วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > Content Provider แบบไทยรัฐ ขยับหนีหวังรุกแพลทฟอร์มใหม่

Content Provider แบบไทยรัฐ ขยับหนีหวังรุกแพลทฟอร์มใหม่

 
สถานการณ์ของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ในเวลานี้ หลายคนมักจะให้คำจำกัดความที่ช่วยให้คนวงนอกเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า “ยุคฟองสบู่ของสื่อสิ่งพิมพ์” เพราะจากการที่สื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างทยอยปิดตัวลงเพื่อรักษาสถานภาพที่มั่นคงของตัวเองที่ยังเหลืออยู่ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
 
ข่าวการปิดตัวของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร มักจะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นในระนาบเดียวกันกับการเติบโตแบบรวดเร็วของเทคโนโลยี จึงทำให้ไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนไป และเหตุผลนี้เองที่ทำให้สื่อจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านของโลกที่อุดมไปด้วยเทคโนโลยี 
 
สื่อบางองค์กรเมื่อมองเห็นและเข้าใจถึงสถานการณ์ความเป็นไป ต่างเร่งหาทางออก และฉกฉวยโอกาสเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด แม้จำเป็นจะต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการลงทุนก็ตาม เราจะเห็นได้ว่า สื่อบางองค์กรเลือกมุ่งสู่แพลทฟอร์มของทีวีดิจิตอล
 
การเบนเข็มจากการเป็นสื่อสิ่งพิมพ์เข้าสู่สื่อทีวีนั้น แม้จะไม่ต่างกันในรูปแบบวิธีการทำงาน แต่ต่างกันที่รูปแบบการนำเสนอ กระนั้นการจะเป็นสื่อบนทีวีดิจิตอลก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย
 
เมื่อผู้มาทีหลังจำเป็นต้องสร้างกลยุทธ์บนแพลทฟอร์มนี้ด้วยความรวดเร็ว เพื่อแย่งชิงฐานคนดูจากสื่อทีวีหน้าเก่าที่มีความแข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สรรพกำลังจึงถูกระดมจากทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นระดับมันสมองที่การที่จะสร้างคอนเทนต์ รูปแบบวิธีการนำเสนอคือบรรดาผู้ประกาศและพิธีกร หรือระดับปฏิบัติการผู้อยู่เบื้องหลังซึ่งจำเป็นต้องเชี่ยวชาญเทคโนโลยี
 
ในห้วงเวลานี้สื่อที่น่าจับตามองมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้น “ไทยรัฐ” ที่เติบโตและมีฐานรากที่มั่นคงในฐานะของการเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ที่ผู้คนให้การยอมรับมากที่สุด แม้ว่าฐานของผู้อ่านไทยรัฐจะอยู่ในระดับกลางลงมาถึงระดับล่าง แต่ก็เป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคม
 
การมาถึงของดิจิตอลทีวีในเมืองไทย ทำให้ไทยรัฐตัดสินใจเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอล โดยหวังที่จะขยายฐานรากของตัวเองให้มั่นคงยิ่งขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือการหนีจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่หลายคนมองว่าเป็นช่วงเวลานับถอยหลัง และเดินหน้าเข้าสู่ทีวีดิจิตอลอย่างเต็มตัว
 
ทั้งนี้ผลงานของไทยรัฐทีวีนับตั้งแต่เริ่มออกอากาศบนโครงข่ายทีวีดิจิตอลไปประมาณหนึ่งปีนั้น ผลการวัดค่าความนิยม (เรตติ้ง) ของการรับชมช่องรายการฟรีทีวีในระบบดิจิตอลเมื่อเดือนธันวาคม 2558 นั้น ช่องไทยรัฐได้เรตติ้งอยู่ที่ 0.120 ซึ่งอยู่อันดับ 12 ของช่องดิจิตอลทั้งหมด
 
และนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไทยรัฐทีวีตัดสินใจในฐานะ Content Provider ในการทาบทามพิธีกรหญิงชื่อดัง และได้รับความนิยมมากอีกคนหนึ่งให้เข้ามาร่วมงาน “จอมขวัญ หลาวเพ็ชร” พิธีกรฝีปากกล้า ที่ตัดสินใจย้ายค่ายจากเนชั่นมาอยู่กับไทยรัฐทีวี
 
แม้ปลายปีที่แล้วจะมีกระแสข่าวการย้ายค่ายของพิธีกรคนเก่งอย่าง จอมขวัญ หลาวเพ็ชร ที่ทำงานร่วมกับเนชั่นทีวีมานานถึง 13 ปี ตัดสินใจลาออกเพื่อมาร่วมงานกับสังกัดใหม่อย่างไทยรัฐทีวี ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่ท้าทายพิธีกรมากความสามารถคนนี้ไม่น้อย อาจเรียกได้ว่าการมาของจอมขวัญ น่าจะเป็นการมาในฐานะผู้บุกเบิก เพราะไทยรัฐทีวีก็ยังถือเป็นน้องใหม่ในวงการโทรทัศน์ไทย
 
ซึ่งผลงานที่ผ่านมาของจอมขวัญ หลาวเพ็ชร อาทิ รายการเจาะใจ, จมูกมด, ชีพจรโลก, สยามเช้านี้, และเช้าข่าวข้น คนข่าวเช้า อีกทั้งยังมีผลงานเขียนคือการเป็นคอลัมนิสต์ให้นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ รวมไปถึงพ็อกเก็ตบุ๊กเรื่อง นักข่าวหลังอานกับสำนักพิมพ์เนชั่น ผลงานทั้งหมดที่ทำให้จอมขวัญเป็นผู้ดำเนินรายการหญิงอันดับต้นๆ ของวงการโทรทัศน์ไทย 
 
แน่นอนว่าการซื้อตัวของผู้ประกาศข่าวหรือพิธีกรไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการทีวีเท่าใดนัก เพราะแต่ละคนย่อมต้องมองหาสิ่งที่ดีกว่า รวมไปถึงค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ตำแหน่งที่สูงขึ้น อิสระทางความคิดและการทำงาน หากแต่ในห้วงเวลานี้ปรากฏการณ์ดังกล่าวดูจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงจังหวะการก้าวเดินของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่แฝงไปด้วยกลยุทธ์ ซึ่งจะส่งผลต่อความนิยมจากคนดู และนั่นอาจหมายความรวมถึงการเรียกความสนใจจากบรรดาเจ้าของธุรกิจที่จะตัดสินใจซื้อโฆษณาได้ด้วย 
 
การเติบโตของทีวีดิจิตอล น่าจะสร้างอีกหนึ่งปรากฏการณ์ให้กับตลาดผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ หรือบริษัท โปรดักส์ชั่น เฮ้าส์ ให้กลับมาสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง 
 
ทั้งนี้สำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่มีค่าใช้จ่ายหลักคือเงินค่าประมูลโครงข่ายสัญญาณแล้ว คงไม่ใช่เรื่องที่ฉลาดนักหากจะต้องจ้างบริษัทผู้ผลิตรายการ เพื่อเติมเต็มผังรายการให้เต็ม ดังนั้นการลงทุนเพื่อการเป็น Content Provider ด้วยตัวเองดูจะเป็นเรื่องที่เหมาะที่ควรแล้วในเวลานี้
 
ประกอบกับศักยภาพที่ไทยรัฐทีวีมีอยู่ดูจะไม่ใช่เรื่องยากเลย เพราะนอกจากการผลิตคอนเทนต์ที่น่าสนใจที่จะสามารถดึงดูดผู้ชมได้แล้วนั้น การมีพิธีกรแม่เหล็กน่าจะเป็นกำลังสำคัญที่จะส่งผลให้การวัดค่าความนิยมของไทยรัฐทีวีได้ตัวเลขที่สูงขึ้น
 
อย่างไรก็ดี การย้ายช่องอาจจะมีอิสระในการทำงาน และการนำเสนองานที่ต่างไปจากเดิม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนายทุนที่เป็นเจ้าของกิจการทีวีดิจิตอลนั้นๆ ว่ามีจุดยืนในการทำรายการทีวีดิจิตอลอย่างไร หากแต่ผู้ประกาศและนักข่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีจุดยืนของตัวเอง ซึ่งจะต้องไม่ขัดต่อหลักจรรยาบรรณของวิชาชีพ
 
การมาถึงของทีวีดิจิตอล ท่ามกลางกระแสการปิดตัวของสิ่งพิมพ์หลายฉบับ นับเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าถึงเวลาที่ต้องปรับตัว และไทยรัฐที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์มาอย่างยาวนานตัดสินใจที่จะก้าวเข้าสู่ทีวีดิจิตอล และเป็น Content Provider เพื่อพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส 
 
ขณะที่สื่อบางองค์กรที่อยู่ในแวดวงของสิ่งพิมพ์มาอย่างยาวนาน อีกทั้งมีพร้อมทั้งสรรพกำลัง อุดมไปด้วยทรัพยากรบุคคล กลับเพิกเฉยต่อการปรับตัว และทำเพียงการพัฒนาระดับครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งนั่นอาจทำให้วาระสุดท้ายเดินทางมาถึงเร็วกว่าที่คิด 
 
กระแสการต่อสู้กันบนทีวีดิจิตอลในห้วงเวลานี้ดูจะดุเดือด ฟาดฟันกันด้วยกลยุทธ์ แต่ก็เต็มไปด้วยสีสัน น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมไม่น้อยที่จะมีตัวเลือกมากขึ้น ในการจะสรรหารายการดีมีคุณภาพและเพิ่มอาหารให้แก่สมองของตัวเอง ทั้งนี้คงต้องรอดูกันว่า หากการเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาล็อกสู่ดิจิตอลทีวีเสร็จสิ้นแล้วนั้น ผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร