วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > สำเพ็ง สามแพร่ง ซำเพ้ง เปิดฉาก Chinese Bazaar

สำเพ็ง สามแพร่ง ซำเพ้ง เปิดฉาก Chinese Bazaar

สำเพ็ง เป็นย่านการค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร อยู่ใกล้กับย่านเยาวราช ถนนราชวงศ์ และต่อเนื่องไปถึงสะพานหัน พาหุรัด วังบูรพา รู้จักกันดีในชื่ออย่างเป็นทางการว่า ซอยวานิช 1 และช่วงระหว่างสะพานหันถึงถนนจักรวรรดิเรียกว่า ตรอกหัวเม็ด

ที่มาของชื่อ “สำเพ็ง” ไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่มีการระบุหลายที่มา เช่น มาจากสามแพร่ง สามแผ่น หรือสามแผ่นดิน มาจากชื่อพืช “ลำเพ็ง” มาจากชื่อวัดสามปลื้ม หรือมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว “ซำเพ้ง” แปลตรงตัวได้ว่า “ศานติทั้งสาม”

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์ เชื่อว่า สำเพ็งเป็นภาษามอญ แปลว่า เจ้าขุนมูลนาย จึงเป็นไปได้ว่าที่นี่เป็นแหล่งอยู่อาศัยของชาวมอญมาก่อนชาวจีนจะย้ายเข้ามาอยู่  ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์ ระบุมาจากภาษาเขมร “ซำเปียะลี” (សម្ពលី) แปลว่า แม่สื่อ แม่เล้า ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) บอกว่า อาจมาจากชื่อคน “เพ็ง” 3 คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้

อย่างไรก็ตาม สำเพ็งมาเป็นที่รู้จักเป็นแหล่งอยู่อาศัยของชาวจีน เริ่มต้นในยุคพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงสถาปนาสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ที่ฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นราชธานีแห่งใหม่แทนกรุงธนบุรี ในปี 2325 โดยมีพระบรมมหาราชวังตั้งขึ้นในพื้นที่ที่แต่เดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีน จึงโปรดให้ย้ายชุมชนชาวจีนออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่นอกประตูพระนครทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ขนานกับลำน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) ไปจนถึงคลองสามเพ็ง หรือสำเพ็ง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการค้าของชาวจีนในย่านนั้นเติบโตขึ้น ชาวตะวันตกที่เข้ามาติดต่อการค้ากับสยามประเทศ เรียกขานว่า “ตลาดจีน” หรือ “Chinese Bazaar” และเมืองการค้า (trading town) มีร้านค้ามากมายบนสองฝั่งฟากถนนยาวราว 2 ไมล์ รวมถึงซ่องโสเภณีและโรงฝิ่นอยู่ติดกันอย่างหนาแน่น มักเกิดเพลิงไหม้บ่อยๆ

เล่ากันว่า ในยุคที่มีการค้าสำเภาช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีเรือสินค้าจากเมืองจีนจอดทอดสมอบริเวณท่าน้ำบริเวณสำเพ็ง ได้แก่ กงสีล้ง หรือท่าน้ำราชวงศ์ และท่าสำเพ็งข้างวัดปทุมคงคา เรือสินค้าเหล่านี้มักจอดบริเวณกลางแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนขนถ่ายสินค้าลงเรือเล็กมาขึ้นที่ท่าเรือ

ความสำคัญของท่าเรือในย่านสำเพ็งยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แม้หมดยุคการค้าสำเภาช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีบรรดาเรือกลไฟจากชาติตะวันตกเข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญในการขนส่งสินค้าและผู้คน

ขณะเดียวกัน ยังเป็นแหล่งส่งออกผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร ได้แก่ ข้าว น้ำตาล ของป่า ส่วนในช่วงหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง การส่งออกข้าวและพืชไร่จากบริเวณสำเพ็งยิ่งมีความสำคัญ เห็นได้จากกลุ่มบริษัทค้าข้าวของชาวจีนมักตั้งสำนักงานบริเวณท่าน้ำสำเพ็ง ทรงวาด และราชวงศ์ ซึ่งกิจการเหล่านี้หลายแห่งยังคงดำเนินกิจการเป็นย่านๆ

เช่น สินค้าประเภทเชือกอยู่บริเวณถนนวานิช 1 ช่วงระหว่างถนนเยาวพานิชกับถนนทรงสวัสดิ์

ย่านของใช้ในครัวเรือนกับของเด็กเล่นอยู่บริเวณถนนวานิช 1 ช่วงระหว่างถนนราชวงศ์กับถนนเยาวพานิช

ย่านเครื่องจักรและอะไหล่ยนต์อยู่บริเวณถนนไตรมิตร ช่วงระหว่างถนนเยาวราชถึงวัดปทุมคงคา

ย่านเป็ดไก่อยู่บริเวณถนนมังกรเชื่อมระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนเยาวราช

ย่านขายยาสมุนไพรอยู่บริเวณถนนจักรวรรดิ

แม้เวลาผ่านไปยาวนานมากกว่า 240 ปี แต่สำเพ็งยังเป็นย่านการค้าคึกคักมากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ แถมอยู่ไม่ห่างไกลจากย่านพาหุรัด เยาวราช แบ่งเป็นโซนๆ ไล่ไปตั้งแต่โซนสินค้ากิฟต์ช็อป เครื่องประดับผม สร้อยคอ ต่างหู แหวน กำไล คาดผม เครื่องประดับเกาหลี กระเป๋าใส่เครื่องสำอาง พวงกุญแจ ที่ห้อยมือถือ เครื่องเขียนแบบน่ารักๆ จนถึงกระดาษห่อของขวัญ สมุดปากกา ดินสอ โซนกระเป๋า รองเท้า  โซนของเล่น

การค้าขายแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ตลาดสำเพ็งช่วงเช้า เริ่มขายตั้งแต่ 01.00 – 06.00 น. ร้านในตลาดสำเพ็งที่เปิดช่วงนี้เน้นขายส่งเป็นหลัก ทั้งร้านอาคารพาณิชย์และแผงลอยเช่าหน้าร้าน ส่วนตลาดสำเพ็งช่วงสายเริ่มขายตั้งแต่ 08.00 – 17.00 น. ส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ สินค้าส่วนใหญ่เป็นกิฟต์ชอป ของเล่น เครื่องประดับ หมวก กระเป๋า ผ้า และอุปกรณ์งานฝีมือ ตลาดสำเพ็งช่วงสายเป็นช่วงที่มีทั้งแม่ค้าและลูกค้าทั่วไปมาเดินเล่นจับจ่ายซื้อของ

ที่นี่ยังอยู่ไม่ไกลจาก “โบ๊เบ๊” แหล่งขายเสื้อผ้าราคาส่งที่ใหญ่ที่สุดและถูกที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งแบ่งเวลาขาย 2 ช่วง คือ เวลากลางวัน เวลา 09.00–15.00 น. และเวลากลางคืน เวลา 23.00–05.00 น. ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้าจากต่างจังหวัดเข้ามาหาซื้อสินค้ากลับไปขายในตลาดนัดท้องถิ่น รวมถึงพ่อค้าค้าส่งซื้อไปขายต่อในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้บริเวณนี้เป็นย่านการค้าที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล

ช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด ต้องปิดตลาด พ่อค้าแม่ค้าหลายรายเริ่มขยายเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ ทั้ง TikTok, Lazada และ Shopee มีกลุ่มลูกค้าจำนวนมาก กลายเป็นอีกช่องทางการจำหน่ายของบรรดาผู้ค้าย่านสำเพ็ง และมีอีกหลายรายส่งขายให้ร้านกิฟต์ช็อปในศูนย์การค้าโมเดิร์นเทรด.