วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Life > ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น “สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์”

ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น “สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์”

 
นับตั้งแต่พุทธศักราช 2325 อันเป็นปีก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ จวบจนวันนี้กรุงรัตนโกสินทร์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนาน มีประวัติศาสตร์และเรื่องราวสำคัญที่ควรค่าแก่การจดจำมากมาย บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ภายใต้การดำเนินงานของชมรม “KTC PR Press Club” จัดกิจกรรม “ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น” เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยต่างๆ ผ่านสถานที่สำคัญที่ล้วนบอกเล่าและสะท้อนภาพอดีตได้เป็นอย่างดี
 
ประเดิมตอนแรกไปก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี 2558 ที่ผ่านมา ภายใต้คอนเซ็ปต์ จาก “วังเดิม” สู่ “วังหลัง” ปูเรื่องราว ตำนาน และวีรกรรมของสมเด็จพระเจ้าตากสิน สืบวิถีถิ่น “ธนบุรี” เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านสถานที่สำคัญสมัยกรุงธนบุรีที่เชื่อมโยงสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ณ วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร วัดเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในสมัยกรุงธนบุรี รวมทั้งพระราชวังเดิม และพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน
 
ตามติดด้วยภาคสองในตอน “สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 1-3” เรียงร้อยประวัติศาสตร์การเริ่มต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ระหว่างช่วงรัชกาลที่ 1-3 ผ่านสถานที่สำคัญที่เป็นดั่งตัวแทนของแต่ละช่วงเวลา อาทิ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร วัดราชนัดดารามวรวิหาร และวัดเทพธิดารามวรวิหาร 
 
กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 นั้น ถือเป็นระยะแห่งการก่อร่างสร้างราชอาณาจักร ส่วนระบบการปกครองนั้นไม่ต่างจากสมัยอยุธยา กล่าวคือ ยังมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดในการปกครองประเทศ 
 
ย้ายราชธานี
ภายหลังการสิ้นสุดสมัยกรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกหรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และราชวงศ์จักรีขึ้น ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ของกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 และเป็นกษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี อีกทั้งทรงสร้างราชธานีใหม่ขึ้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับกรุงธนบุรีอันเป็นราชธานีเดิม
 
เหตุที่ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือฝั่งกรุงเทพฯ ในปัจจุบันนั้น เพราะทรงเล็งเห็นว่า พระราชวังเดิมที่กรุงธนบุรีนั้นมีอาณาบริเวณจำกัด และยังมีวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) และวัดอรุณราชวราราม ขนาบอยู่ทั้งสองข้าง การขยับขยายเมืองทำได้ยาก อีกทั้งไม่ต้องการให้ราชธานีเป็นเมืองอกแตกที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาแบ่งเมืองออกเป็นสองฟาก ซึ่งยากแก่การป้องกันเมืองจากข้าศึกศัตรู
 
ถ้าดูจากลักษณะของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว พื้นที่ฝั่งธนบุรีมีลักษณะเป็นท้องคุ้งซึ่งถูกกระแสน้ำกัดเซาะพังทลายลงได้ง่ายๆ แต่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเป็นที่ราบลุ่มไม่โดนกระแสน้ำกัดเซาะ เหมาะต่อการขยายอาณาเขตเมือง ด้วยเหตุนี้จึงทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
 
ศาลหลักเมือง: เทพารักษ์รักษาพระนคร
ราชธานีแห่งใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นต่อจากกรุงธนบุรีนั้น มีชื่อว่า “กรุงรัตนโกสินทร์” โดยรับสั่งให้มีพิธีตั้งเสาหลักเมืองของพระนครแห่งใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนจะสร้างเมืองต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านเมือง และเป็นดั่งเทพารักษ์ที่รักษาพระนคร ซึ่งในปัจจุบันก็คือ “ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร” นั่นเอง
 
สำหรับเสาหลักเมืองนั้นทำจากไม้ชัยพฤกษ์ มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอกสูง 187 นิ้ว ลงรักปิดทองยอดเสารูปบัวตูม ภายในกลวงเป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชาตาเมือง ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่า เสาหลักเมืองต้นเดิมที่สร้างไว้แต่ครั้งรัชกาลที่ 1 นั้น ได้ชำรุดทรุดโทรมลง อีกทั้งรัชกาลที่ 4 ทรงเชี่ยวชาญในโหราศาสตร์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผูกดวงชาตาพระนครขึ้นใหม่ให้ต้องตามดวงพระราชสมภพ เพื่อความร่มเย็นของบ้านเมืองและพสกนิกร 
 
เสาหลักเมืองต้นใหม่ใช้ไม้สักเป็นแกนประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ ตัวเสาสูง 201.4 นิ้ว ทรงเสาอวบกว่าเสาหลักเมืองต้นเดิม ดังนั้นเมื่อเราไปสักการะศาลหลักเมือง จึงเห็นภาพของเสาหลักเมืองทั้งสองต้นตั้งอยู่เคียงกัน
 
ในอาณาบริเวณของศาลหลักเมืองยังมีศาลเทพารักษ์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของศาลหลักเมืองเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปเทพารักษ์ทั้ง 5 องค์ คอยปกปักรักษาพระนครและประเทศชาติ ได้แก่ 
 
พระเสื้อเมือง: เทพารักษ์คุ้มครองป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ คุมกำลังไพร่พลแสนยากรรักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็น ปราศจากศัตรูมารุกราน
 
พระทรงเมือง: เทพารักษ์รักษาการปกครอง กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ดูแลทุกข์สุขของประชาชน
 
พระกาฬไชยศรี: บริวารพระยมมีหน้าที่นำวิญญาณของมนุษย์ผู้ทำบาปไปสู่ยมโลก
 
เจ้าเจตคุปต์: บริวารพระยมมีหน้าที่บันทึกกรรมดีกรรมเลวของชาวเมืองที่ตายไปและอ่านประวัติเสนอพระยม
 
เจ้าหอกลอง: ดูแลรับผิดชอบเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแผ่นดิน คอยรักษาเวลาย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และเที่ยงคืน เช่นเวลาเกิดอัคคีภัยหรือข้าศึกศัตรูประชิดเมือง
 
ศาลหลักเมืองนับได้ว่าเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ภาพดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องบวงสรวงสังเวยที่เราเห็นอยู่มิขาด คือเครื่องบ่งชี้ศรัทธาของผู้คนที่มาจากทุกสารทิศเพื่อสักการะศาลหลักเมืองแห่งนี้
 
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม…วัดประจำรัชกาลที่ 1
ไม่ไกลจากศาลหลักเมืองนัก เดินอ้อมมาทางด้านหลังพระบรมมหาราชวัง เพื่อมายังสถานที่ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ที่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย… วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
 
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือที่เราคุ้นชินกันในชื่อ “วัดโพธิ์” วัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระราชดำริว่า มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวังอยู่ 2 วัด คือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุ) อยู่ด้านเหนือ และวัดโพธาราม อยู่ด้านใต้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้เสียใหม่ 
 
โดยบูรณะของที่มีอยู่เดิมและสร้างใหม่ อาทิ พระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียง โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่างๆ มาประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์เป็นจำนวนมาก และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส” ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น “วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม” 
 
วัดโพธิ์ถือเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีพระเจดีย์ที่สำคัญคือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล เป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังมีเจดีย์อยู่อีกหลายองค์ แต่ด้วยการวางผังการสร้างที่ดี ทำให้มุมมองของแต่ละเจดีย์ไม่ทับซ้อนกัน
 
มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ศูนย์กลางการศึกษานั้นอยู่ที่วัด วัง และตามตำหนักเจ้านาย เมื่อมีการบูรณปฏิสังขร์วัดโพธิ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาแขนงต่างๆ อันได้แก่ ประวัติการสร้างวัดโพธิ์ ความรู้ทางการแพทย์ ตำรายา ตำราโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน กลบท วรรณคดี ศาสนา การปกครอง และประเพณีต่างๆ จารึกลงบนแผ่นศิลา ประดับไว้ตามศาลาราย 
 
นอกจากแผ่นจารึกที่รวบรวมความรู้แขนงๆ ต่างๆ ไว้แล้ว ยังมีรูปปั้นฤๅษีดัดตนที่ทรงคุณค่าทั้งด้านความรู้และประวัติศาสตร์อีกด้วย และเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวัดโพธิ์แห่งนี้มาอย่างยาวนาน
 
เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ พระองค์ได้ทรงรวบรวมการแพทย์แผนโบราณเอาไว้และได้โปรดเกล้าฯ ให้ปั้นรูปฤๅษีดัดตนในท่าต่างๆ เอาไว้ด้วย ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการปั้นฤๅษีดัดตนเพิ่ม ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่มากนัก
 
ด้วยเหตุนี้ วัดโพธิ์จึงเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยเปิดสรรพวิชาแห่งแรกของไทย ที่รวมเอามรดกทางความรู้และภูมิปัญญาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ จารึกวัดโพธิ์นั้นนับว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า องค์การยูเนสโกจึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์เป็น “มรดกแห่งความทรงจำของโลก” เมื่อปี พ.ศ. 2554
 
ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มาเยือนวัดโพธิ์มักจะไปสักการะพระพุทธไสยาสน์เป็นหลัก แต่มีอีกสถานที่หนึ่งที่นับว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นคือ พระอุโบสถเดิมของวัดโพธิ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ภายหลังเมื่อมีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น พระอุโบสถเดิมจึงลดฐานะเป็นศาลาการเปรียญแทน
 
พระอุโบสถหลังเดิม หรือศาลาการเปรียญในปัจจุบันนั้น อยู่ด้านตะวันตกของวัด ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จุดเด่นอยู่ที่จิตรกรรมฝาผนังด้านนอก ปกติจะเป็นภาพวาดเกี่ยวกับเทวดา สวรรค์ แต่ที่นี่เป็นภาพวาดเปรต อีกทั้งยังมีแผ่นศิลาจารึกเรื่องนรกภูมิประดับไว้ตามเสาด้านนอกของพระอุโบสถอีกด้วย ส่วนภายในตกแต่งเรียบง่าย มีพระประธานคือ “พระพุทธศาสดา” 
 
ไม่เพียงเท่าที่กล่าวมา ภายในบริเวณวัดโพธิ์ ยังมีสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจอยู่มากมายเป็นดั่งคลังความรู้ที่ทรงคุณค่ายิ่ง
 
ทั้งศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม นับว่ามีความสำคัญทั้งในแง่สถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีตให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย 
 
เรายังมีเรื่องราวของสถานที่ที่สะท้อนภาพกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นให้ผู้อ่านได้ติดตามกันต่อในตอนหน้าค่ะ…แล้วพบกัน
 
 
 
“พระพุทธเทวปฏิมากร” พระประธานในพระอุโบสถ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม”
 
 
 
จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ที่องค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนให้เป็น “มรดกแห่งความทรงจำของโลก”
 
 
 
 
ฤๅษีดัดตนมรดกทางวัฒนธรรมและคลังความรู้สำหรับคนรุ่นหลัง