-ไม่ลง

ได้ฤกษ์ซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ไปแล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา สำหรับหุ้นนางงาม บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MGI หลังจากซีอีโอใหญ่ ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ใช้เวลาแต่งตัวปลุกปั้นมานานกว่าสิบปีด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท

ขณะเดียวกันการนำร่องเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 60 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 4.95 บาท เมื่อวันที่ 4, 6 และ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา สามารถสร้างแรงดึงดูดนักลงทุนจองซื้อหมดเกลี้ยง ซึ่งนายณวัฒน์ประกาศใช้เม็ดเงินลงทุนปรับปรุงอาคารสำนักงาน พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้า และผลิตรายการ เพื่อเพิ่มศักยภาพและผลักดันการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

หากย้อนดูผลการดำเนินงานของ MGI ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากปี 2563 มีรายได้รวม 338.80 ล้านบาท ปี 2564 อยู่ที่ 345.10 ล้านบาท ปี 2565 อยู่ที่ 319.86 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 428.93 ล้านบาท กำไรสุทธิ 77.13 ล้านบาท เทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มีรายได้รวม 218.68 ล้านบาท กำไรสุทธิ 36.58 ล้านบาท โดยถือเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่นำเวทีนางงามเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MGI กล่าวว่า ธุรกิจนางงามไม่ใช่จุดยืนเดียว แต่เป็นจุดเริ่มต้นการต่อยอดธุรกิจมากมาย เพราะ MGI เป็นบริษัทแรกที่มีเครือข่าย 77 เวที 77 จังหวัดในประเทศไทย รวมทั้งขายลิขสิทธิ์ไปยังต่างประเทศอีก 90 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสัดส่วนรายได้งวด 9 เดือนแรกของปี 2566 มาจากธุรกิจพาณิชย์สัดส่วนมากสุด 40.86% ธุรกิจประกวดนางงามมิสแกรนด์ 12.63% ธุรกิจสื่อและบันเทิง 19.06% ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน 23.12% รายได้ค่าเช่าช่วง MGI Hall 3.51% และรายได้อื่นๆ 0.82% โดยบริษัทตั้งเป้ารุกขยายธุรกิจพาณิชย์ ซึ่งมีการเติบโตสูง

หากเจาะธุรกิจของ MGI ในกลุ่มธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) ซึ่งณวัฒน์ซุ่มเจาะกลุ่มลูกค้าผ่านช่องทางต่างๆ ภายใต้แบรนด์ Miss Grand MGI และ NangNgam มีกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและผิวกาย กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำหอม กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า รวมทั้งแตกไลน์กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารเสริม ได้แก่ น้ำพริกปลาสลิด

ขณะเดียวกันปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสินค้า OEM โดยบริษัทเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สูตรการผลิตทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีสินค้า 3 ประเภท ได้แก่ กาแฟลดน้ำหนักตรามิสแกรนด์ ผลิตภัณฑ์คอลลาเจนอิงฟ้า และชาเขียวชนิดผง ตราชาล็อต บาย มิสแกรนด์

ส่วนธุรกิจประกวดนางงาม ซึ่งปัจจุบันบริษัทกำหนดการประกวดมิสแกรนด์ ไทยแลนด์ในไตรมาส 2 ของทุกปี และจัดการประกวดมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนลในไตรมาส 4 ของทุกปี โดยณวัฒน์ย้ำเสมอว่า  Miss Grand Thailand เป็นการประกวดนางงามระดับประเทศที่มีผู้เข้าร่วมการประกวดมากที่สุดในประเทศไทย คือ 77 คน เป็นตัวแทนจาก 77 จังหวัด ทั่วประเทศไทย และใช้รูปแบบการจัดงาน โดยขายลิขสิทธิ์การประกวดให้ผู้จัดงานในจังหวัดต่างๆ เพื่อดำเนินการกิจกรรมในนาม “มิสแกรนด์ (จังหวัด)” เพื่อคัดเลือกตัวแทน เข้าร่วมการประกวด มิสแกรนด์ ไทยแลนด์ ในแต่ละปี

ในส่วนการประกวดนางงามระดับนานาชาติ ซึ่งปกติมี 7 เวทีหลักที่ทั่วโลกยอมรับ ได้แก่ รายการ Miss Universe, Miss World, Miss International, Miss Supranational, Miss Earth, Miss Intercontinental และ Miss Tourism International โดยเวทีที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานที่สุด ได้แก่ Miss World เริ่มมีการประกวดตั้งแต่ปี ค.ศ.1951 และ Miss Universe เริ่มมีการประกวดตั้งแต่ปี ค.ศ.1952 โดยเป็นสองเวทีการประกวดที่มีผู้ถือลิขสิทธิ์และผู้เข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก คือ Miss World ประมาณ 120 ประเทศ และ Miss Universe ประมาณ 90 ประเทศทั่วโลก

ล่าสุด  Global Beauties องค์กรวิเคราะห์การประกวดนางงามระดับนานาชาติที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1998 ได้จัดอันดับ 5 เวทีระดับ Grand Slam Beauty Pageant เมื่อเดือนกันยายน 2566 ปรากฏว่า เวที Miss Grand International ของ MGI ติดทอปไฟว์ร่วมกับ Miss Universe, Miss World, Miss Supranational และ Miss International พร้อมระบุว่า Miss Grand International เป็นเวทีที่จัดการประกวดโดยคนไทยที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ทั้งในแง่สปอนเซอร์ ฐานผู้ชม และความนิยม

ต้องยอมรับว่า MGI ใช้การต่อยอดธุรกิจการประกวดนางงาม ทั้งการสร้างแบรนด์สินค้าในเครือ มีพรีเซนเตอร์และผลักดันให้เป็นศิลปินในวงการบันเทิง ไม่ใช่แค่การส่งนางงามที่ได้รับตำแหน่งมิสแกรนด์ ไทยแลนด์ เป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดเวทีระดับนานาชาติ เช่น การประกวดนางงาม Miss Grand International และการส่งนางงามที่ได้อันดับรองลงมาไปประกวดรายการ Miss Intercontinental, Miss Tourism International หรือเวทีอื่นๆ

ที่เห็นชัดเจน คือ การผลักดันธุรกิจบันเทิง (X-Periences) ในรูปแบบให้กลุ่มลูกค้าทำกิจกรรมร่วมกับนางงามและศิลปิน เช่น การจัดคอนเสิร์ตอิงฟ้ามหาชน, MGT x ระเบียบวาทศิลป์, Meet & Greet และการถ่ายทำซีรีส์ออกอากาศในช่องทาง Youtube ภายใต้ชื่อ GrandTV เช่น ซีรีส์เรื่อง Show Me Love แสดงนำโดยศิลปินในสังกัด คือ อิงฟ้า วราหะ ผู้ชนะอันดับ 1 การประกวดมิสแกรนด์ ไทยแลนด์ ปี 2565 (MGT 2022) และรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ปี 2565 (MGI 2022) และชาล็อต ออสติน รองชนะเลิศอันดับ 5 มิสแกรนด์ ไทยแลนด์ ปี 2565 (MGT 2022) หรือการร่วมงานอีเวนต์ของสินค้าและบริการต่างๆ เช่น ชาล็อต เข้าร่วมกิจกรรมกับ LINE MAN ในงาน Siam Food Fest เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ Siam Square

ด้านหนึ่งสร้างรายได้เสริมหลายช่องทาง อีกด้านปลุกเรตติ้งสินค้า ศิลปิน เกิด FC กลุ่ม DOM และเสริมแบรนด์มิสแกรนด์ไทยแลนด์แข็งแรงยิ่งขึ้น แต่ทั้งหมดต้องลุ้นราคาหุ้น MGI จะไปได้ไกลแค่ไหน.

ภาพจากเว็บไซต์ Miss Grand Thailand

เส้นทาง Miss Grand พลิกเงินก้อนแรก 1 ล้านบาท

วันที่ 6 พ.ย. 2556 ณวัฒน์ อิสรไกรศีล และรัชพล จันทรทิม ก่อตั้ง บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (MISS GRAND INTERNATIONAL PUBLIC COMPANY LIMITED) ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จำนวนหุ้นรวม 10,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท เพื่อประกอบธุรกิจจัดประกวดนางงาม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเริ่มจัดกิจกรรมการประกวด มิสแกรนด์ ไทยแลนด์ (Miss Grand Thailand หรือ MGT) และมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Miss Grand International หรือ MGI)

ช่วงแรกใช้การคัดเลือกตัวแทนจากส่วนกลางและเชิญผู้ถือลิขสิทธิ์การประกวดระดับประเทศ เข้าร่วมการประกวดระดับนานาชาติ โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งปีนั้นมีผู้เข้าร่วมการประกวด 88 ประเทศและไทยเป็นประเทศเจ้าภาพเวที MGI ปีแรก

ปี 2557 เริ่มเก็บค่าลิขสิทธิ์การเข้าร่วมประกวดระดับนานาชาติจนถึงปัจจุบัน

ปี 2559 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกวด MGT เข้าสู่ระบบลิขสิทธิ์ตัวแทน 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย และเริ่มจัดการประกวด MGI นอกประเทศไทยเป็นครั้งแรก ที่เมืองลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา

ปี 2560 บริษัทหาเจ้าภาพจัดการประกวด MGI ที่ต่างประเทศได้เป็นครั้งแรก ที่เมืองฟูก๊วก ประเทศเวียดนาม

ปี 2561 เริ่มเข้าสู่ธุรกิจพาณิชย์ โดยการขายสินค้าอุปโภค ผลิตภัณฑ์แรก คือ อันเดอร์อาร์ม เซรั่ม แบรนด์ Nangngam (นางงาม) และขยายสินค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น น้ำพริกปลาสลิด กาแฟ น้ำปลาร้า และเริ่มต่อยอดธุรกิจอื่น ได้แก่ ธุรกิจสื่อและบันเทิง ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน โดยอาศัยชื่อเสียง ความนิยมจากธุรกิจประกวดนางงามมิสแกรนด์

วันที่ 30 พ.ย. 2563 บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท และเริ่มขายสินค้าผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น น้ำพริกปลาสลิด

ปี 2565 เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 50 ล้านบาท เป็น 75 ล้านบาท และที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565  มีมติแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เพื่อยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้จากหุ้นละ 100 บาท เป็นหุ้นละ 0.50 บาท เพิ่มทุนจดทะเบียนอีกครั้งจาก 75 ล้านบาท เป็น 105 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญใหม่ 60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท และเสนอขายหุ้น IPO นำหุ้นสามัญของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ

ปี 2566 บริษัทร่วมทุนกับบริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท เคเอ็มจีไอ จำกัด เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และเร่งพัฒนาสูตรการผลิตน้ำพริกปลาดุกฟูผัดพริกขิงกับผู้รับจ้างผลิต

ขณะเดียวกัน ทำสัญญาเช่าช่วงห้างโชว์ดีซี (Show DC) ระยะเวลา 1 ปี เพื่อจัดแสดง จัดการประกวด ถ่ายทำรายการ และให้เช่าช่วง โดยต่อสัญญาเช่าระยะสั้นปีต่อปี.