วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
Home > Cover Story > ตี๋น้อย จัดเต็มชน MK “คาเฟ่-เป็ดย่าง” ต้องมา

ตี๋น้อย จัดเต็มชน MK “คาเฟ่-เป็ดย่าง” ต้องมา

ปี 2566 “สุกี้ตี๋น้อย” เร่งเครื่องรุกตลาดแบบจัดเต็ม หลังช่วงปลายปีที่ผ่านมาปิดดีลได้ยักษ์ใหญ่กลุ่มบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรถือหุ้นในบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) จำนวน 352,941 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 30% เม็ดเงินเต็มหน้าตักกว่า 1,200 ล้านบาท

ที่สำคัญ อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART ประกาศว่า การเข้าลงทุนกับบี เอ็น เอ็นฯ ผู้บุกเบิกแบรนด์ร้านอาหาร “สุกี้ตี๋น้อย” ถือเป็น Strategic Partner ที่มีศักยภาพการเติบโตในระดับสูง เพราะบี เอ็น เอ็นฯ ใช้เวลาเพียง 4 ปี ผลักดันรายได้จากปี 2562 อยู่ที่ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท ทะยานสู่ปี 2564 รายได้ 1,564 ล้านบาท กำไร 148 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) สูงถึง 55.80%

ส่วนปี 2565 ตัวเลขรายได้กระฉูด 3,976 ล้านบาท กำไรสุทธิ 591 ล้านบาท และสุกี้ตี๋น้อยพร้อมแต่งตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2567 โดยวางยุทธศาสตร์หลักเร่งติดอาวุธเทคโนโลยีจาก JMART Group และการ Synergy สร้างการเติบโตแบบ J-Curve ไปด้วยกันกับกลุ่มบริษัทเจมาร์ท

ปัจจุบันสุกี้ตี๋น้อยมีสาขารวมกว่า 50 แห่งและยังลุยปูพรมต่อเนื่อง จากช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเน้นผุดสาขาเจาะคอมมูนิตี้มอลล์ในทำเลหลักรอบเมือง รวมทั้งเปิดสาขาตามแนวถนนสายหลัก ทั้งถนนพหลโยธิน เลียบทางด่วน ถนนเกษตร-นวมินทร์ กาญจนาภิเษก แจ้งวัฒนะ ลาดพร้าววังหิน ศรีนครินทร์ สมุทรปราการ พระราม 4 เพื่อจับตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนที่ต้องการรับประทานอาหารยามดึกหลังเที่ยงคืน

นัทธมน พิศาลกิจวนิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงเป้าหมายในปี 2566 บริษัทจะไม่ใช่แค่เดิน แต่วิ่งแล้ว เพราะมีพันธมิตรแข็งแกร่ง โดยตั้งเป้าเปิดสาขาเพิ่มไม่ต่ำกว่า 12 สาขา และบุกตลาดต่างจังหวัด รวมทั้งวางแผนลุยตลาดประเทศเพื่อนบ้านด้วย

เธอเชื่อว่า เป้าหมายภายในอีก 5 ปีข้างหน้า สุกี้ตี๋น้อยจะมีสาขามากกว่า 100 สาขา ไม่ใช่เรื่องยากอีกแล้ว แต่ต้องเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

ล่าสุด บริษัทงัดกลยุทธ์แตกไลน์ “ตี๋น้อย ป๊อปอัพ คาเฟ่” โมเดล Food Truck จำหน่ายเครื่องดื่มและของหวานน้ำแข็งไส โดยประเดิมแห่งแรกที่ร้านสุกี้ตี๋น้อย ศรีนครินทร์ สมุทรปราการ

เมนูเครื่องดื่มแบ่งกลุ่มหลักๆ ได้แก่ เครื่องดื่มชา มีชานมไต้หวัน ชาไทย ชามะนาวเชค เครื่องดื่มกาแฟ มีอเมริกาโน่เย็น ลาเต้เย็น คาปูชิโน่เย็น เอสเพรสโซ่เย็น เครื่องดื่มโซดา เช่น แอปเปิลโซดา สตรอเบอรี่โซดา เสาวรสโซดา รวมถึงเครื่องดื่มทั่วไป เช่น โอวัลติน นมชมพู เฉลี่ยราคาแก้วละ 35-40 บาท

มีน้ำแข็งไสอีก 3 เมนู ราคา 40 บาท ได้แก่ น้ำลำไยปราบเซียน ปังชมพู และปังโอวัลตินลาวา พร้อมทอปปิ้ง เช่น ไข่มุก เฉาก๊วย บุกบราวน์ชูการ์ ฟรุตสลัดเจลลี่ และว่านหางจระเข้  บวกเพิ่ม 10-15 บาท

การเผยโฉม ตี๋น้อย ป๊อปอัพ คาเฟ่ ส่วนหนึ่งต้องการรองรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องรอคิวเข้าร้านนานกว่าชั่วโมง สามารถสั่งเมนูเบาๆ ก่อนกินสุกี้ แม้หลายคนมองว่า มีโอกาสที่ลูกค้าอิ่มก่อนถึงคิว แต่บริษัทเชื่อมั่นความเหนียวแน่นของลูกค้าและสามารถเก็บรายได้ 2 ต่อ ทั้งคาวหวาน แถมมีโอกาสขยายฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทเตรียมเปิดตัว “เป็ดย่าง” รองรับกลุ่มครอบครัวและกลุ่มผู้ใหญ่ที่นิยมกินเป็ดย่างคู่กับสุกี้ ซึ่งปกติแล้วสุกี้ตี๋น้อยวางกลยุทธ์ส่งเมนูใหม่ๆ หมุนเวียนตลอดทั้งปี เพื่อสร้างสีสันไม่ให้ลูกค้าจำเจกับเมนูสุกี้แบบเดิม เช่น การจัดเมนูวัตถุดิบพรีเมียม เนื้อออสเตรเลีย มีบริการเตาปิ้งย่างในบางสาขา เมนูหมูไม้ไผ่ หอยแมลงภู่ชิลี พร้อมโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม โดยเฉพาะแคมเปญฉลองการเปิดสาขาใหม่ ทั้งกินฟรี ลด 50% หรือแจกสินค้าพรีเมียม

แน่นอนว่า การงัดเมนูเป็ดย่างเป็นเกมชนเจ้าตลาด “เอ็มเค” อย่างจัง เพราะเป็ดย่าง คือ ซิกเนเจอร์เมนูและเจ้าเป็ดน้อยสีขาวปากสีเหลือง คือ มาสคอตที่ทุกคนเห็นแล้วรู้ทันที ยิ่งถ้านึกถึงเป็ดย่าง หลายคนนึกถึงเป็ดย่างเอ็มเครับประทานคู่กับบะหมี่หยกและสุกี้แสนอร่อย

แม้บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยืนยันมาตลอดว่า กลุ่มเป้าหมายหลักส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครอบครัวและเมนูหรือวัตถุดิบต่างๆ มีความเป็นพรีเมียม ระดับราคาสูง ต่างจากตี๋น้อยที่เน้นกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ คนชอบกินบุฟเฟต์ที่เน้นความคุ้มค่าในการรับประทานปริมาณมากๆ

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตี๋น้อยผุดสาขาต่อเนื่องและพยายามเพิ่มเมนูระดับพรีเมียมมากขึ้นในราคาบุฟเฟต์ 219 บาทต่อคน สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าอย่างมาก ที่สำคัญ พฤติกรรมลูกค้าในยุคปัจจุบันหันมารับประทานบุฟเฟต์สุกี้ยามดึกและหลังเที่ยงคืนมากขึ้น ไม่เหมือนอดีตที่นิยมรับประทานข้าวต้มโต้รุ่ง หรือเข้าร้านเหล้าเบียร์ ดูจากการต่อคิวหน้าร้านสุกี้ตี๋น้อย ตีสองตีสาม “ยิ่งดึกยิ่งยาว” มีให้เห็นทุกสาขา และกระตุ้นให้ร้านอาหารกลุ่มชาบูรอบดึกได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ หากเทียบจุดเริ่มต้นของสองค่ายสุกี้เหมือนภาพสะท้อนนักธุรกิจ 2 ยุค โดย “เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป” ถือเป็นเจ้าตลาดที่โลดแล่นมากกว่า 5 ทศวรรษ จากเจเนอเรชันแรก ยุคคุณป้าทองคำ เมฆโต เข้ามาทำกิจการร้านอาหารไทยร่วมกับมาคอง คิงยี (Makong King Yee) ชาวฮ่องกง ซึ่งเป็นที่มาของ คำว่า “MK” แถวๆ สยามสแควร์ จน มาคอง คิงยี ต้องย้ายครอบครัวไปอยู่บอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และตกลงขายกิจการให้ป้าทองคำ ซึ่งมีลูกสาว คือ ยุพิน ช่วยกันดำเนินกิจการ

จาก “ป้าทองคำ” สู่การบุกเบิกของเจเนอเรชัน 2 ที่เหมือนพรหมลิขิตให้เหล่าหัวเรือใหญ่มาเจอกัน เมื่อฤทธิ์ ธีระโกเมน ซึ่งเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นทำงานในสำนักพิมพ์นิตยสารคอมพิวเตอร์ก่อนมาจับมือกับเพื่อนคู่ใจ ทนง โชติสรยุทธ์ บุกเบิกธุรกิจร้านหนังสือซีเอ็ดหลายปี จนวันหนึ่งรู้จักคบหาดูใจและแต่งงานกับยุพิน ลูกสาวของป้าทองคำ

ฤทธิ์ตัดสินใจหันมาลุยธุรกิจอาหารของป้าทองคำ โดยมีสมชาย หาญจิตต์เกษม น้องชายของยุพินร่วมผลักดันร้านอาหารไทย “MK” รวมถึงทนง โชติสรยุทธ์

ปี 2529 สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เจ้าของเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป ชวนป้าทองคำมาเปิดร้านอาหารไทยในเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในชื่อร้านใหม่ “กรีน เอ็มเค” และอีก 2 ปีต่อมา เสนอพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร เปิดร้านสุกี้เอ็มเค สาขาแรกในห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ใช้เวลาไม่นาน “สุกี้เอ็มเค” กลายเป็นร้านอาหารหม้อไฟยอดฮิต สามารถขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับแตกไลน์ธุรกิจอาหารประเภทอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เอ็มเค กรุ๊ป พยายามปรับโครงสร้างองค์กรและดันทายาท “เจน 3” เสริมทีมผู้บริหาร เร่งกลยุทธ์ใหม่ๆ ทั้งฝั่งตระกูล “ธีระโกเมน” และ “หาญจิตต์เกษม”  เช่น ทานตะวัน ธีระโกเมน ดูแลฝ่ายการตลาด ธีร์ ธีระโกเมน ดูแลฝ่ายสาขา แคทลียา ธีระโกเมน ดูแลฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และวรากร หาญจิตต์เกษม ดูแลด้าน Research and Development ปัจจุบันมีสาขารวมมากกว่า 480 สาขา

ด้าน “ตี๋น้อย” เป็นผลลัพธ์ของผู้บริหารสาวไฟแรง “นัทธมน พิศาลกิจวนิช” ที่มีทั้ง Passion บวกกับพื้นฐานการทำธุรกิจร้านอาหารไทยเรือนปั้นหยาของครอบครัว

เธอเรียนจบระดับปริญญาโทมาจากต่างประเทศ พอกลับมาเมืองไทยมาทำงานออฟฟิศ แต่เหมือนไม่ตอบโจทย์ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทน หรือการทำงานทำตามคำสั่ง เธอลาออก เพราะคิดว่า อายุ 25 ปีและอีก 5 ปีจะอายุ 30 ปีแล้ว ต้องเริ่มทำอะไรจริงจังและตัดสินใจทำร้านสุกี้ เพราะควบคุมมาตรฐานและรสชาติอาหารได้ ใช้ชื่อ “ตี๋น้อย” จากชื่อเล่นเดิมของคุณพ่อในสมัยอยู่ต่างจังหวัด โดยผุดร้านต้นแบบสาขาแรกที่บ้านบางเขน ร้านเล็กๆ ขนาด 10-20 โต๊ะเท่านั้น

ช่วงกลางปีเดียวกัน เธอลุยสาขา 2 ทำเลเลียบด่วนรามอินทรา พื้นที่ขนาดใหญ่และมีบล็อกเกอร์หลายคนมารีวิว ทำให้คนรู้จัก “สุกี้ตี๋น้อย” โดยเฉพาะการตั้งราคาบุพเฟต์สุกี้ 199 บาท เท่ากับท้องตลาดทั่วไป แต่สร้างจุดขายที่แตกต่าง คือ ลูกค้าสามารถเลือกรับประทานได้ทุกเมนู ตั้งแต่เนื้อวัวจนถึงซีฟู้ด มีบริการ มีแอร์ บรรยากาศดี และที่จอดรถ

ผ่านมา 5 ปีกว่าๆ สุกี้ตี๋น้อยโตพุ่งพรวดอย่างรวดเร็ว และเชื่อแน่ว่า สมรภูมิสุกี้คงต้องร้อนเดือดอีกหลายยกแน่.