วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2024
Home > New&Trend > ESR ประเดิมผู้เช่ารายแรก โรงงานระดับแฟล็กชิพแบบ Built-to-Suit

ESR ประเดิมผู้เช่ารายแรก โรงงานระดับแฟล็กชิพแบบ Built-to-Suit

โครงการ อีเอสอาร์ เอเชีย แหลมฉบัง ประเดิมผู้เช่ารายแรก โรงงานระดับแฟล็กชิพแบบ Built-to-Suit ของ แอดวานซ์ เอนเนอร์จี บริษัทใน Nasdaq บนพื้นที่ 158,400 ตร.ม. ด้วยเงินลงทุนรวม 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการ อีเอสอาร์ เอเชีย แหลมฉบัง หวังให้พื้นที่ดังกล่าวช่วยผลักดันความสามารถในการผลิตให้กับ แอดวานซ์ เอนเนอร์จี

บริษัท อีเอสอาร์ กรุ๊ป ลิมิเต็ด หรือ “ESR” ผู้บริหารจัดการทรัพย์สินและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งขับเคลื่อนการเติบโตโดยกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ เริ่มต้นการพัฒนาโรงงานระดับแฟล็กชิพแบบ Built-to-Suit หรือตามความต้องการของผู้เช่าของบริษัท แอดวานซ์ เอนเนอร์จี (Advanced Energy) ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (Nasdaq) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตที่อาศัยความแม่นยำสูงที่มีพื้นที่กว่า 46,891 ตารางเมตร ภายในโครงการ ESR Asia Laem Chabang ซึ่งตั้งอยู่ใน นิคมอุตสาหกรรม โรจนะ แหลมฉบัง

ด้วยเงินลงทุนรวม 40 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.47 พันล้านบาท) อีเอสอาร์ หวังให้ ESR Asia Laem Chabang ช่วยผลักดันความสามารถในการผลิตให้กับ แอดวานซ์ เอนเนอร์จี และเมื่อแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม ปี 2567 ทาง Advanced Energy คาดว่า จะเดินหน้าปฏิบัติงานด้วยพนักงานกว่า 2,500 อัตรา และจะผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Advanced Energy อาทิ ภาคการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเชิงการแพทย์ เป็นต้น ปัจจุบัน แอดวานซ์ เอนเนอร์จี เป็นผู้นำด้านโซลูชันส์ด้านการแปลงพลังงาน การวัด และการควบคุมที่อาศัยความแม่นยำและเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต

ESR Asia Laem Chabang ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ภายใต้เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของประเทศไทย ทำให้เป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญในด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยโครงการของอีเอสอาร์เหมาะสมกับธุรกิจโลจิสติกส์และโรงงานผลิตขั้นสูงในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ โดย โครงการ ดังกล่าวอยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึก เพื่อการนำเข้าและส่งออก เพียง 15 นาที นอกจากนี้ ยังตั้งอยู่บนถนนมอเตอร์เวย์สาย 7 (ชลบุรี- พัทยา) ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

นายเจฟฟรีย์ เชิน และนายสจ๊วต กิ๊บสัน ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริหารร่วม ESR กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ต้อนรับและร่วมเป็นส่วนสนับสนุนแผนการเติบโตและขยายฐานการผลิตทั่วโลกของ Advanced Energy ผู้เช่ารายแรกของเรา ที่ ESR Asia Laem Chabang โดยโครงการนี้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของ ESR ที่ต้องการรองรับการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งรวมถึง โลจิสติกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ วิทยาศาสตร์เพื่อคุณภาพชีวิต (life science) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง และจะประสบความสำเร็จไปไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากพันธมิตรอย่าง บริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จํากัด”

ประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญของเรา และเราก็ต้องการเป็นพันธมิตรที่ดีของลูกค้า นักลงทุน และชุมชน เพื่อช่วยสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่ 5% ได้ นอกจากการขับเคลื่อนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทานแล้ว เรายังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชุมชน ซึ่งโครงการนิคมฯ ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนและความทันสมัยที่เราพัฒนาขึ้นบนพื้นที่ยุทธศาสตร์นี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างงานจำนวนมาก และช่วยดึงดูดผู้เช่าที่มีคุณภาพมายังพื้นที่อีกด้วย”

คุณทวีศักดิ์ คำโสดา ผู้จัดการอาวุโส แผนกการเช่าทรัพย์สิน ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของความร่วมมือในครั้งนี้ กับ Advanced Energy เผยว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจาก Advanced Energy ในการขยายธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงส่งเสริมการเติบโตที่สำคัญของ ESR ในประเทศไทย แต่ยังช่วยกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนครั้งใหญ่ในประเทศ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของเราในประเทศไทย เรายังมีอีกหลากหลายโครงการร่วมกับผู้เช่ามูลค่าสูงจากธุรกิจการผลิตขั้นสูง อีคอมเมิร์ซ และ ตัวแทนให้บริการด้านโลจิสติกส์ (3PL) ด้วย”

ESR เพิ่งเปิดตัวสำนักงานแห่งแรกในประเทศไทยไปเมื่อสี่เดือนที่ผ่านมา หลังมีการร่วมทุนกับ บริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จํากัด โดย ESR มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่สองล้านตารางเมตรให้ได้ภายในปี 2570 ด้วยเงินลงทุนมูลค่าราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณเสามหมื่นหกพันล้านบาท) สำหรับโครงการ ESR Asia Laem Chabang ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้าง 2 เฟสแรกภายในปี 2567 และ 2569 ตามลำดับ จะกลายเป็นโครงการศูนย์โลจิสติกส์และโรงงานผลิตที่ใหญ่เป็นอันดับสองของ ESR ในประเทศไทย โดยโครงการลำดับที่หนึ่งอย่าง อีเอสอาร์ เอเชีย สุวรรณภูมิ (ESR Asia Suvarnabhumi) ได้เริ่มพัฒนาแล้วและอาคารบางส่วนจะเริ่มเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน 2566 บนพื้นที่ 363,543 ตารางเมตร ในบริเวณที่ดีเยี่ยมสำหรับการพัฒนาศูนย์การกระจายสินค้าภายในประเทศ เพราะตั้งอยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิและถนนสายสำคัญต่างๆ ที่ใกล้เคียงกับพื้นที่โกดังสินค้าและโรงงานผลิตชิ้นรถยนต์ที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง พร้อมกันนี้ ESR อยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้ที่อาจจะมาเป็นผู้เช่าในอนาคตจากหลากหลายธุรกิจ อาทิ ตัวแทนให้บริการด้านโลจิสติกส์ (3PL) อีคอมเมิร์ซ อิเล็กทรอนิกส์ ยารักษาโรค และสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป โดย ESR ยังคงหาโอกาสในการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพและสามารถรองรับการเติบโตของกลุ่มธุรกิจเศรษฐกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ของ ESR ในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการสร้างพลังงานทดแทน การออกแบบที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง การใช้พลังงานไฟฟ้าของยานพาหนะ การบริหารประสิทธิภาพการใช้น้ำ และการลดคาร์บอนฟุตพรินท์ในการพัฒนาโครงการต่างๆ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นด้าน ESG ของบริษัทฯ รวมถึงเพื่อสนับสนุนแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐหมุนเวียนของประเทศไทย ซึ่งองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นปัจจัยที่ถูกคำนึงถึง ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบและนำไปใช้จริงโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานและประสิทธิภาพของผู้เช่า

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ESR มีการพัฒนาโครงการที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการมูลค่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนับเป็นการพัฒนาโครงการที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยในครึ่งปีแรกของปี 2566 กลุ่มบริษัท ESR เริ่มต้นการพัฒนาโครงการด้วยมูลค่า 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และส่งมอบโครงการต่างๆ ที่แล้วเสร็จแล้วรวมมูลค่ากว่า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการส่งมอบโครงการขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี ในประเทศไทย ESR มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวม 70 ล้านเหรียญสหรัฐและมีพื้นที่อาคารรวม 0.3 ล้านตารางเมตร ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566