วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Home > Cover Story > “ข้าวสาร” 128 ปี ถนนแห่งแสงสีและการเปลี่ยนผ่าน

“ข้าวสาร” 128 ปี ถนนแห่งแสงสีและการเปลี่ยนผ่าน

พื้นที่เขตพระนคร มีถนนหลายสายที่ล้วนแต่มีเรื่องราวเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาหรือตำนานมากมาย นั่นรวมไปถึงถนนสายเล็กๆ ที่อยู่คู่ขนานกับถนนราชดำเนิน ที่มีระยะทางสั้นโดยประมาณ 400 เมตรอย่าง ถนนข้าวสาร ที่เพียงแค่ชื่อก็สามารถเล่าขานสตอรี่ได้อย่างมีนัย

การเดินทางของถนนข้าวสาร จากที่เคยเป็นหมุดหมายสำคัญทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าวสาร” เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ถนนแห่งนี้เคยเป็นแหล่งค้าข้าวสารที่ถูกขนส่งมาทางเรือและขึ้นเทียบท่าบางลำพู ก่อนจะนำมาขายที่นี่

128 ปี ถนนข้าวสารจากยุครุ่งเรืองทางการค้า แหล่งจำหน่ายสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญของคนไทย กระทั่งวัฒนธรรมตะวันตกค่อยๆ คืบคลานเข้ามาอย่างช้าๆ แต่ค่อยๆ กลืนกินวิถีชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่บนถนนแห่งนี้จนเหลือไว้เพียงภาพความทรงจำที่แตกต่างกันของคนแต่ละรุ่น

ภาพจำของถนนข้าวสารในรุ่นปู่ย่าตาทวด คงมีแต่เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับเส้นทางการค้า ย่านธุรกิจที่ขายข้าวสารอาหารแห้งที่ใหญ่ที่สุดในเขตพระนคร พ่อค้าแม่ขายทั้งคนไทยและคนจีนจากโพ้นทะเล เรื่องเก่าที่ยังเล่าขานกันอย่างสนุก

กาลเวลายังคงหมุนเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และส่งภาพจำใหม่ๆ มาสู่เด็กรุ่นหลัง ยุคที่โทรศัพท์มือถือคืออวัยวะชิ้นที่ 33 แม้ถนนข้าวสารจะยังคงเป็นถนนสายเดิม ระยะทางไม่ต่างจากเดิม แต่ร้านรวงที่ครั้งหนึ่งเคยจำหน่ายข้าวสาร ถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบันถนนเส้นนี้กลายเป็นถนนที่อัดแน่นไปด้วยสถานบันเทิงยามราตรี ผับ บาร์ จุดนัดพบทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และเป็นถนนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเพณีสงกรานต์ในยุคดิจิทัล

แต่ละช่วงวัยของผู้คน ล้วนแต่มีภาพจำที่แตกต่างกันไป ทว่า ห้วงยามนี้ ศักราชนี้ ภาพจำที่คล้ายสร้างความเจ็บช้ำให้แก่ผู้ประกอบการย่านถนนข้าวสารคือ ความทุกข์ระทม ความเปลี่ยวเหงา ซบเซา ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ หลายคนนิยามช่วงเวลานี้ของถนนเส้นนี้ว่า ถนนร้าง ถนนซอมบี้

ในแต่ละวัน ถนนข้าวสารมักจะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทย ที่ออกมาหาความสุขความสำราญให้กับตัวเอง เสียงเพลงจากแต่ละร้านแข่งกันดึงดูดความสนใจจากลูกค้าและผู้ที่ผ่านไปผ่านมา ขณะที่พนักงานร้านเดินชูป้ายราคาอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมโฆษณาโปรโมชั่นด้วยหวังว่าจะกวาดต้อนนักท่องเที่ยวยามราตรีเข้าร้านได้จำนวนหนึ่ง

นอกจากนี้ บนถนนยังมีรถเข็นขายอาหารคาว หวาน มากมายที่ฝรั่งมังค่ามักให้ความสนใจและให้นิยามว่า ถนนที่มั่งคั่งไปด้วยสตรีทฟู้ด แม้ว่ารสชาติของอาหารจะห่างไกลจากความอร่อย และรสชาติดั้งเดิมของอาหารชนิดนั้นๆ

บรรยากาศความคึกคัก ความชุลมุนในบางช่วงเวลาแต่เต็มไปด้วยสีสัน ถูกความร้ายกาจของเชื้อไวรัสโควิดดูดกลืนไปจนหมดสิ้น และนำมาซึ่งความเงียบสงบจนเกินพอดีชนิดไม่มีใครต้องการ

ช่วงเวลา 4-5 เดือนที่ถนนข้าวสารร้างไร้ผู้คนที่ไม่ใช่แค่ชาวต่างชาติเท่านั้น คนไทยเองก็เลือกที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยว แม้มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4 หลังปิดประเทศ ผู้ประกอบการธุรกิจบนถนนข้าวสารจะสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้แล้วก็ตาม

ทว่า ภายใต้สถานการณ์ความเป็นไปของโรคระบาดที่ยังไม่มีความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้ไทยยังไม่สามารถเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้ เป็นผลให้ผู้ประกอบการยังมองว่าภาวะนี้ยังดูจะเสี่ยงเกินไปหากกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติ เพราะผู้ให้เช่าพื้นที่จะเก็บค่าเช่าทันที เมื่อรายได้กว่าร้อยละ 80 มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ขณะที่ความเงียบเหงาบนถนนข้าวสารยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จากการที่ไทยยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ตามปกติ และผู้ประกอบการธุรกิจถนนข้าวสารบางคนพร้อมจะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ หรืออย่างน้อยเพื่อให้ธุรกิจยังคงอยู่ต่อไปได้แม้จะเป็นไปอย่างยากลำบาก

กระทั่งล่าสุด ข่าวการติดเชื้อในประเทศคนแรกในรอบเกือบหนึ่งร้อยวัน ซึ่งเป็นผู้ต้องขังอาชีพดีเจ ที่เคยทำงานในร้านเฟิร์ส คาเฟ่ ถนนข้าวสาร ที่ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา สร้างความวิตกแก่ประชาชนในพื้นที่และฉุดให้สถานการณ์ของธุรกิจแย่ลงไปอีก

ผู้ประกอบการถนนข้าวสาร อาทิ โรงแรม เกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร บาร์ ร้านนวดแผนไทย สปา ร้านเสื้อผ้า สินค้าที่ระลึก ที่เคยมีรายได้หมุนเวียนมากกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือน หรือในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีละประมาณ 200 ล้านบาท ได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เพราะไม่ได้มีเพียงแต่เจ้าของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ แต่ถนนสายสั้นนี้มีแรงงานประมาณ 500-1,000 คน ที่ต้องตกงาน สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจถนนข้าวสารพยายามหาแนวทางที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีรายได้บ้าง ทั้งการจัดโปรโมชั่นลดราคาห้องพัก นำรถรางออกมาให้บริการนักท่องเที่ยวคนไทย ซึ่งล้วนแต่เป็นแนวทางการฟื้นฟูระยะสั้น

นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังมีแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ระยะยาวคือ การจัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น ที่เคยจัดไปก่อนหน้านี้ คือ Walking Street มีการแสดงศิลปะแบบไทย การแสดงแสงสี เสียง เปิดตลาดและพื้นที่ให้นักศึกษาได้มีโอกาสมาแสดงความสามารถหมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกสัปดาห์ และการเปลี่ยนถนนข้าวสารให้เป็นถนนสายบันเทิง

แม้จะมีแนวทางการแก้ไขปัญหา แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจถนนข้าวสาร รวมไปถึงตัวสมาคมเองต้องยอมรับคือ ภาพจำของถนนข้าวสารในปัจจุบันคือ ถนนที่ให้ความบันเทิงในยามราตรี แหล่งบันเทิงของนักเที่ยวยามค่ำคืน

การจะหนีภาพจำในยามที่เศรษฐกิจเข้าสู่ขาลงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้ภาครัฐจะมีนโยบายเที่ยวปันสุข หรือโครงการสนับสนุนรณรงค์ให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยกันมากขึ้น ทว่า หมุดหมายที่คนส่วนใหญ่เลือกคือแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ

ขณะที่อีกหนึ่งปัญหาหลักคือ ความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจไทย การค้าโลก รวมไปถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิดทั่วโลก ที่แต่ละคนยังต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง ส่งผลกระทบเป็นระลอกคลื่นที่ทำให้ประชาชนไม่ใช้จ่ายเงินจนเกินตัวเฉกเช่นที่ผ่านมา และภาครัฐต้องมองภาพรวมให้ออกว่า การแจกเงินสำหรับการท่องเที่ยวดูจะไม่ใช่ทางออกหรือหนทางที่ถูกเสียแล้วสำหรับปัญหาที่ค่อยๆ ขยายตัวขึ้นในครั้งนี้

ถนนข้าวสารจะดำเนินไปอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก หรืออนาคตบรรดาผู้ประกอบการอาจปรับกระบวนทัศน์ที่จะพึ่งพาเม็ดเงินจากต่างชาติให้น้อยลง เผื่อว่าโลกใบนี้จะถูกไวรัสเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

ถนนข้าวสาร

ถนนข้าวสาร สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2435 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกรมโยธาธิการได้กราบบังคมทูลให้ตัดถนนตรอกข้าวสาร เริ่มตั้งแต่ถนนหน้าวัดชนะสงครามตัดมาทางตะวันออกตามตรอกข้าวสาร แล้วสร้างสะพานข้ามคลองมาบรรจบกับถนนเฟื่องนครตอนหน้าสวนหลวงตึกดิน พระราชทานนามถนนตามเดิมว่า “ถนนข้าวสาร”

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ถนนข้าวสารเป็นตรอกขายข้าวสาร แหล่งค้าข้าวสารที่ใหญ่ที่สุดของเขตพระนคร ซึ่งข้าวสารจำนวนมากจะถูกขนส่งมาจากฉางข้าวหลวง สะพานช้างโรงสี ริมคลองคูเมืองเดิม หรือปัจจุบันคือ คลองหลอด เลียบมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นที่ท่าเรือบางลำพู เพื่อนำข้าวมาขายให้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ นอกจากนี้ ยังขายถ่านหุงข้าว ของชำ เมื่อชุมชนเกิดมากขึ้น เริ่มมีร้านขายของเพิ่มขึ้น เช่นร้านของเล่น ร้านขายก๋วยเตี๋ยวเรือ

วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามาทำให้วิถีชุมชนดั้งเดิมเปลี่ยนไป ในช่วงปี พ.ศ. 2525 เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานครครบรอบ 200 ปี นักท่องเที่ยวเข้ามาเช่าห้องพักอาศัยและเที่ยวชมเมืองหลวงของไทยในช่วงเทศกาลและประเพณีสำคัญๆ และเมื่อมีกองถ่ายภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเข้ามาถ่ายทำ และเช่าเกสต์เฮาส์ ในเวลานั้นชาวบ้านต้องแบ่งพื้นที่บ้านให้ชาวต่างชาติเช่า จึงเป็นที่มาของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คน ในปี พ.ศ. 2528-2529 ถนนข้าวสารจึงค่อยๆ กลายเป็นศูนย์รวมของนักท่องเที่ยวแบบแบ็กแพ็กเกอร์

ความโด่งดังของถนนข้าวสาร ความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ร้านรวงค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบอีกครั้ง ไปสู่สถานบันเทิงยามราตรีที่สำคัญของกรุงเทพฯ


ภาพถนนข้าวสารปี พ.ศ. 2537

ใส่ความเห็น